ยืมมือ ’อาลีบาบา’ พัฒนาไทย ก้าวแห่งการลงทุนใหญ่ในอนาคต / อีโค โฟกัส


เพิ่มเพื่อน    

การพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือยุคที่จะปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความก้าวหน้า โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เสริมเกราะให้กับผู้ประกอบการในประเทศ จนสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก รวมถึงสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดสนใจในการลงทุน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอะไรหลาย ๆ ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมของคนในประเทศด้วย

ยังไม่พอจะต้องอาศัยประสบการณ์และความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกียวข้อง ร่วมพัฒนาและผลักดันให้ไปสู่จุดมุ่งหมายได้ในที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย คือ ความพร้อมของกำลังคนด้านดิจิทัล ที่ไทยเองยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่และใหญ่พอสมควร

จึงต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเข้มแข็งในจุดนี้อย่างมาก และประเทศไทยก็เลือกที่จะเข้าหากลุ่มอาลีบาบา บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลายประเภทรวมกันทั้งการค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ค้าปลีก อินเทอร์เน็ต เอไอและเทคโนโลยีข้ามชาติของจีน และยิ่งใหญ่ในระดับโลก ติดอันดับบริษัทมีมูลค่าเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) มากที่สุดและใหญ่สุด 10 อันดับแรกของโลก แถมยังมียอดขายและกำไรของบริษัทแซงหน้าผู้ค้าปลีกทุกรายในสหรัฐรวมกันถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการดิจิทัลที่ไม่น้อยหน้าใคร ไม่ว่าจะขยับตัวไปไหนก็จะมีคนจับจ้องอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไทยเองก็พยายามอย่างสุดความสามารถเช่นกันที่จะดึงอาลีบาบาเข้ามายกระดับประเทศไทยในด้านดิจิทัล ให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งก็ตามจีบอยู่พักใหญ่ หลายฝ่ายก็หมดความหวังไปแล้วก็มี

แต่เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 ”แจ็ค หม่า” ประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา ก็ได้มาเยือนประเทศไทยตามคำชักชวนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับประกาศแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และความร่วมมือร่วมกับเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรของไทยกับหลายหน่วยงานในประเทศ

เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่ากลุ่มอาลีบาบา พร้อมที่จะมาลงทุนในไทยรวมถึงเป็นอีกหนึ่งกำลังที่จะช่วยผลักดันให้ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการมาเยือนของ “แจ็ค หม่า” นี้ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะที่เป็น “ฮับ” ของการลงทุนในธุรกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคและการเข้ามาของอาลีบาบานั้น ก็ไม่ใช่ว่าหอบเงินมาลงทุนและขายของตัวเองอย่างเดียว แต่ก็มีการบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย โดยกำหนดโครงการที่จะพัฒนาทั้งหมด 4 เรื่องได้แก่ 1.โครงการลงทุนสร้างศูนย์สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ ในพื้นที่อีอีซีโดยศูนย์ดังกล่าวจะอาศัยเทคโนโลยีของอาลีบาบา ประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีและไปยังที่อื่นทั่วโลก

2.โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลและการส่งเสริมธุรกิจผ่านอี-คอมเมิร์ซ โดยจะร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิตอล โดยเสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อมาร่วมสนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มของอาลีบาบา

3.โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล อี-คอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของไทย โดยจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้เครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สู่อนาคต (ไอทีซี) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อทำโครงการให้เข้าถึงผู้ประกอบการของไทยมากที่สุด

และ 4.จัดทำ Thailand Tourism Platform ที่ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดทำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะเพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดร่วมกันบนออนไลน์แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงกับสื่อและช่องทางต่างๆ ของ ททท.เจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีหากถือว่าอาลีบาบานั้นเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปใช้ระบบดิจิทัลได้อย่างสะดวกกว่าเดิม แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ก็คือการที่ก้าวไปสู่การใช้ดิจิทัลของประเทศไทยนั้น ยังติดข้อจำกัดอยู่หลายสิ่ง ที่อาจจะให้เป็นปัจจัยในการไม่พัฒนาการลงทุนของหลาย ๆ อุตสาหกรรมจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก รวมถึงอาลีบาบาในอนาคตด้วย ซึ่งในทางที่ควรคือนอกจากที่ไทยจะยืมมือของอาลีบาบามาพัฒนาแล้ว ควรต้องออกแรงพัฒนากำลังคนไทยเองด้วย

ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลออกมามากพอสมควร เพราะมีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านดิจิทัลมากถึง 427 หลักสูตร ในสถาบันการศึกษาเกือบ 170 แห่งทั่วประเทศ และสามารถผลิตบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านดิจิทัลมากกว่า 26,000 คนในปี 2560  แต่ปัญหาก็คือ บุคลากรที่ผลิตออกมาจำนวนไม่น้อยมีปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ 

สาเหตุหนึ่งของปัญหาดังกล่าวเป็นเพราะหลักสูตรที่ใช้ล้าสมัย ไม่ได้ปรับให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และถ้ายังปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้เรื่อย ๆ ก็คงต้องเตรียมรับผลที่บริษัทต่างๆ ที่มาลงทุนเลือกที่จะไม่ทำกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในประเทศไทย แต่มาลงทุนในไทยเพียงเพื่อใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนไม่มาก

ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการจะได้ประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และสามารถสร้างเสน่ห์ในการดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัล เหมือนหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวันและญี่ปุ่น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงและใช้งานได้จริง

โดยนางสาวเสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้มีการกล่าวถึงการดำเนินนโยบายที่จะพัฒนาประเทศในด้านของกำลังคนให้สามารถรองรับการพัฒนาด้านดิจิทัลได้ โดยกำหนดนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวควบคู่กันไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ว่าในระยะสั้นและระยะกลาง ประเทศไทยควรมีนโยบายเพื่อให้เกิดกำลังคนด้านดิจิทัล 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแรกคือ กลุ่มคนด้านดิจิทัลที่สามารถพัฒนาและใช้เทคโนโลยีหลักที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊ก ดาต้า) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (อินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์)ในหลายประเทศ การพัฒนาคนกลุ่มนี้ มักทำโดยการจัดหลักสูตรเข้มข้นระยะประมาณ 6 เดือน โดยเน้นการพัฒนาทักษะจากโจทย์จริง ข้อมูลจริงเพื่อใช้งานจริงและแก้ปัญหาจริงได้ ไม่มุ่งเน้นปริมาณมาก แต่เน้นฝึกอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้คุณภาพระดับสามารถใช้งานได้จริง

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มคนด้านดิจิทัลที่ต้องการจำนวนมากพอสมควร เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์ ซึ่งต้องมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจเช่นกัน กลุ่มนี้ สามารถสร้างได้โดยสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจ อย่างเช่นในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเปิดให้สถาบันการศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการ ICT Model Schools โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก คือ การมีหลักสูตรการสอนที่เหมาะสมและความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์วิจัย ที่สำคัญต้องสามารถดึงดูดการลงทุนร่วมด้านการศึกษาและวิจัยจากภาคธุรกิจ 

โดยสถาบันที่สนใจต้องส่งข้อเสนอการพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันที่เชี่ยวชาญด้าน ICT มาให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งจากโครงการดังกล่าวมีสถาบันที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 30 แห่ง ซึ่งกระจายในแต่ละภูมิภาคแต่ละแห่งได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 45-90 ล้านบาทสำหรับโครงการ 4 ปี อย่างไรก็ตามหากการประเมินผลประจำปีไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ สถาบันนั้นก็จะถูกคัดออกจากโครงการโดยสถาบันที่อยู่ในระดับรองลงไปจะได้รับการคัดเลือกแทน

กลุ่มที่สามคือ กลุ่มคนด้านดิจิทัลทักษะสูงจากต่างประเทศ โดยกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาความขาดแคลนเฉพาะหน้า สามารถดึงดูดกลุ่มนี้ได้จากการอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงาน ที่ผ่านมา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐ ได้ใช้มาตรการนี้ดึงดูดกำลังคนจากต่างประเทศมาเป็นระยะเวลานานและประสบความสำเร็จ

สำหรับประเทศไทย มาตรการดังกล่าวได้เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2561 เมื่อรัฐบาลออกมาตรการสมาร์ทวีซ่า ซึ่งเป็นวีซ่าพิเศษ เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น การให้วีซ่าถึง 4 ปี และไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวของไทยยังมีเงื่อนไขไม่ดึงดูดพอ เพราะกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำไว้สูงมากถึง 200,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีผู้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวและสนใจเข้ามาทำงานในไทยน้อยเกินไป ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาปรับเงินเดือนขั้นต่ำและเงื่อนไขให้เหมาะสมกัน เช่น ผู้ที่มีเงินเดือนอย่างน้อย 200,000 บาท จะได้วีซ่านาน 4 ปี ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนเกิน 100,000 บาทแต่ไม่ถึง 200,000 บาท จะได้วีซ่านาน 2 ปีเป็นต้น

ขณะที่ในระยะยาว ประเทศไทยควรมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยสร้างกลไกให้ภาคธุรกิจให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา และให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ รวมทั้งหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยสถาบันการศึกษาวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง จัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ขยายจำนวนนักศึกษาฝึกงาน และเพิ่มอาจารย์ที่มีคุณภาพประเทศไทยเองสามารถที่จะหยิบยิมความรู้ ประสบการณ์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ได้ โดยปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลประกอบด้วย 4 ประการคือ1.เน้นการพัฒนาคุณภาพมากกว่าปริมาณ 2.เน้นความร่วมมือกับภาคเอกชน 3.มีกลไกการตรวจสอบและประเมินผลที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างความรับผิดชอบ และ 4.มีกลไกที่สนับสนุนความเข้มแข็งของสถาบันการศึกษา

อย่างไรก็ตามการทำทั้งหมดนี้ เพื่อไม่ใช่แค่พัฒนาคนให้พร้อมกับการพัฒนาประเทศ ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นโอกาสที่จะแสดงความพร้อมให้กับเอกชนบริษัทอื่น ๆ ระดับโลกเห็นว่าประเทศไทยเอง สมควรแล้วที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาค สร้างความมั่นใจในการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นก้าวแรกที่จะทำให้ไทยเพิ่มความเข้มแข็งเพื่อที่จะพัฒนาไปสู่เวทีโลกได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังเห็นภาพไม่ชัด แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถสร้างทำได้ จากการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่อาลีบาบาเข้ามาลงทุน
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"