การบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับปัญหาที่ยังรอการแก้ไข


เพิ่มเพื่อน    

 

พระราชบัญญัติกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563  โดยมีการยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบํารุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับอย่างช้านานและถูกมองจากหลายฝ่ายว่าล้าสมัย มีการใช้ดุลยพินิจมากทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบ

การเกิดโรคระบาดโควิด 19 และปัจจัยความไม่พร้อมอื่นๆ ทำให้มีการขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปหลายครั้งและล่าสุดมีการขยายเวลาการแจ้งแบบประเมินบางประเภทออกไปถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจติดตามพร้อมข้อเสนอ ดังนี้

ประเด็นแรก คือ ภาษีใหม่นั้นถูกจัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (“อปท.”) และเขตปกครองพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร (50 เขต) และพัทยา ที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนกว่า 7,700 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีลักษณะ จำนวนของบุคลากรและงบประมาณที่แตกต่างกัน เช่น อปท. ที่เป็นเทศบาลจะมีขนาดใหญ่กว่าองค์การบริหารส่วนตำบล  (“อบต.”) แต่ทุกๆ หน่วยงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายแม่ฉบับเดียวกันและมีกฎหมายลูกอีกนับสิบฉบับออกมารองรับวิธีการสำรวจ ประเมินและจัดเก็บ

เมื่อเป็นกฎหมายใหม่ ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างก็ต้องเรียนรู้แบบนับหนึ่งกันถ้วนหน้าและอาจต้องเรียนผิดเรียนถูกร่วมกันเพราะไม่มีบรรทัดฐานให้เดินตามอย่างชัดเจนครบถ้วน

ในประเด็นที่สอง คือ ประเภทของการจัดเก็บที่แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) เกษตรกรรม 2) ที่อยู่อาศัย 3) เพื่อการพาณิชย์/อื่นๆ และ 4) ประเภทสุดท้ายที่เป็นปัญหามาก คือ ที่รกร้างว่างเปล่า มีอัตราการจัดเก็บตั้งแต่ 0.03% และจะคิดเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 3% ของราคาประเมินหากไม่ได้ทำประโยชน์เป็นเวลานาน เช่น หากที่ดินที่รกร้างเป็นผืนเดียวกันมีขนาด 10 ไร่ มีราคาประเมินอยู่ที่ 10 ล้านบาท หากไม่ได้ทำประโยชน์และทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าเป็นเวลานานหลายๆ ปี จนต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด 3% แล้ว จะต้องเสียภาษีถึงปีละ 300,000 บาท ทำให้เราได้เห็นที่ว่างเปล่าจำนวนมากมีการปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆเพื่อให้ที่ดินกลายเป็นที่ทำเกษตรกรรม (เทียม) และได้รับการยกเว้นภาษีใน 3 ปีแรก กรณีเป็นบุคคลธรรมดา และเสียภาษีในอัตราต่ำในระยะต่อไป ทั้งนี้ หากที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินต่อแปลงต่ำกว่า 50 ล้านบาทแล้วจะได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้วย  

หากเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่เป็นหลังแรกและมีมูลค่าน้อยกว่า 50 ล้านบาทก็จะได้รับการยกเว้นเช่นกัน ส่วนบ้านหลังที่สองและหลังอื่นๆ จะต้องเสียในอัตรา 0.02% ของราคาประเมิน แต่หากเป็นการใช้แบบหลายประเภทในอาคารหลังเดียวกันเช่นชั้นล่างค้าขายและชั้นบนอยู่อาศัยโดยมีที่ดินหลายแปลงหลายโฉนดอยู่ติดกับอาคารในชื่อเจ้าของเดียวกันอีกด้วยแล้ว การประเมินก็จะเป็นแบบหลายอัตราที่เจ้าของคงต้องมึนงงอย่างมากเมื่อได้รับแจ้งการประเมินแบบหลายอัตราในแบบแจ้งเดียวกัน หรืออาจวุ่นวายใจว่าทำไมยังไม่ได้รับแบบประเมินเสียทีแม้นักกฎหมายจะออกมาบอกว่าถ้ายังไม่ได้รับการแจ้ง หน้าที่ในการเสียภาษียังไม่เกิดขึ้นก็ตาม

ประเด็นสุดท้าย คือ การที่เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีหน้าที่ต้องทำการคัดค้านการประเมินและทำการอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาและอาจต้องมีภาระค่าปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย ซึ่งหากไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาก็จะต้องไปฟ้องคดีที่ศาลภาษีอากรกลาง กรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว ดังนั้น การฟ้องคดีไม่ว่าภาระภาษีอยู่จังหวัดใดก็จะต้องมาฟ้องคดีที่กรุงเทพฯ เพียงที่เดียว ทำให้เกิดภาระต่อประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่ห่างไกล

ดังนั้น รัฐบาลควรต้องหาแนวทางชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อนจนกว่าทุกหน่วยงานส่วนใหญ่หรือทั้งหมดมีความพร้อมในทุกขั้นตอนโดยเฉพาะกระบวนการสุดท้ายที่ศาลภาษี ซึ่งจะต้องมีอยู่ทั่วทุกภาคหรือตามจังหวัดใหญ่ๆ มิฉะนั้นการบังคับใช้แบบตกๆ หล่นๆ หรือแม้กระทั่งการลดภาษีเหลือ 10% ในปีนี้อาจจะสร้างปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก จนท้ายที่สุดตัวรัฐบาลจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบเสียเอง
       
 เทวัญ   อุทัยวัฒน์     
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
                                                                                                                                                                                                                                                                                                        คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"