แม่น้ำในบทบันทึก (2) : เวตตาวา


เพิ่มเพื่อน    

 

 


แม่น้ำเวตตาวาไหลโอบเมืองเชสกีครุมลอฟ ภาพโดยคุณภาคภูมิ มนัสบุญเพิ่มพูล เพื่อนของผู้เขียน เธอเดินทางไปเยือนเมืองนี้หลังผู้เขียนประมาณ 1 ปี

     หมู่บ้านคลูม (Chlum) ในเขตป่าโบฮีเมียน ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐเช็ก ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,172 เมตร แม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน ใช้ชื่อ “เวตตาวา” (Vltava) สายหนึ่งมาจากภูเขาดำ (Cerna hora) ในเขตแดนสาธารณรัฐเช็ก เรียกว่าเวตตาวาอุ่น อีกสายมาจากฟากของรัฐบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เรียกว่าเวตตาวาเย็น

                แม่น้ำเวตตาวาไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้สู่อ่างเก็บน้ำ Lipno และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ก่อนจะตวัดสายไหลขึ้นเหนือผ่านเมืองเชสกีครุมลอฟ (Cesky Krumlov) เมืองเล็กๆ ที่ยังตราตรึงอยู่ในใจ แม้เคยไปเยือนในเวลาสั้นๆ เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน

                นี่คือช่วงหนึ่งที่ผมได้บันทึกไว้

                “...ออกไปเดินเล่นบริเวณ Svornosti Square จุดศูนย์กลางของเมือง มีหอนาฬิกา มีม้านั่งไว้ให้นั่งฟังคนเล่นดนตรีเปิดหมวก บรรยากาศค่อนข้างคึกคัก ผู้คนดูเป็นมิตร รอบๆ จัตุรัสเป็นร้านรวงขายของที่ระลึก ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ทรมานแห่งยุคกลาง

                “ผมเดินเข้าไปในจุดบริการนักท่องเที่ยวที่อยู่มุมหนึ่งของจัตุรัสเพื่อจองตั๋วกลับกรุงปรากในวันถัดไปเวลาบ่าย 3 โมง แล้วเดินเข้าร้านอาหารร้านหนึ่งที่ตกแต่งด้วยดาบโบราณ บนเพดานก็มีดาบเต็มไปหมด สั่งไก่ชุบแป้งทอดที่มีเฟรนช์ฟรายเคียงมาด้วย ส่วนเครื่องดื่มเป็นเบียร์ดำ Eggenberg หนึ่งขวด พนักงานถามว่าจะรับเค็ทฉับไหม ผมบอกรับด้วย ปรากฏว่าตอนเช็กบิลต้องจ่ายค่าซอสมะเขือเทศนี้ซองละ 20 โครูนา หรือเกือบ 40 บาท (ขณะนั้น 1 โครูนาแลกได้ประมาณ 1.8 บาท) การเก็บเงินของร้านอาหารที่นี่พนักงานจะมีกระเป๋าใส่เงินที่มีหลายช่องไว้ทอนได้ทันท่วงที ไม่เสียเวลา


แม่น้ำเบรูนกา หนึ่งในสาขาของแม่น้ำเวตตาวา ไหลบรรจบกันที่เมืองเบรูน ห่างจากกรุงปรากประมาณ 30 กิโลเมตร

                “หกโมงเย็นแล้ว แต่ฟ้าปลายเดือนสิงหาคมยังสว่างโร่ ได้เวลาเดินชมเมืองมากมนต์เสน่ห์ที่เริ่มสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ประชากรส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นชาวเยอรมัน และดินแดนแถบนี้ถูกปกครองโดยเยอรมันอยู่นานหลายศตวรรษ ก่อนที่จะถูกขับไล่ออกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการฟื้นฟูอย่างเอาจริงเอาจังหลังการปฏิวัติกำมะหยี่ในปี 1989

                “อีกฝั่งของแม่น้ำเวตตาวาเป็นที่ตั้งของปราสาทเชสกีครุมลอฟ ปราสาทและเมืองเก่าที่เห็นในปัจจุบันเป็นสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 มีทั้งแบบโกธิค เรเนอซองส์ และบาโรก ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากปราสาทกรุงปราก ภายในมีโรงละครสไตล์บาโรกจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสภาพดีอย่างเดิม

                “ผมข้ามสะพานและเดินเลยไปยังสวนหลังปราสาท มีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่งและที่จอดรถ ซึ่งถ้าเดินไปอีกก็จะเป็นถนนใหญ่สายใหม่ จึงเดินกลับไปขึ้นปราสาท มีทางเชื่อมระหว่างเขาลูกหนึ่งด้านขวามือกับปราสาทด้านซ้ายมือ จากสะพานทางเชื่อมมองลงไปเห็นเมืองเก่าเล็กจิ๋วถูกล้อมไว้โดยสายน้ำเวตตาวาในรูปเกือกม้า เดินต่อผ่านปราสาทไปออกทางขึ้น-ลงอีกด้าน ข้างล่างมีโบสถ์ ลานกว้าง และบ่อเลี้ยงหมีตัวหนึ่ง แล้วเดินออกประตูไปยังส่วนเมืองเก่า ข้ามสะพานเล็กๆ ไปเจอร้านบาจา ซึ่งเป็นร้านรองเท้าหนังและเครื่องหนังดั้งเดิมของเช็กโกฯ ไปโด่งดังอยู่ที่เมืองไทยหลายสิบปีจนคนไทยคิดว่าเป็นสินค้าแบรนด์ไทยไปแล้ว...”

                แม่น้ำเวตตาวาไหลขึ้นเหนือไปอีกราว 30 กิโลเมตร ผ่านเมืองเชสเกบุดเยอวิตเซ (Ceske Budejovice) ที่ซึ่งแม่น้ำอีกสาย มีชื่อว่า “มัลเช” ไหลมาสมทบกับแม่น้ำเวตตาวา แต่สิ่งที่ทำให้เมืองนี้มีชื่อเสียงก็คือเบียร์ Budweiser Budvar

                ในโลกนี้มีเบียร์บัดไวเซอร์อยู่ 2 เจ้า คือที่เช็กและอเมริกา แต่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าแหล่งกำเนิดนั้นอยู่ที่ใด ปัญหาเรื่องเครื่องหมายการค้าเป็นที่ยุติเมื่อ 10 ปีก่อน โดยศาลยุติธรรมแห่งยุโรปไม่อนุญาตให้เบียร์จากอเมริกาใช้ชื่อ Budweiser ได้ ทำให้พวกเขาต้องทำการค้าในสหภาพยุโรป (ส่วนใหญ่) ในชื่อ Bud ส่วนเบียร์ Budweiser ต้นตำรับเมื่อส่งออกไปขายในหลายประเทศก็ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Budvar และ Czechvar บริษัทของอเมริกาเคยเสนอซื้อบริษัท Budweiser ของเช็ก แต่รัฐบาลเช็กไม่อนุมัติไม่ว่าจะแลกด้วยสิ่งใด เพราะเบียร์ตัวนี้ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาติ


แม่น้ำเวตตาวา สะพานชาร์ลส์ และปราสาทกรุงปราก

                แม่น้ำเวตตาวาไหลผ่านเมืองเชสเกบุดเยอวิตเซไปไม่กี่กิโลเมตรถึงอ่างเก็บน้ำ Hnevkovice ซึ่งใช้น้ำสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Temelin จากนั้นก็ถึงเขื่อนขนาดใหญ่ชื่อ Orlik และตามด้วยเขื่อนพลังงานไฟฟ้าแบบขั้นบันไดอีก 4 เขื่อน แล้วเวตตาวาก็ถึงกรุงปราก

                “...เดินถึงจัตุรัสเมืองเก่า เห็นรถม้าหลายคันให้บริการนักท่องเที่ยวแบบย้อนยุค บรรดาวณิพกพร้อมเครื่องดนตรีประจำกายจับจองมุมโปรดของตัวเอง กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินตามคนถือธงที่ให้บริการชมเมืองฟรี มนุษย์ที่พ่นสีตัวเองเป็นสีเงินหรือสีทองยืนนิ่งเหมือนหุ่นอยู่บนลังไม้เป็นที่สนใจของเด็กๆ ถ้าใครกดชัตเตอร์ให้เขาได้ยินก็จะโบกมือเรียกให้เข้าไปบริจาคเงินเสียดีๆ ร้านกาแฟและร้านอาหารก็สัมปทานพื้นที่ให้บริการอยู่รายรอบ

                “เด่นเป็นสง่าที่สุดคือหอคอยเมืองเก่าที่มีนาฬิกาดาราศาสตร์ขนาดใหญ่จากยุคกลาง อายุเก่าแก่กว่า 600 ปีติดตั้งอยู่ ถือเป็นนาฬิกาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน ตีบอกเวลาทุกชั่วโมง (ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม) ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยง ฝูงชนมาชุมนุมกันนับพัน แล้วหน้าต่างสองบานด้านบนนาฬิกาก็เปิดออก สาวกพระเยซูทั้งสิบสองในรูปแกะสลักไม้ก็เผยโฉมวนให้ยลจากซ้ายไปขวา พร้อมๆ กับเสียงตีบอกเวลา 12.00 น. เมื่อนาฬิกาตีเสร็จ ผู้คนก็แยกย้าย เช่นเดียวกับตัวผมที่เดินต่อหวังจะไปยังสะพานชาร์ลส์

                “ทว่าด้วยทางแยกและถนนเยอะมาก แต่ละเส้นมีหลายเลี้ยว และเล็กแคบ ทำให้เดินหลงไปโผล่ถนนใหญ่เส้นหนึ่ง ดูป้ายดูแผนที่แล้วก็งงไปหมด สุดท้ายจับทางได้ว่าถ้าเดินไปเรื่อยๆ จะเจอแม่น้ำ เดินผ่านอาคารสวยงามที่อยู่ใกล้กันสองอาคาร หลังแรกดูโบราณ อีกหลังดูโมเดิร์น ทราบตอนหลังว่านี่คือโรงละครแห่งชาติ ทั้งเก่าและใหม่ เมื่อถึงสี่แยกหลังผ่านโรงละคร ก็จะเป็นแม่น้ำเวตตาวา ผมเลี้ยวขวามองไปเห็นสะพานข้ามแม่น้ำสามสี่สะพานอยู่เบื้องหน้า สะพานที่สองห่างไป 1.5 กิโลเมตร คือ สะพานชาร์ลส์ (Charles Bridge หรือ Karluv Most) สะพานหินซึ่งเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1357 ในรัชสมัยพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และไปแล้วเสร็จเอาในครึ่งศตวรรษต่อมา


กรุงปรากและแม่น้ำเวตตาวา มองจากอุทยานเลตนา

                “ผมเดินเข้าไปในหอคอยแบบโกธิกสวยงามบริเวณหัวสะพาน มีร้านรวงขายของที่ระลึกและพิพิธภัณฑ์ทรมานแม่มดในยุคกลางอยู่ภายใน จากนั้นเลี้ยวซ้ายขึ้นไปยังสะพาน ผู้คนหยุดถ่ายรูปกันจำนวนมาก หูได้ยินเสียงดนตรีแจ๊สของวงที่เล่นอยู่บนสะพานแห่งนี้ สมาชิกแต่ละคนอายุค่อนข้างมาก มีคนหยุดฟัง เด็กตัวเล็กๆ ที่มากับพ่อแม่นั่งลงฟังอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเพลงที่สองจบลง มือแซกโซโฟนหยิบแผ่นซีดีผลงานของวง ชื่อ Jazz No Problem ขึ้นมาโฆษณาขายในราคา 10 ยูโร ผมซื้อมาหนึ่งแผ่น ตั้งใจไปฝากเพื่อนนักฟังเพลงคนหนึ่ง เมื่อเดินไปอีกก็เจออีกวงชื่อ Bridge Band ฝีมือพอๆ กัน การเล่นดนตรีบนสะพานแห่งนี้คงทำเงินได้พอสมควร...”

                ผมไปเยือนกรุงปราก แม่น้ำเวตตาวา และสะพานชาร์ลส์ อีก 2 ครั้งหลังจากนั้น ได้บันทึกไว้อีกว่า

                “...เมื่อข้ามทางรถรางก็เข้าสู่บริเวณเชิงสะพานชาร์ลส์ฝั่งเมืองเก่าเพื่อจะข้ามไปสู่ฝั่งปราสาทกรุงปราก หรืออาจเรียกฝั่ง Lesser Town บนสะพานที่สุดแสนอลังการในสไตล์โกธิก โดยเฉพาะปฏิมากรรมพระเยซูและเหล่านักบุญ (ส่วนมากสไตล์บาโรก) ที่ตั้งเรียงรายไปตามขอบแนวของสะพานทั้ง 2 ฝั่ง จำนวน 30 ชิ้น นักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ แต่ไม่ถึงกับรีบร้อน เพราะบนสะพานชาร์ลส์มีอะไรน่าสนใจเสมอ โดยเฉพาะดนตรีสด บ้างเล่นเดี่ยว บ้างเล่นเป็นวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดนตรีแจ๊ส หรือแม้แต่หุ่นไม้ตัวเล็กๆ ที่แสดงท่าท่างเหมือนคนจริงๆ ถูกบงการชักใยโดยมือที่ชำนาญระดับนักมายากล ต่อให้รีบไปทำธุระหรือมีนัดด่วนยังไง คนเดินบนสะพานแห่งนี้จะต้องหาเรื่องอ้อยอิ่งเสียหน่อยจนได้...”

                อีกวันเขียนไว้ว่า

                “...ไม่ทันจะมีเวลาเดินดูส่วนอื่นๆ เวลาก็ปาเข้าไปเกือบ 17.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการ ได้แต่เข้าไปกินแซนด์วิชและดื่มเบียร์ Staropramen แก้วเล็กในโรงอาหารของพิพิธภัณฑ์เป็นมื้อเที่ยง ซื้อของที่ระลึกจากร้านในพิพิธภัณฑ์แล้วเดินไปที่เบียร์การ์เด้นบนเนินเขาเลตนา ริมแม่น้ำเวตตาวา มองเห็นอาคารบ้านเรือนของกรุงปรากอีกฝั่งอัดเรียงกันแน่นหนา คนหนุ่มสาวมากหน้าหลายตาออกมาดื่มเบียร์กันตั้งแต่หัววัน…”

                และในค่ำวันเดียวกัน


กรุงปรากจากสะพานมาเนส

                “...ผมออกจากที่พักเพื่อไปหาโกรันตามเวลานัดหนึ่งทุ่ม แต่ฝนโปรยเม็ดลงมาอย่างหนัก จึงกลับเข้าไปใส่เสื้อกันฝน (คลุมเฉพาะช่วงตัว) แล้วลงมาหลบอยู่ใต้ชายคาแคบๆ หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ส่งข้อความทางโทรศัพท์ไปบอกโกรันว่าจะไปสาย รอฝนซาเม็ดลงอีกหน่อย

                “สาวเอเชียตะวันออกนางหนึ่งในชุดติดกันสีชมพูกางร่มสีแดงเดินผ่านมา เธอมุ่งหน้าสะพานชาร์ลส์ หน้าตาสะสวย รูปร่างดี ผมรู้ตัวอีกทีก็เดินตามหลังเธออยู่กลางสะพานชาร์ลส์เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่สาวผู้มากับฝนจะถูกกลืนหายไปกับฝูงชนที่เชิงสะพานฝั่งเมืองเก่า…”

                แม่น้ำเวตตาวาไหลผ่าน 18 สะพานในกรุงปราก ช่วงหนึ่งมีลักษณะเว้าโค้งคล้ายเป็นแท่งแม่เหล็กรูปตัว U จากนั้นไหลขึ้นเหนือไปอีก 30 กิโลเมตร บรรจบกับแม่น้ำ Elbe (ออกเสียง “ลาแบ”) ที่เมืองเมลนิค (Melnik) ความสูง 155 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้สิ้นสุดระยะทาง 430 กิโลเมตรของสายน้ำประจำชาติเช็ก


มองสะพานชาร์ลส์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Museum Kampa

                ระหว่างเส้นทางที่แม่น้ำไหลผ่านทำให้เกิดพื้นที่ลุ่มน้ำ 28,090 ตารางกิโลเมตร เท่ากับครึ่งหนึ่งของดินแดนโบฮีเมีย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ (เช็กประกอบด้วยดินแดนในประวัติศาสตร์โบฮีเมีย, มอเรเวีย และไซลีเซีย โดยโบฮีเมียกินพื้นที่ถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด)

                เมื่อรับน้ำจากเวตตาวาแล้ว แม่น้ำลาแบก็ไหลต่อไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าเยอรมนีที่เมืองเดรสเดน โดยในเยอรมนีแม่น้ำนี้ถูกเรียกว่า “เอบา” ไหลผ่านหลายเมืองสำคัญ รวมถึงนครฮัมบูร์ก ก่อนสิ้นสุดการเดินทางบนพื้นทวีปที่เมืองคุกซาเฟน ริมฝั่งทะเลเหนือ.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"