เมื่อ'พระพิชัย'รู้ว่า'พระเจ้าเสือ'ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด


เพิ่มเพื่อน    

      กระแสละครบุพเพสันนิวาสเริ่มจะจางหายแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยยังคงอยู่และมีให้ศึกษามากมาย ฉะนั้นมากล่าวกันต่อเรื่องพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง  ทรงขึ้นครองราชย์หลังสมเด็จพระเพทราชา คือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ "พระเจ้าเสือ" ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2246-2251 

    พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ จดพระนามเดิมของพระองค์ว่า "มะเดื่อ" ส่วนในหนังสือปฐมวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียกว่า "ดอกเดื่อ" เนื่องจากประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิตรขณะพระมารดาเสด็จติดตามออกพระเพทราชาที่โดยเสด็จสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์) ขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก

    พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ ฉบับตัวเขียนระบุว่า สมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนมซึ่งเป็นพระราชธิดาในพญาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่ โดยคำให้การขุนหลวงหาวัดออกพระนามว่า พระราชชายาเทวี หรือ เจ้าจอมสมบุญ  ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า นางกุสาวดี

    แต่ในเวลาต่อมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวแก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง (เจ้ากรมช้าง) โดยในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่ามีเนื้อหาสอดคล้องกัน กล่าวคือนางเป็นสนมลับของพระนารายณ์แต่แตกต่างกันเพียงชื่อของนาง และเหตุผลในการพระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชา แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ กลับให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดแตกต่างไปจากคำให้การของขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทำศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้วได้ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นสนม แต่นางสนมเกิดตั้งครรภ์ พระองค์ทรงละอายพระราชหฤทัยด้วยเธอเป็นนางลาว พระองค์จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา ดังความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระพนรัตน์ ความว่า

    "แล้วเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่านางลาวนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด และพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ ณ บ้าน"

    โดยเหตุผลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระราชโอรสองค์นี้จะคิดกบฏชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ ส่วนคำให้การของขุนหลวงหาวัดว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น

    ขณะที่จดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2233 ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ.2233 พระสรศักดิ์ (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนมายุ 20 พรรษา แสดงว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ.2213

    ผู้คนในสมัยดังกล่าวเรียกขานพระนามพระองค์ว่า "พระเจ้าเสือ" ก็เพื่อเปรียบว่าพระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ พระองค์มีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน

    สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ระบุในหนังสือ "ศิลปะมวยไทย" ถึงการที่พระองค์ทรงปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านมาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถชนะนักมวยเอกได้ถึง 3 คน ซึ่งได้แก่ นายกลาง หมัดตาย, นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก 

    ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์เป็น "วันมวยไทย"

    นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงฝึกเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรผู้เป็นพระราชโอรส ให้ทรงมีความสามารถในด้านมวยไทย, กระบี่กระบอง และมวยปล้ำ

    ตำนานฝ่ายเหนือระบุว่า เมื่อเจ้าเดื่อโตขึ้นได้เป็นมหาดเล็ก พระนารายณ์ทรงพยายามสื่อนัยบางอย่างให้เจ้าเดื่อรู้ว่าคือลูก อาทิ ชวนมาส่องกระจกดูว่าคนทั้งสองหน้าตาเหมือนกันหรือไม่ จนเจ้าเดื่อได้ใจมักเอาเศษอาหารในจานเสวยไปกินต่อทุกครั้ง ติดนิสัยกร่างผสมเกรียนไม่เคยเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหนตั้งแต่วัยรุ่น

    เอกสารของนายพลเดส์ฟาร์จชาวฝรั่งเศส บันทึกเหตุการณ์ช่วงพระนารายณ์ใกล้สวรรคตว่า  พระองค์ทรงโทมนัสที่เสียรู้ต่อ "กบฏสองพ่อลูกคู่นี้" ยิ่งนัก มิมีตอนใดเลยที่บอกว่าพระองค์ทรงเจ็บพระราชหฤทัยต่อลูกในไส้ที่ฝากเขาไปเลี้ยง

    อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิทรงเชื่อว่าหลวงสรศักดิ์จะเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์ ทรงวินิจฉัยว่าในเมื่อหลวงสรศักดิ์รู้อยู่เต็มอกว่าสมเด็จพระนารายณ์คือพระราชบิดา เหตุไฉนจึงร่วมมือกับพระเพทราชาบิดาบุญธรรมปราบดาภิเษกชนกแท้ๆ ของตน แทนที่จะประจบเอาใจขอราชสมบัติจากพระราชบิดาเมื่อครั้งยังทรงพระประชวร

    ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าเสือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ สมัยสมเด็จพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ซึ่งหวังจะได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเพทราชา 

    แต่สมเด็จพระเพทราชากลับโปรดปรานเจ้าพระขวัญ พระราชโอรสของพระองค์ และสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ กรมหลวงโยธาทิพ แถมมีผู้คนมากมายต่างพากันนับถือ ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ เกิดความหวาดระแวงว่าราชสมบัติจะตกไปอยู่กับเจ้าพระขวัญ จึงทรงลวงเจ้าพระขวัญมาสำเร็จโทษด้วยไม้ท่อนจันทน์ 

    เมื่อสมเด็จพระเพทราชาซึ่งทรงประชวรได้ทราบก็ทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ เป็นอันมาก แลตรัสว่าจะไม่ยกราชสมบัติแก่กรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงพระกรุณาตรัสเวนราชสมบัติให้เจ้าพระพิไชยสุรินทร พระราชนัดดา 

    หลังจากนั้นสมเด็จพระเพทราชาทรงสวรรคต เจ้าพระพิไชยสุรินทรทรงเกรงกลัวกรมพระราชวังบวรฯ จึงไม่กล้ารับ และน้อมถวายราชสมบัติแด่กรมพระราชวังบวรฯ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8

    มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2246 มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) มีพระสมัญญานามว่า "เสือ" ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาแล้ว

    ทรงมีความเด็ดขาดในการมีรับสั่งให้ผู้ที่ปฏิบัติงานใดต้องสำเร็จผลเป็นอย่างดี หากบกพร่องพระองค์จะมีรับสั่งให้ลงโทษ ไม่เฉพาะข้าราชบริพารเท่านั้น แม้พระราชโอรสทั้งสองก็เช่นกัน 

    อย่างเช่นในการเสด็จฯ ไปคล้องช้างที่เมืองนครสวรรค์ มีรับสั่งให้เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรตัดถนนข้ามบึงหูกวาง โดยถมบึงส่วนหนึ่งให้เสร็จภายในหนึ่งคืน พระราชโอรสทรงดำเนินงานเสร็จตามกำหนด  แต่เมื่อพระราชบิดาเสด็จพระราชดำเนินมา ช้างทรงเกิดตกหลุม จึงทรงลงพระราชอาญาเจ้าฟ้าเพชร แต่ภายหลังก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

    ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 บ้านเมืองวุ่นวายเพราะพระยาราชสงครามรีดไถประชาชน ด้วยการอ้างพระบรมราชโองการในการเกณฑ์ช้างม้าวัวควายไปเพื่อเป็นภาษี ส่วนสาววัยรุ่นจะนำไปถวายพระเจ้าเสือเพื่อเป็นนางสนมในพระราชวัง ส่งผลให้ชาวบ้านทุกทั่วหัวระแหงได้รับความเดือดร้อน 

    ขณะเดียวกันพระพิชัย เจ้าเมืองวิเศษชัยชาญ ก็ได้ตั้งกลุ่มเพื่อต่อต้านการกระทำของขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยการตั้งตัวเป็นกองโจรเพื่อปล้นเสบียงและนำตัวผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ไปในวังหลวงคืน  ซึ่งหนึ่งในกองโจรนั้นมี "สิน" ซึ่งชอบช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

    ต่อมาพระเจ้าเสือได้เสด็จพระราชดำเนินไปตกปลากับขุนนางคนสนิทเป็นการส่วนพระองค์ โดยปลอมตัวเป็นสามัญชนชื่อว่า ทิดเดื่อ ซึ่งนัยหนึ่งพระองค์ต้องการทราบถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 

    การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นได้ปะฝีมือเชิงมวยกับ "สิน" ผู้เป็นชาวบ้านธรรมดา โดยไม่รู้ว่าคนที่ตนกำลังชกอยู่ด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่ทันได้รู้ผลแพ้ชนะก็มีขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาอ่านพระบรมราชโองการในการเกณฑ์ราษฎรชายไปเป็นทหาร ทำให้พระเจ้าเสือทรงได้รับทราบการทุจริตของข้าราชการและได้พูดคุยกับ "สิน" อย่างถูกคอ

    "สิน" ซึ่งต่อมาคือ พันท้ายนรสิงห์ ได้รับคำยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัย ครั้นพระเจ้าเสือเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรี ซึ่งจะต้องผ่านตำบลโคกขามซึ่งคลองบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวและแคบ ทำให้พระพิชัย และพระพินิจ ทหารเก่าในสมัยพระนารายณ์ที่เกลียดชังพระเจ้าเสือวางอุบายลอบปลงพระชนม์ได้

    ขณะเดียวกันนั้นสินที่ได้ล่วงรู้แผนการนี้ จึงให้นวลไปขอร้องกับพระพิชัยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ  จึงวางแผนบังคับเรือพระที่นั่งให้ชนกับริมตลิ่งเพื่อไม่ให้พระเจ้าเสือเสด็จพระราชดำเนินไปถึงจุดที่กลุ่มชาวบ้านซุ่มอยู่

    เมื่อเรือพระที่นั่งเอกไชยมาถึงตำบลโคกขาม "สิน" พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งจนชนตลิ่ง ทำให้หัวเรือพระที่นั่งเอกไชยหักตกลงไปในน้ำ สินรู้ดีว่าความผิดครั้งนี้โทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย 

    "สิน" จึงกราบทูลขอน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี พระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเหตุสุดวิสัยมิใช่ความประมาทจึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ "สิน" ก็กราบบังคมทูลยืนยันให้ตัดศีรษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย และเป็นการป้องกันมิให้เกิดข้อติเตียนต่อพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน 

    แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำพระราชหฤทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตาและนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล  ทำให้พระพิชัยที่แอบดูอยู่รู้ความจริงว่าพระเจ้าเสือมิได้ทรงเลวร้ายอย่างที่คิด จึงถวายตัวรับใช้พระเจ้าเสือด้วยความซื่อสัตย์ตลอดมา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"