ธันวาฯเลือกอบจ. กทม.นู้นปลาย64


เพิ่มเพื่อน    

  ครม.เห็นชอบให้มีการเลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัด  นายกฯ เผยอาจเลือกตั้ง อบจ.ปลาย ธ.ค.63 อยากให้โปร่งใส เป็นธรรม ไม่ทุจริต เลขาฯ กกต.ย้ำปีนี้ได้เข้าคูหาแน่นอน รับอาจต้องใช้งบเพิ่ม เหตุต้องจัดให้สอดคล้องมาตรการป้องกันโควิด-19 เปิดไทม์ไลน์เบื้องต้นอาจเลื่อนเป็น 20 ธ.ค. เหตุตรงช่วงรัฐบาลสั่งหยุดยาว หวั่นซื้อเสียง ส่วนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลังสุดปลายปี 64 "วิษณุ" ชี้หากตั้ง ส.ส.ร.-ประชามติ เลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อน

    เมื่อวันอังคาร นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัด โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งตามความเหมาะสม หลังจากที่ได้รับแจ้งจาก ครม.ภายใน 60 วัน ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้วในเดือน พ.ค.61 แต่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประกาศ คสช.ที่เกี่ยวข้อง
     นายอนุชากล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยและสำนักงาน กกต.ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ 1.ข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้งสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร 2.การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล กรณีหมู่บ้านใดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 3.การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของ อปท. กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งจังหวัดกำชับอปท.เตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้เป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะการจัดเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และ อปท.ได้ตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งของ อปท.ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ไว้พร้อมแล้ว
    นายอนุชากล่าวอีกว่า ส่วนความพร้อมของสำนักงาน กกต. ได้แก่ 1.ออกระเบียบและประกาศ กกต.แล้ว 2.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งของ อบจ.ครบทุกแห่ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 3.ดำเนินการสรรหา กกต.ประจำ อปท.ครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว 4.ดำเนินการอบรมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อปท. และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ จำนวน 10,749 คน ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในเดือนกันยายน 2563
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า กกต.ได้รายงานที่ประชุม ครม.ถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งนี้มีเรื่องของความจำเป็นในเรื่องของโควิด-19 และงบประมาณต่างๆ ที่เตรียมไว้ระดับหนึ่งแล้ว โดยมติ ครม.ให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมีความพร้อมมากสุด ทั้งนี้ จะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน คาดว่าเลือกตั้ง อบจ.ได้ในเดือน ธ.ค.63 โดยวันเลือกตั้ง กกต.จะเป็นคนกำหนด และในปีหน้าจะทยอยเลือกตั้งประเภทอื่นๆ ต่อไป โดยต้องเตรียมการในเรื่องของงบประมาณต่างๆ ของปี 64
    "เราก็อยากให้การเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ทุจริต ได้คนดีมาทำงานท้องถิ่นที่มีอยู่ 5 ประเภท ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล กทม. และเมืองพัทยา ซึ่งจะไปดูที่เหลืออยู่จะทำอย่างไรให้เสร็จในปีหน้า ก็ขอให้ได้คนดี ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ อยากให้เกิดเหตุขึ้นอีก หลายอย่างเป็นประสบการณ์อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งรัฐบาล ครม. ประชาชน และผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง เมื่อเข้ามาแล้วจะต้องทำตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยไร้ระบบโดยสิ้นเชิงก็คงไม่ใช่เหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ตั้ง สสร.เลือกตั้งท้องถิ่นเลื่อนอีก
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้มาชี้แจงถึงความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยนำเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 5 ประเภท ได้แก่ อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร พร้อมระบุว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งทุกประเภทแล้ว ขณะที่ได้ ครม.ได้เห็นชอบให้จัดการเลือกตั้ง อบจ.ก่อน เพราะมีความพร้อมในเรื่องของงบประมาณ ที่จะใช้จำนวน 3,200 ล้านบาท และการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเป็นลำดับถัดไปคือ เทศบาลและเมืองพัทยา ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ทั้งสองประเภทนี้จัดพร้อมกันหรือไม่ จากนั้นจะมีการจัดการเลือกตั้ง อบต. และปิดท้ายด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการมีอยู่สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เนื่องจากการเลือกตั้งแต่ละประเภทต้องทิ้งระยะห่างกัน 45-60 วัน ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เร็วที่สุดอาจจะอยู่ช่วงปลายปี 2564 นอกจากนี้ในที่ประชุมนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้แสดงความเห็นว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการทำประชามติ จะส่งผลกระทบให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไปด้วย รวมถึงจะทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ภายหลังชี้แจง ครม.ว่า กกต.มาชี้แจงกับ ครม.ถึงความพร้อมของ กกต.หลังได้มีการหารือกับกระทรวงมหาดไทยก่อนหน้านี้ ส่วนรายละเอียดว่าจะให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใดก่อนหรือหลังนั้นขอให้มีมติ ครม.ออกมาก่อน จากนั้น กกต.ถึงจะไปประกาศวันเลือกตั้งและกำหนดวันรับสมัคร ส่วนภาพรวมการเตรียมความพร้อมของ กกต.นั้น ได้มีการออกประกาศและระเบียบ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ในเบื้องต้น กกต.ได้มีการแบ่งเขตเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ได้ฝึกจัดอบรมเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและอำเภอเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากให้มีการจัดการเลือกตั้ง อบจ.เป็นประเภทแรก จะต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประมาณ 1 ล้านคน เพื่อรองรับสำหรับหน่วยเลือกตั้งที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่ง กกต.กับกรมควบคุมโรคได้หารือกันในรายละเอียดอยู่ตลอด
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า จะใช้งบประมาณของท้องถิ่นนั้นๆ ในการดำเนินการการเลือกตั้ง โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะแต่ละท้องถิ่นใช้ไม่เท่ากัน และเป็นไปได้ว่าที่อาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่ข้อปฏิบัติในการหาเสียงของผู้สมัครนั้น ต้องคำนึงถึงมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะทาง ผู้สมัครและผู้จัดต้องคำนึงถึงสถานที่และจำนวนคนที่เหมาะสม รวมถึงสอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข
    เมื่อถามว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ภายในปีนี้เหมือนที่นายกฯ ระบุหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ใช่ครับ ส่วนจะเป็นวันใดหรือจะเป็นช่วงวันหยุดยาวเดือน ธ.ค.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ กกต.จะพิจารณา ตามขั้นตอนโดยปกติหลังจาก ครม.กำหนดว่าจะให้เลือกตั้งประเทศใดแล้ว กกต.จะต้องไปประกาศวันเลือกตั้งภายในระยะเวลา 45 ถึง 60 วัน คล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเมื่อประกาศแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นในระดับนั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ครม.ได้ให้ข้อสังเกตถึงเรื่องการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท
คาดเลือก อบจ. 20 ธ.ค.
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามไทม์ไลน์การเลือกตั้งท้องถิ่น สำนักงาน กกต.ได้มีการจัดทำขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะประกาศวันหยุดพิเศษในเดือน ธ.ค. ที่จะให้หยุดยาว 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-13 ธ.ค. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหากมีการเสนอที่ประชุม กกต.อาจต้องมีการพิจารณาว่าการจะให้วันที่ 13 ธ.ค. เป็นวันเลือกตั้งนายกฯ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังมีความเหมาะสมหรือไม่ จะมีปัญหาเรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้งหรือการซื้อเสียงเลือกตั้งหรือไม่ มีความเป็นไปได้ที่จะขยับไปให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. ซึ่งก็ต้องมีการขยับวันประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งของ กกต.ออกไปด้วย โดยต้องประกาศไม่เร็วกว่าวันที่ 22 ต.ค.เป็นต้นไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กกต.วันนี้ ที่ประชุมก็ได้รับทราบที่ ครม.มีมติให้มีการเลือกตั้งนายกฯ และสมาชิก อบจ. และได้ให้สำนักงานไปพิจารณาเรื่องวันเลือกตั้ง เพื่อที่จะหารือเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมวันจันทร์ที่ 12 ต.ค.
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสรรหาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในส่วนของพรรค พปชร. ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วหรือยังว่า ยัง ขอพูดคุยกับกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ก่อน ส่วนกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรค พปชร.ออกมาโจมตี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.นั้น ก็ให้ไปถามนายสิระ มาถามอะไรตน
    ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบ พล.อ.ประวิตร ที่ตึกบัญชาการ 1 ถึงการสรรหาบุคคลเป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ขณะนี้ยังไม่ได้วางตัวบุคคลในการส่งสมัครรับเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร ได้นัดประชุมอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า แนวทางเบื้องต้นบางพื้นที่จะลงรับสมัครในนามพรรค บางพื้นที่ลงในนามตัวเอง และกลุ่มของตัวเอง แต่ข้อสรุปต้องรอการประชุม กก.บห.ในสัปดาห์หน้า
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคต้องดูความพร้อมในแต่ละด้านของพรรค ซึ่งจะดูข้อมูลต่างๆ ประกอบกัน ในส่วนของผู้ว่าฯ กทม. โดยอาจจะดูเรื่องคะแนนนิยม หรือโพล ที่เราจัดทำทุกเดือน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของ กก.บห.ด้วย
    ส่วนกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร. ออกมากดดันให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ลาออก เพื่อให้มีการจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเร็ว นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ความเห็นที่ออกมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ ส.ส. แต่ภาพรวมต้องดูความพร้อมแต่ละด้าน โดยเฉพาะ กกต. ที่ต้องเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีองค์ประกอบหลายเรื่อง จึงต้องฟัง กกต.เป็นหลัก.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"