ถกแก้วิกฤติวนในอ่าง ฝ่ายค้านตั้งธงนายกฯลาออก-พปชร.ไม่รับ3ข้อเสนอ


เพิ่มเพื่อน    


    ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 165 แก้วิกฤติม็อบ วันแรกยังวนในอ่าง ฝ่ายค้านตั้งธง  “ประยุทธ์” ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ “บิ๊กตู่” ยอมรับทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามโลก แต่ต้องไม่ลืมว่าคนไทยหลายสิบล้านไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวาย อย่าลืมรากเหง้าประเทศ “วิษณุ” กางกฎหมายอธิบายเรื่องลาออก-ยุบสภา ชี้หากไขก๊อกนายกฯ ใหม่ต้องใช้ 366 เสียงไม่นับ ส.ว. “จุรินทร์”  เสนอผุดคณะกรรมการหาแนวทางแก้ “ก้าวไกล” พาเหรดชงตั้ง กมธ.ยุ่บยั่บ “ปารีณา” ตอกฝาโลงไม่รับ  3 ข้อเสนอม็อบเด็กส่วนน้อย
    เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ)  เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
    โดยก่อนการประชุม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยว่า เลขาธิการสภารายงานว่ามีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมา 13 กองร้อย ซึ่งก็บอกว่าอย่าไปถึงขนาดนั้นเลย เพราะเชื่อว่าผู้ชุมนุมถ้าจะมีใครละเมิดอะไรบ้างก็เป็นเรื่องของผู้นั้น ก็มีกฎหมายบ้านเมืองอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ได้พูดกันในวันประชุมร่วมว่าจะไม่ประมาท เตรียมตัวไว้ในระดับหนึ่ง  แต่ไม่ถึงขั้นจะให้เจ้าหน้าที่มาอยู่ในนี้ และเชื่อว่าไม่มีการเผชิญหน้า และตอนนี้มันก็ยังไม่เกิด
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้อภิปรายประเด็นขัดขวางขบวนเสด็จฯ ซึ่งจะชี้ให้ประชาชนเห็นว่าใครอยู่เบื้องหลังและตั้งใจล้มล้างสถาบัน รู้กันอยู่ว่ามีคนตาเหล่สองคน หน้าเหลี่ยมหนึ่งคนใช้ผู้ชุมนุมเป็นเครื่องมือ ดูจากการไลฟ์สดมายังผู้ชุมนุม และโพสต์ยั่วยุปลุกปั่น หลอกใช้เด็กและประชาชนเป็นเครื่องมือ มักใหญ่ใฝ่สูง อยากเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง เนรคุณบ้านเมือง
และในเวลา 08.46 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางถึงอาคารรัฐสภาด้วยสีหน้าเรียบเฉย และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมความพร้อมชี้แจงในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “รอฟังๆ” ก่อนขึ้นลิฟต์ไปยังห้องรับรองทันที
    ต่อมาเวลา 09.45 น. ในการประชุมรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ได้เสนอญัตติโดยกล่าวตอนหนึ่งว่า  "สถานการณ์การชุมนุมที่มีต่อเนื่อง เราทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามดูแลสถานการณ์อย่างดีที่สุด ไม่ว่าเรื่องการห้ามเตือน พยายามชี้แจงข้อกฎหมายต่างๆ แต่การชุมนุมก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 3 ข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการดำเนินการอยู่แล้ว หลายครั้งการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรง แต่บางครั้งก็ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้นจึงรู้สึกเป็นห่วง รัฐบาลจึงมีเห็นความชอบร่วมกันที่ได้เปิดประชุมในวันนี้
    เราไม่อยากให้เกิดการปะทะกันหรือเกิดการจลาจลในบ้านเมือง รัฐบาลมีหน้าที่รักษาสิทธิ์แทนคนไทยทั้งประเทศ สิ่งที่ผมมั่นใจคือ วันนี้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะมีมุมมองด้านการเมืองอย่างไร แต่ทุกคนยังรักชาติและต้องการอนาคตที่ดี รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เราจึงจะได้สังคมที่มีความแข็งแรง มีรากเหง้า ผมในนามรัฐบาลรู้ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของโลก แต่ต้องยอมรับคนไทยหลายสิบล้านคนไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวาย สับสนอลหม่าน เราต้องมีความสมดุลในความต้องการของแต่ละคน วันนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะใช้เวลา 2 วันของสภาท่ามกลางสภาวการณ์ หยิบยกเรื่องสำคัญหลายเรื่องมาพูดกันในสภาของเราในที่นี้ ควรรวบรวมสติปัญญาและความสามารถ รวมทั้งเลือดรักชาติทุกหยด ร่วมกันคิดทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ ทำให้ประเทศเดินหน้าไปอย่างแข็งแรงยิ่งขึ้นและยั่งยืน โดยทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว พื้นฐานของคนไทยมีความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน แม้จะมีเรื่องไม่เห็นด้วยกันบ้าง แต่เราก็ยังรักกันได้ตลอดไป”
จี้ 'ประยุทธ์' ลาออก
    จากนั้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรค พท.ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ญัตติของรัฐบาลไม่สร้างสรรค์ เนื้อหาสาระมีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทย  ซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย เป็นการราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง เราต้องพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนอย่างจริงจัง ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่ดึงเวลาให้ล่าช้า เร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง และยุติการใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ที่สำคัญคือนายกฯ ต้องลาออก
    จากนั้นเวลา 10.22 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรค พท.อภิปรายว่า รู้สึกผิดหวังเพราะรัฐบาลมองว่าตัวเองไม่มีความผิด แต่โยนความผิดให้ผู้ชุมนุม ซึ่งเมื่อรัฐบาลตั้งโจทย์ผิด การแก้ปัญหาจึงผิดไปด้วย โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นต้นตอของปัญหาที่นายกฯ ไม่อาจปฏิเสธได้ และ พล.อ.ประยุทธ์คือผู้สร้างปัญหาโดยตรง หนทางที่จะทำให้ม็อบยุติลง  รัฐสภาต้องลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ และตั้ง กมธ.เต็มสภา รวมทั้งขอเรียกร้องให้นายกฯ ยืนขึ้นและประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางสภา แต่ถ้าเลือกหนทางยุบสภา ผลที่ตามมาคือ แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้และเพิ่มความขัดแย้ง ดังนั้นนายกฯ ต้องเสียสละ 
      นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า การกระทำของผู้ชุมนุมถือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเป้าหมายหลักต้องการปฏิรูปสถาบัน แต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลที่เป็นเลิศในเรื่องจงรักภักดีต่อสถาบัน เป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งในการปกป้องสถาบัน  แกนนำผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพื่อให้การปกป้องประเทศชาติอ่อนแอลงจนนำไปสู่การรุกคืบต่อการปฏิรูป จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา  และพระมหากษัตริย์ต่อไป อย่าไปลาออกตามฝ่ายที่เรียกร้องซึ่งมีคนเพียงไม่กี่หมื่นคน ท่านต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน 8.4 ล้านคนที่เลือกท่านมาเป็นนายกฯ
    เวลา 10.45 น. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เนื้อหาของญัตติเป็นข้อบิดเบือน กลบเกลื่อนและให้ร้าย โยนความผิดให้ผู้ชุมนุมโดยไม่ได้คำนึงถึงความผิดพลาดของตัวเอง มีการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมขวางขบวนเสด็จฯ ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้ถวายการอารักขาความเรียบร้อยในการเสด็จฯ และผู้ชุมนุมก็หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นแล้ว แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้สำนึกถึงความผิดพลาดของตนเอง แต่ไปใส่ร้ายผู้ชุมนุมซึ่งนำไปสู่คดีความที่มีโทษถึงประหารชีวิต เติมเชื้อไฟในสังคม  ส่วนที่นายกฯ ชี้แจงว่ามีการดำเนินการบางเรื่องที่ผู้ชุมนุมขอมาแล้ว ทำเรื่องไหนแล้วบ้างและคืบหน้าถึงไหน ไม่ใช่ฟอกขาวตัวเองและปกปิดความผิดในการแก้ปัญหาประเทศ 
    “ถึงเวลาที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องทบทวนการร่วมรัฐบาล รัฐบาลจะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่มีพรรคร่วม  นายกฯ ต้องหยุดเอาความจงรักภักดีมากอดตัวเอง หยุดผูกมัดเอาสถาบันไว้กับปัญหาที่ตัวเองเป็นคนก่อ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจและปกปิดความล้มเหลว หยุดสะกดจิตตัวเองว่าไม่ผิดและยอมลาออก” นายพิจารณ์ระบุ
ชงผุดคณะกรรมการ
    ต่อมาเวลา 11.20 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ต้องช่วยกันชักฟืนออกจากกองไฟ โดยพรรคเห็นว่าควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ทันทีที่ทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ  เพิ่มเติมจนสังคมเข้าใจว่ายื้อเวลา โดยขอเสนอให้วิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา หาคำตอบร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะพิจารณา 6 ร่างในวาระไปก่อน หรือรอร่างไอลอว์ซึ่งเป็นโจทย์ที่วิป 3 ฝ่ายควรหาทางออกร่วมกัน 
    “อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อ คือ 1.องค์ประกอบนั้นต้องมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนรัฐบาล ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ 2.ให้คณะกรรมการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรม เน้นรูปแบบการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อาจต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าว และ 3.ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นแสงสว่างแห่งความหวังถูกจุดขึ้นตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภา” นายจุรินทร์กล่าว
    ต่อมาเวลา 13.15 น. นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุม และพบว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากนักการเมืองที่นำความขัดแย้งส่งต่อให้ลูกหลาน การชุมนุมมีคำปราศรัยที่รุนแรง ก้าวล่วงไกลเกินกว่าจะรับได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐสภาต้องหาทางออก โดยมีข้อเสนอ 9 ข้อแก้ปัญหา  ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ใช้ไม้นวมไม้แข็งดูแลความขัดแย้งอย่างเหมาะสม 2.รัฐบาลต้องชี้แจงองค์การระหว่างประเทศเรื่องการแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้ 3.ตั้งทีมจัดการข่าวปลอมเชิงรุกอย่างรวดเร็ว 4.ส.ส.และ ส.ว.ต้องร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ 5.ให้รัฐบาลเปิดเวทีกลางให้ผู้ชุมนุมได้เสนอความเห็นตามเสรีภาพ แทนการชุมนุมบนถนน 6.เปิดเวทีเจรจา แม้จะยากแต่ต้องทำ 7.การปฏิรูปสถาบันเป็นข้อเสนอสุดโต่ง 8.นายกฯ ไม่ควรลาออกเพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา และ  9.หากการดำเนินการข้อ 1-8 แล้วยังไม่สามารถเป็นทางออกได้ ให้ใช้วิธีออกเสียงประชามติแก้ปัญหา
    ต่อมาเวลา 13.30 น. นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.อภิปรายว่า ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย แต่อยากให้หยุดคิดแล้วถามกลับไปว่า ถ้าถอยคนละก้าวไม่พอ จะถอยมากกว่าก้าว คิดว่าต้องทำ ถ้ารักประเทศและประชาชนอย่างที่ประกาศเอาไว้จริงๆ
    เวลา 14.05 น. น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า  เหตุการณ์ที่สะพานชมัยมรุเชฐเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ผู้ชุมนุมไม่ได้เจตนาขัดขวางขบวนเสด็จฯ แต่เกิดจากการผิดพลาดในการจัดเส้นทาง และความผิดพลาดนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ พรรคจึงขอยื่นญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จฯ และการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเมื่อวันที่ 14 ต.ค. และขอวิงวอนว่าอย่านำเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ มาให้ร้ายประชาชน และอยากให้รัฐบาลรับผิดชอบ เลิกบิดเบือนข้อเท็จจริง  รัฐบาลต้องทำหน้าที่ธำรงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่นำสถาบันมาสร้างความเกลียดชัง สร้างความชอบธรรมให้ประชาชนออกมาทำร้ายกัน 
    ต่อมาเวลา 14.30 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การชุมนุมเป็นการเมืองแท้ๆ แต่ตอนนี้ต่างจากเมื่อก่อน เราไปดึงเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมเรียกร้องทางการเมือง ขาดความเคารพ ขาดความเกรงใจ ขาดความให้เกียรติ ยุคก่อนไม่มี ซึ่งต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง ถ้าไม่มีจะไม่เลยเถิดมาขนาดนี้ได้
บิ๊กตู่เตือนเรื่องรากเหง้า
    ในเวลา 15.14 น. พล.อ.ประยุทธ์โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" โดยได้ย้ำถึงประเด็นที่ได้อภิปรายไปว่า "สิ่งที่มั่นใจคือ คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองทางการเมืองแบบไหน  แต่ทุกคนรักชาติ รักวัฒนธรรม รักรากเหง้า และคุณค่าของความเป็นไทย แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็รู้ว่าทุกคนต้องการอนาคตที่ดีสำหรับประชาชนและประเทศ ซึ่ง 2 เรื่องนี้ คือเรื่องรักในรากเหง้าความเป็นไทย และเรื่องต้องการอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานเยาวชนไทย รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่เป็น 2  เรื่องที่เดินไปด้วยกันได้ เราต้องหาหนทางแก้ไขที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น อย่างมีหลักการ มีเหตุผล และมีความถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าของเรา เราจะได้สังคมที่แข็งแรง  สังคมที่มีรากเหง้าที่ดีงามหยั่งรากลึก และก็มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป"
    ต่อมาเวลา 15.35 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในทุกเรื่องที่จะหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้วว่าถ้านายกฯ ลาออกจากตำแหน่งจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยคณะรัฐมนตรีต้องพ้นทั้งคณะ นายกฯ และ ครม.ชุดเดิมต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีชุดใหม่เข้ามา แต่ต้องเลือกนายกฯ คนใหม่จากที่ประชุมรัฐสภา ต้องมีมติเสียงกึ่งหนึ่งรวมทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แต่ถ้าเป็นการยุบสภาก็ต้องพ้นทั้งคณะ รวมทั้งสมาชิกภาพของ ส.ส.และ ส.ว.ต้องสิ้นสุดไปด้วย
    ในเวลา 15.50 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้อภิปรายว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมีอยู่ประมาณ 6-7 ข้อ เช่น เรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกง, เรียกร้องให้เปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งก็ได้เปิดแล้ว  นอกจากนี้ยังขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และขอให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ซึ่งล่าสุด พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติมีการตรวจเสร็จสิ้นทุกมาตราแล้ว น่าจะส่งเข้าสภาได้ในสัปดาห์หน้า โดยจะขอพิจารณาร่วมสองสภาซึ่งจะเร่งรัดตัดขั้นตอนไปได้ คงใช้เวลาช่วงเดือน พ.ย.คู่ขนานไปกับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
    นายวิษณุกล่าวอีกว่า ข้อเสนอ 3 ข้อที่ยังไม่มีการดำเนินการ คือ การลาออกของนายกฯ, การยุบสภา และการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งการปฏิรูปสถาบันรัฐบาลไม่ทราบและไม่เข้าใจจริงๆ ว่าหมายถึงอะไร จึงอยากฟังการอภิปรายของสมาชิกให้ชัดเจน ส่วนการยุบสภานั้นมีการพิจารณาเหมือนกัน แต่สภามีความผิดอะไรถึงจะยุบ เพราะต้องเกิดจากความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาถึงจะยุบสภาได้ แต่ถ้าเป็นความประสงค์และเจตนาร่วมจากหลายฝ่าย นายกฯ คงต้องหารือผู้เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนประเด็นนายกฯ  ลาออก ทางฝ่ายกฎหมายได้ทำข้อเสนอมาว่า หากลาออกแล้วจะหานายกฯ คนใหม่จากขั้นตอนใด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 มีเงื่อนไขว่านายกฯ คนใหม่ต้องมาจากรายชื่อที่เสนอเอาไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้ง ขณะนี้มีอยู่ 5 คน จากเดิม 7 คนโดยตัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพล.อ.ประยุทธ์ออกไป แต่คนที่จะมาเป็นนายกฯ จะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อเช้าประธานได้รายงานว่าที่ประชุมมีสิทธิ์ออกเสียงได้ 732 คน ซึ่งกึ่งหนึ่ง ก็คือ 366 เสียง ต่อให้ ส.ว.งดออกเสียงทั้งหมดตามที่หลายคนเรียกร้อง ก็ต้องหากันมาให้ได้ 366 เสียง  หากไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่าหากถึงทางตันแล้วจะทำอย่างไร
    “หลายคนเสนอว่าขอให้พรรคพลังประชารัฐเทเสียงให้พรรคร่วมฝ่ายค้านยกใครขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็ทำได้ แต่ก็ต้องคำนึงเรื่องสิทธิของแต่ละฝ่ายด้วย เพราะนายกฯ ก็ได้รับเสียงเรียกร้องเหมือนกันว่าอย่าออก  ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนอีกข้อเสนอที่ทั้งสามฝ่ายเสนอมาในที่ประชุม คือการทำประชามติถามประชาชน ก็ต้องถามว่าจะถามอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 บัญญัติห้ามทำประชามติออกเสียงเรื่องตัวบุคคล แต่หากจะหาช่องทางอื่นที่แยบคายและแนบเนียนก็น่าจะพิจารณาได้" นายวิษณุกล่าว
    ทั้งนี้ในระหว่างที่นายวิษณุชี้แจง นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ประท้วงให้นายวิษณุถอนคำพูดประโยคที่ว่าผู้ชุมนุมเรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกง ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ร้ายผู้ชุมนุม ส่งผลให้นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงนางอมรัตน์ว่าออกมาเรียกร้องเหมือนกับเป็นหัวหน้าม็อบ จึงทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ขอให้นายชัยวุฒิถอนคำพูด ซึ่งนายชัยวุฒิก็ยอมถอน แต่ขอเปลี่ยนเป็นผู้ควบคุมม็อบ ซึ่งนางอมรัตน์ไม่ยินยอมและให้ถอนคำพูดอีกครั้ง ซึ่งนายพรเพชรได้ไกล่เกลี่ยจนสำเร็จ  
ย้ำหลายสิบล้านไม่อยากวุ่น
    เวลา 17.00 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า นายกฯ มีปัญหาเรื่องความคิด โดยนายกฯ ได้พูดก่อนสลายการชุมนุมว่าอย่าประมาทกับชีวิต คนเราสามารถตายได้ทุกเวลา และอย่าท้าทายกับพญามัจจุราช ซึ่งวันที่ 16 ต.ค.ก็สั่งสลายการชุมนุม ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้หากมีการจาบจ้วงก็ควรดำเนินคดีเป็นรายบุคคลตามหลักฐาน อีกทั้งสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือหาผู้รับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น รวมทั้งอันดับแรกนายกฯ ควรต้องลาออกเพราะเป็นผู้ดูแล พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องไปลงโทษทุกคนเพราะเป็นการถวายพระเกียรติ 
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า เรื่องที่พูดถึงพญามัจจุราชนั้น เพราะช่วงนั้นไปงานศพคุณพ่อทุกวัน  จึงยกมาเตือนตัวเองไม่ได้ไปขู่ใครเลย ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นทุกท่านทราบดีอยู่แล้วกับเหตุการณ์ในช่วงค่ำของวันที่ 14 ต.ค. และได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 15 ต.ค. เนื่องจากสถานการณ์นั้นมีแนวโน้มว่าอาจลุกลาม ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ออกมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ออกในสมัยรัฐบาลใครก็ไม่รู้และก็ใช้มาทุกรัฐบาล แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ยกเลิกไปก็เท่านั้นเอง
    ก่อนหน้านั้นในเวลา 16.56 น. พล.อ.ประยุทธ์โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้งว่า "รู้ว่าทุกอย่างอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของโลกปัจจุบัน แต่เราต้องยอมรับว่าในประเทศไทยของเราคนจำนวนหลายสิบล้านคน ไม่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวุ่นวาย สับสนอลหม่าน ทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง เขาเห็น เขาเชื่อ มาตลอดชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นเราต้องมีความสมดุลระหว่างความต้องการของแต่ละคน และความต้องการของคนอื่นๆ ในสังคมด้วย อย่างสร้างสรรค์"
    เวลา 17.50 น. นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การกล่าวว่าการใช้กำลังสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล ถามกลับว่าใช้แหล่งไหนอ้างอิง ขอเสนอให้ตั้งคณะ กมธ. หรือใช้ กมธ.สามัญของสภาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพราะตอนนี้ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบ หรือการแถลงจากกองอำนวยการร่วมสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ว่าสารเคมีคืออะไร แก๊สน้ำตาหรือไม่  
    ต่อมานายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทุกเรื่องจะจบที่การพูดคุย คนรุ่นใหม่ก็คิดแบบคนรุ่นใหม่ นายกฯ ต้องฟัง อย่าคิดว่าคนคิดต่างมีเบื้องหลัง-ไม่มี นายกฯ บอกว่าผิดเรื่องอะไร ทำไมต้องลาออก ท่านต้องไปดูว่าท่านเป็นภาระ เป็นปัญหาของประเทศ ขอเสนอว่าเรื่องรัฐธรรมนูญกำหนดวัน ว. เวลา น.ให้ได้ แล้วไปคุยกันกับลูกหลาน แต่ทั้งนี้อยู่ที่ความจริงใจของผู้ใหญ่มากกว่า ความสวยงามในระบบประชาธิปไตยคือความคิดต่าง เราคนไทยทั้งนั้น นายกฯ ลองไปสงบอารมณ์ พอท่านบอกว่าพอแล้วก็ไปลาออก      
    เวลา 18.30 น. ขณะที่นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายโจมตีนายกฯ และเรียกร้องให้ลาออกอยู่นั้น นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร.ลุกขึ้นประท้วงว่าอภิปรายซ้ำซากวนเวียน ไม่มีสิทธิ์มาบังคับให้นายกฯ ลาออก ทำให้นายชวนที่ทำหน้าที่ประธานวินิจฉัยว่าผู้อภิปรายได้อภิปรายตามกรอบ แม้นายนิโรธจะพยายามท้วงติงอีกครั้ง แต่นายชวนกดตัดเสียงไมโครโฟนและให้นายจิรวัฒน์อภิปรายต่อจนจบ
    ต่อมา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร.อภิปรายว่า จากข้อเสนอ 3 ข้อของม็อบเยาวชน เป็นเพียงความต้องการของคนส่วนน้อย ทางออกเป็นไปไม่ได้ จะไม่เกิดขึ้นทั้ง 3 ข้อ นายกฯ ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ไม่มีการปฏิรูปสถาบัน เพราะจุดเริ่มต้นของความแตกแยกไม่ได้เกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ เยาวชนหรือสถาบันใดๆ แต่เกิดจากโซเชียลมีเดีย และผู้อยู่เบื้องหลังความแตกแยกก็ใช้โซเชียลมีเดีย เช่นการสร้างข่าวปลอมว่าจะมีรัฐบาลแห่งชาติ และให้ข่าวใส่ร้ายสถาบัน ประชาชนควรติดตามข่าวสารที่แท้จริง แม้การจัดการโซเชียลทำได้ยากมากเพราะเป็นบริษัทต่างชาติ ดังนั้นต้องใช้วิจารณญาณ แม้แต่เยาวชนบางคนยังบอกว่ามีต่างชาติสนับสนุน อนาคตของประเทศไทยต้องไม่เป็นฐานทัพของประเทศใดไปสู้กับจีน เพราะประเทศเรามีทรัพยากรมาก หากผู้ใดให้ความร่วมมือถือว่าขายชาติ  
    “การชุมนุมยังมีความก้าวร้าวและจาบจ้วงอย่างชัดเจน แม้จะเรียกร้องว่าหยุดใช้กฎหมายควบคุมผู้ที่เห็นต่าง แต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค.จะเห็นว่าขบวนเสด็จฯ ถูกคุกคามเสรีภาพ ไม่ใช่ขบวนเสด็จฯ เข้าไปหาม็อบ และยังถูกการพูดจาก้าวร้าวหยาบคายใส่ ต่อให้ไม่ใช่ขบวนเสด็จฯ ก็ไม่มีสิทธิ์ปิดถนนหรือตะโกนด่าใคร และไม่มีสิทธิ์เอาคีมเหล็กไปตีตำรวจ เป็นเหตุให้ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อไม่ให้มีการชุมนุมที่มากเกินไป รัฐบาลควรจัดสถานที่ชุมนุมให้เยาวชนชุมนุมอย่างสงบและพูดคุยกับรัฐบาล แม้มีการบอกว่าปฏิรูปไม่ได้แปลว่าล้มล้าง เป็นความเข้าใจของคนส่วนน้อย ทั้งที่ความจริงไม่ต้องมีการปฏิรูปสถาบันและปฏิรูปไม่ได้อยู่แล้ว ขอให้ฝ่ายการเมืองที่ให้การสนับสนุนหยุดใช้เยาวชนที่เป็นผ้าขาวมาเป็นเครื่องมือ เพราะเวลาใกล้จะหมดแล้วและอาจจะจบด้วยการไม่มีแผ่นดินอยู่" น.ส.ปารีณากล่าว
    และในเวลา 19.00 น. พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายถึงแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งว่า ทำประชามติแต่ไม่ให้รัฐบาลเป็นผู้ตั้งคำถาม โดยให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล, ส.ส.รัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน, ส.ว., ตัวแทนนักเรียน นักศึกษา, อดีตประธานศาลฎีกา, อดีตประธานศาลปกครอง, ตัวแทนองค์กรอิสระ ไปร่วมกันตั้งคำถามประชามติอย่างน้อย 3 ข้อในประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง เพื่อหาข้อยุติแล้วส่งให้รัฐบาลไปทำประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสิน โดยจะทำประชามติในวันที่ 20 ธ.ค.63 วันเดียวกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ เชื่อว่าไม่ช้าหรือเร็วเกินไป จะเป็นการลบคำสบประมาทว่าเวทีรัฐสภาเป็นเวทีปาหี่ หาทางออกไม่ได้
    เวลา 19.27 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า นายกฯ ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารสูงสุด ปล่อยให้ขบวนเสด็จฯ ผ่านเข้าไปในที่ชุมนุมได้อย่างไร รวมทั้งต้องสอบข้อเท็จจริงเรื่องการสลายการชุมนุมว่ามีการใช้มาตรการเกินกว่าเหตุหรือไม่ ศูนย์รวมของปัญหาคือนายกฯ ขอให้เห็นแก่ชาติบ้านเมือง ท่านทำมาเยอะแล้ว แต่วันนี้บ้านเมืองไปไม่ได้ มีคำเดียวที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดคือลาออกจากการเป็นนายกฯ แม้จะมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมเลือกนายกฯ เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แม้วรรคสองจะระบุว่าหากเลือกในบัญชีไม่ได้ เรายินดีสนับสนุนให้เลือกคนที่เหมาะสมเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้หมายถึงคนนอกสภา ต้องเป็น ส.ส.ในสภา ถือว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่อยากให้มองอีกฝ่ายเป็นปัญหา อย่ามองข้อเรียกร้องของเยาวชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ความจริงใจของนายกฯ ที่จะไม่เติมเชื้อไฟเข้าสู่กองฟืน 
    "เรารักชาติ เทิดทูนสถาบัน เราต้องยกสถาบันขึ้นเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม การปฏิรูปสถาบัน อาจเอาเหลือบ ริ้น ยุงที่แอบอิงเกาะกินสถาบันออกมาให้หมด สถาบันจะมีความสง่างาม" 
    เวลา 20.25 น. นายชวนกล่าวว่า วันนี้ได้ใช้เวลาการอภิปรายพอสมควรแล้ว มีสมาชิกอภิปราย 41  คน ขอนัดประชุมใหม่ในวันที่ 27 ต.ค. ขอให้สมาชิกมาให้ตรงเวลา จากนั้นได้ปิดการประชุม.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"