NGOพาเหรดบี้ แก้ปัญหาชุมนุม เกรง‘มิคสัญญี’


เพิ่มเพื่อน    

  ยกขบวนเขย่าบิ๊กตู่ลาออก เครือข่ายภาคประชาชนบี้เร่งเปิดสภาตั้งกรรมาธิการพิเศษ ก่อนประเทศเข้าสู่วิกฤติรัฐล้มเหลว ชี้พรรคร่วมรัฐบาลต้องตัดสินใจก่อนสู่ทางแยกเดินร่วมทางรัฐบาลทรราช ขณะที่เครือข่ายนักกฎหมายจี้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมไร้เงื่อนไข

    เมื่อวันอาทิตย์ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน เครือข่ายภาคประชาชนนำโดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม, นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา,  นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกันแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้ง
    นายเมธาแถลงข้อเรียกร้อง ครป. และเครือข่ายภาคประชาชน 5 ข้อ ระบุว่า 1.เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดความคิดการสลายการชุมนุมและยุติความรุนแรง เนื่องจากการชุมนุมยังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมและรัฐบาลได้ละเมิดหลักการสลายการชุมนุมและกฎการใช้กำลัง โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงซึ่งสร้างความขัดแย้งและทำลายนิติรัฐ โดยใช้วิธีแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยสันติ และอย่าใช้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง
    นายเมธากล่าวต่อว่า 2.การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ขอให้ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมโดยสันติ และช่วยกันจัดการปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้เกิดการยั่วยุ การใช้ความรุนแรงและปลุกระดมความเกลียดชัง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข่าวปลอมจากบุคคลที่แฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ หากเกิดเหตุความรุนแรงและสถานการณ์วิกฤติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปคุกคามจับกุม อันจะขยายความขัดแย้งรุนแรงต่อไปจนยากแก้ไขและเกิดเหตุจลาจลอลหม่านอันเป็นวิกฤติรัฐที่ล้มเหลว
    นายเมธาระบุว่า 3.รัฐบาลต้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากปฏิบัติการการสลายการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสั่งให้ปฏิบัติการและผลกระทบทางจิตใจ รวมถึงขอให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและให้สิทธิ์เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม
    "4.ทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งคือ นายกรัฐมนตรีต้องทบทวนความผิดของตนเองที่ผ่านมาและเสียสละด้วยการลาออกเพื่อความสงบของบ้านเมือง และให้มีการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกวุฒิสภางดออกเสียง โดยขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก และแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน และ 5.ขอให้เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นทางออกในวิกฤติประชาธิปไตย โดยตั้งกรรมาธิการพิเศษ และดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเจตจำนงของประชาชนเพื่อประกาศใช้กติกาที่เป็นธรรมโดยเร็ว" นายเมธากล่าว
    ด้านนายพิชายกล่าวว่า ขอเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็วเพื่อหยิบประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ขึ้นมาพิจารณาแล้วก็ดำเนินการรับหลักการ เพื่อที่จะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ตามท้องถนนเข้าไปสู่เวทีประชุมในสภาเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างมีเหตุผล
    "และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคม และอนาคตของพรรคการเมืองว่าจะตัดสินใจร่วมเดินไปสู่ทางแยกของรัฐบาลทรราชร่วมกัน หรือจะร่วมกันมีส่วนในการยุติความรุนแรงจากรัฐบาล เนื่องเพราะ พล.อ.ประยุทธ์คงอยู่ในแวดวงการเมืองอีกไม่นาน แต่พรรคการเมืองจะต้องอยู่ต่อไปในเส้นทางการเมืองและประชาธิปไตยอีกยาวนาน" นายพิชายกล่าว
    ด้านนายสมชายกล่าวต่อว่า ได้มีการประกาศจัดตั้งสถานที่ควบคุมตัวเพิ่มเติมขึ้นมาอีกในค่ายทหารจังหวัดชลบุรี นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะนำพาประเทศไปสู่อีกยุคหนึ่งที่เคยเรียกกันว่ายุคทมิฬภายใต้การปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการสังหารประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ใน 44 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะหาทางออกเพื่อประเทศชาติ โดยการร่วมกันลดอุณหภูมิของความขัดแย้งลงให้มากที่สุด ซึ่งเป็นทางออกของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
    ขณะที่เครือข่ายนักกฎหมายออกแถลงการณ์ ระบุใจความว่า ตั้งแต่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ จนกระทั่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลในการให้เหตุผลหรือเชื่อมโยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง กับเหตุการณ์รถพระที่นั่งของพระราชินีเคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม แต่กรณีย่อมเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามขยายเหตุการณ์ดังกล่าวไปในทางที่เป็นผลร้ายเกินกว่าที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงมาก ถึงขนาดมีการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมบางคนในฐาน ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และแจ้งข้อหานี้เพิ่มเติมกับผู้ชุมนุมในบริเวณดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ด้วย มาตรา 110 เป็นกฎหมายอาญาที่มีโทษรุนแรงมากถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต
       ทั้งนี้ เครือข่ายนักกฎหมายจึงขอเรียกร้อง คือ 1.ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ทันที โดยไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัว 2.ถอนข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 3.เพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองได้โดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครอง และเป็นหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
       วันเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ทำไม ทำร้าย ประเทศไทยของฉัน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,891 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 14-17 ตุลาคม ที่ผ่านมา เมื่อสอบถามถึง คำถามที่ประชาชนอยากถาม พบว่า ส่วนใหญ่ 87.9% อยากถามว่าทำร้ายประเทศไทยของฉันทำไม ปลุกปั่นกระแสแตกแยกของคนในชาติของฉันทำไม ทำไปเพื่ออะไร ทำเพื่อใคร ทำไมเลือกทำตอนนี้ ในขณะที่ 12.1% ไม่อยากถาม
    ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อภาพเศรษฐกิจเกาะฮ่องกง ก่อนและหลังม็อบคนรุ่นใหม่และความขัดแย้งรุนแรงบานปลายของคนในเกาะฮ่องกง พบว่า ส่วนใหญ่ 93.4% ระบุเสียหาย แย่หนักลงไปอีกหลังมีม็อบขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ความแตกแยกของคนในเกาะฮ่องกง ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ก่อนและหลังม็อบขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความแตกแยกของคนในชาติ พบว่า  92.8% เสียหาย แย่หนักลงไปอีก ในขณะที่ 7.2% ไม่แย่ ไม่เสียหาย และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือ 97.3% เป็นทุกข์และเดือดร้อนจากการชุมนุม ม็อบ ถ้าเกิดวิกฤตbเศรษฐกิจและวิกฤติโควิดที่แย่ลงไปอีก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"