จากอุทยานเรียนรู้ "TK Park ยะลา-ปัตตานี"สู่บทบาทลดความขัดแย้งชายแดนใต้


เพิ่มเพื่อน    

  

ก่อนเกิดปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัด "ยะลา" เคยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสงบ  จนได้รับรางวัลจากยูเนสโก ว่าเป็นพื้นที่เมืองแห่งสันติภาพมาแล้ว   แต่ภาพนี้ กลับถูกลบหายไป เพราะปัญหาความขัดแย้ง ก่อเกิดความไม่สงบในพื้นที่  การแกัปัญหาภาครัฐจากส่วนกลาง มีตั้งแต่หนักไปจนเบา คือ การต่อสู้ตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบ  ไปจนถึงการใช้นโยบายสร้างความเข้าใจ แต่ความรุนแรงก็ไม่ทุเลาลง ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อ  ผู้คนบางส่วนทิ้งบ้านเรือนอพยพไปอยู่ที่อื่น

ในความมืดมนขณะนั้น  คนในพื้นที่ได้เริ่มมองเห็นความจริงว่าการใช้อาวุธไม่ใช่การแก้ปัญหา   และมองว่าการศึกษาและการเรียนรู้ที่ถูกต้อง น่าจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่ดีที่สุด  TKpark Yala  หรืออุทยานการเรียนรู้ ที่จังหวัดยะลา จึงก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ  13ปีที่แล้ว โดยเป็นความมือของสถาบันอุทยานการเรียนรู้หรือTK Park  และเทศบาลนครยะลา   ซึ่งจุดประสงค์หลักของอุทยานการเรียนรู้นี้ก็คือ  การแบ่งปันและกระจายโอกาสในการเข้าถึงการอ่านและการเรียนรู้ ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่มาจากจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

กว่า 13 ปีที่เปิดให้บริการ  TK Park ยะลา นับว่าประสบความสำเร็จสูง  เพราะมีผู้เข้าใช้บริการกว่า 2,660,000 คน หรือเฉลี่ยประมาณ 190,000 คนต่อปี  และมีแนวโน้มว่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง  ผู้ใช้บริการครอบคลุมทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สูงอายุ เพราะทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง  การคมนาคมสะดวก  มีความปลอดภัย    พื้นของอุทยาน ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย  ทั้งในเชิงการเรียนรู้  การทำงาน  พบปะพูดคุย  ศึกษาค้นคว้า อ่านหนังสือ และการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนต่างๆในยะลา เกือบทุกแห่ง ต่างพาเด็กนักเรียน เข้ามาทำกิจกรรมที่ศูนย์แห่งนี้ ปีละหลายครั้ง

ความสำเร็จของTK Park ยะลา ทำให้ทางเทศบาลเมืองยะลา เห็นว่าควรขยับขยายพื้นที่ออกไป เนื่องจากตัวอาคารเดิมที่ตั้งศูนย์ คับแคบ   ซึ่งศูนย์เยาวชนแห่งใหม่ในอยู่ในพื้นที่ติดกับศูนย์เดิม แต่เป็นอาคารที่มีพื้นที่ใช้่สอยเยอะกว่าเดิมหลายเท่าตัว เพราะเป็นอาคารขนาดใหญ่สูง 5 ชั้น ในพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร  ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะพร้อมเปิดบริการในปี  2565

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ผู้ก่อตั้งTK Park ที่จังหวัดท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง


พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ให้ข้อมูลว่า  อุทยานการเรียนรู้ยะลาแห่งใหม่นี้สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดของการเรียนรู้ร่วมกัน  มุ่งบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักตัวเอง รู้จักท้องถิ่น เท่าทันโลกและเท่าทันเทคโนโลยี มุ่งสู่ความเป็น Smart City ในมิติใหม่ที่ผู้คน ธรรมชาติ และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

อาคาร 5 ชั้น TK Park ยะลา ใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง


"อาคารใหม่ แบ่งพื้นที่เรียนรู้ด้านต่างๆ  อาทิ Co-working Space 24 ชั่วโมง  มีระบบสื่อสารที่ทันสมัย  ผู้สนใจสามารถเข้ามาใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง พรั่งพร้อมด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง   จุดประสงค์หลัก มุ่งเน้นสอนทักษะใหม่เพื่อการประกอบอาชีพของผู้คน    โดยอนาคตจะโฟกัสในการเฟ้นหา สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมพัฒนานวัตกรรมศูนย์อาคารใหม่   จะเป็นการเรียนรู้ ในโลกดิจิทัล  กระตุ้นให้เด็กๆสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม  โดยมองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ เด็กๆ ต้องเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้เมืองมีความยิ่งยืน ดังนั้น หน้่าที่ของทีเค จึงมีความยิ่งใหญ่มาก "นายกเทศมนตรีเมืองยะลากล่าว


บทบาทต่อการบรรเทาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่  พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ทีเค ปาร์ค ยะลา มีส่วนสำคัญเพิ่มความสมานฉันท์ผู้คนในพื้นที่  เนื่องจาก เป็นพื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่กลาง ที่เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้  ไม่ว่าเป็นพุทธ หรือมุสลิม   ทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งการเรียนรู้ต้นแบบ มุ่งสร้างปัญญา และสร้างสันติสุขในเวลาเดียวกัน  


"ธีมกิจกรรมแต่ละปีของที่นี่ จะไม่เหมือนกัน เช่นปี 49-50 เป็นช่วงเหตุการณ์รุนแรงมาก  กิจกรรมที่เราทำคือ การตอบโจทย์การอยู่ร่วมกัน จัดแคมป์กิจกรรมให้เด็กพุทธ มุสลิม มาอยู่ร่วมกัน  แล้วให้เด็กๆเขียนเรียงความหัวข้อการอยู่ร่วมกัน  ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น เรียนรู้ร่วมกัน  พอปี 55-56 เหตุการณ์เริ่มดีขึ้่น เราก็มาเน้นเรื่องCreative ให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักบ้านเมืองตัวเองดีขึ้น เป็นการเรียนรู้ที่มีมากกว่าในห้องเรียน ทำให้เด็กบางคน ที่เคยร่วมกิจกรรมจากทีเค ยะลา จบไปเป็นหมอก็มีมาแล้ว"พงษ์ศักดิ์ กล่าว


ด้าน กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า ทางทีเค ปาร์ค ได้สร้างสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กภาคใต้ตอนล่าง โดยนำเอาวัฒนธรรม  ความรู้ท้องถิ่นมานำเสนอใสรูปแบบหนังสือเด็กมีภาพประกอบสวยงาม เพื่อใเด็กและเยาวชนของที่นี่ ได้รับความรู้และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งก่อเกิดความเข้าใจยอมรับในวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ในพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกันไป

วีระ โรจน์พจนรัตน์


นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ การเกิดขึ้นของ TK Park ที่เข้ามาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนโอกาสการแสวงหาความรู้ รวมทั้งสร้างสรรค์พื้นที่แห่งมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างผู้คน ได้รับการยอมรับอย่างดีจากประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของ TK Park ยาวนานในภาคใต้ตอนล่าง ได้พิสูจน์ชัดเจนว่าพื้นที่เล็ก ๆ แห่งการเรียนรู้อย่างสันติสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีเส้นแบ่งของวัฒนธรรมและศาสนา

TK Park ปัตตานี พื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ของอุทยานการเรียนรู้


ที่ยานการเรียนรู้ปัตตานี เป็นTK Park น้องใหม่  เปิดให้บริการเมื่อ 3ปีที่แล้ว  ความโดดเด่นอยู่ที่เป็นอุทยานการเรียนรู้ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย   ด้วยพื้นที่ให้บริการกว้างใหญ่ 6,476 ตร.ม. เนื่องจาก ใช้สถานที่เดิมที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์มาก่อน แต่ต้องปิดตัวลงเพราะปัญหาความไม่สงบ   ซึ่งศูนย์แห่งนี้ เป็นที่รู้จักกันดีของคนในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยมีเด็กจาก ยะลา และนราธิวาส แวะเวียนเข้ามาเสมอๆ เพราะที่นี่มีห้องสมุดขนาใหญ่ ที่มีหนังสือหลากหลายกว่าสองหมื่นเล่ม และยังแบ่งแยกย่อย ออกเป็นห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดไอที ห้องฉายภาพยนต์ ห้องประชุม ห้องศาสนา    ทำให้ในแต่ละเดือนมีผู้เข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 275,000 คน  ซึ่งมีคนทุกกลุ่ม ทุกวัยเข้ามาใช้บริการ เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดต่อเนื่อง   นอกจากนี้ ศูนย์ฯยังดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมทั้ง กลุ่มเด็กด้อยโอกาส กลุ่มผู้นำทุกศาสนาในพื้นที่ ให้สมัครสมาชิกโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์  (เสื้อสีน้ำเงิน) นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี

นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีแตกต่างจากที่อื่น คือ การจัดให้มี “ห้อง 3 ศาสนา” ที่ให้ความรู้แก่เยาวชนให้เข้าใจถึงความแตกต่าง ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เพื่อที่จะเรียนรู้ที่จะเคารพในความเชื่อซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมานฉันท์ เพราะตนเชื่อว่า ความรุนแรงไม่ได้แก้ด้วยอาวุธ แต่แก้ด้วยการศึกษา โดยเฉพาะที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ต่างเชื้อชาติต่างศาสนาได้มาอ่านหนังสือ มาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็กลายเป็นเพื่อนกัน สุดท้ายก็เติบโตไปด้วยกัน และเกิดความสมานฉันท์ในพื้นที่ในที่สุด

ห้องทีเค ปาร์ค ปัตตานี มีความพร้อมสื่อการเรียนรู้ให้เด็กๆ ทำให้มีเด็ก3จังหวัดชายแดนใต้มาที่นี่ โดยเเฉพาะช่วง

วันเสาร์-อาทิตย์ และดึงเด็กในจังหวัดปัตตานี ย้ายถิ่นไม่ให้ไปเรียนที่อื่น


นายชาติชาย ศิริบุญหลง รองนายกเทศมนตรีเมืองยะลา กล่าวว่า "ทีเคปาร์ค ปัตตานี เกิดจากปัญหาความไม่สงบ ก่อนหน้านี้ ผู้ปกครองพาเด็กไปเรียนที่อื่นเยอะมาก เราจึงต้องหาวิธีดึงรั้งให้เด็กกลับมาเรียนในจังหวัด  และมีการของบฯจากศอบต. และหลังจากเปิดมา 3ปีหลังพบสามารถรั้งเด็กให้กลับมาเรียนในจังหวัดได้ เพราะจังหวัดมีแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆแล้ว และในอนาคต สถาบันติวเตอร์ ออนดีมานด์จะมาเปิดตั้งที่นี่  ซึ่งเดิมเด็กที่อยากติวต้องไปหาดใหญ่ ไม่ต้องไปแล้ว

ห้องสมุดกว้างใหญ่และมีหนังสือจำนวนมากที่ทึเคปาร์ค ปัตตานี


การทำหน้าที่สื่อเรียนรู้มีชีวิต ที่พรั่งพร้อมหลายมิติ ของทีเคปาร์ค ปัตตานี  ทำให้เด็กหรือใครก็ตามที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในพื้นที่จะพบว่า เนื้อหาของการเรียนรู้ไม่ใช่เพียงการเรียนในเชิงศึกษาหาความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้ในเชิงสันติสุขการอยู่ร่วมกันด้วย เพราะมีวีทีเอาร์ที่ทำให้เด็กมุสลิมเรียนรู้เด็กพุทธ และมีเนื้อหาที่ทำให้เด็กพุทธเรียนรู้เกี่ยวกับเด็กมุสลิม ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่เคารพในหลักศาสนา  ความเชื่อและความศรัทธาซึ่งกันและกัน  เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ


"ในแง่ผลการเรียนเราพบว่า คะแนนโอเน็ตของเด็กดีขึ้น เด็กเลิกเที่ยว หันมาอ่านหนังสือ เล่นกิจกรรมที่ ทีเค จัด  หรือเข้ามาหาความรู้จากนิทรรศการที่ทางศูนย์จัดเป็นระยะๆ แล้วแต่จะมีวันสำคัญอะไร ซึ่งในแง่ของการเรียนรู้สายวิทย์ ฯ เช่น พวกเรื่องสเต็ม ดีมากๆ เพราะบางเรื่องทางโรงเรียนไม่มีศักยภาพมากพอที่จะจัดเอง เด็กก็มาหาความรู้จากที่นี่ได้  ทีเค ปาร์ค จึงเป็นจุดเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ ที่จะต่อยอดได้ในวันข้างหน้า "คุณครูท่านหนึ่งที่เข้ามาร่วมสนทนาให้ข้อมูล


ในมุมมองปัญหาความไม่สงบ นายกเทศมนตรีเมืองยะลา กล่าวในประเด็นนี้อีกว่า  แน่นอนว่า การมีทีเค ปาร์ค จะทำให้เด็กๆ ปัตตานี และจังหวัดรอบๆ มีคุณภาพชีวิตการเรียนรู้ดีขึ้น รักการอ่านมากขึ้น แต่การที่เรามีลานที่ให้เด็ก 3วัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกัน เป็นการทำให้การศึกษาเรื่องราวท้องถิ่นมีความถูกต้อง เพราะปัตตานีมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่มีผู้ไม่ประสงค์ดีไปสอนเรื่องความเชื่อเก่าๆ ความเชื่อผิดๆให้กับเด็ก และสังคมไม่มีการแก้ข่าว นิ่งเฉย ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ เด็กในช่วง 16ปีที่แล้ว ช่วงเกิดความไม่สงบใหม่ๆ ตอนนั้นอาจจะอายุ 4-5 ขวบ ได้ถูกสั่งสมมุมมองปัญหาในพื้นที่ กลับทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก


"ผมเชื่อว่าเรื่องการสร้างสันติภาพต้องทำกันทุกฝ่าย ไม่ใช่รัฐฝ่ายเดียว และการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ต้องแก้เรื่องการศึกษากับการทำมาหากิน  ไม่ใช่การแก้ด้วยอาวุธ  ซึ่งไม่จบแน่ สุดท้ายไปตกที่ประชาชนคนบริสุทธ์  จะต้องทำให้ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลามอยู่ร่วมกันได้ ผมยกตัวอย่างคนมุสลิมบางคนผู้รู้จักรุ่นพ่อของเขา ผมก็เป็นเพื่อนกับลูกเขาเราคุยกันได้  สมัยก่อนจึงไม่มีปัญหารุนแรง แต่พอรุ่นหลาน ลูกผมและหลานเขาไม่รู้จักกันแล้ว  คนเราพอไม่รู้จักกันก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น ห้อง 3ศาสนา ในทีเคปาร์ค ปัตตานี จะเป็นพื้นที่ให้เด็ก3 ศาสนา มาอยู่ร่วมกัน ได้รู้จักกัน  ในทุกเสาร์ อาทิตย์ "นายกเทศมนตรีเมืองยะลากล่าว


จ.นราธิวาส กำลังจะเปิดอุทยานการเรียนรู้แห่งใหม่    โดยตั้งอยู่ในบริเวณสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  บนพื้นที่กว่า 12 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 5,000 ตารางเมตร เปิดพื้นที่ชั้นล่างของอาคารให้บริการสาธารณชนครั้งแรกในปี พ.ศ.2562 นับตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้เข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 40,000 คน ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มพ่อแม่ กลุ่มผู้สุงอายุ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ด้วยความเชื่อมั่นว่าการมีอยู่ของอุทยานการเรียนรู้ จะเข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ รวมทั้งสร้างมิตรภาพและความเข้าใจของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี


ทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์ และสร้างคุณภาพการศึกษาให้กับเยาวชน ตลอดจน สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ใน3จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันนี้ แต่เป็นความหวังที่จะให้เกิดขึ้นในอนาคต


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"