โหมโรงเลือกตั้ง 'นายก อบจ.' จับตา 'ครม.' เคาะวันหย่อนบัตร


เพิ่มเพื่อน    

 

         นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับความคืบหน้าของการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ทางฝั่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าหารือกับกระทรวงมหาดไทย ถึงความพร้อมในกระบวนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่หลายคนกำลังจับตาเฝ้ารอว่าจะได้กาบัตรในวันไหน

                การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 รวมทั้งเป็นการเลือกตั้งที่มีหลายรูปแบบที่พร้อมให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนเข้ามาทำงาน ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล พัทยาและกรุงเทพมหานคร

                โดยกระบวนการหลังจากนี้จะมีการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ซึ่งถ้า ครม.มีมติให้เลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นใดแล้ว หลังจากนั้นเลขาฯ ครม.จะแจ้งมติให้สำนักงาน กกต.เพื่อดำเนินการจัดประชุมกับผู้บริหารการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประสานงานร่วมกันว่าจะจัดการเลือกตั้งวันใด เพื่อสะดวกในการควบคุมในการจัดการเลือกตั้ง

                โดยอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น คือ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนจะส่งให้ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

                แต่เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น ซึ่งทำให้การทำงานเกิดการขาดช่วงการบริหาร ดังนั้นเบื้องต้น กกต.จะหารือว่าถ้ามีการประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อใด

                คาดว่าจะใช้เวลาจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45-60 วัน

                อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ไม่ได้กำหนดไว้ว่าเมื่อมีมติให้มีการเลือกตั้งแล้ว จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในกี่วัน ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีระบุไว้ชัดเจน ทั้งนี้ อยู่ที่ความพร้อม เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นมีหลายรูปแบบ ซึ่งกระบวนการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยหน้าที่ของ กกต.คือเข้าไปกำกับควบคุม

                คาดว่าการเลือกตั้งใดจะเกิดก่อนกันนั้น ดูเหมือนว่า อบจ.จะมีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากมีการแบ่งเขต และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

                โดยคาดว่าจะเลือกตั้งทันภายในเดือน ธ.ค.นี้อย่างแน่นอน

                ส่วนรูปแบบอื่นมีบางส่วนที่ยังไม่ประกาศลงในราชกิจจาฯ

                หลังจากเลือกตั้ง อบจ.เสร็จสิ้นแล้ว อาจมีการเว้นระยะว่างไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในรูปแบบต่อไป ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัว

                โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับขึ้นอยู่กับ ครม.เป็นผู้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเลือกตั้งท้องถิ่นถึงล่าช้า เมื่อรัฐบาลไม่มีมติให้มีการเลือกตั้ง กกต.จึงไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งออกมาได้

                อย่างไรก็ดี มีกระแสว่ามีการพูดคุยถึงไทม์ไลน์ว่าการเลือกตั้งใดจะเกิดขึ้นเรียงตามลำดับนั้นเริ่มจากเลือกตั้ง อบจ. ต่อมาคือ อบต.หรือเทศบาล หลังจากนั้นถึงคิวพัทยา และลำดับสุดท้ายคาดว่าจะเป็นการเลือกตั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร

                สำหรับระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ในการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ประชาชนจะมีโอกาสได้เลือกตั้งผู้แทนฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ในบางกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายหมดวาระไม่พร้อมกัน และจัดเลือกตั้งไม่พร้อมกัน ประชาชนก็จะต้องไปเลือกตั้งแยกเป็น 2 ครั้ง

                แต่ถ้าเป็นกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะถูกเลือกในคราวเดียวกัน เช่น การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนที่ไปเลือกตั้งก็จะได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเพื่อกากบาทเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารในคราวเดียวกัน

                โดยกรุงเทพมหานคร ประชาชนจะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรง และเลือกสมาชิกสภาเขต (ส.ก.) เขตละ 1 คน เขตที่มีประชากรมากกว่า 150,000 คน ให้มี ส.ก.เพิ่มขึ้น 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน สำหรับเมืองพัทยา ประชาชนจะได้เลือกตั้งนายกเมืองพัทยาโดยตรง และเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา ทั้งหมด 24 คน

                สำหรับ อบจ.ประชาชนจะได้เลือกนายก อบจ.โดยตรง และได้เลือกสมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมีจำนวนระหว่าง 24-48 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ โดยใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้งให้มีสมาชิก อบจ. เขตเลือกตั้งละ 1 คน หรือถ้ามีได้มากกว่านั้นก็ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นหลายเขตในอำเภอเดียวกัน

                และเทศบาล ประชาชนจะได้เลือกนายกเทศมนตรีโดยตรง และได้เลือกสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากัน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาเทศบาลได้ไม่เกิน 6 คน ให้เทศบาลตำบล แบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภา 12 คน เทศบาลเมืองแบ่งเป็น 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภา 18 คน เทศบาลนครแบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภา 24 คน

                ส่วน อบต. ประชาชนจะได้เลือกนายก อบต.โดยตรง และได้เลือกสมาชิกสภา อบต. จากหมู่บ้านละ 1 คน โดยใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง และให้มีสมาชิกสภา อบต.เท่าจำนวนหมู่บ้าน หรืออย่างน้อยให้มี 6 คน

                สำหรับความผิดที่น่าสนใจของผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องไม่ใช้เงินหาเสียงเกินที่กำหนด กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดให้มีเพดานของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคน เพราะไม่ต้องการให้คนที่มีฐานะดีกว่าใช้ทรัพย์สินมาทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งเพดานค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นแต่ละประเภท และแต่ละแห่ง โดยให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนดตามความเหมาะสม

                การใช้จ่ายเกินจะเป็นความผิด มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวน 3 เท่าของเงินที่เกินจำนวนที่กำหนด หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี

                นอกจานี้ ห้ามบริจาคเงิน ห้ามจัดมหรสพ กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น บัญญัติห้ามผู้สมัครกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนด้วยการให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ห้ามการให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดหรือศาสนสถานอื่น สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด ห้ามทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ห้ามเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด ห้ามหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใด การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ถือว่ามีความผิดและมีโทษหนัก จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี และกฎหมายยังให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ด้วย

                ทั้งหมดนี้คือการปูพื้นเบื้องต้นสำหรับศึกการเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนจะมีการเลือกตั้งรูปแบบใดก่อนนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด

            ถ้า ครม.มีมติ ทีนี้การเลือกตั้งก็เริ่มต้นได้ทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"