ราษฎรก้าวข้ามความกลัว กับทางออกก่อนสูญเสีย


เพิ่มเพื่อน    

 

 

      เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.) ตามที่ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม งัดออกมาใช้ตั้งแต่ 14 ต.ค. หวังควบคุมการชุมนุม เป็นเพียงแค่กระดาษเปื้อนหมึก กลุ่มผู้ชุมนุม ‘คณะราษฎร’ มิได้เกรงกลัว จัดชุมนุมต่อเนื่อง เย้ยฟ้าท้ากฎหมาย วันที่ 15 ต.ค.ช่วงเย็น ระดมแนวร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ใจกลางศูนย์เศรษฐกิจ และได้แยกย้ายเวลา 22.00 น. 

                วันที่ 16 ส.ค. แยกปทุมวัน อีกหนึ่งใจกลางย่านเศรษฐกิจ การสัญจรตั้งแต่ 18.00 น. วันเดียวกันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าล้อมปราบ ขับไล่กลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกจากพื้นที่ เป็นเหตุให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย ท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปรายตลอดยามค่ำคืน ปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน แม้จะอ้างว่าทำตามขั้นตอนหลักสากล เบาไปหาหนัก เจรจาขอให้ออกนอกพื้นที่ เมื่อไม่เป็นผลจึงใช้รถน้ำแรงดันสูงผสมสีฟ้าเจือปนสารเคมีบางชนิด ทำให้เกิดการระคายเคืองตา ผิวหนัง ฉีดเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำการจับกุมผู้มาร่วมชุมนุมบางส่วน เกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายใจกลางเมืองหลวง เป็นข่าวคึกโครมไปทั่วประเทศและทั่วโลก

                ตลอดเวลาการกระชับพื้นที่ ขอพื้นที่คืน เต็มไปด้วยความโกลาหล กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีเพียงมือเปล่า ร่ม ชุดกันฝน ถอยร่นแตกกระเจิงไปคนละทิศละทาง ไปตามถนนพญาไท ฝั่งสะพานหัวช้าง ไปหน้าห้างมาบุญครอง ถอยร่นไปตั้งจุดรวมกำลังพลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายยังไม่มีทีท่าสงบง่ายๆ ประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 20.00 น. ท่ามกลางอารมณ์เดือดดาล โกรธแค้นที่ถูกกระทำ 

                พร้อมใจกันตะโกน ‘ขี้ข้าเผด็จการ’ ‘I here too’ ดังกึกก้องตลอดเวลา

                แม้ปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ตำรวจคืนวันที่ 16 ต.ค. เป็นผล เข้าตรึงกำลัง ตั้งจุดป้องกันได้ บริเวณถนนพญาไท เชิงสะพานหัวช้าง และแยกปทุมวัน มุ่งหน้าไปทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาถอยร่นด้วยความคับแค้น ท่ามกลางกระแสข่าวลือแพร่สะพัดออกมาอย่างต่อเนื่อง กองกำลังไม่ทราบฝ่ายจากกลุ่มชิงชังรัฐบาลปัจจุบันระดมกำลัง ‘รอจังหวะเอาคืน’ 

                ผลจากการกระทำในคืนวันที่ 16 ต.ค. เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดุเดือด พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังปวงชนไทย พร้อมใจกันประณาม มิเท่านั้นในแวดวงดารา นักแสดง นักร้อง อาทิ ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี เก้า-สุภัสสรา ธนชาติ กัส-โฟกัส จิระกุล กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่-ณัฐวุฒิ สีหมอก เป็นต้น จากที่ไม่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทนไม่ได้กับเหตุการณ์การใช้กำลังกับเยาวชน กลุ่มนิสิต นักศึกษาหลายสถาบันใน กทม. ต่างจังหวัด ต่างจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ร่อนแถลงการณ์ประณามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้กำลังใจกับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม  

                การใช้มาตรการเด็ดขาดของเจ้าหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ยืนกราน ‘ไม่ลาออก ไม่ได้ทำอะไรผิด’ พร้อมกับออกมาระบุถึงปฏิบัติการกระชับพื้นที่ ‘เป็นไปตามหลักสากล’ เจ้าหน้าที่ตำรวจย้ำว่า ‘ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย’ ในโลกโซเชียลฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เปิดศึก Social war ต่างยืนหยัดในชุดความคิดตัวเอง  

                ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมจากคณะราษฎร เปลี่ยนมาเป็นราษฎร รุกคืบ ไม่ถอย ประกาศชุมนุมทันทีอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 17 ต.ค. สั่งแนวร่วมเตรียมพร้อม ยืนยันจัดชุมนุมดาวกระจาย ห้าแยกลาดพร้าว ย่านอุดมสุข และวงเวียนใหญ่ เดินหน้าเย้ยฟ้าท้ากฎหมายอย่างไม่เกรงกลัวความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป 

                ช่วงเกือบ 20 ปีให้หลัง ตั้งแต่ ปี 2548-2551 การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2552-2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ล้วนจบลงด้วยความเจ็บปวด แกนนำ ผู้ชุมนุมไม่ต้องคดี ติดคุก หนีหาย ก็จบชีวิตลง ท้ายสุดผู้เรียกร้องไม่ได้อะไร จบลงด้วยตาอยู่เข้ามายึดอำนาจ เข้ามามีอำนาจแทน 

                ปี 2563 เยาวชนปลดแอก คณะราษฎร กลุ่มราษฎร ที่ขับเคลื่อนด้วยบริบทที่แหลมคม ไม่ได้พุ่งเป้ามีข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาฯ ลาออก หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างเพียงแค่นั้น แต่ยังก้าวข้ามไปแตะสถาบันหลัก ศูนย์รวมจิตใจคนทั้งชาติ อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ เรียกร้องให้ปฏิรูป พร้อมกับการเปิดสงครามออนไลน์ ขุดคุ้ย โจมตี ด้วยข้อมูลด้านเดียว 

                ปลุกกระแสให้เกิดความเกลียดชัง ถึงขั้น ‘ล้มระบบ เปลี่ยนระบอบ’ 

                ว่ากันว่าการชุมนุมถูกบริหารจัดการโดยมีกลุ่มคนหลายกลุ่มอยู่เบื้องหลัง ทั้งต่างชาติบางกลุ่มที่ร่วมเข้ามาผสมโรง สนับสนุนเงินทุน กลุ่มคนในประเทศที่ยังมีบาดแผล ผูกใจเจ็บกับเหตุการณ์ในอดีต เข้ามาขายชุดความคิด ร่วมวางยุทธศาสตร์ให้ม็อบเดินไปทีละขั้น ทีละตอน ตามแต่ช่วงเวลา เช่นเดียวกับกลุ่มชังชาติกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อยู่เบื้องหลังได้จับมือกับกลุ่มที่เจ็บช้ำ เสียประโยชน์กับรัฐบาลปัจจุบัน ระดมท่อน้ำเลี้ยง แจกจ่ายงานไปยังกลุ่มคนใกล้ชิด ไประดับปฏิบัติการ จนออกมาเป็นข้อเสนอ จังหวะท่าที ก้าวย่างในแต่ละวัน 

                มหกรรมสหบาทา รุมกินโต๊ะ รัฐบาลประยุทธ์ ขับเคลื่อนโดยมีเบื้องหลัง  

                การจัดตั้งม็อบตามยุคสมัยการสื่อสารครองโลก สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ในฐานะผู้ต้องรับมือโดยตรง ม็อบล่อลวงจะมาชุมนุมแยกราชประสงค์ ตำรวจในฐานะผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์หลัก วางแผนเป็นวัน จัดกำลังให้ตำรวจแต่ละหน่วยต้องไปตั้งจุดสกัด วางแผงรั้ว ตั้งสิ่งกีดขวาง จัดแนวตรึงกำลังตรงนั้นตรงนี้ ประสานไปยังบริการขนส่งมวลชนสาธารณะ รถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน ในจุดที่ใกล้เคียงม็อบไม่ให้จอดในสถานีใกล้เคียง จัดแนวสกัดไม่ให้คนมาร่วมชุมนุมรับมือเตรียมพร้อมเต็มอัตราศึก

                ม็อบดิจิตอลใช้เวลาชั่วโมงเดียว ประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุม ไม่กี่อึดใจแนวร่วมมากันเรือนหมื่น เข้ายึดพื้นที่ได้สำเร็จ ฝ่ายตั้งรับกลายเป็นผู้ตามในเกม พลิกตำรากลยุทธ์ จัดกระบวนทัพใหม่แทบไม่ทัน 

                การไม่ประกาศปักหมุดให้รู้ล่วงหน้า ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อนของตัว ม็อบนักศึกษารู้ดีว่าไม่สามารถจัดกิจกรรม ปักหลักพักค้างได้ เหมือนม็อบอาชีพในอดีต แต่จะมีพลังที่สุด ในการชุมนุมวันต่อวัน หล่อเลี้ยง เติมเชื้อ หากระแสใหม่ๆ มาเล่นในแต่ละวัน ดังนั้นการใช้เวลาชุมนุมในวันปกติ 17.00-22.00 น. โดยไม่บอกจุดหมาย บอกแค่ในจุดที่ทุกคนพร้อมไปโดยสะดวก ให้สแตนด์บายตามจุดที่สัญจรสะดวก ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สุด จบภารกิจในแต่ละวันกลับบ้านนอน รอติดตามในโลกออนไลน์ ค่อยนัดหากิจกรรมทำใหม่ในวันต่อวัน

                แม้ปฏิบัติการค่ำคืน 16 ต.ค. ในเชิงจิตวิทยาอีกด้านถูกมองว่า ไม่ยอมให้ใครมาอยู่เหนือกฎหมาย ส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มผู้ปกครองหวังให้ห้ามปรามบุตรหลานไม่ให้ออกมาร่วมชุมนุม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้อนแรง ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ ‘รัฐบาลเอาจริง’ ผลจากการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นผลหรือไม่ การชุมนุม 17 ต.ค. และวันต่อๆ ไป คงเป็นสิ่งบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี นิสิต นักศึกษาบางตาลงอย่างเห็นได้ชัด หรือกลายเป็นว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จูงลูกหลานออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น คงจะพอเป็นคำตอบให้รัฐบาล ฝ่ายความมั่นคงกลับไปคิด ประเมินโจทย์ ประเมินสถานการณ์ใหม่  

                หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจ นักวิชาการ นักการเมือง ประสานเสียง ขอให้ทั้งรัฐบาล ผู้ชุมนุม ถอยคนละก้าว เปิดเวทีเจรจา หาจุดร่วมที่ยอมรับด้วยกันได้ เป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟดีกว่าประจันหน้า เดินหน้าห้ำหั่นกัน ป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์เลือดซ้ำรอย เป็นข้อเสนอที่ควรรับฟัง 

                ข้อเรียกร้องม็อบไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง ลามไปถึงสถาบันหลัก และไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ทุกหนทาง ทุกข้อเสนอ ทางออก แทบตีบตัน ไม่เหลือพื้นที่ให้ยืนทางสังคม แม้วันนี้จะยังไม่เห็นทางออก อาจยังไม่รู้จะออกมาในรูปแบบใด แต่ก็เชื่อได้ว่า หากลองได้มา เปิดโต๊ะพูดคุยอย่างจริงจัง บนหลักไม่มีฝ่ายใดได้ทุกอย่าง ไม่มีฝ่ายใดเสียทุกอย่าง สุดท้ายจะได้ข้อสรุปร่วมที่ยอมรับกันได้อย่างแน่นอน

                ในวันที่เจ้าหน้าที่ท่องคาถา ทำตามกฎหมาย หากใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ถูกสื่อ สังคมโลกประณาม เป็นเหตุให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง เข้าตามแผนพวกชังชาติ ขณะที่ ‘ราษฎร’ พร้อมยกระดับการชุมนุม นับวันเศรษฐกิจยิ่งทรุด ประเทศยิ่งแย่ ชุมนุมแต่ละครั้งมาด้วย อารมณ์คุกรุ่น ก้าวข้ามความกลัวทั้งด้านกฎหมาย ความตาย 

                ต่างฝ่ายต่างอยู่ในจุดพร้อมปะทะ หวั่นใจกงล้อประวัติศาสตร์เลือดเดือนตุลาซ้ำรอย ในวันนี้ยังมีเวลา ตำรวจ ทหาร รัฐบาล ข้าราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ใช่ใครอื่นไกล ‘คนไทยเหมือนกัน’.

 

-----------------

รูป-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ฉากหลังหรืออีกฝั่งของภาพ เป็นกลุ่มผู้ชุมนุม คณะราษฎร 2563 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"