แม่น้ำในบทบันทึก (13) : คงคา


เพิ่มเพื่อน    

 

 

   ธารน้ำแข็ง “กังโกตริ” บนเทือกเขาหิมาลัยในเขตแดนรัฐอุตตราขัณฑ์ของอินเดียละลายไหลออกมา ณ จุดที่เรียกว่า “โคมุข” (ลักษณะคล้ายปากวัว) ความสูงจากระดับน้ำทะเล 4,356 เมตร เกิดเป็นแม่น้ำภาคิราติ (Bhagirathi) ไหลไปอีกราว 200 กิโลเมตร บรรจบกับแม่น้ำอลัคนันดา (Alaknanda) ที่เมืองเทวประยาค (Devprayag) จากนี้ไปแม่น้ำสายนี้ถูกเรียกในชื่อ “คงคา”

                ในรัฐอุตตราขันฑ์ แม่น้ำคงคาไหลไปตามหุบเขาแคบๆ ของเทือกเขาหิมาลัย ก่อนเข้าสู่เขตผู้คนอยู่อาศัยในเมืองฤษีเกศ (Rishikesh) และพื้นราบที่เมืองหริทวาร (Haridwar)


แม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านกรุงพาราณสี

 

                เมืองฤษีเกศมีชื่อเสียงโด่งดังต่อชาวโลกเมื่อครั้งวงเดอะบีทเทิลส์เดินทางไปร่ำเรียนการฝึกปฏิบัติสมาธิล่วงพ้น (Transcendental Meditation) จากมหาฤษีมเหช เมื่อปี ค.ศ.1968 ต่อมาเมืองฤษีเกศก็กลายเป็นปลายทางของชาวตะวันตกทั้งแนวต้องการล่วงพ้นและเพ้อพก บริโภคกัญชาและสุรายาเมา จนเกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมอนาจารตามชายหาดของแม่น้ำ เป็นที่ห่วงกังวลของทางการ แต่ก็ต้องยอมให้ในนามของคำว่าเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ไม่นานมานี้มีข่าวเผยแพร่ไปทั่วว่าสาวฝรั่งเศสที่อยู่ยาวตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดถูกจับดำเนินคดีเพราะถ่ายวิดีโอตัวเองเปลือยกายบน “สะพานพระลักษณ์” แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

                ส่วน “หริทวาร” เป็นหนึ่งในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของนักแสวงบุญ และแม่น้ำคงคาที่ไหลผ่านเมืองหริทวารก็เป็นสถานที่ประกอบพิธีกุมภเมลา เทศกาลยิ่งใหญ่ทางด้านจิตวิญญาณของชาวฮินดู เช่นเดียวกับที่เมืองประยาคราช (Prayagraj) ในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ลงไปประมาณ 700 กิโลเมตร ทั้งนี้ “ประยาค” แปลว่าสถานที่ซึ่งแม่น้ำบรรจบกัน

                เมืองประยาคราช (เมื่อมุสลิมโดยจักรวรรดิโมกุลเข้าปกครองในคริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอัลลาฮาบัด รัฐบาลอินเดียเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อประยาคราชเมื่อ 2 ปีก่อน) เป็นเมืองที่แม่น้ำยมุนาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำคงคา และอีกแม่น้ำในตำนานคือแม่น้ำสรัสวดี เรียกว่า “ตริเวณี สังคม” หรือที่คนไทยเรียกตามนวนิยายของพนมเทียน ยอดนักประพันธ์ผู้ล่วงลับว่า “จุฬาตรีคูณ” โดยแม่น้ำสรัสวดีนี้อาจเคยมีตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์พระเวท แต่น้ำได้เหือดแห้งไปแล้ว หรือไม่เคยมีอยู่เลย และบางคนก็ว่าไหลอยู่ใต้ดิน อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับศาสนิกชนชาวฮินดู


หนึ่งในสองกาธ ริมแม่น้ำคงคา กรุงพาราณสี ที่พิธีเผาศพและการลอยอังคารสู่แดนสวรรค์ยังคงดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง มาเป็นเวลานับพันๆ ปี

 

                พิธีกุมภเมลา (Kumbh Mela) คือการจุ่มร่างกายลงไปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อชำระล้างสิ่งชั่วร้ายและส่งหนุนให้ชีวิตเจริญงอกงาม เป็นการแสวงบุญที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งใดของชาวฮินดู พวกเขาเชื่อว่าพระวิษณุได้หลั่งน้ำอมฤตจากกุมภะ (ภาชนะใส่น้ำ) ลงบนสถานที่ 4 แห่ง ได้แก่ หริทวาร, ประยาคราช, นาสิก ในรัฐมหาราษฎระ และอุชเชน ในรัฐมัธยประเทศ เท่ากับมี 2 สถานที่ในการประกอบพิธีกุมภเมลาที่อยู่คู่กับแม่น้ำคงคา (หริทวารและประยาคราช)

                การเฉลิมฉลองเทศกาลกุมภเมลานอกจากการลงไปอาบน้ำแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การเสวนาทางศาสนา ร้องรำทำเพลง และการบริจาคทาน การจัดพิธีในแต่ละแห่งนั้นเว้นระยะห่างกันถึง 12 ปี และแต่ละที่จัดไม่ตรงปีตรงเดือนกันด้วย เมืองประยาคราชมีพิเศษกว่าที่อื่น หากครบรอบ 12 ปี จำนวน 12 ครั้ง หรือเท่ากับ 144 ปี เรียกการเฉลิมฉลองว่า “มหาเมลา” นอกจากนี้ก็ยังมีเทศกาลกึ่งเมลา หรือ “อาดฮ์กุมภเมลา” จัดขึ้น 6 ปีครั้ง โดยเมลาที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นที่ประยาคราช รองลงมาคือที่หริทวาร แต่เชื่อว่าหริทวารจัดขึ้นก่อนเมืองใด สืบย้อนไปได้ไกลอย่างน้อยถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์นี้มีผู้ร่วมงานครั้งละหลายสิบล้านคน ทำสถิติการรวมกันของผู้คนในคราวเดียวกันมากที่สุดในโลก และแทบทุกครั้งมีผู้ร่วมพิธีเหยียบกันจนเสียชีวิต บางปีมีถึงหลักหลายร้อยคน

                ห่างจากประยาคราชลงไปไม่ไกล คงคามหานทีก็ไหลผ่านกรุงพาราณสี แม่น้ำช่วงนี้ไหลขึ้นทิศเหนือ ทำให้ยิ่งดูมีมนต์ขลังมากขึ้นไปอีก

                ผมเคยเดินทางไปเยือนพาราณสี 2 ครั้ง เขียนบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

                “…สำหรับชาวฮินดูผู้เคร่งครัดนั้น ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องเดินทางมาอาบน้ำในแม่น้ำคงคาให้ได้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการชำระล้างบาป อีกทั้งยังช่วยหนุนส่งเป็นกุศลผลบุญให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่าเดิม ไปสู่สรวงสวรรค์ หรือถึงขั้นหลุดพ้นจากเวียนว่ายตายเกิดได้

                “แม่น้ำคงคาที่ผมเดินสำรวจดูตามท่าน้ำ รวมทั้งได้ล่องเรือเพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ริมฝั่ง พบว่าน้ำไม่ได้สกปรกขุ่นข้น มีความใสมากกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาบางช่วงเสียด้วยซ้ำ เคยได้ยินว่านักวิทยาศาสตร์นำน้ำจากแม่น้ำคงคาไปตรวจสอบก็พบแร่ธาตุบางชนิดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ เพื่อนต่างชาติของผมคนหนึ่งไปไหนมาไหนต้องพกน้ำคงคาไว้ในขวด เมื่ออาการป่วยถามหา เขาก็จะเปิดฝาขึ้นจิบเสียทีหนึ่ง แล้วบอกว่า “ค่อยยังชั่ว”

                “ผมมีโอกาสได้เดินไปยังท่าน้ำต่าง ๆ ที่เรียกว่า Ghat (กาธ) ซึ่งหมายถึงทางลงแม่น้ำที่เป็นขั้นบันได ริมฝั่งคงคาในเมืองพาราณสีแห่งนี้มีอยู่ถึง 88 ท่า มีท่าหลักอยู่ 8 ท่า ส่วนใหญ่เป็นท่าสาธารณะ มีไม่กี่ท่าที่เป็นของเอกชน หากจะเดินจากท่าทางทิศเหนือสุด (Raj Ghat) จนถึงท่าใต้สุด (Assi Ghat) ก็ทำได้ เพราะทุกท่าเชื่อมกัน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จากระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ผมเริ่มต้นจาก Dashashwamedh Ghat คนไทยเรียก ท่าอัศวเมธ ซึ่งเป็นท่าหลักท่าหนึ่ง มีการประกอบพิธีบูชาไฟโดยคณะพราหมณ์ในทุกเวลาย่ำค่ำ ท่าอื่นๆ อีกหลายท่าก็มีพิธีบูชาไฟเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน...”


กลุ่มสตรีชาวฮินดูชำระล้างบาปริมฝั่งคงคา

 

                “...เห็นคนลงไปชำระล้างร่างกาย ขึ้นมาเปลี่ยนเสื้อผ้า เด็กๆ เดินขายของเล็กๆ น้อยๆ ให้นักท่องเที่ยว หมู่พราหมณ์เตรียมงานสำหรับพิธีบูชาไฟในช่วงค่ำ ทันใดนั้นก็เจอชายหนุ่มหน้าตามอมแมมคนหนึ่งเข้ามาจู่โจมด้วยการเข้ามานวดเฟ้นที่แขน บอกว่าผมเมื่อยมาแน่ๆ ซึ่งก็จริง เพราะเมื่อวานผ่านการเดินทางที่ทำให้ร่างกายเมื่อยล้าพอสมควร หมอนวดหนุ่มบอกว่าคิด 50 รูปี ผมหลงคำเชิญ ลงไปนอนลงบนแคร่ของเขา นวดอยู่ราวครึ่งชั่วโมงก็เสร็จสรรพ ต้องยอมรับว่าหมอนวดมีฝีมือไม่เบา เกือบทำเอาผมหลับ พอควักเงินให้ 50 รูปี หมอนวดบอกไม่ใช่ราคานี้ 50 รูปีนั้นสำหรับแขนข้างเดียว นี่นวดให้ทั้งตัว ทั้งแขน ขา ลำตัว หัวไหล่ หลัง ศีรษะ ต้องจ่ายมาอย่างน้อย 500 รูปี แถมยังคุยโวว่าตัวเองซื่อสัตย์ กล้องถ่ายรูปของผมที่วางไว้บนแคร่ก็ยังอยู่ดี ยื้อยุดทางวาจากันอยู่พักใหญ่ ผมคว้ากระเป๋าเป้และกล้องได้ ควักเงินออกมา 200 รูปียื่นให้ หมอนวดรับไว้ แล้วขออีก 50 รูปี ผมบอกเก็บไว้กินกาแฟ เขาว่างั้นกินกันคนละแก้ว แบ่งกันคนละ 25 รูปีก็ได้ ผมไม่ให้ แล้วจ้ำเดินออกมา

                “เดินอยู่ในถนนเบงกาลีโตลาอยู่สักพักผมก็เลี้ยวลงไปที่ท่าหริศจันทร์ (Harishchandra Ghat) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองท่าที่ยังคงมีการเผาศพริมคงคาในเมืองพาราณสี อีกแห่งหนึ่งชื่อท่ามณีกรรณิการ์ (Manikarnika Ghat) ผมเผลอกดชัตเตอร์ไปครั้งหนึ่ง พอเห็นว่าเป็นศพจริงๆ ที่มีการเผากันอยู่ก็เก็บกล้องใส่เป้ แล้วเดินไปตรงจุดที่นักท่องเที่ยวพากันยืนดูพิธีกรรมกันอย่างเป็นระเบียบเงียบเชียบ

                “ที่ท่าหริศจันทร์แห่งนี้มีการเผาครั้งละราว 10 ศพ แบ่งเป็นกองๆ ผู้ทำพิธีเผาจะเอาฟืนมาเรียงซ้อนกันสองสามชั้นแล้ววางศพลงไปในท่านอน ซึ่งถูกห่อมัดอยู่ในผ้าขาว จากนั้นวางฟืนทับร่างอีกกี่ชั้นก็ว่าไป จำนวนฟืนที่ใช้เผานี้ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าของญาติที่นำมาทำพิธี หากยากจนไม่ค่อยมีเงินก็ใช้ฟืนน้อยๆ เมื่อไฟดับฟืนหมดแล้วได้แค่ไหนก็แค่นั้น กระดูกเถ้าถ่านจะถูกนำไปปลดปล่อยลงแม่คงคาทันที ส่วนที่ไหม้ไม่หมดก็จำต้องนำไปปลดปล่อยทั้งอย่างนั้น

                “หากล่องเรือแล้วมองเข้ามาจากแม่น้ำ จะเห็นควันและกองไฟเผาอยู่ริมฝั่ง ฉากหลังเป็นกองฟืนขนาดมหึมาที่พร้อมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีการนำมาทดแทนอยู่ตลอดทั้งวัน เพราะการเผามีตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลากี่ร้อยกี่พันปีแล้วก็ไม่รู้ บนฝั่งคือ “โรงแรมแห่งความตาย” โรงแรมเหล่านี้จะแบ่งเป็นห้องเล็กๆ สำหรับคนใกล้ตายให้ได้นอนรอใกล้ฌาปนสถาน ซึ่งว่ากันว่าราคาไม่ได้ถูกๆ และต้องจองล่วงหน้า เมื่อเสียชีวิตแล้วก็ต้องเผาภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับคนที่เสียชีวิตและเผามาจากที่อื่น ญาติก็จะนำกระดูกและเถ้าถ่านมาโปรยลงในแม่น้ำคงคาเช่นกัน


เทศกาลบูชาพระอาทิตย์ หรือ “ฉัฐบูชา” บริเวณ Assi Ghat ท่าน้ำแรกเมื่อคงคาไหลเข้าสู่พาราณสี

 

                “ผมยืนดูการเผาศพอยู่ได้ไม่นาน มีชายอินเดียรูปร่างผอมแห้งใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวค่อนข้างสกปรกและขาดเป็นรูๆ มาสะกิดและพูดว่าห้ามถ่ายรูปนะ เขาเห็นผมถ่ายรูปตั้งแต่เดินลงมาจากบันได ผมขอโทษและบอกว่าจะลบรูป เขาว่าเขาทำงานกับคณะที่ทำพิธีเผา ขอให้ผมบริจาคเงินเข้าองค์กร ไม่อย่างนั้นจะพาไปพบตำรวจ ผมบอกว่า “ไปสิ เพราะผมไม่เชื่อว่าคุณทำงานกับพวกเขา” ถึงตรงนี้เริ่มมีคนสังเกตว่ามีผมกับชายผอมแห้งกำลังถกเถียงกันอยู่ ผมเดินหลบฉากออกจากบริเวณนั้นไปหน่อยหนึ่ง เขายังเดินตามมาดักหน้า ผมเห็นชายชาวอินเดียคนหนึ่งดูภูมิฐานเดินผ่านมา เลยผายมือทั้งสองข้างออกเป็นเชิงฟ้องร้อง มองไปยังชายคนนั้นนัยว่าผมกำลังโดนตอแย ชายคนนั้นพูดกับชายผอมแห้งด้วยสีหน้าท่าทางดุๆ จนเขาต้องเดินหนีไป ผมหันไปขอบคุณและเดินจากไปเช่นกัน

                “เรื่องเหมือนจะจบลงแค่นั้น ขณะผมเดินอยู่ในซอยเบงกาลีโตลา หันไปเห็นชายคนเดิมเดินตามมาห่างๆ และรู้สึกได้ว่าใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ผมเริ่มเหลืออด พอกะว่าประมาณ 2 เมตรเขาจะถึงตัว ผมก็หันไปประจันหน้าและเตรียมพร้อมต่อสู้หากว่าอีกฝ่ายลงมือก่อน ปรากฏว่าเขาเดินผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น...”

                เว็บไซต์วิกิพีเดีย (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ) เขียนถึงปัญหามลภาวะของแม่น้ำคงคาว่าอยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างหนัก เพราะของเสียจากอุตสาหกรรมต่างๆ และกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งถึงราว 400 ล้านคน มีเชื้อโรคแบคทีเรียเกินค่ามาตรฐานสำหรับการอาบไปถึง 120 เท่า นี่คือตัวเลขก่อนจะเข้าสู่กรุงพาราณสีด้วยซ้ำ

                แต่ก็มีข้อมูลจากสารคดี Ganges River Of Life, "Wildest India" ออกอากาศทางแอนิมอลแพลเน็ต ทรูวิชั่นส์ ระบุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีลักษณะพิเศษกว่าแม่น้ำอื่น คือมีปริมาณของออกซิเจนละลายในน้ำสูง และยังมีจุลินทรีย์ที่สามารถกินไวรัสรวมถึงเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย ยิ่งมีปริมาณของเสียปล่อยลงน้ำเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์เท่านั้น และทำให้น้ำในแม่น้ำคงคามีความสามารถที่จะปรับตัวไปสู่สภาพปกติมากกว่าแม่น้ำทั่วไปถึง 25 เท่า

                จากกรุงพาราณสี แม่น้ำคงคาไหลไปทางทิศตะวันออกอีกประมาณ 250 กิโลเมตรสู่เมืองพัฏนา รัฐพิหาร เป็นเมืองที่มีแม่น้ำอีก 3 สายไหลมารวมกับแม่น้ำคงคา เท่ากับเป็นเมืองที่มีแม่น้ำ 4 สายไหลผ่าน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก มีสะพานข้ามแม่น้ำคงคาชื่อ “มหาตมะคานธีเสตุ” เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดในอินเดีย ยาว 5,575 เมตร


ภาพยามเช้าริมฝั่งคงคา กรุงพาราณสี

 

                ก่อนจะถึงชายแดนอินเดีย-บังกลาเทศ ที่เมืองฟารักกะ ขณะแม่น้ำคงคาไหลในทิศทางตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำได้แยกสายออกไปทางทิศใต้สายหนึ่ง เรียกคงคาสายนี้ว่าแม่น้ำฮูกลี (Hooghly) ซึ่งไหลผ่านเมืองสำคัญ คือโกลกาตา อดีตเมืองหลวงช่วงหนึ่งของอินเดียสมัยที่อังกฤษเข้ายึดครอง

                เมื่อ 5 ปีก่อน ผมเดินทางไปอินเดียเป็นครั้งแรก และนครโกลกาตาคือเมืองแรกที่ไปถึง ได้ประสบกับแม่น้ำฮูกลี มีบันทึกที่เกี่ยวข้อง 2 ครั้งดังนี้

                “...ได้ตั๋วแล้วก็เดินไปตามแม่น้ำฮูกลี ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำคงคา มีสวนสาธารณะน่านั่งและเห็นวิวสะพานฮาวราห์สวยงาม ลุงอินเดียที่กำลังถูกห้อมล้อมอยู่ด้วยกลุ่มเด็กวัยรุ่นชายกล่าวทักทายผม พอทราบว่ามาจากเมืองไทยแกเอ่ยปากขอเหรียญสกุลเงินไทย บอกว่าเป็นนักสะสมเหรียญ ผมตั้งใจจะให้ แต่วันนี้ไม่ได้พกมา มีเหรียญไทยอยู่ที่โรงแรม…”


ท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำฮูกลี สาขาของแม่น้ำคงคา นครโกลกาตา

 

                “...ผมกับฮิโรกินั่งรถไฟไปกาลีกาธเพื่อนำกระดูกปีเตอร์ไปคืนแด่แม่คงคา แต่แม่น้ำซึ่งเป็นคลองแยกมาจากแม่น้ำฮูกลีตรงนี้ดำปี๋และมีกลิ่นเหม็น ผมจึงบอกฮิโรกิว่าปีเตอร์ไม่น่าจะชอบที่นี่ เราเปลี่ยนจุดกันดีกว่า เราเดินเท้าอีกราว 2 กิโลเมตร ไปถึงท่าเรือข้ามฟากแห่งหนึ่งของแม่น้ำฮูกลี อ่านกวีบทหนึ่งจากหนังสือรวมบทกวีของปีเตอร์เอง จุดบุหรี่ยี่ห้อที่เขาชอบ วางไว้ให้เผาไหม้จนหมดแล้วจัดการปลดปล่อยปีเตอร์ลงมหานที จากจุดนี้แม่คงคาจะพาเขาไปสู่อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียกว้างใหญ่ จากนั้นปีเตอร์จะขึ้นฝั่งที่ไหนก็ย่อมได้…”

                แม่น้ำฮูกลีไหลลงใต้ไปอีกไม่ไกลก็ออกสู่ทะเลที่อ่าวเบงกอล ขณะที่แม่น้ำคงคาสายหลักไหลเข้าสู่บังกลาเทศถูกเรียกในชื่อแม่น้ำ “ปัทมา” มีแม่น้ำสายสำคัญคือแม่น้ำ “พรหมบุตร” ไหลลงมาบรรจบ จากนั้นก็รวมกับแม่น้ำเมฆนา และใช้ชื่อเมฆนาเมื่อไหลลงใต้สู่อ่าวเบงกอลทางด้านตะวันออก หรือขวามือของแผนที่ สิ้นสุดระยะทาง 2,704กิโลเมตร

                เกิดเป็นตะกอนน้ำพารูปพัดขนาด 1,430 เมตร คูณ 3,000 เมตร ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 64,000 ตารางกิโลเมตร ทอดยาว 400 กิโลเมตรริมฝั่งอ่าวเบงกอล.

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"