เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับการพัฒนาประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

เป็นเวลากว่า 4 ปีที่นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ย่อมาจาก “Eastern Economic Corridor” ได้ถูกขับเคลื่อนภายใต้ความคาดหวังจากหลายๆ ฝ่ายให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ติดเทอร์โบผลักดันให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในขณะที่ประเทศ (ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19) ยังคงต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก โดยจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นําร่องเป้าหมายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ในขณะที่ประเทศขาดการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันมาอย่างยาวนาน โครงการอีอีซีก็ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับ การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (S Curve) ในหลายประเภท เช่น การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เป็นต้น โดยได้มีการประมูลโครงการขนาดใหญ่ไปแล้วหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา)  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก  โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3  เป็นต้น 

แต่เมื่อเกิดภาวะโรคระบาดโควิด 19 ทั่วโลกนั้น การลงทุนของต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เกิดชะงักงัน และหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือในกลุ่มอาเซียนต่างก็ปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าการลงทุน โดยเน้นการสนับสนุนการผลิตและบริโภคในประเทศเป็นหลักในยุคของ the Next Normal ที่หลายๆ ประเภทธุรกิจและการค้าถูกกระทบอย่างรุนแรง (severely disrupted) จนไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป

ในการผลักดันการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในระหว่างที่ประเทศกำลังปรับตัวเพื่อรับ the Next Normal ได้นั้น ขอเสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการคิด นโยบายและวิธีการอย่างน้อยใน 4 เรื่องหลัก คือ
1)      การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การลดขั้นตอนดำเนินการและธรรมาภิบาล
2)      การพัฒนาฝีมือแรงงาน (Skilled Labor Improvement)
3)      การใช้ platform ใหม่ๆ รวมถึง e-government และ
4)      การบูรณาการและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ 

ในประเด็นแรก ประเทศไทยมีกฎหมายเกินหนึ่งแสนฉบับซึ่งน่าจะติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งในการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามกฎหมายหลายฉบับมากจนทำให้เกิดความล่าช้าและนำไปสู่การคอรัปชั่นในที่สุด ไม่นับรวมถึงธรรมาภิบาลที่หลายๆ คนในหน่วยงานหรือภาคเอกชนยังไม่ทราบถึงความหมายหรือแนวปฏิบัติที่ดี 

หากเราจะเพิ่มศักยภาพของแรงงานมีฝีมือเพื่อการสื่อสารสากลในประเด็นที่สองนั้น พบว่าผลการวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ หรือ EF English Proficiency Index (EF EPI) ของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่อันดับ 64, 74  และ 89 ของแต่ละปีตามลำดับซึ่งหมายถึงว่าขีดความสามารถของเราตกลงถึง 15 อันดับ (ในขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 65 และกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 84 ในปี 2020) โดยเราได้รับการเลื่อนจากกลุ่ม “ความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำ” ลงสู่กลุ่ม “ความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำมาก” ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องหาทางแก้ไข

ในประเด็นที่สามเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบราชการยังพบว่ามีอุปสรรคในการนำระบบต่างๆ มาใช้ประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานหรือกับประชาชนเพราะในแต่ละระบบยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายนี้เป็นอย่างมาก คือ สาธารณรัฐเอสโตเนีย ที่มีการใช้ระบบ e-government ได้ถึงเกือบ 100% โดยไม่มีคำว่า “Digital Divide” หมายถึงประชาชนในประเทศ 100% มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ฟรีไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของประเทศก็ตาม  

ดังนั้น ภาพของการยืนรอ นั่งรอของประชาชนหน้าธนาคารกรุงไทยเพื่อลงระบบการรับเงินช่วยเหลือแบบ manual เป็นปรากฏการณ์ที่รัฐบาลต้องนำไปคิดต่อในขณะที่ผู้ประกอบการจำนวนมากได้ใช้ระบบ “Cloud” ในการเก็บข้อมูลการค้า หรือการใช้ “Clubhouse” ในการพูดคุยในหลากหลายหัวข้อภายใต้ Digital Transformation ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ในประเด็นสุดท้ายเรื่องการบูรณาการและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการนั้น ขอยกเพียงตัวอย่างของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “BOI” (Board of Investment และสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ “EECO” ที่ทั้งสองหน่วยงานต่างมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมการลงทุนแต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นเสมอจากนักลงทุนว่าทั้งสองหน่วยงานมีการทำงานเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรและมีการการบูรณาการและการประสานงานหรือการเชื่อมโยงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกันอย่างไรบ้างที่เป็นข้อมูลเปิดเผยและครบถ้วน
ขอภาวนาให้เครื่องยนต์ชุดนี้สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงและเร่งเครื่องฝ่าพายุเศรษฐกิจของ the Next Normal ได้อย่างประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

เทวัญ   อุทัยวัฒน์     

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 


 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"