ชุมนุม 14 ตุลาฯ ข้อเรียกร้องเปลี่ยน ขยับรุก "ขับบิ๊กตู่-ปฏิรูปสถาบันฯ" กับความอ่อนไหวในสถานการณ์


เพิ่มเพื่อน    

          นัดหมายชุมนุมใหญ่การเมืองของกลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง คณะประชาชนปลดแอก ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะราษฎร ซึ่งนัดหมายวันพุธที่ 14 ตุลาคมนี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

อันเป็นนัดหมายที่ตรงกับวันครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองที่ถนนราชดำเนิน ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย

                ประเด็นการเคลื่อนไหวรอบนี้ กลุ่มแกนนำได้เปลี่ยนแนวทาง-ข้อเรียกร้องใหม่ จากเดิมที่เคยประกาศไว้ในการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกๆ เมื่อ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ผ่าน

                "3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน"

                อันประกอบด้วย

                1.รัฐบาลต้องหยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย

                2.รัฐบาลต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

                3.รัฐบาลต้องยุบสภาฯ เพื่อให้ประชาชนเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

                โดยตั้งอยู่บน 2 หลักการที่ว่า 1.จะต้องไม่มีการรัฐประหาร 2.การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

                ภายใต้ 1 ความฝันคือ การมี ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างแท้จริง

                มาวันนี้กลุ่มคณะราษฎรนัดหมายชุมนุม 14 ต.ค. โดยมีข้อเรียกร้องและแนวการเคลื่อนไหว ตั้งอยู่บน 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย

                1.พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

                2.เปิดประชุมวิสามัญทันที เพื่อรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน

                 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์กลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

                ประเด็นการเคลื่อนไหว-ข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนไปจากเดิม ว่าไปแล้วไม่น่าแปลกใจ

เหตุเพราะหากวิเคราะห์ประเด็นข้อเรียกร้องเดิม อย่างเรื่อง รัฐบาลต้องหยุดคุกคามประชาชน เป็นประเด็นที่ใครต่อใครก็เห็นชัดว่าค่อนข้างเป็นนามธรรม รัฐบาลปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้ง่าย ขณะที่ข้อเรียกร้องเรื่องให้ยุบสภาฯ ที่อยู่ในข้อเรียกร้องสุดท้าย โดยเอาประเด็นเรื่องการร่าง รธน.ฉบับใหม่มาไว้ก่อน ในทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ไกลเกินไป และเกิดขึ้นได้ยาก เพราะแม้แต่พรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย แนวร่วมการเมืองในสภาฯ ก็ไม่พร้อมกับการยุบสภาฯ ในช่วงนี้

ผนวกกับที่สำคัญ ถ้ามีการร่าง รธน.ฉบับใหม่โดยสภาร่าง รธน.ตามที่กลุ่มแกนนำเรียกร้อง โดยปกติหากมีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ออกมาได้จริง หลัง รธน.ประกาศใช้ ในทางการเมืองมันก็แทบนับถอยหลัง ยุบสภาฯ เพื่อใช้กติกาตาม รธน.ฉบับใหม่อยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้ามีการร่าง รธน.ฉบับใหม่-ทำประชามติ-ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

กระบวนการทั้งหมดข้างต้นใช้เวลาร่วมๆ สองปี ถึงตอนนั้นรัฐบาลพลังประชารัฐ-ตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ถือว่าอยู่มาร่วมสามปีกว่าแล้ว การเตรียมยุบสภาฯ เพื่อใช้กติกาการเลือกตั้งตาม รธน.ฉบับใหม่ จึงเกิดได้ไม่ยาก เพราะถือว่าอยู่นานเกินคาดแล้วเสียด้วยซ้ำ

                มุมนี้มองได้ว่า ทีมที่ปรึกษาการเคลื่อนไหว-กุนซือที่อยู่ข้างหลัง กลุ่มแกนนำ-นักเคลื่อนไหว ตลอดจนแกนนำบางส่วนคงเริ่มเห็นแล้วว่า ประเด็นการเคลื่อนไหว ข้อเรียกร้อง 3 ข้อเดิม เมื่อเดือนสิงหาคม มีช่องโหว่ และมีความลักลั่นในตัวเอง เลยทำให้มีการปรับเปลี่ยนข้อเรียกร้องออกมาอย่างที่เห็นล่าสุด

                ที่เห็นชัดเจนว่า เป็นการเปลี่ยนแนวทาง ข้อเรียกร้อง ให้มีผลทางการเมืองในระยะสั้น อย่างเช่น การเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อรับร่าง รธน.ฉบับประชาชน ที่ก็คือการหมายถึง หวังให้มีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญในช่วงเดือนตุลาคม เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภานัดประชุมลงมติไปเลยว่าจะรับร่าง รธน.ที่ค้างการลงมติ 6 ร่างฯ หรือไม่ รวมถึงต้องการเร่งผลักดันให้ร่าง รธน.ฉบับที่ประชาชนร่วมลงชื่อแสนกว่าชื่อ ที่ผลักดันโดยไอลอว์ ถูกเร่งนำเข้าพิจารณาประกบไปด้วยเป็นร่างที่ 7 ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยก็พยายามจุดประเด็นนี้ขึ้นมาก่อนสภาฯ ปิด แต่ไม่ได้รับการขานรับใดๆ ทั้งจากฝ่ายค้านด้วยกันเอง-ส.ส.รัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา

                อีกทั้งหากนับจากวันที่ 14 ต.ค. เท่ากับเหลือเวลาอีกแค่สองสัปดาห์เท่านั้น สภาฯ ก็จะเปิดประชุมสมัยสามัญ ตั้งแต่ 1 พ.ย.อยู่แล้ว ยิ่งล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีประกาศ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พ.ศ.2563 ในวันที่ 1 พ.ย.ออกมาแล้ว

 ดังนั้นการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ตามข้อเรียกร้องล่าสุด แทบเป็นไปได้ยาก

                แต่ที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนจากการเรียกร้องให้ยุบสภาฯ มาเป็นให้ บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ลาออก"

                ที่ถอดรหัสการเมืองได้ว่า กลุ่มผู้เรียกร้องคงมองว่า การเรียกร้องให้ยุบสภาฯ พร้อมกับการร่าง รธน.ฉบับใหม่ มันขัดกันเองอยู่ในที และเห็นผลยากในระยะสั้น

                จึงเปลี่ยนมาเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไข รธน.มาให้ควบคู่ไปกับการให้พลเอกประยุทธ์ลาออก และยิ่งเมื่อทางกลุ่มเคยประกาศแนวทางว่า ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ที่ก็คงหมายถึงไม่เอานายกฯ คนนอก หรือนายกฯ นอกบัญชี ที่ รธน.เปิดช่องให้โหวตเข้ามาได้ แต่ต้องใช้เสียงและขั้นตอนหลายอย่างด้วย

เมื่อเป็นดังนี้จึงเท่ากับว่า ทางกลุ่มเคลื่อนไหวก็ต้องการได้นายกฯ ตามกติการัฐธรรมนูญ คือต้องเป็นนายกฯ ที่มาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และอยู่ในเกณฑ์ที่เข้าข่ายถูกโหวตจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส่วน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หมดสิทธิ์ เพราะอยู่ระหว่างการถูกตัดสิทธิ์การเมืองจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่

                กระนั้นในทางการเมือง ข้อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกดังกล่าว หากจะให้มี อิมแพคแรงๆ จนเก้าอี้บิ๊กตู่ร้อนขึ้นมา นั่นหมายถึงกระแสเอาด้วยต้องแรงจริงๆ โดยเฉพาะต้องมีประเด็นที่สร้างกระแสให้กับคนจำนวนมากเห็นด้วย และออกมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งแม้ข้อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกไปอาจไม่เห็นผลทันที 14 ต.ค. แต่หาก ทางกลุ่มแกนนำม็อบมีการเคลื่อนไหวประเด็นนี้ต่อเนื่อง จนมีกระแสตอบรับแรงขึ้น ในทางการเมืองมันก็จะเป็นการกดดันบิ๊กตู่ และพรรคพลังประชารัฐไปในตัว ในการสกัดกระแสเรียกร้องดังกล่าวด้วยวิธีการต่างๆ ที่คงต้องรอดูกันไป

                แต่ที่หลายคนสงสัย แม้แต่ประชาชนที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบดังกล่าว ตั้งแต่สมัยเป็นแฟลชม็อบ-คณะเยาวชนปลดแอก ก็คือ การที่ทางกลุ่มจะชูประเด็นเรื่อง ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลัก

                ถ้าเป็นแบบนี้ เอาแค่เฉพาะหน้า 14 ต.ค.ที่จะถึงนี้ สุดท้ายแล้วประชาชนทั่วไปที่เคยหนุนหลังกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเห็นด้วยบางประเด็น เช่น การแก้ไข รธน. ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สุดท้ายแล้วกลุ่มคนเหล่านั้นจะรู้สึกอ่อนไหว และเอาด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่อง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มากน้อยแค่ไหน? และหากเห็นด้วย กลุ่มแนวร่วมที่เป็นประชาชนคนธรรมดาจะมีการแสดงออกอย่างไร ที่จะไม่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่ล่อแหลมและอ่อนไหว จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคมไทย

                เพราะอย่างข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏออกมา ก็มีการรายงานข่าวไว้ว่า

                 "ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงตั้งเปรียญธรรม 9 ประโยคและเปรียญธรรม 6 ประโยค แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคและเปรียญธรรม 6 ประโยค ประจำปี 2563 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 17.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร"

                จนหลายฝ่ายอดแสดงความเป็นห่วงไม่ได้ หากจะมีการแสดงออกอะไรบางอย่างในช่วงวันที่ 14 ต.ค.

                เรื่องนี้คนที่พูดชัดถ้อยชัดคำ ฟังแล้วได้แก่นสาร ก็ต้องคนนี้เลย

                จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. - อดีตแกนนำนักศึกษารามคำแหง ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองช่วงพฤษภาฯ 35 ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเขาได้ออกมาส่งเสียงเตือนด้วยความห่วงใยถึง ความเปราะบางในสถานการณ์

                "การชุมนุม 14 ตุลานั้น ในวันนั้นจะมีพิธีที่วัดพระแก้วพระบรมมหาราชวัง ถนนราชดำเนิน ในช่วงปกติจะเป็นเส้นทางขบวนเสด็จฯ กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมเมื่อพฤษภา 2535 ผู้ชุมนุมต้องเปิดสองข้างทางให้ขบวนเสด็จ แล้วเปล่งเสียงทรงพระเจริญ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพียงสถานการณ์ในคราวนี้มีความแตกต่างกัน นี่เป็นเส้นบางๆ ที่มีความละเอียดอ่อนมาก เพราะหลากหลายเรื่องราว อะไรที่มากเกินไปนั้น คิดว่าบวกก็จะกลายเป็นลบ

                หลายเรื่องได้เลยเถิดมามาก แต่ถ้าเอาประเด็นเกี่ยวข้องกับสามัญชนด้วยกันแล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าเลยเถิดจึงเป็นการจำกัดแนวร่วม วันนี้เมื่อเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง นั่นแปลความว่าพสกนิกรต้องเทิดไว้เหนือหัว จึงไม่ควรดึงลงมาอยู่ในสนามการเมือง....ประกอบกับมีเส้นแบ่งบางๆ ตามเส้นทางขบวนเสด็จแล้ว ผมว่าต้องคิดให้รอบคอบ เพราะจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ขออย่าทำให้ 14 ตุลาเป็น 6 ตุลา"

                ขณะที่ท่าทีของฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมสื่อสารผ่านเพจเฟซบุ๊กในเครือข่ายของผู้จัดการชุมนุม โดยย้ำว่า

“หากตำรวจยังไม่จัดเส้นทางรถยนต์กษัตริย์ใหม่ หากมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก ขบวนจะผ่านก็ยากและลำบากต่อการจราจร ตำรวจจึงควรจัดเส้นทางที่ทำให้กษัตริย์ไม่ต้องเสี่ยงต่อมือที่ 3 ที่จ้องจะสร้างสถานการณ์ เราทุกคนต่างมีสิทธิในการใช้ถนนอย่างเท่าเทียมกัน หากช่วงที่มีขบวนรถกษัตริย์ผ่าน การจราจรยังไม่ถูกปิดจากการใช้พื้นที่ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมก็พร้อมจะให้ทุกคนได้ใช้ถนนร่วมกัน โดยจะไม่มีการขัดขวางหรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกใดๆ แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งขบวนเสด็จฯ ของกษัตริย์ด้วย”

แน่นอนว่า ทุกฝ่ายไม่ต้องการเห็นการเผชิญหน้า-การใช้ความรุนแรงของคนไทยด้วยกันเอง เพียงเพราะความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง การที่จะมีกลุ่มบุคคลใดเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีข้อเรียกร้องต่างๆ ออกมา ถือเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวนั้นต้องเคลื่อนไหวอย่างมีเหตุผล ใช้สติในการเคลื่อนไหว-เคลื่อนไหวในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และทำกิจกรรมบนหลัก สงบ สันติ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการใช้ความรุนแรง มีอะไรก็ค่อยพูดจากัน โดยเฉพาะเมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกัน ก็สู้กันด้วยเหตุผล-ข้อกฎหมาย

            ที่หากแต่ละฝ่ายยึดหลักข้างต้น สุดท้ายชุมนุมใหญ่ทางการเมือง 14 ต.ค. ก็จะผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่ต้องถูกจดจำในด้านลบ อย่างที่บางฝ่ายหวั่นเกรง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"