เตือนบีบนายกลาออกเปิดช่องปฏิวัติ


เพิ่มเพื่อน    

 

"ชวน" ถก 4 ฝ่ายวางกรอบประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หาทางออกประเทศจากการชุมนุมของ ปชช. 26-27 ต.ค.นี้ ย้ำต้องอภิปรายตามญัตติที่เสนอ "ฝ่ายค้าน" ห่วงข้อบังคับห้ามพูดถึงสถาบัน ฮึ่ม! ถ้าแตะไม่ได้อาจไร้ทางออก "ก้าวไกล" ย้ำต้องคุยแบบมีวุฒิภาวะ "พปชร." เปิดทางปล่อยฟรีอภิปรายให้สังคมตัดสิน "ปธ.วุฒิสภา" เตือนบีบนายกฯ ลาออกเสี่ยงเปิดช่องปฏิวัติ "กสม." ขอใช้สันติวิธีหาข้อยุติปัญหาเป็นรูปธรรม  
    เมื่อวันที่ 22 ต.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงนามในประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และกลุ่มผู้ชุมนุมขีดเส้น 3 วันให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง ว่ายังไม่ได้คุยกับนายกฯ
    ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการนัดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ต.ค. เพื่อหารือถึงทางออกของสถานการณ์ทางการเมืองว่า แม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญแล้ว แต่ก็ยังออกหนังสือนัดประชุมไม่ได้ เพราะจะต้องรอหนังสือจากทางรัฐบาล เพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ก่อน คาดว่าน่าจะมาภายในเย็นวันที่ 22 ต.ค. โดยให้ทางสภาเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว เพื่อออกหนังสือนัดประชุมได้
    นายชวนกล่าวว่า สำหรับในการประชุมร่วม 4 ฝ่ายวันนี้ (22 ต.ค.) น่าจะได้ข้อยุติว่าจะแบ่งเวลากันอภิปรายอย่างไรในการประชุมวิสามัญที่กำลังจะถึง โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งการอภิปรายจะต้องเป็นไปตามญัตติที่เสนอ      
    "ที่ฝ่ายค้านเสนอให้นำญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับมาพิจารณาในวาระรับหลักการช่วงเปิดสมัยประชุมวิสามัญนั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ยังไม่ได้ส่งผลการศึกษามา หากส่งมาเมื่อไหร่ก็จะพิจารณาอีกที และต้องหารือประธานวุฒิสภาอีกครั้งว่าสมควรจะบรรจุหรือไม่ เพราะยังมีญัตติที่เป็นร่างของไอลอว์อีกฉบับหนึ่งที่จะครบกำหนด 30 วัน ในการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อประชาชนในวันที่ 12 พ.ย." ประธานรัฐสภากล่าว
    ต่อมา นายชวนเป็นประธานประชุม 4 ฝ่าย ได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.), ส.ส.รัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เพื่อกำหนดประเด็นและกรอบเวลาในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. เพื่อหาทางออกให้ประเทศจากสถานการณ์ชุมนุมของประชาชน
    ภายหลังการประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่า ได้แบ่งกรอบเวลาอภิปรายเป็น 4 กลุ่ม รวม 23 ชั่วโมง ได้แก่ ฝ่ายค้านได้ 8 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายรัฐบาล ส.ว. และ ครม.ได้ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังแบ่งเวลาให้ประธานรัฐสภาอีก 1-2 ชั่วโมง โดยการประชุมในวันที่ 26 ต.ค.จะเริ่มในเวลา 09.30-22.00 น. ส่วนวันที่สองจะอภิปรายต่อจนครบเวลาที่เหลืออยู่
    "หวังว่าในญัตติของรัฐบาลที่เสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้ จะเป็นทางออกทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงบ้าง" ประธานวิปรัฐบาลกล่าว
ห่วงอภิปรายสถาบันไม่ได้
    ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ฝ่ายค้านเห็นเนื้อหาในญัตติที่ฝ่ายรัฐบาลขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญแล้ว กังวลว่าจะขัดข้อบังคับการประชุมหรือไม่ หากจะมีการพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และการประชุมครั้งนี้จะตอบสนองความคาดหวังของสังคมในการหาทางออกให้ประเทศได้จริงหรือไม่
    "ถ้าพิจารณาแล้วไม่ใช่ทางออก ฝ่ายค้านอาจจะพิจารณาทบทวนไม่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หรือถ้าจะเข้าร่วมประชุมจะเป็นในลักษณะใด เพราะประเทศไทยไม่เคยมีญัตติในลักษณะนี้มาก่อน โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือกันในวันที่ 22 ต.ค. เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว แต่ฝ่ายค้านจะพยายามทำงานร่วมกับรัฐบาลและ ส.ว. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสังคมให้มากที่สุด" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในญัตติขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญของรัฐบาล มีการอ้างอิงถึงเรื่องขบวนเสด็จฯ ในวันที่ 14 ต.ค.2563 รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของนักศึกษา 3 ข้อ เมื่อมีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ อยากให้ใช้รัฐสภาเป็นตัวอย่างในการอภิปรายเรื่องเหล่านี้อย่างมีวุฒิภาวะ ผู้อภิปรายต้องอภิปรายภายใต้กรอบกฎหมายอย่างเหมาะสม
    ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่ทางออกทั้งหมด แต่เป็นจุดเริ่มต้นการนำปัญหากลับเข้ามาในสภา เพื่อนำไปแก้ไข เช่นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการอภิปรายเรื่องสถาบันนั้น หากจะอภิปราย ต้องพูดอย่างมีวุฒิภาวะ ใครพูดอะไรต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง และรับผิดชอบหากสิ่งที่พูดไปทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศ
    ที่อาคารสุขประพฤติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎรยื่นคำขาดให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งภายใน 3 วันว่า การออกจากตำแหน่งใดๆ มีขั้นตอนปฏิบัติตามกฎหมาย หากนำข้อเรียกร้องของกลุ่มคนมาดำเนินการ อาจเปิดช่องให้ใช้อำนาจนอกกฎหมาย และนำไปสู่การปฏิวัติได้ อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของเยาวชนและการยื่นข้อเรียกร้องนั้น ตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของการชุมนุม
    "ผมจะแถลงประเด็นต่างๆ ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ที่มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพราะไม่อยากแถลงในบรรยากาศเช่นวันนี้ ซึ่งต้องการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และจุดยืนของ ส.ว. ส่วนข้อคิดเห็นต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ก็คงจะมีการอธิบายให้ทราบว่า ส.ว.มีจุดยืนอย่างไร" ประธานวุฒิสภากล่าว
    พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า ตนมองถึงปัญหาความเห็นของประชาชนที่เห็นต่างเป็น 2 ฝ่าย ทางออกที่ดีคือ การทำประชามติเพื่อให้เสียงประชาชนตัดสิน เช่น กรณีการออกจากตำแหน่งนายกฯ หรือประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำประชามติอาจคลี่คลายสถานการณ์ได้ หากผลประชามตินั้นถูกยอมรับ
    "การทำประชามตินั้นคือการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นอย่างไร เสียงส่วนน้อยต้องยอมรับ ไม่เช่นนั้นจะไม่เรียกว่าประชาธิปไตย” รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ระบุ
    ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการประชุมพรรคนัดพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญตามมาตรา 165 อภิปรายทั่วไปของรัฐสภาโดยไม่ลงมติ เพื่อหารือถึงทางออกสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค,   นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ประธานการประชุม
    นายวิรัชกล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมรัฐสภามาตรา 165 ในวันที่ 26-27 ต.ค. โดยขอกำชับให้ส.ส.อยู่ร่วมประชุมตลอดเวลา และไม่ต้องกังวลว่าจะกลับบ้านไม่ได้ เนื่องจากนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ที่กำกับกรมเจ้าท่า ได้เตรียมเรือไว้รองรับทุกท่านไว้แล้ว จึงไม่ต้องกังวล
    "การเปิดสภาครั้งนี้จะไม่มีการเสนอญัตติเห็นชอบรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ขอเปิดประชุมสภาฯ โดยมีเพียงวาระเดียวคือการอภิปรายเพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภา อาทิ เรื่องการชุมนุมฯ, สถานการณ์โควิด-19 และการจาบจ้วงในขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา" นายวิรัชกล่าว
ขอสภาให้ได้ข้อยุติปัญหา
    ส่วนนายอนุชา กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมให้นายกฯลาออกภายใน 3 วันว่า พรรคมีจุดยืนอย่างแน่วแน่ ที่นายกฯ ไม่ต้องลาออก เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งที่ผ่านมาบริหารบ้านเมืองราบรื่นตามยุทธศาสตร์ชาติ และเมื่อนายกฯ ไม่มีความผิด ก็ไม่มีบทกำหนดในรัฐธรรมนูญให้นายกฯ ลาออก
    มีรายงานว่า ท่าทีของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นร่วมกันว่า การอภิปรายในสภา หากมี ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านบางพรรคลุกขึ้นอภิปราย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จะไม่มีการลุกขึ้นประท้วงหรือตัดบทแต่อย่างใด จะปล่อยให้มีการอภิปรายต่อไป เพราะผู้อภิปรายนั้นต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูดเอง เพราะตามข้อบังคับการประชุมระบุชัดเจนว่า ต้องไม่มีการพาดพิงบุคคลที่ 3 หรือบุคคลภายนอก หรือสถาบันหนึ่งสถาบันใด เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ชี้แจงในสภา ดังนั้น หากส.ส.มีการอภิปรายในสภาแล้วสร้างความเสียหายต่อบุคคลภายนอก หรือเสียหายต่อสถาบันใดก็ตาม อาจมีผู้ไปดำเนินการทางกฎหมายได้
    อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวในพรรค พปชร.บางส่วนแสดงความเป็นห่วงผ่านแกนนำและ ส.ส.หลายคนในพรรค เนื่องจากดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์แล้วเกิดความรู้สึกไม่สู้ดี เห็นได้ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังอยู่ในอาการเหนื่อยหน่ายกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงกังวลว่า พล.อ.ประยุทธ์จะถอดใจ และตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จนส่งผลให้ พปชร.ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน
    "ส.ส.ของพรรคต่างมองตรงกันว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไรต่อไปหรือไม่ ในส่วนของสภาไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีความผิดอะไร จึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการยุบสภา" แหล่งข่าวจากพรรค พปชร.ระบุ
    ด้านพรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า แถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนแย้งสับสนในตัวเอง พูดอย่างทำอย่าง บอกว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงกลับปล่อยให้กลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับเครือข่ายของรัฐบาลใช้ความรุนแรงกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่าถามว่าผิดอะไร พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญเข้ามา ทำผิดมาตั้งแต่ต้น ระหว่างทางจะถูกได้อย่างไร ปลายทางที่จะสามารถทำให้สถานการณ์ทุเลาลงได้ คือต้องลาออกเท่านั้น
    น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรค พท. กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เสียสละลาออก แต่หากยังดึงดันจะอยู่ต่อนอกจากจะเจอม็อบนักเรียนนักศึกษาแล้ว ระวังจะเจอม็อบชาวนาเพิ่ม
    เช่นเดียวกับนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้นายกฯ ออกประกาศยกเลิก พ.ร.ก.แล้วก็ตาม แต่วันนี้ยังคงต้องรอคำพิพากษาของศาลแพ่ง หากศาลมีคำพิพากษาออกมาว่า พ.ร.ก.ไม่ชอบ หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบและย่อมมีความผิดที่ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยมิชอบ
    ส่วนพรรคก้าวไกล มีการเปิดตัวคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชน มี พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ร่วมกับทีมงานรวม 20 คน
    ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกสถานการณ์การเมืองว่า อยู่ที่ ส.ส.และ ส.ว.มีความจริงใจกับข้อเรียกร้องของประชาชนแค่ไหน คือเปิดสภามาเพื่อแก้ไขปัญหาจริงๆ หรือเปิดสภามาเพื่อช่วยนายกรัฐมนตรีในการลดกระแสการชุมนุม ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ต้องตอบประเด็นนี้ให้ชัด หากต้องการแก้ไขปัญหา ต้องเอาข้อเรียกร้องของการชุมนุมทั้ง 3 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากตำแหน่งของนายกฯ การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปพูดในสภาทั้งหมด
    วันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงการณ์สนับสนุนการเดินหน้าเจรจาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี โดย 1.ขอให้รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติใช้การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. แก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศอย่างจริงจัง และขอให้มีผลยุติปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม 2.ขอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้กลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย รวมทั้งป้องกันและลดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง และ 3.ขอให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ และประชาชนรับฟังและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างของกันและกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"