“ศบศ.” เทหมดหน้าตัก ฟื้น ศก.ปลายปี


เพิ่มเพื่อน    

       จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กระทั่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบศ.” ขึ้นมา เพื่อระดมทีมหัวกะทิฝ่ายเศรษฐกิจ ร่วมกันหามาตรการฟื้นเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่รัฐบาลลุยเคาะมาตรการต่างๆ ออกมามากมาย อีกทั้งยังได้ขุนคลังคนใหม่อย่าง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง เข้ามาเสริมทีมอีกด้วย

ซึ่งล่าสุดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการรายงานภาพรวมเศรษฐกิจ หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทาง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในตั้งแต่เดือน ส.ค.มีสัญญาณของการฟื้นตัว สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ อาทิ มูลค่าการส่งออกสินค้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งจำนวนบริษัทที่ขอปิดกิจการ นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุนยังขยายตัวสูง

ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจรายสาขาจากภาคเอกชน ที่ประกอบด้วยข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจในภาพรวม 6 ด้าน ซึ่งหลายมาตรการรัฐบาลได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ได้แก่ 1.การเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ 2.ลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่าย อาทิ การลดภาษี การยกเว้นการจัดเก็บภาษี การให้นำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษี 3.กระตุ้นตลาดและการใช้จ่ายของผู้บริโภค อาทิ การสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ 4.รักษาการจ้างงานและยกระดับฝีมือแรงงาน 5.กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ และ 6.ลดอุปสรรคจากการดำเนินงานภาครัฐ

ทั้งนี้ในส่วนของ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ในประเทศ ที่สำคัญในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่รัฐบาลเคาะไปหลายมาตรการ เพราะคาดหวังจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น “โครงการคนละครึ่ง” ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. การลงทะเบียนร้านค้าโครงการ รวม 210,010 ร้าน แบ่งเป็นกิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ จำนวน 152,795 ร้าน กิจการที่รอดำเนินการตรวจสอบ จำนวน 56,465 ร้าน และกิจการไม่เข้าข่ายเงื่อนไขของโครงการ จำนวน 750 ร้าน โดย “พล.อ.ประยุทธ์” ยังให้กระทรวงมหาดไทยเร่งประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อย ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งให้ทั่วถึงทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย

ขณะที่ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ล่าสุดวันที่ 4 ต.ค. มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 5.27 ล้านคน มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 1,406,808 คืน และมีสัดส่วนจากรัฐสนับสนุน 1,537.2 ล้านบาท สำหรับมูลค่ายอดใช้จ่าย E-Voucher รวมทั้งหมด 916.4 ล้านบาท มีสัดส่วนจากรัฐสนับสนุน 345.7 ล้านบาท ขณะที่ตั๋วเครื่องบินมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 51,753 สิทธิ์ ซึ่งมีสัดส่วนรัฐสนับสนุน 43.9 ล้านบาท สำหรับมูลค่ายอดใช้จ่ายภายใต้โครงการนี้รวมจำนวนทั้งหมด 5,096.5 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ยอดมูลค่าโรงแรมที่พักจำนวน 4,049.7 ล้านบาท และสายการบิน 130 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยว 3,169.7 ล้านบาท และจากรัฐบาล 1,926.8 ล้านบาท และ “โครงการกำลังใจ” มีบริษัทนำเที่ยวเข้าร่วม จำนวน 3,959 บริษัท นักท่องเที่ยวเข้าร่วม จำนวน 379,771 คน และมีสัดส่วนรัฐสนับสนุน 759,542,000 บาท

ส่วนแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แจ้งความประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทยภายใต้ STV จากภูมิภาคต่างๆ รวม 1,615 คน โดยในปัจจุบันมี 5 จังหวัดที่สามารถรองรับการกักตัวได้ ซึ่งแบ่งเป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่ผ่านการตรวจประเมิน Alternative State Quarantine (ASQ) จำนวน 84 แห่ง และโรงแรมในชลบุรี บุรีรัมย์ ภูเก็ต และปราจีนบุรี ที่ผ่านการตรวจประเมิน Alternative Local Quarantine (ALQ) จำนวน 11 แห่ง

            ทั้งนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจรายสาขาของภาคเอกชน และให้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนวทางการดำเนินการเพิ่มเติมต่อที่ที่ประชุม ศบศ.

รวมทั้งให้ สศช.ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย หารือแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจ และยังคงรักษาระดับการจ้างงานต่อไปได้ โดยมุ่งเน้นการหาแนวทางการช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อย เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มาตรการพักชำระหนี้กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ต.ค.นี้ โดยให้นำเสนอต่อที่ประชุม ศบศ.ต่อไป

                ทั้งนี้ ในการประชุม ศบศ.ครั้งหน้า คาดว่าจะมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินมาตรการต่างๆ ซึ่งต้องดูว่ามาตรการที่รัฐบาลได้ทุ่มลงไป จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นทันในช่วงปลายปีนี้ได้หรือไม่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"