กกต.เล็งเลือกตั้งอบจ.20ธ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

 กกต.เตรียมเรียกประชุม ผอ.กกต.จว.-ปลัด อบจ. รับเลือกตั้ง อบจ. “จรุงวิทย์” รับมีความเป็นไปได้กำหนด 20 ธ.ค.เป็นวันเลือกตั้ง ด้าน "วิษณุ" ปัดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ลำดับสุดท้ายปลายปี 64 เผย กกต.ขอร้องเว้นช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละประเภทห่าง 60 วัน รับแก้ รธน.อาจมีผลกระทบ เหตุทำประชามติ-ตั้ง ส.ส.ร. ชี้ใช้งบประมาณเยอะ

    เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงไทม์ไลน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เรื่องวันเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต. จะเห็นว่าวันใดเหมาะสมระหว่างวันที่ 13 ธ.ค. หรือ 20 ธ.ค. แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นวันที่ 20 ธ.ค. เนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค. เป็นช่วงวันหยุดยาว ซึ่งอาจจะมีความชัดเจนขึ้นหลังประชุม กกต.ในวันที่ 12 ต.ค.นี้  
    โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกหลังใช้บังคับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่นี้ กกต.ก็จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงวันรับสมัครของนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นวันเดียวกันทั้ง 76 จังหวัด เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ และหลังจากที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ก็จะเริ่มนับหนึ่งในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ส่วนนายกและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีตามกฎหมายกำหนด  
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์เผยว่า ขณะนี้ในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว จากนี้กำลังจะมีการเรียกประชุมผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งน่าจะเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ก่อนที่ กกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง เพราะเมื่อ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครก็จะเริ่มทำการหาเสียง ผู้อำนวยการเลือกตั้งก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจัดการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการป้องกันทุจริตต่างๆ สำนักงาน กกต.ก็ได้เตรียมจะเสนอแผนให้ กกต.พิจารณา โดยจะครอบคลุมทั้งเรื่องการปราบปรามและป้องกันทุจริต
        "ในการประชุม ครม.เมื่อวาน กกต.ในฐานะผู้ควบคุมก็ได้ชี้แจงถึงแนวทางการควบคุมการจัดเลือกตั้ง ซึ่งแม้เรื่องนี้การจัดเลือกตั้งจะเป็นวาระจร แต่ใช้เวลาในการพิจาณาค่อนข้างนาน เนื่องจากมีการซักถามของรัฐมนตรีหลายท่านด้วยความเป็นห่วง ทางรัฐมนตรีมหาดไทยก็ได้มีการอธิบายเรื่องต่างๆ จน ครม.ก็มีมติให้มีการเลือกตั้งองค์กรบริหารส่วนจังหวัด เพราะว่าพร้อมที่สุด ส่วนการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่จะตามมา กกต.ก็จะมีการพูดคุยกับมหาดไทยว่าพร้อมไหม เหมือนกับที่ กกต.ประชุมร่วมกับมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา"
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวอีกว่า ในส่วนของงบประมาณที่ กกต.ได้รับจัดสรรเพื่อใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ขณะนี้มีปัญหาอยู่บ้างว่าจะเพียงพอไปถึงควบคุมเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นหรือไม่ เพราะที่ใช้กับเลือกตั้ง อบจ.ขณะนี้ก็เหลืออยู่ไม่มาก เนื่องจากต้องมีการเพิ่มในส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ต้องมีในทุกหน่วยเลือกตั้งประมาณ 97,000 หน่วยเลือกตั้ง และยังต้องมีการอบรม กปน.หน่วยละ 10 คน รวมประมาณ 1 ล้าน แต่ถ้าไม่เพียงพอก็จะต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล
ปัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สิ้นปี 64
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกระแสข่าวว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครจะถูกจัดขึ้นเป็นลำดับสุดท้ายในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยจะจัดในปลายปี 2564 ว่า  ไม่จริง ไม่มีการพูดเช่นนั้น เป็นการคาดการณ์เท่านั้นเอง จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ ไม่เคยมีใครพูดว่าจะเอาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไว้หลังสุด หากคิดว่าเอาไปไว้หลังสุด แล้วไม่เป็นเช่นนั้นเดี๋ยวก็อาจจะเตรียมตัวกันไม่ทัน ก็ให้รอเป็นระยะ เดี๋ยวเราจะแจ้งล่วงหน้า ไม่จู่โจมแน่
    ทั้งนี้ กกต.ก็ขอมาว่าหากจะเลือกตั้งประเภทอะไรก็ตาม ก็ให้เว้นช่วงเวลาประมาณ 60 วันเป็นอย่างน้อย แล้วค่อยเลือกประเภทใหม่ ซึ่งก็ต้องระมัดระวังอย่าไปใกล้เคียงกับช่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น การลงประชามติหรือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถ้าหากว่าจะมี อย่าให้ใกล้เคียงกัน เพราะใช้ กกต.ชุดเดียวกันในการบริหาร
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการแก้ไข รธน.จะกระทบการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่กระทบ แต่ว่าต้องระวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการทำประชามติ ก็คือการเลือกตั้งชนิดหนึ่งเพราะต้องมีการสมัครเข้าคูหากาบัตร จึงต้องอย่าใกล้กับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะฉะนั้นจะบริหารไม่ถูก
    ถามว่าจะต้องมีการจัดเลือกตั้งหลายครั้ง งบประมาณจะมีปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า งบประมาณมีปัญหา แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาบ่น สามารถบริหารจัดการได้ และการเว้นระยะจัดการเลือกตั้งแต่ละประเภทก็ทำให้เราบริหารจัดการได้
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่น กรณี พปชร.จะส่งลงชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทุกจังหวัดหรือไม่ว่า ยังไม่ทราบ
    เมื่อถามว่าทางพรรคจะเลือกใช้วิธีสนับสนุนกลุ่มบุคคลโดยไม่ต้องลงในนามพรรคหรือไม่ หัวหน้าพรรค พปชร.ปฏิเสธว่า "ไม่รู้  มาเป็นเราสิจะได้รู้"
    ถามว่ามีกระแสข่าว ส.ส.พปชร.ในจังหวัดต่างๆ แย่งชิงกันส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีแย่ง เดี๋ยวเอาเข้าคณะกรรมการบริหาร พปชร.ให้ตกลงกัน อย่าไปห่วงเรื่องนี้  
    ซักว่ากระแสข่าวพรรคก้าวไกลมาแรง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มาแรงก็มาแรง ส่วนคณะก้าวหน้าจะเปิดตัวแคมเปญเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็วๆ นี้ "ก็ว่าไป"
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนการเลือกตั้งต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพื่อป้องกันการแย่งคะแนนกันเอง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ไม่ทราบ คงแล้วแต่พรรคต้องไปคุยกัน และเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น และท้องถิ่นต้องคุยกันเอง
ไม่กลัวก้าวไกล
    ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคมีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งการประชุมจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือไม่ ขอรอดูทางหัวหน้าพรรคกำหนดอีกที
    เมื่อถามว่าจะทันกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ เพราะจะมีการเปิดแคมเปญเลือกตั้ง อบจ. โดยจะมีการเปิดนโยบายและเปิดตัวผู้สมัครในวันศุกร์ที่ 9 ต.ค.นี้แล้ว นายพุทธิพงษ์ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา ทันแน่นอน ซึ่งสำหรับผู้สมัครของพรรคนั้น ทางพรรคคงต้องดูในเรื่องของหลักการ หลักคิดก่อน
    “พรรคจะส่งหรือไม่ส่ง ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหลายพื้นที่อาจจะมีการทับซ้อนกันได้ของคนที่จะลง บางทีเป็นเครือข่ายของส.ส. และจังหวัดหนึ่งมี ส.ส.หลายคน ดังนั้นก็ต้องมาดูภาพรวม เราตัดสินใจไม่ได้ว่าจังหวัดไหน เขตไหนเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคดูให้รอบคอบอีกที"
    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า จากนั้นก็คงจะมีความชัดเจนในเรื่องของการจัดทีมไปช่วยผู้สมัครในพื้นที่ต่างๆ ขอให้รอดูว่าจะเป็นรูปแบบไหน เพราะบางพื้นที่ก็มีเงื่อนไขที่ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์เดียวกันได้ในทุกพื้นที่ เนื่องจากหลายจังหวัดมี ส.ส.หลายคน ซึ่งบางคนก็สนับสนุนนายก อบจ.คนละคนกัน ซึ่งก็ถือเป็นสิทธิ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูภาพรวมทั้งหมดก่อน
    ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวภายหลังการประชุม กมธ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในญัตติของรัฐบาล แต่ทั้งนี้ที่ประชุมอยากนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านมาร่วมพิจารณาควบคู่กันไป โดยเฉพาะการตั้ง ส.ส.ร.ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งกรรมาธิการรู้สึกเสียดายที่พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมชี้แจงในครั้งนี้ เพื่อให้กรรมาธิการได้ซักถามและทำความเข้าใจร่วมกัน
    โฆษก กมธ.กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องของการทำประชามตินั้นขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป เพราะมีความเห็นเป็น 2 ทางคือ การแก้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่สามารถทำได้โดยผ่านกระบวนการมาตรา 256 ส่วนอีกทางคือ หากมีการตั้ง ส.ส.ร. จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้ตามกลไกมาตรา 256 หรือไม่ จึงต้องทำประชามติสอบถามได้ความเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่
แก้ รธน.สำคัญกว่า
    นายชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีการสงสัยว่าการทำประชามติจะขัดแย้งกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ ถ้าทำประชามติตรงกับเลือกตั้งท้องถิ่น อาจจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปก่อน เพราะมองว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญกว่า แต่หากผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าการทำประชามติสามารถทำร่วมกับเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเดียวกันได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้จะได้มีการหารือกันอีกครั้ง
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่ามีความจริงใจต่อการจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ ก่อนหน้านี้อ้างงบเลือกตั้งท้องถิ่นถูกดึงไปใช้กับโควิดจนหมด อ้าง กกต.ไม่พร้อม วันนี้อ้างเพิ่ม หากมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. อาจทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นล่าช้าออกไป ซึ่งไม่มีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันเลย รัฐบาลอย่าจับเอาการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นตัวประกัน เพื่อยื้อชีวิตการไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง อปท.แทนชุดที่ค้างอยู่เดิม และบางส่วนมาจากการแต่งตั้งด้วยเครื่องมือพิเศษของรัฐบาลจากการรัฐประหาร มีแต่ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยยากลำบากขึ้นเป็นลำดับ ขัดขวางการกระจายอำนาจ การคงไว้ซึ่งคนที่รัฐบาลแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป นอกจากจะผลักประชาชนออกจากกระบวนการมีส่วนร่วม ยังอาศัยสถานการณ์ชุลมุนส่งคนของรัฐบาลเข้าไปเป็นมือเป็นไม้แอบสนับสนุนรัฐบาล อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลหรือไม่
     “ไม่มีอะไรที่รัฐบาลต้องกลัว ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนมาเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยตัวเอง เร่งสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยเร็ว” นายอนุสรณ์ กล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"