ม็อบคณะราษฎร 63 ล้อมทำเนียบฯ หรือจะมีจุดเปลี่ยนการเมือง?


เพิ่มเพื่อน    

 

              ภาพรวมตลอดทั้งวันของการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง "คณะราษฎร 2563" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันพุธที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา

               ซึ่งสุดท้าย ในช่วงเย็น แกนนำและมวลชนผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรก็ได้ยกพลทะลวงด่านสกัดของตำรวจแต่ละด่านจนแน่นถนนพิษณุโลก และสุดท้ายก็สามารถล้อมหน้าทำเนียบรัฐบาลได้แล้ว และต่อจากนี้ก็คงเป็นไปตามที่แกนนำคณะราษฎรเคยแจ้งไว้ว่าจะปักหลักพักค้างสักช่วงหนึ่ง ก็คาดกันว่าเบื้องต้นอาจจะสัก 3 วัน

                ส่วนสถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันให้ดี เพราะภาพรวมของการเคลื่อนไหวเมื่อ 14 ตุลาคม แม้จะไม่ได้เกิดเหตุรุนแรงอะไร แต่ภาพเหตุการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะการแสดงออกของมวลชนฝ่ายหนุนคณะราษฎร ที่ชูธงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วประชาชนจำนวนไม่น้อยแสดงออกต่อผู้อยู่ในสถาบันเบื้องสูงระหว่างขบวนเสด็จฯ แล่นผ่านประชาชน ที่ปรากฏภาพดังกล่าวออกมา

               เป็นภาพเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับคนจำนวนไม่น้อย ที่ต่างไม่คิดว่าจะเกิดภาพเช่นนี้ขึ้นในประเทศไทย

            และหลังจากนี้น่าติดตามว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะการแสดงความรับผิดชอบของคนที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมป้องกันแบบสูงสุด จนทำให้เกิดภาพเหตุการณ์ดังกล่าวที่คนไทยจำนวนมากต่างยอมรับไม่ได้ ขณะเดียวกันก็เห็นชัดอย่างรวดเร็วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นกระแสตีกลับในทางลบไปยังม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาลกับการแสดงออกที่ทำเกินกว่าเหตุ เสี่ยงจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย

               ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องล่าสุดที่แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 เรียกร้องไว้มี 3 ข้อ ที่เรียกกันว่าข้อเรียกร้อง 3 ป. คือ 1.ประยุทธ์ต้องออกไป 2.เปิดวิสามัญรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

                โดยก่อนที่จะไปถึงการล้อมทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็น ภาพรวมไฮไลต์สำคัญของการชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาคม ก็คือการเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมจากบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อไปปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีการเคลื่อนตัวในช่วงประมาณบ่ายสองเศษๆ ท่ามกลางอากาศครึ้มๆ

                จังหวะรุกของแกนนำคณะราษฎรในการนำมวลชนของตัวเองพยายามเข้าไปให้ใกล้ทำเนียบรัฐบาลให้มากที่สุด ก็ดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป พอเจอแนวต้านในเส้นทางเคลื่อนย้าย เช่น การตั้งรถตำรวจขวางทาง เจอด่านสกัดแน่นหนา ก็มีการส่งแกนนำไปเจรจากับตำรวจที่ดูแลพื้นที่ ซึ่งก็มีบางจุดตำรวจก็ยอมถอยให้ด้วยการเคลื่อนรถบัสที่ขวางทาง เพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ทำเนียบฯ ในจุดที่ตกลงกันได้บ้าง ทั้งหมดก็คือยุทธวิธีผ่อนหนักผ่อนเบาของตำรวจ เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าให้มากที่สุด

                ขณะที่พอกลุ่มผู้ชุนนุมเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้แจ้งให้สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องออกจากทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด โดยจะปิดประตูทางเข้า-ออกเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ หลังที่ผ่านมาทำเนียบรัฐบาลเคยถูกกลุ่มม็อบบุกยึดมาแล้ว ทั้งในยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและ กปปส. โดยเฉพาะยุคเสื้อเหลืองตอนรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบฯ ปักหลักพักค้างยาวนานนับเดือน ทำให้ข้าราชการทำเนียบรัฐบาลและหน่วยงานราชการอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมีประสบการณ์มาแล้วในการเตรียมพร้อมรับมือ

                แน่นอนว่า ตลอดการชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาคม มีหลายฉากหลายซีนที่น่าสนใจทางการเมือง อย่างเช่น การที่กลุ่มคนที่ดูจะมีอายุระดับหนึ่งซึ่งมีอยู่ไม่น้อย หลายคนใส่เสื้อแดง มีการเดินปะปน นั่งใกล้ๆ กัน จนถึงขั้นยืนชิดติดกันเลยก็มีในพื้นที่ถนนราชดำเนิน ในช่วงที่กลุ่มคณะราษฎรกำลังเริ่มระดมพลให้มารวมตัวให้มากที่สุดที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะช่วงพีกๆ หลังเที่ยงที่คนเริ่มทยอยเข้าพื้นที่ ซึ่งคนในเสื้อแดงหลายคนก็ต้องเดินผ่านพื้นที่บริเวณที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยใส่เสื้อเหลือง ที่ทั้งยืนและนั่งอยู่ในพื้นที่ถนนราชดำเนิน โดยที่ประชาชนที่ใส่เสื้อเหลืองเพื่อมารอรับเสด็จต่างทยอยเข้าพื้นที่ถนนราชดำเนิน บริเวณฝั่งที่รถวิ่งมาจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศเพื่อไปยังท้องสนามหลวง หรือเมื่อคนเสื้อแดงหรือกลุ่มมวลชนที่จะไปร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร แล้วเดินมาจากบริเวณสี่แยกคอกวัวเพื่อเข้าพื้นที่การชุมนุม โดยบางคนเลือกที่จะเดินผ่านบริเวณฝั่งคนเสื้อเหลืองจำนวนมากที่นั่ง-ยืนรอขบวนเสด็จฯ ก็พบว่าหลายคนก็เดินผ่านได้ตามปกติ ไม่ถูกมองแบบแปลกๆ อะไรทั้งสิ้น โดยรวมจึงทำให้เห็นว่าเป็นวันที่ได้เห็นคนใส่เสื้อเหลืองกับคนใส่เสื้อแดง เสื้อดำ ก็ใช้ชีวิตกันตามปกติ ในวันที่ การเมืองในพื้นที่ถนนราชดำเนินค่อนข้างเขม็งเกลียวอย่างมาก แต่คนใส่เสื้อเหลืองกับคนใส่เสื้อแดง เสื้อดำ ต่างก็ใช้ชีวิตกันตามปกติ หลายคนบอกว่าภาพรวมก็ถือว่าดี ไม่มีการพูดจาท้าทาย หรือชักสีหน้าใส่กันแต่อย่างใด

                อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานว่ามีบ้างใน 1-2 จุด ในเส้นทางบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล ที่มีการรายงานข่าวว่าเกิดเหตุท้าทายโต้เถียงกันของคนทั้งสองฝั่ง เช่น ที่บริเวณใกล้ๆ แยกนางเลิ้ง เกิดเหตุเผชิญหน้ากันระหว่างสองฝ่ายคือ กลุ่มไทยภักดี กับทีมการ์ดของกลุ่มม็อบคณะราษฎร โดยปรากฏภาพการโต้เถียงกันอย่างร้อนแรงจนตำรวจต้องเข้าระงับเหตุ โดยกันสองกลุ่มให้ห่างออกจากกัน ทำให้สถานการณ์ไม่บานปลายลุกลามอะไรมากนัก เพราะตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

                ในซีกของฝ่ายเสื้อเหลือง แม้อาจมีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีการจัดตั้งอะไรกันมา แต่ก็พบว่าอดีตแกนนำ กปปส.ก็มาร่วมงานนี้ด้วยหลังได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ที่ใส่เสื้อเหลืองเดินทักทายประชาชนที่รอรับเสด็จบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

                โดย "สุเทพ" อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่สร้างปรากฏการณ์ "มวลมหาประชาชน" ในการทำให้มีคนมาร่วมชุมนุมการเมืองจำนวนมากเมื่อปี 2556-2557 ออกตัวที่จะให้ความเห็นเรื่องม็อบคณะราษฎรในเวลานี้ โดยบอกแต่เพียงว่าฝ่ายอื่นๆ ถ้ามีอุดมการณ์จริงก็ไม่ควรจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันตั้งสติและให้สติกัน แล้วจะเข้าใจว่าความวุ่นวายใดๆ ก็ตามล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

                สุดท้ายแล้ว สถานการณ์ต่อจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “บิ๊กตู่จะสู้ๆ" ต่ออีกหรือไม่ และจะตั้งรับเพื่อพลิกสถานการณ์อย่างไร ท่ามกลางกระแสข่าว หากสุดท้ายการเมืองถึงทางตัน อยู่ต่อไปแบบนี้ก็มีแต่ความขัดแย้งวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น ก็อาจต้องงัดสูตรทางออกการเมืองบางสูตรออกมาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้คลายความร้อนแรงลง หรืองานนี้อาจจะต้องมีบางคนยอมเสียสละอย่างที่กระแสข่าวลือเริ่มหนาหู!!!.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"