กก.ปฏิรูปตำรวจชุดมีชัย ระวังหลงทาง-โดนหลอก


เพิ่มเพื่อน    

ปฏิรูปตร.ชุดมีชัย  ระวังหลงทาง-โดนหลอก

........................................

      คณะกรรมการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ....ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กำลังเร่งพิจารณาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 โดยกรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่าย ซึ่งถูกมองว่าเป็นไพ่ใบสุดท้ายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล คสช.ในการ ปฏิรูปตำรวจ หลังเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา สังคมมองว่านายกรัฐมนตรีและ คสช.ไม่จริงใจในการปฏิรูปอย่างที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ โดยแค่ วอร์มอัพ “มีชัย” ก็ประกาศเสียงดังว่า จะไม่ทำงานแบบกรรมการทุกชุดที่ผ่านมา และ ต้องเลิกเกรงใจตำรวจ 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ-อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เกาะติดเรื่องการปฏิรูปตำรวจมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุค คสช. ล่าสุดได้ออกหนังสือพ็อกเกตบุ๊กชื่อ วิกฤติตำรวจและงานสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม รวมบทความที่มีเนื้อหาวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปตำรวจแบบถึงแก่นตลอด 3 ปีเศษ 

โดยการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ได้เสนอแนวคิดมุมมองต่อการนับหนึ่งใหม่ปฏิรูปตำรวจรอบสุดท้ายของรัฐบาล-คสช. ผ่านกรรมการชุดนายมีชัย โดยเน้นย้ำความจำเป็นเรื่อง งานสอบสวนต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ปลอดจากการแทรกแซงสั่งการตามชั้นยศ แต่ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยพนักงานอัยการในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียนตามหลักสากล รวมถึงข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจด้านอื่นๆ ซึ่ง พ.ต.อ.วิรุตม์ย้ำว่า บางเรื่องเช่น การโอนตำรวจ 11 หน่วย ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไปรับผิดชอบตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 สามารถทำได้ทันที โดยการออกพระราชกฤษฎี ซึ่งเป็นกฎหมายฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 3-5 ปี แต่อย่างใด

พ.ต.อ.วิรุตม์ เกริ่นนำว่า เรื่องการปฏิรูปตำรวจ-กระบวนการยุติธรรม ที่มีการตั้งกรรมการศึกษาทำข้อเสนอมาหลายชุดในยุค คสช. ตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ มาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นอกจากนั้นก็ยังมีชุดของกระทรวงยุติธรรม ของกรรมาธิการของ สนช. จนมาถึงชุดตามรัฐธรรมนูญที่มีพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ในชื่อ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) และมาถึงชุดที่นายมีชัยกำลังพิจารณา

ก่อนที่จะมาถึงกรรมการชุดนายมีชัย ผมพูดตั้งแต่แรกตอนเห็นรายชื่อกรรมการชุดพลเอกบุญสร้าง ว่า “คงไม่มีอะไรในกอไผ่ แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ  เมื่อเห็นข้อเสนอต่างๆ ตามที่รายงานนายกฯ ให้ดำเนินการ ประชาชนก็ผิดหวัง มันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้

...ทางตัวพลเอกบุญสร้างท่านเป็นอดีตทหาร แม้จะมีความตั้งใจดี แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องไม่มีความเข้าใจปัญหาตำรวจอย่างแท้จริง แล้วกรรมการก็เป็นตำรวจถึง 15 คน ซึ่งต้องถามว่า ในนั้นมีใครที่มีแนวปฏิรูปตำรวจชัดเจนบ้าง ทั้งหมดก็ถูกเลือกสรรมาแล้วว่าไม่ใช่คนที่มีแนวคิดปฏิรูปตำรวจในเชิงระบบและโครงสร้างอะไร ผมเคยพูดเล่นๆ ว่า จริงๆ แล้วคนที่จะปฏิรูปตำรวจได้ดีที่สุดก็คือ กลุ่มคนที่เคยถูกตำรวจยัดข้อหา ผู้เสียหายที่ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง จะซาบซึ้งที่สุดและจะมีแรงขับให้เกิดการปฏิรูปตำรวจในเชิงระบบและโครงสร้างอย่างแท้จริง

อดีตรอง ผบก.จเรตำรวจ กล่าวต่อไปว่า ปฏิรูป หรือ Reform คือการจัดรูปใหม่ ทั้งโครงสร้างองค์กรและระบบงาน  ฉะนั้น พวกที่แนวคิดในการปรับปรุงหรือพัฒนาต้องไม่เอาเข้ามา เวลาตั้งกรรมการมักเอาตำรวจหรืออดีตตำรวจผู้ใหญ่ไปทำ เพราะคิดว่ารู้เรื่องดี ซึ่งเป็นหลักคิดที่ผิด เพราะตำรวจผู้ใหญ่คือกลุ่มที่ไม่ต้องการปฏิรูป มีประโยชน์ทับซ้อน ทำให้บางคนเข้ามาเบี่ยงเบนประเด็นปฏิรูป มาเสนออะไรต่างๆ ที่เป็นสูตรเดิมๆ เช่น ให้เพิ่มเงิน เพิ่มคน

...อย่างเรื่องโอนตำรวจทางหลวงไปให้กรมทางหลวง ก็คือการโอนภารกิจ อำนาจหน้าที่ คน อาคารสถานที่ไป รถราพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ไปทั้งหมด เพราะหน้าที่ของตำรวจทางหลวงคือการดูแลคุ้มครองทางหลวงไม่ให้เสียหาย หรือใครมาทำให้เกิดอันตราย เช่น นำรถหนักมาวิ่ง ซึ่งผู้แทนกรมทางหลวงก็เคยมาชี้แจงกับอนุ กมธ.ของ สปช.ว่าพร้อมรับโอน เช่นเดียวกับหน่วยอื่นๆ อีกหลายหน่วย ก็ทำเหมือนการโอนตำรวจดับเพลิงไปให้ กทม. และงานทะเบียนรถยนต์ไปให้กรมการขนส่งทางบก ไม่ใช่หลงกับคำว่าถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งเป็น คำลวง คือ เอางานไป แต่คน อาคารสถานที่และอุปกรณ์การทำงานไม่ให้ 

...การใช้คำว่าถ่ายโอน ทำให้หน่วยราชการที่จะรับโอนเขาตกใจ และเริ่มต้นด้วยการของบประมาณสร้างอาคารสถานที่ จัดซื้อจัดหารถราพาหนะ อย่างงานรักษาป่าไม้ ทางกรมป่าไม้เป็นผู้ร่างกฎหมาย เป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบ เขารู้เรื่องป่าไม้ดีกว่าตำรวจมากมายอยู่แล้ว  

...ผมยืนยันว่า ทุกอย่างหากมีความจริงใจตั้งใจจริง ทุกปัญหามีทางออก แต่กลับกัน หากไม่จริงใจ ทุกทางออกจะมีปัญหาไปหมด พยายามพูดหรือให้ข้อมูลให้สังคมสับสน จะได้ไม่ต้องปฏิรูป

-ข้อเสนอที่ต้องการสื่อไปถึงกรรมการชุดนายมีชัย ควรต้องทำเรื่องไหน ต้องแก้ไขกฎหมายอย่างไรเพื่อให้มีการปฏิรูปตำรวจ?

ที่ควรรีบทำเรื่องหลักๆ ก็คือ การโอนตำรวจ 11 หน่วยไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ รวมทั้งการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการสอบสวน เพราะในกรรมการ ก็มีนายอัชพร จารุจินดา ที่เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ก็ควรต้องไปพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรมที่เสนอต่อยังนายกรัฐมนตรีผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เช่น การออกหมายบุคคลเป็นผู้ต้องหา หรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องให้พนักงานอัยการตรวจสอบพยานหลักฐานและให้ความเห็นชอบ เพราะปัจจุบัน ประชาชนเดือดร้อนเรื่องการแจ้งข้อหาคดีอาญาของตำรวจมาก เพราะเข้าใจกันว่า มีคนมาแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับใคร ก็จะทำให้มีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลที่ถูกกล่าวหานั้นในฐานะผู้ต้องหาทันที โทษต่ำกว่า 3 ปี ก็ออกหมายเรียก 2 ครั้ง หากไม่มา ก็เสนอศาลออกหมายจับ  ประชาชนเดือดร้อนกันมาก พอศาลออกหมายจับ สังคมก็จะเข้าใจว่าคนนั้นทำผิดจริง ศาลถึงออกหมายจับ แต่ข้อเท็จจริง ศาลยังไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาความผิด เพียงแต่ตรวจสอบว่า มีข้อกล่าวหาและมีการออกหมายเรียกแล้ว 2 ครั้ง ก็ออกหมายจับ ประชาชนหลายคนโดนออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว ยิ่งกรณีความผิดมีโทษเกิน 3 ปีขึ้นไป ไม่ต้องออกหมายเรียก เสนอศาลออกหมายจับได้ทันที

...อย่างกรณีคนโดนออกหมายจับกรณีถูกหาว่าร่วมฉ้อโกงกับแกงก์คอลเซ็นเตอร์ มาร้องกับผมว่า ถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว เป็นผู้หญิงถูกตำรวจถือหมายจับไปจับที่บ้าน พาตัวขึ้นรถแต่หัวค่ำไปถึงจังหวัดกระบี่ตี 2 ตำรวจบอกว่ามีคนอ้างชื่อไปทำธุรกรรมเปิดโทรศัพท์มือถือ ตำรวจเสนอศาลออกหมายจับ อ้างว่าไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรืออย่างกรณียุทธิยงค์ ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์เอเอสทีวี News1 ถูกศาลออกหมายจับข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ตัว ในการนำประชาชนผู้เดือดร้อนมาออกรายการ มีโทษจำคุกเกิน 3 ปี และตำรวจรายงานต่อศาลว่า ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทั้งที่จัดรายการโทรทัศน์ที่สถานีอยู่เกือบทุกวัน   

...การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ประเทศเรา คิดกันว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่จริงๆ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะถูกออกหมายเรียกหรือศาลออกหมายจับ ผู้คนจะเข้าใจว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้ว ต้องถูกสอบปากคำ พิมพ์ลายนิ้วมือ ส่วนใหญ่ต้องประกันตัว มีประวัติอาชญากรรม ต้องเสียเวลาไปรายงานตัวต่ออัยการและศาล ต้องไปให้ปากคำ ต้องมีประวัติติดตัวไปจนตาย แม้ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง แต่ประวัตินี้ก็ติดตัวตลอดไปจนตาย และขณะนี้ฝ่ายตำรวจได้มีการเสนอแก้ไข ป.วิ อาญาบังคับให้ผู้ต้องหาอ้าปากเพื่อเก็บตัวอย่างดีเอ็นเออีกด้วย

...การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานอัยการเห็นชอบการออกหมายเรียกหรือเสนอศาลออกหมายจับ รวมไปถึงการตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ (โทษเกิน 5 ปีขึ้นไป) หรือเมื่อมีการร้องเรียน อัยการสูงสุดก็ยืนยันว่ามีความพร้อมในการปฏิบัติเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยให้สอดคล้องกับหลักสากล  อันที่จริงพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่เขาไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร โดยเฉพาะคนที่สุจริต แต่เจ้านายของเขาไม่พร้อมต่างหาก เพราะคิดว่าจะทำให้อำนาจในการสอบสวนที่จะสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบกันอย่างไรก็ได้สูญเสียไป ทุกวันนี้เมื่อตำรวจออกหมายเรียกประชาชนเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับแล้ว อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และศาลจะพิพากษาลงโทษหรือไม่ ตำรวจก็ไม่แน่ใจ เราปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยตกอยู่ในสภาพนี้ได้อย่างไร

พ.ต.อ.วิรุตม์ ย้ำว่า ทางกรรมการชุดนายมีชัยก็ควรนำผลการศึกษาพิจารณาของคณะอนุกรรมการของกระทรวงยุติธรรมที่มีอาจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธานมาดำเนินการ หลายเรื่องผมเห็นว่า เป็นแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเรื่องอัยการต้องให้ความเห็นชอบในการออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ รวมทั้งการตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน แม้กระทั่งการสอบปากคำบุคคลต้องกระทำในห้องสอบสวนที่มีระบบบันทึกภาพและเสียงเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี

...รวมทั้งผมเห็นว่าควรต้องมีการแก้ไข ป.วิอาญาเรื่องการสั่งฟ้องของอัยการ จากปัจจุบันที่บัญญัติว่า เมื่ออัยการเห็นสมควรสั่งฟ้อง ก็ให้สั่งฟ้อง ซึ่งไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจน ที่ผ่านมาอัยการก็มักจะมีความเห็นสั่งฟ้องตามที่ตำรวจเสนอเป็นส่วนใหญ่ เพราะคิดว่าหากสั่งไม่ฟ้อง ก็ถูกตั้งคำถามมากมาย รับสินบนหรือมีการวิ่งเต้นหรือไม่? ก็สั่งฟ้องไปดีกว่า แต่เคราะห์กรรมตกกับประชาชน หากผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ก็เดือดร้อน เมื่อศาลยกฟ้อง ก็ไปรับเงินค่าติดคุกจากกระทรวงยุติธรรมได้วันละ 300 บาท แต่หากเป็นผู้กระทำผิดก็จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ไปทันที ไม่มีใครนำตัวเขามารับโทษตามกฎหมายได้อีกต่อไปนิรันดร์ ผู้เสียหายและญาติพี่น้องต่างคับแค้นใจไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากการก่ออาชญากรรมเพื่อให้หายแค้น

ปัญหานี้ควรแก้ให้มีบทบัญญัติแน่ชัดว่า อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องได้ต่อเมื่อคดีมีพยานเพียงพอจะพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวย้ำข้อเสนอดังกล่าว

          เมื่อถามถึงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนขั้นของตำรวจ ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่า แค่ยึดหลัก 3 เรื่องเท่านั้น คือ 1.พื้นที่ 2.สายงาน และ 3.อาวุโส เช่น ให้แต่งตั้งโยกย้ายในพื้นที่จังหวัดเป็นหลัก กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งตามสายงานตามหลักสากล เช่น สายสอบสวนต้องมีคุณวุฒินิติศาสตรบัณฑิต หรืออาจเนติบัณฑิต และพิจารณาตามหลักอาวุโสเท่านั้นก็เกิดความยุติธรรม ตำรวจส่วนใหญ่จะมีขวัญและกำลังใจขึ้นอย่างมากทันที เพราะมีหลักประกันความเจริญก้าวหน้าและไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากการแต่งตั้งโยกย้ายได้ง่ายเหมือนปัจจุบัน การย้ายข้ามจังหวัดต้องมีน้อยที่สุด ทำได้ต่อเมื่อมีตำแหน่งว่าง แต่ไม่มีผู้มีคุณสมบัติครบ   กรรมการชุดมีชัย ก็ควรสร้างหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจให้อยู่ในพื้นที่ในจังหวัดเป็นหลัก หากให้มีการสอบบรรจุภายในจังหวัดไปเลยตั้งแต่แรกจะยิ่งดี เพราะเขาอยู่ในจังหวัดเขาจะรู้พื้นที่ หัวใจของงานตำรวจคือการรู้จักภูมิประเทศและคน ไม่ใช่เอาคนที่ไม่รู้จักพื้นที่ไปทำงาน ไปไหนก็ไม่ถูก ไม่รู้จักใครเป็นใคร พอทำไป 1 ปี กำนันผู้ใหญ่บ้านยังไม่ทันจำหน้าได้ก็ย้ายอีกแล้ว

...ข้อเสนอดังกล่าว มองว่ากรรมการชุดมีชัย เขาก็อาจจะกล้าทำ แต่ปัญหาคือเขาเข้าใจแค่ไหน รับรู้เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนแม้กระทั่งหัวอกของตำรวจส่วนใหญ่ที่ไร้เส้นสายไม่เคยได้รับความเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่คิดแต่แก้ปัญหาด้วยการเอาเงินไปเพิ่มไปใส่ให้ แล้วตำรวจส่วนใหญ่จะแฮปปี้ มันไม่ใช่ ตำรวจทุกวันนี้ที่เดือดร้อน โดยเฉพาะตำรวจผู้น้อยที่เรียกกันว่า “ชั้นประทวน” ซึ่งควรยกเลิกคำนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน ส่วนใหญ่โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดบ้านภรรยา เขาก็พออยู่พอกิน รายได้และค่าตอบแทนต่างๆ ไม่ได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการหน่วยอื่น ซึ่งหลายหน่วยก็ทำงานหนักกว่าตำรวจอีก โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ลำบากยากแค้นมากกว่าทุกคน

ตั้ง ผบ.ตร.ควรเป็นอำนาจนายกฯ

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวถึงเรื่อง การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าเรื่องนี้ ผมไม่ค่อยให้ความสนใจ ก็แล้วแต่จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ในยุค คสช.มีการออกคำสั่งแก้ไขที่มา ผบ.ตร. จากเดิมที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนเลือกแล้วเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ แก้ไขเป็นให้ ผบ.ตร.เป็นคนเลือกและเสนอชื่อ แล้ว ผบ.ตร.จะเลือกใคร ก็ต้องเลือกคนที่มีความคิดและอุปนิสัยคล้ายกับเขา ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เกิดขึ้นยาก เลือดใหม่จะเกิดไม่ได้ การเลือก ผบ.ตร.ควรเป็นอำนาจและดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีมาจากประชาชน อย่าหลงประเด็นไปกับคำพูดว่า ตำรวจมีปัญหาเพราะการเมืองแทรกแซง ในความเป็นจริง บางครั้งการเมืองกลับเป็นผู้ให้ความเป็นธรรมกับตำรวจที่ไร้เส้นสายอีกด้วย เช่น ตำรวจที่ตกระกำลำบากไร้คนเหลียวแล ดาวรุ่งในวงการตำรวจจะมาจากการอุปถัมภ์ของตำรวจผู้ใหญ่กันเองทั้งสิ้น เพราะรับราชการต่อเนื่องยาวนาน ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งมาทำหน้าที่ในช่วงสั้นๆ เป็นระบบที่ตำรวจผู้ใหญ่ชงกันขึ้นมาวางไว้เป็นทายาทในหน่วยนั้นหน่วยนี้

-ข้อเสนอหลักๆ ที่ต้องการให้กรรมการชุดนายมีชัยดำเนินการแก้ไขใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นจริง?

ต้องกำหนดลงไปในรายละเอียดเลย เช่น หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ต้องรอให้ตำรวจผู้ใหญ่ต้องไปออกกฎ ก.ตร. เพราะที่เป็นอยู่ตอนนี้ ว่าอะไรๆ ก็ให้ออกเป็นกฎ ก.ตร. และระเบียบต่างๆ ซึ่งก็เหมือนกับการออกกฎกระทรวง กลายเป็นอำนาจจะออกหรือไม่ออกหรือออกแบบไหนก็ได้ ก.ตร.ก็ประกอบด้วยตำรวจผู้ใหญ่เป็นส่วนใหญ่ การออกกฎเกณฑ์อะไรที่จะเป็นการลดทอนอำนาจตัวเขาหรือพวกเขาจึงเป็นไปได้ยาก ควรบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเลย เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายต้องทำภายในจังหวัดเป็นหลัก ข้ามจังหวัดได้เมื่อเจ้าตัวสมัครใจ เพราะบางข้อเสนอของกรรมการบางชุด ดูแล้วก็ยังไม่ใช่ เช่น ชุดของพลเอกบุญสร้าง ไปเขียนว่าให้แต่งตั้งโยกย้ายภายในกองบัญชาการ ในความเป็นจริง การย้ายข้ามจังหวัด เช่น จังหวัดน่านไปแม่ฮ่องสอน ก็เกิดความเดือดร้อน ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับสารวัตรคนหนึ่งโทร.มาบอกว่า ถ้าไปอีกจังหวัดหนึ่งใกล้ๆ กัน แม้ได้เลื่อนเป็นรอง ผกก.ก็จะขอสละสิทธิ์

การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไร้หลักเกณฑ์นี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการส่งส่วย แม้กระทั่งปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง ทุกคนกลัวถูกย้าย ก็ส่งเงินรายเดือน เพื่อจะได้ไม่ถูกย้าย หรือเพื่อให้โยกย้ายเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งดีขึ้น รวมทั้งการลงโทษทางวินัยที่คัดลอกมาตามแบบทหาร มี ๑๘ ข้อ ถูกจับผิดง่ายด้วยข้อหาสารพัด เช่น ไม่ชอบหน้า ผกก.คนไหน ก็ไปตรวจโรงพัก เสาร์-อาทิตย์ไปตรวจก็ได้ ไม่เจอไม่พบตัว ห้องน้ำสกปรก ก็สั่งให้เขียนรายงานชี้แจง อนาคตดับเลย แต่ถ้าสนิทสนมรักใคร่กัน ก็ไม่ไปตรวจไปหาเรื่องจับผิดอะไร 

ตำรวจที่ส่งส่วยกันก็เพราะกลัวการแต่งตั้งโยกย้าย ต้องส่งส่วยเพื่อให้ไปดีขึ้น แล้วปัจจุบัน ไม่ใช่ส่งเพื่อให้ได้ตำแหน่งดีขึ้น หลายคนส่งแค่ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งรังแก ไม่ให้ถูกย้ายลดชั้นลง แต่หากจะให้ย้ายไปได้ตำแหน่งที่ดีๆ ก็ต้องมีอีกออฟชั่นหนึ่ง พิเศษขึ้น

...กรรมการชุดมีชัยควรเขียนหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายให้ชัดเจนไปเลยในตัวร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โดยให้พิจารณาตามลำดับอาวุโส สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 260 ที่บัญญัติไว้ ตอนนี้หากมีตำแหน่งอะไรว่าง ก็ต้องใช้หลักอาวุโสร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็พบว่ากรรมการชุดนายมีชัยบางคน เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน ก็ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องอาวุโส หลักนี้คือคำนึงถึงความอาวุโส ไม่ใช่ให้แบ่งอาวุโสกับความรู้ความสามารถแยกจากกัน เพราะโดยหลักการอาวุโสกับความสามารถมันเป็นเรื่องเดียวกัน ใครที่บอกว่าเป็นคนละเรื่อง เป็นการเข้าใจผิด เพราะคนครองตำแหน่งมาก่อน โดยหลักก็ต้องถือว่าเขามีความสามารถกว่า ที่ให้คำนึงถึงความอาวุโส หมายถึงหากมีตำแหน่งว่าง 5 ตำแหน่ง ก็ต้องคำนึงถึงคนที่ 1-5 แต่เมื่อพิจารณาผลการปฏิบัติงานเป็นรายบุคคลด้อยกว่าหรือมีปัญหาอย่างไรก็บันทึกเหตุผลไว้พร้อมที่จะตอบชี้แจง ก็ข้ามเขาไป ทุกส่วนราชการที่บริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาลล้วนทำแบบนี้

อย่าไปคิดว่า พิจารณาแต่อาวุโสแล้วตำรวจจะไม่ทำงาน ไม่จริง คนได้ 2 ขั้น ได้ 1 ขั้น ทุกคนต้องมีผลการปฏิบัติงานดีด้วยกันทั้งสิ้น ใครไม่ทำงานต้องมีโทษ การรับราชการมีตำแหน่งหน้าที่มันต้องทำงานตลอดเวลา ถ้ามีระบบตรวจสอบที่ดี จะไม่มีใครอยู่ได้โดยไม่ทำงาน ทำงานบกพร่องเสียหายหรือไม่บรรลุเป้า ก็ลงโทษเปลี่ยนหน้าที่ หรือหากจะใช้ระบบสอบเลื่อนขั้นแบบหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมการปกครองในการเป็นนายอำเภอก็ว่าไป แต่ของตำรวจ ไม่มีทั้งการสอบ และอาวุโส แล้วก็อ้างว่าพิจารณาตามความรู้ความสามารถ เกณฑ์วัดอยู่ตรงไหน เป็นนายเวร เปิด-ปิดประตูรถ ประตูลิฟต์ ชงน้ำชากาแฟ จัดอาหารหวานคาวบริการเจ้านาย แม้กระทั่งเมียเจ้านาย ก็ได้ย้ายหรือได้เลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าตำรวจที่ทำงานดูแลประชาชนในพื้นที่มากมาย  

ปัญหาคือกรรมการชุดมีชัยเข้าใจหลักเรื่องนี้หรือไม่ ที่ผ่านมาถูกหลอกกันแทบทุกคน หลงเข้าใจว่า อาวุโสกับความสามารถเป็นคนละเรื่องกัน แบ่งเป็น 2 ส่วนมีสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ให้ความเป็นธรรมกับตำรวจแล้ว เป็นเรื่องลวงโลก

...เมื่อก่อนตำรวจไม่ได้มีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายขนาดนี้ เพราะใช้หลักอาวุโส กำหนดให้การแต่งตั้งต้องพิจารณาตามอาวุโสและความรู้ความสามารถ แต่ประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีตำรวจผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวต้องการสร้างระบบอุปถัมภ์จึงได้เสนอแก้ไขกลายเป็น “พิจารณาความรู้ความสามารถและอาวุโส” กลับหลักเดิม จึงชุลมุนวุ่นวายมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ข้อเสนอยกเครื่องงานสอบสวน

          พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อไปว่า รายงานโดยสรุปของชุดพลเอกบุญสร้าง 18 หน้า และมีรายละเอียด  800 หน้าที่เสนอนายกรัฐมนตรี อ่านแล้วผมว่ามันกว้างๆ ลอยๆ ไม่มีความชัดเจนในประเด็นปฏิรูปโครงสร้างองค์กรและระบบงาน เช่นเรื่องแต่งตั้งก็ต้องมีการออกกฎ ก.ตร.อีก ควรเขียนให้ชัดไปเลย อย่างเมื่อครั้ง ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่าง รธน.ก็เขียนชัดเรื่องงานสอบสวนสองประเด็นว่า ปรับระบบงานสอบสวนให้เป็นอิสระ และอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ ถ้า รธน.ฉบับนั้นผ่าน ปัญหาตำรวจโดยเฉพาะเรื่องการสอบสวนจะจบไปทันทีประมาณ 60% มาถึงกรรมการชุดอาจารย์มีชัยก็ขอให้เขียนกฎหมายให้มันชัดไปเลย ไม่ต้องให้ไปออกกฎ ก.ตร.หรือระเบียบอะไรอีก

โดยเรื่องอำนาจหน้าที่ในงานสอบสวนก็ไปแก้ไข ป.วิ.อาญา ให้หัวหน้างานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นสถานีหรือหน่วยสอบสวนทุกหน่วยเป็น หัวหน้าพนักงานสอบสวน แทนหัวหน้าสถานี สามารถทำหนังสือส่งสำนวนให้อัยการสั่งคดีได้เลย จะลดการแทรกแซงลงได้ในระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันถ้าหากพนักงานสอบสวนสอบสรุปไม่ตรงตามเป้า หัวหน้าสถานีก็จะไม่ยอมเซ็นสำนวนส่งพนักงานอัยการให้  จนกว่าจะนำกลับไปแก้ไขให้เรียบร้อยตามที่ต้องการ    

ปัญหาตำรวจที่ร้ายแรงมากขณะนี้คือ การที่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความรับคำร้องทุกข์จากประชาชน ซึ่งมีทั้งทำเองเพราะขี้เกียจสอบสวน รวมทั้งที่ผู้บังคับบัญชาสั่งไม่ให้รับคำร้องทุกข์ คือมีการบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่ออกเลขคดีเข้าสารบบเพื่อลดสถิติคดีตามนโยบายหน่วยเหนือ    รวมทั้งปัญหาการแจ้งข้อหาประชาชนแบบมั่วๆ แจ้งข้อหาแล้วอัยการจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องก็แล้วแต่  ถือว่าพ้นความรับผิดชอบไปแล้ว มันก็เสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

-คาดหวังกับกรรมการชุดมีชัยแค่ไหนว่าจะเสนอแก้กฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปได้จริง?

เดิมชุดพลเอกบุญสร้างผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเห็นใจในข้อจำกัดของท่าน โดยเฉพาะสัดส่วนกรรมการที่เป็นตำรวจผู้ใหญ่มากมาย แต่ก็ติดตามการทำงานอยู่ พบว่าก็มีความพยายามจะคอนโทรลไม่ให้มีการนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง สังเกตว่าหลังสรุปผลการพิจารณาจะไม่ได้ยินตำรวจผู้ใหญ่บ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไร เพราะถือว่าคุมสภาพการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้แตะเรื่องโครงสร้างและระบบงานสำคัญ ซึ่งเราก็ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ผมหวังจากตัวนายกรัฐมนตรี เพราะท่านเคยพูดให้นโยบายเป็นทางปฏิรูปที่ชัดเจนไว้ต่อคณะกรรมการปฏิรูปชุดพลเอกบุญสร้าง เช่นให้พิจารณาเรื่องตำรวจสังกัดจังหวัด การแยกสายงานสอบสวนออกมาให้ชัดเจน รวมทั้งอำนาจหน้าที่และภารกิจ แต่ผลออกมามันไม่ตอบโจทย์ของนายกรัฐมนตรีที่พูดให้แนวทางไว้เลย ที่สำคัญไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริงด้วย

-ท่าทีของมีชัยล่าสุดระบุว่า "งานสืบสวน สอบสวน เป็นหน้าที่คู่กับการป้องกันและปราบปราม แต่จะต้องแยกให้มากขึ้น โดยจัดทำเป็นคุณลักษณะให้มีความเป็นอิสระใกล้เคียงกับอัยการและผู้พิพากษา" มีความเห็นอย่างไร?

ก็เป็นท่าทีของคุณมีชัยที่น่าสนใจ ฟังแล้วก็ถือว่าหลักคิดพอได้ แต่ต้องมีคนที่รู้เรื่องและจริงใจไปออกแบบในรายละเอียด แต่ตราบใดที่พนักงานสอบสวนยังอยู่ในระบบยศแบบทหาร หัวหน้าสถานีตำรวจยังเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนโดยไม่ต้องเจริญเติบโตมาจากการเป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจลงโทษทางวินัยพนักงานสอบสวน เป็นผู้สั่งการให้สอบสวนทั้งที่ไม่มีความรู้และมีปัญหาเรื่องการรับส่วยสินบนสารพัด มีอำนาจเซ็นหรือไม่เซ็นสำนวนส่งอัยการให้พนักงานสอบสวน ความเป็นอิสระในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามทักษะวิชาชีพด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

...การเป็นอิสระในการสอบสวนมีอยู่ 2-3 เรื่องคือ ความไม่กลัว รวมทั้งไม่อยาก หากยังอยู่ภายใต้ความกลัวหรืออยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ ก็จะไม่มีความเป็นอิสระ คนมีอำนาจบอกให้ทำอะไรก็ยังต้องทำให้   อย่างผู้พิพากษาหรืออัยการมีความเป็นอิสระค่อนข้างสูง เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองความเป็นอิสระไว้ การแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งมีหลักเกณฑ์ชัดเจน ต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ, คณะกรรมการข้าราชการอัยการ ย้ายกันตามวาระที่แต่ละคนรู้ตัวล่วงหน้า รู้คิวว่าต่อไปเขาจะไปอยู่ตรงไหน จึงไม่มีความเครียด เชื่อว่านายมีชัยเข้าใจหลักเรื่องนี้ แต่ห่วงกรรมการบางคนไม่เข้าใจ   ซ้ำยังออกมาพูดให้ผู้คนเกิดความสับสน

          การสอบสวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก็ให้อยู่ในความอยู่ในแท่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปก็ได้ แต่ให้เขาเติบโตได้ เช่นขึ้นเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน หัวหน้าสถานี ให้มีการเลื่อนขั้นต่างๆ ได้

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยืนยันว่า กระบวนการข้อเสนอทั้งหมดที่พูดมา การทำให้เกิดผลทำได้ไม่ยาก หากมีการเร่งกันจริงๆ บางเรื่องก็ไม่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ หรือ ป.วิ.อาญาฯ ด้วยซ้ำ โดยบางเรื่องก็ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เช่น การโอนตำรวจ 11 หน่วย หรืออย่างอำนาจสอบสวนของกรุงเทพมหานครตามกฎหมาย 28 ฉบับ ก็แค่ออกกฎกระทรวงมหาดไทยรองรับเท่านั้น เจ้าพนักงานเทศกิจตามเขตต่างๆ 50 เขตก็มีอำนาจสอบสวนส่งอัยการฟ้องศาลได้แล้ว คน อาคาร สถานที่ต่างๆ ก็พร้อมทำได้ทันที  คดีไม่ต้องค้างคาอยู่ที่ตำรวจนับหมื่นคดีเช่นทุกวันนี้

-มีกรรมการบางคนในคณะกรรมการชุดมีชัยบอกว่า ปัจจุบันทำงานทางด้านสืบสวนและมีอำนาจจับกุมอยู่แล้วทำแทนทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดหน่วยงานสอบสวนขึ้นใหม่อีกเป็นจำนวนมากอยู่ต่างสังกัดกัน จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก หากทำเช่นนั้นอาจเป็นการสร้างนรกให้ประชาชน?

คนที่พูดไม่มีความเข้าใจอะไรเลย น่าเป็นห่วงมาก ไม่เช่นนั้นจะเขียนไว้ทำไมในกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 จะเป็นนรกยังไง หมายถึงหน่วยอื่นจะไปสอบสวนบิดเบี้ยวหรือ ความผิดเหล่านี้เขามีความรู้ความชำนาญ ทำไมไม่ให้เขาสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการได้ และไม่ได้หมายความว่าตำรวจจะไม่มีอำนาจสอบสวนคดีเหล่านี้ ยังมีตามปกติ แต่กระทรวง ทบวง กรมอื่นเขาก็มีอำนาจสอบสวนคู่ขนานไปด้วยเท่านั้น ทุกวันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการไม่รับแจ้งความ ไม่ใช่นรกของประชาชนหรือ? ได้รับความเดือดร้อนเสียหายแล้ว ไม่มีประตูให้เดินไปสู่ความยุติธรรม

ประตูสู่ความยุติธรรมมี 2 ประตู คือ ประตูแจ้งความกับตำรวจ กับประตูที่ประชาชนไปฟ้องคดีเอง   การที่บอกว่าหากประชาชนไม่พอใจก็สามารถฟ้องคดีเองได้นั้น เป็นการพูดที่ขาดความรับผิดชอบ เพราะเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่าย เสียเวลา ถ้าประชาชนต้องฟ้องคดีเองแล้วจะมีรัฐไว้ทำไม มีพนักงานสอบสวนไว้ทำไม

ต้องเข้าใจว่าระบบยศเป็นจุดอ่อนและความอ่อนแอของระบบงานสอบสวน แต่หากงานสอบสวนเฉพาะทางไปอยู่ในระบบพลเรือน มันจะเข้มแข็งกว่าอย่างแน่นอน 

-กรรมการทุกชุดที่ทำเรื่องปฏิรูปตำรวจ ต่างก็พยายามจะเสนอให้เพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ เงินเดือนมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้?

เรื่องการเพิ่มเงินเดือนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงข้าราชการฝ่ายอื่นด้วย ไม่ใช่มาคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนกันตะพึด เพราะหากใช้ตรรกะว่าตำรวจทุจริตเพราะเงินเดือนน้อย ถ้าอย่างนั้นทุกกระทรวง กรมที่มีการทุจริต ก็แก้ด้วยการนำเงินไปเพิ่มให้หรือ? การคิดแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง ผมยืนยันว่าตำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้ทุจริต และตำรวจชั้นผู้น้อยก็ไม่ใช่ตัวการสำคัญของการทุจริต

การทุจริตประพฤติมิชอบเป็นปัญหาที่เกิดจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น เช่น การรับส่วย ใครจะไปส่งส่วยตำรวจผู้น้อย ตำรวจผู้ใหญ่ทั้งนั้น ทำให้ผู้น้อยเลียนแบบด้วยการรับสินบน เพราะไม่มีใครไปส่งส่วยเขา ตรรกะในการเพิ่มเงินเพื่อไม่ให้มีการทุจริต ถ้าคิดแบบนี้หากข้าราชการกระทรวงไหนทุจริต แทนที่จะลงโทษ แต่กลับไปเห็นใจแล้วก็หาทางเพิ่มเงินให้ ถ้าแบบนั้นข้าราชการเช่นในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่มีปัญหาทุจริตโกงเงินคนจน ก็ต้องไปขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนให้เขาใช่หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรจะเพิ่มค่าตอบแทนให้ตำรวจ ถ้ารัฐมีความสามารถก็เพิ่มไป แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมกับข้าราชการฝ่ายอื่นและประชาชนด้วย ที่สำคัญควรให้ความสำคัญเรื่องอุปกรณ์การทำงาน  การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ตำรวจที่ขาดแคลนอุปกรณ์การทำงานต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่มาบ่นกับประชาชน

อย่างล่าสุดงบประมาณในปีนี้ มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  115,000 ล้านบาท เพิ่มจากสี่ปีที่แล้วก่อนรัฐประหารร่วม 30,000 ล้านบาท ปัญหาอยู่ที่ระบบงานและวิธีบริหารจัดการ ปัญหาของตำรวจแท้จริงไม่ใช่เรื่องเงินน้อยหรือคนไม่พอ จะต้องไปเกณฑ์ประชาชนมาเป็นตำรวจตามที่เสนอ เป็นการเอาเปรียบไม่เป็นธรรมต่อประชาชน 

...ประเทศไทยมีสัดส่วนตำรวจเทียบกับประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 300-320 เท่านั้น ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 400-500 หรือนิวซีแลนด์ 1 ต่อ 600 ตำรวจไทยมีจำนวนมากเกินจำเป็นด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะตำรวจยศนายพล บ้านเรามีมากถึง 500 คน แต่หลายประเทศโดยเฉพาะตำรวจระดับสูงเขาไม่มียศแบบทหารกันแล้ว อย่างอินโดนีเซียซึ่งมีระบบตำรวจคล้ายๆ ประเทศไทย มีประชากร 250 ล้านคน มีนายพลตำรวจเพียง 200 คนเท่านั้น

ทุกวันนี้เรายังเข้าใจกันว่าตำรวจคือตำรวจแห่งชาติ เป็นความเข้าใจผิด ทำให้การปฏิรูปทำได้ยาก  ตำรวจที่ไม่มียศมีอยู่แล้วมากมาย ตัวอย่างเช่น วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่มียศแบบตำรวจ แต่สามารถจับเจ้าสัวแสนล้านได้ แต่หากเขามียศ ร.ต.อ. แน่ใจหรือว่าเขาจะทำเช่นนี้ได้

...ขอย้ำว่ายศแท้จริงคือความอ่อนแอในงานตำรวจ เพราะแต่ละคนกลายเป็นต้องฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติงาน ตำรวจเป็นงานที่ต้องกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์แบบทหาร ตำรวจทุกคนต้องทำหน้าที่เหมือนเม็ดโลหิตขาวในร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่เป็นอัตโนมัติ เวลามีสิ่งแปลกปลอม เจอแบคทีเรีย เม็ดโลหิตขาวจะกำจัดเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ตำรวจเจอบ่อน เจอตู้ม้าแล้วเกิดอาการตกใจ ต้องโทร.หาเจ้านาย ถามว่าของใคร หรือจะให้ทำอย่างไร  

ผู้ที่คิดเรื่องปฏิรูปต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจนก่อนว่า องค์กรตำรวจเข้มแข็งหรืออ่อนแอกันแน่ เมื่อมองเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ความเข้มแข็งไม่ใช่เครื่องแบบ แต่อยู่ที่จิตใจความกล้าหาญในการทำหน้าที่    ไม่ใช่จะใช้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องถามเจ้านาย อย่างผู้พิพากษา อัยการ เขาเรียกว่า "ท่าน" แต่กับตำรวจโดยเฉพาะผู้น้อยแม้กระทั่งผู้ใหญ่ถูกเรียกพูด มึงกู ทำอย่างไรให้ตำรวจมีวัฒนธรรมเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าเราจะไปเปลี่ยนแปลงตำรวจทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็วนั้นทำได้ยาก

 วิธีการก็ต้องเปลี่ยนแปลงบางส่วน เช่น ทำให้พนักงานสอบสวนออกมาจากระบบชั้นยศ ซึ่งวิธีการทำไม่ยาก การโอนตำรวจ 11 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เขาก็กลายเป็นตำรวจแบบไม่มียศทันที เช่นงานพิสูจน์หลักฐาน ถ้าออกจากตำรวจแห่งชาติ ผู้ปฏิบัติไม่อยู่ในระบบการบังคับบัญชาแบบมีชั้นยศ จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือมากกว่าหรือไม่

อยากฝากไปถึงกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่กำลังจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 ต้องกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งในสายงานแต่ละหน่วยให้ชัดเจน สายงานสอบสวนต้องมีวุฒินิติศาสตร์ หัวหน้าหน่วยพิสูจน์หลักฐานทุกระดับต้องมีคุณวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต กองบัญชีก็ต้องมีปริญญาทางบัญชี ไม่ใช่ตำรวจจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจวุฒิรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มีคุณสมบัติสามารถแต่งตั้งได้ทุกตำแหน่งเช่นทุกวันนี้

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวสรุปข้อเสนอในเรื่องการปฏิรูปงานสอบสวนที่ต้องการให้กรรมการชุดมีชัยผลักดันให้เกิดขึ้นว่าคือ เรื่องแยกงานสอบสวน หากมีการโอนภารกิจตำรวจออกไป ก็ถือเป็นการแยกงานสอบสวนอย่างหนึ่ง อย่างที่เคยเสนอกัน 11 หน่วย ซึ่งหน่วยพวกนี้เช่นกรมศุลากร เขาก็เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีอำนาจสอบสวน หลักคือต้องทำให้เขามีอำนาจสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขาได้ แต่ไม่ได้ตัดอำนาจตำรวจในการสอบสวนความผิดดังกล่าว ถ้าพื้นที่ใดเขาไม่มีความพร้อมหรือไม่เข้าไปดำเนินการ พนักงานสอบสวนตามสถานีตำรวจต่างๆ ก็ยังมีอำนาจสอบสวนความผิดเหล่านี้เช่นเดิม

อย่างเรื่องงานสอบสวน ในข้อเสนอของกรรมการชุดพลเอกบุญสร้าง เขาก็ทานกระแสเรื่องการแยกสายงานสอบสวนไม่ได้ ความจริงงานสอบสวนเดิมก็แบ่งเป็นสายเฉพาะอยู่แล้ว แต่หลัง คสช.ทำรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจมาตรา 44 ไปยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวน สลายให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่เมื่อก่อนตำรวจกับพนักงานสอบสวนจะแยกกัน ทำให้ปัจจุบันการแต่งตั้งโยกย้ายก็เลยมั่วไปหมด

งานสอบสวนของตำรวจตอนนี้เละเทะ ไม่มีคนที่มีความชำนาญเฉพาะทาง แล้วก็ไม่มีหลักประกันว่าตำแหน่งพนักงานสอบสวนจะไม่มีใครมาแย่งได้ ส่วนใหญ่เสียขวัญเสียกำลังใจตอนนี้ มีความพยายามจะทำให้กลับไปอยู่สภาพเดิม ให้พนักงานสอบสวนมีความก้าวหน้าในสายงานของตัวเอง แต่ก็ไม่มีความจริงใจ เพราะถ้าเป็นตามที่เสนอพนักงานสอบสวนจะเจริญเติบโตเป็นหัวหน้าสถานีไม่ได้ หนทางปิดสนิทโดยกฎหมาย จากที่เมื่อก่อนพนักงานสอบสวนยังมีโอกาสเติบโต

...กรรมการชุดพลเอกบุญสร้างทำให้พนักงานสอบสวนเป็นหัวหน้าสถานีไม่ได้แล้ว  ข้อเสนอเรื่องสายงานสอบสวนกลับทำให้พนักงานสอบสวนเสียขวัญ เพราะไม่ว่าจะทำงานเป็นพนักงานสอบสวนนานกี่ปีก็เป็นหัวหน้าสถานีไม่ได้ ในขณะที่หัวหน้าสถานีไม่ต้องเป็นพนักงานสอบสวน แต่ก็แต่งตั้งมาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนสั่งการให้สอบสวนได้ จะทำให้หัวหน้าสถานีกลายเป็นผู้ไม่มีความรู้และความชำนาญในงานสอบสวน สั่งผิดสั่งถูก เป็นอันตรายต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง เป็นข้อเสนอที่ดูภายนอกอาจเหมือนดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วมีผลเสียกว่าเดิม

...วิธีการในการให้พนักงานสอบสวนเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนได้ ก็คือต้องแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้หัวหน้างานสอบสวนเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนแทนหัวหน้าสถานีตำรวจตามที่กล่าวไว้แล้ว

 สำหรับแนวทางการสร้างระบบตรวจสอบการทำงานของตำรวจ หากถูกร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ มีข้อเสนอว่า หากดูจากข้อเสนอของกรรมการที่เคยเสนอเอาไว้ เช่น กรรมการชุดพลเอกบุญสร้างที่เสนอให้มีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ (กอ.ตร.) ที่ทำท่าเหมือนจะดี เช่นมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ไม่เคยเป็นตำรวจเป็นกรรมการสี่คน แต่พิจารณาจริงๆ แล้วเวลามีเรื่องต้องโหวตในกรรมการ ก็แพ้ตำรวจในกรรมการที่เป็นเสียงส่วนใหญ่หมด นอกจากนั้นผู้มีบทบาทในการตรวจสอบก็เป็นตำรวจในสำนักงานจเรตำรวจ ทำหน้าที่เลขานุการอีก มันจะเป็นคณะกรรมการอิสระจริงที่ประชาชนสามารถพึ่งหวังได้อย่างไร

...การให้มีกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ก็ต้องให้เป็นอิสระจริงๆ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองบังคับบัญชาของตำรวจไม่ว่าระดับใด โดยให้สำนักงานจเรตำรวจโอนไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเลย.  

...........................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"