"ม็อบราษฎร" ถึงเวลาขาลง


เพิ่มเพื่อน    

 

          4 เดือนการชุมนุม จาก ‘ม็อบปลดแอก’ สู่ ‘ม็อบคณะราษฎร 2563’ ยอมถอยเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ โฟกัสนายกฯ ลาออก-แก้ไข รธน. ส่งสัญญาณขาลง?

            การชุมนุมของกลุ่มมวลชนที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร 2563’ หรือในชื่อเก่าคือ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ดำเนินผ่านมาประมาณ 4 เดือนเศษแล้ว นับตั้งแต่รวมตัวกันชุมนุมใหญ่ในเดือน ก.ค.2563 ที่ผ่านมา

            นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ อาจเรียกว่าถึงช่วงเวลา ‘ขาลง’?

            เพราะข้อเรียกร้องในช่วงหลัง แม้ว่ายังมีการนำประเด็น ‘ปฏิรูปสถาบันฯ’ มาพูดอยู่บ้าง แต่แทบไม่ได้ถูกนำมาชูมากนัก ม็อบเน้นโฟกัสไปที่ประเด็น ‘นายกฯ ลาออก-แก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เป็นหลักมากกว่า นัยว่าอาจต้องการลด ‘แรงปะทะ’ กับภาครัฐ ภายหลังถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา

            ที่สำคัญ การชุมนุมของม็อบนี้เลยจุด ‘พีกสุด’ มาแล้วในวันที่ 14 ต.ค.2563 ที่ระดมพลได้หลายหมื่น บางสื่อรายงานอ้างว่ามีเหยียบแสน และมีการกระทำที่ ‘มิบังควร’ หลายประการ โดยเฉพาะการล้อม ‘ขบวนเสด็จฯ’

            รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง กวาดจับผู้ชุมนุมไปแล้วอย่างน้อย 86 ราย เป็นแกนนำอย่างน้อย 7 ราย (อานนท์ นำภา, เพนกวิน, รุ้ง, ไผ่ ดาวดิน, ทัตเทพ, ณัฐชนน และไมค์ ภาณุพงศ์) ต่อมาได้รับการปล่อยตัวเกือบทั้งหมด ยกเว้นอานนท์ นำภา, ไผ่ ดาวดิน และไมค์ ภาณุพงศ์ นอกจากนี้ยังจับกุม 2 นักกิจกรรม เอกชัย หงส์กังวาน และฟรานซิส-บุญเกื้อหนุน คดีประทุษร้ายเสรีภาพของพระราชินี อีกกระทงด้วย

            ต่อมาวันที่ 15-16 ต.ค. ม็อบได้ยกระดับการชุมนุมไปทั้งราชประสงค์ และแยกปทุมวัน กระทั่งถูกตำรวจสลายการชุมนุมตามหลักปฏิบัติสากล กล่าวคือ การใช้น้ำผสมสารเคมีฉีด ซึ่งรุนแรงน้อยที่สุด หากเทียบกับการสลายชุมนุมในอดีต ไม่เชื่อลองไปถามกลุ่มมวลชนอดีตม็อบพันธมิตรฯ อดีตม็อบ นปช. และอดีตม็อบ กปปส.ดูได้

            เหตุการณ์ในช่วง 14-16 ต.ค. ดังกล่าว เป็นได้ว่า ‘คนฉากหลัง’ ที่คอย ‘ชักใย’ การชุมนุมครั้งนี้ อาจประเมินสถานการณ์แล้วว่า ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ แต่ลงจากหลังเสือคงยากแล้ว จึงชูข้อเรียกร้องที่ ‘อาจเป็นไปได้’ มานำแทน นั่นคือให้นายกฯ ลาออก และเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ค่อยว่ากันใหม่?

            หากย้อนกลับไปช่วงม็อบ ‘ตั้งไข่’ การรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของอดีตนักกิจกรรม-คนเสื้อแดง-นักศึกษา/คนรุ่นใหม่ ช่วงเดือน ก.ค. ที่เริ่มต้นการชูประเด็น ‘ปฏิรูปสถาบันฯ’ อย่างโจ่งแจ้งเป็นครั้งแรก ต่อมาในเดือน ส.ค. อานนท์ นำภา ในชุดแฮร์รี พอตเตอร์ ขึ้นปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ แบบเผ็ดร้อน

            คำประกาศนี้ทำให้ฝูงชนบางกลุ่มหลั่งไหลมาร่วมม็อบ ขณะที่บางส่วน ‘ไม่เห็นด้วย’ และออกจากขบวนการไปในเวลาต่อมา

            หลังจากนั้นม็อบเริ่ม ‘ลำพอง’ นัดชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. มีมวลชนมาร่วมม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เอาเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ มาพูดอย่างโจ๋งครึ่มไม่เกรงกลัวกฎหมาย ปูทางนัดชุมนุม 14 ต.ค. หวังว่าจะได้รับชัยชนะเหมือน 47 ปีก่อน แต่ทว่ากลับ ‘เหลว’ ไม่เป็นท่า?

            ดังนั้น การดันทุรังชูเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ เป็นหลัก คงแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว ในเมื่อแกนนำถูกกวาดจับ ส่วนการชุมนุมยาวข้ามคืนคงยาก ทำได้แค่จัด ‘แฟลชม็อบ’ รายวัน ซึ่งข้อเสียคือคนมาร่วมม็อบจะน้อยลงเรื่อยๆ ยากที่ใครจะมีแรงใจ-แรงกายมาม็อบได้ทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลานาน ที่สำคัญเมื่อกลายเป็น ‘ม็อบไร้หัว’ เมื่อไม่มีแกนนำ ก็ไม่มี ‘ยุทธศาสตร์’ จึงแทบไม่เห็นหนทางชนะได้เลย

            รวมทั้ง ล่าสุดยังมีแสดงพฤติกรรมเด็กเลี้ยงแกะ หลังวันที่ 20 ต.ค. กลับหลอกให้มวลชนเดินทางไปชุมนุมตามสถานีรถไฟฟ้า แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลานัดหมาย ประกาศว่า "พักก่อน"

            เล่นเอาบางคนหัวเสีย และย้อนกลับมาคิดถึงเฉพาะวุฒิภาวะของผู้นำการชุมนุมเพียงพอหรือไม่ ไม่นับค่าเสียเวลา ค่าใช่จ่ายที่ต้องเสียสละมาชุมนุมต้องเสียไป

            ขณะเดียวกัน แม้ม็อบจะเพลี่ยงพล้ำ แต่รัฐบาลก็ไม่ประมาท ด้วยการชิงจังหวะลดกระแสจากท้องถนน ด้วยการนำการเมืองเอากลับไปเล่นในรัฐสภา ด้วยการเตรียมเปิดสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 26-27 ต.ค. ตามมาตรา 122 เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 165 โดยเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลหาทางออกของประเทศร่วมกัน

            โดยเฉพาะสอบถามความชัดเจนในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งล่าสุดพรรคการเมืองหลักของฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมใจให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2

            ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้จะสามารถดึงมวลชนที่ยังมีเหตุผลกลับมาในระบบตามกฎหมาย และเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการผ่านกระบวนการของ ส.ส.ร.

            ดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘ม็อบคณะราษฎร 2563’ ถึงช่วงเวลา ‘ขาลง’ อย่างแท้จริง และควรกลับมายอมรับความจริง คือ มุ่งเน้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะถือว่าข้อเรียกร้องก็มาไกลแล้ว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"