ข้องใจคสช.อุ้มกสทช.ชุดเก่า!


เพิ่มเพื่อน    

   "ชัชวาลย์" โอดหืดขึ้นคอ สรุปสอบคลิปล้ม "กสทช." ใน 30 วัน เร่งประชุม 3 ครั้งต่อสัปดาห์  "จาตุรนต์" ซัด คสช.ล้มสรรหา ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำลายความเป็นอิสระ "มาร์ค" ข้องใจกระบวนการเฟ้นหาเขียนเองกลับเหลว แฉผู้มีอำนาจอยากให้คนในกสทช.ชุดเก่าทำงานต่อ ห่วงใช้เอื้อประโยชน์การเมือง 
    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 26 เมษายน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีมีคลิปเสียงการสนทนาเกี่ยวกับการเลือกที่พาดพิงว่านายกรัฐมนตรีไม่แฮปปี้กับรายชื่อที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทั้ง 14 คน เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดแรกว่า วันนี้เป็นเพียงการวางกรอบการทำงาน หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะประชุมทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันศุกร์ โดยจะนำคลิปเสียงที่ถูกเผยแพร่มาถอดคำพูด ว่ามีเนื้อหาอย่างไร มีการตัดต่อหรือไม่ และใครเป็นผู้เผยแพร่ 
    "เบื้องต้นยังไม่รู้ว่าการสนทนาในคลิปเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการฯ กำลังหาข้อมูลอยู่ โดยจะเชิญคนที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลก่อน ทั้งสมาชิก สนช. และเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ยอมรับว่ากรอบเวลา 30 วันที่ใช้ในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการฯ คงทำงานกันแบบหืดขึ้นคอ แต่เราก็จะพยายามเร่งรัดให้ทันตามกรอบที่กำหนด" พล.ต.อ.ชัชวาลย์ระบุ
    ประธานคณะกรรมการสอบฯ ยังปฏิเสธกรณีที่มีการพาดพิงว่าเป็นหนึ่งในเสียงที่ปรากฏในคลิป โดยยืนยันว่าไม่ใช่ตนอย่างแน่นอน พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าจะดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่กล่าวหาหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง และปัจจุบันสามารถพิสูจน์เสียงทางวิทยาศาสตร์ได้
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุม สนช.โหวตไม่รับรองผู้เข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 สั่งให้ กสทช.ชุดปัจจุบันที่ใกล้หมดวาระอยู่รักษาการต่อไปว่า เป็นปมที่น่าเป็นห่วง เพราะหลักคิดของการมี กสทช.ดูแลคลื่นความถี่ทั้งในเรื่องกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และปัจจุบันจะเป็นโครงข่ายที่มาใช้ในเรื่องของระบบเทคโนโลยีของการสื่อสารเกือบทั้งหมด เป็นทรัพยากรสาธารณะของประเทศ ต้องมีคนที่สามารถมากำหนดกติกา กำกับดูแล 2 ด้าน ไม่ให้เกิดปัญหา 
    1.การใช้อิทธิพลทางธุรกิจ เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่เป็นโครงข่าย มีแนวโน้มที่จะเกิดการผูกขาด ถ้าผูกขาดแล้วผู้บริโภคเสียหาย ถูกเอาเปรียบ หรือเรื่องของการแข่งขันเสรีในเชิงธุรกิจ จึงต้องมีองค์กรที่อิสระมากำกับ และองค์กรนี้ต้องมีความเป็นอิสระ เพราะว่า 2. ถ้าองค์กรนี้เข้าไปอยู่ในมือของผู้ถืออำนาจรัฐ อาจถูกใช้ทรัพยากรในธุรกิจเหล่านี้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง จะเกิดปัญหาละเมิดสิทธิ์ของประชาชน และเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นเรื่องความอิสระของ กสทช.สำคัญมาก
        "เกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการสรรหา ทั้งที่รัฐธรรมนูญกฎหมายลูกก็ดี ท่านเขียนขึ้นมาเองกันทั้งนั้น แต่ทำไมกระบวนการสรรหาล้มเหลว จน กกต.ต้องมาทำอีกรอบ ส่วน กสทช.หนักกว่าอีก คือพอสรรหาล้มเหลว ก็มีการใช้มาตรา 44 มาระงับการสรรหาไว้ก่อน โดยไม่ระบุให้ชัดว่าที่ระงับไปนี้ แล้วปัญหาที่จะต้องแก้นั้นคืออะไร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ทั้งมีคลิปเสียงไปกล่าวหาว่าเป็นเพราะว่าผู้นำไม่พึงพอใจจึงต้องสรรหาใหม่ ซ้ำยังมีข่าวลืออีกว่าบุคคลซึ่งอยู่ในแวดวง กสทช.ขณะนี้ จะเตรียมตัวหรือผู้มีอำนาจอยากเตรียมตัวให้เข้ามาต่อไป จนกลายเป็นระงับทุกอย่าง โดยให้คนเก่าทำงานต่อไป จึงน่าเป็นห่วง ผมอยากให้เร่งทำความโปร่งใสว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ที่ไม่สามารถที่จะสรรหากันได้ เพราะมีประเด็นร้อนๆ ที่จะต้องตามมาแน่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะเสนอให้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งโทรทัศน์ ทั้งโทรคมนาคม ที่จ่อรอกันอยู่ รวมถึงประเด็นเรื่องของการประมูลคลื่นความถี่ในรอบต่อๆ ไปด้วย" นายอภิสิทธิ์กล่าว
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง คสช.สั่งล้มการสรรหา กสทช.ว่า การที่ คสช.ออกคำสั่งล้มการสรรหาและกำหนดแนวทางดูแลทีวีดิจิทัล เป็นการรวมศูนย์ กำหนดความเป็นไปและการตัดสินใจของ กสทช.ไว้ในมือของ คสช. โดยเฉพาะหัวหน้า คสช.ตามลำพัง ซึ่งการออกคำสั่งเช่นนี้ คือยึดเอาอำนาจทุกอย่างไปจาก กสทช. จนไม่เหลือสภาพของการเป็นองค์กรอิสระที่ควรจะวางตัวเป็นกลาง และมีหน้าที่ดูแลให้เกิดการกระจายการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในสังคมให้มากที่สุด
        ทั้งนี้ ความจริง คสช.ได้ทำลายความเป็นอิสระของ กสทช.จนเกือบไม่เหลืออะไรมานานแล้ว เช่น ออกคำสั่งกำหนดการใช้จ่ายเงินรายได้จากการประมูลเสียเอง และให้โอนเงินรายได้ที่เหลือเข้าคลัง การแทรกแซง กสทช.ครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการทำให้ กสทช.กลายเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ด้วยการสั่งปิดทีวีหรือวิทยุที่เห็นว่าขัดคำสั่ง คสช.ตามอำเภอใจและเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ กสทช.พึงกระทำเลย
       "การออกคำสั่งครั้งล่าสุดนี้ นอกจากทำให้ กสทช.จะต้องอยู่ต่อไปอย่างไม่มีอนาคตและไม่มีหน้าที่รับผิดชอบที่เป็นแก่นสารแล้ว ยังมีการดูแลทีวีดิจิทัลที่ทำให้เกิดการได้หรือเสียผลผระโยชน์มหาศาลของบริษัทเอกชน ซึ่งแทนที่จะให้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการรักษาผลผระโยชน์ของประเทศ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การรับผิดชอบทั้งหมดกลับกลายเป็นของคสช. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่ไม่มีใครตรวจสอบถ่วงดุลได้ หรือแม้แต่จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ จึงไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องกันมากน้อยเพียงใด" นายจาตุรนต์ระบุ
       ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. ออกมาแก้ต่างให้ คสช.ว่าเป็นเพราะกฎหมาย กสทช.มีปัญหานั้น ต้องถามว่าอยู่กันมาจะ 4 ปีแล้ว ไปทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่แก้ไขเสีย และในครั้งนี้ทำไมจึงไม่เลือกวิธีแก้กฎหมาย แทนที่จะออกคำสั่งที่เป็นการทำลายระบบเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของประเทศ และกำลังทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"