ชราแลนด์...เชื่อมคนสองวัย  ศูนย์เรียนรู้เพื่อเด็กเข้าใจสว.


เพิ่มเพื่อน    


     “ชราแลนด์” เป็นอีกหนึ่งพื้นที่นวัตกรรมสำหรับเด็ก เพื่อให้น้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้ปัญหาของผู้สูงอายุ รับสังคมสูงวัยที่ปัจจุบันบ้านเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 2 สถาบันอย่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้ “ชราแลนด์” ไม่เพียงกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญและเข้าใจการดูแลผู้สูงวัยหรือปู่ย่าตายาย เพื่อลดช่องว่างของคน 2 เจเนอเรชั่นในโลกของสังคมสูงอายุ แต่ยังเป็นพื้นที่เพื่อให้น้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้การสร้างนวัตกรรมสำหรับผู้สูงวัยในอนาคต ผ่าน 4 ฐานการเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “Steam4innovatior” ณ ชั้น 6 อาคารสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในโอกาสครบรอบ 23 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ 
     ผศ.ดร.สาวิตรี ทยานศิลป์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาฯ ให้ข้อมูลว่า “เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 12 ล้านคน และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น จำนวนของผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 18.1% ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนของประชากรเด็กที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 16.9% ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลให้คนสองวัยนี้มี “พันธะสองวัย สายใย (ยัง) ผูกพัน” ส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยนั้น ปู่ย่าตายายมักจะต้องดูแลเลี้ยงดูลูกหลาน ประกอบกับวัยคนสูงอายุในปัจจุบันแข็งแรงและมีอายุที่ยืนยาว ดังนั้นลูกๆ จึงคาดหวังให้ผู้สูงอายุเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูแลลูกหลาน ส่วนหนึ่งเพราะสังคมหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุคนรุ่นปู่ย่าตายาย ก็ถือได้ว่าเป็นวัยของการพึ่งพิงเช่นเดียวกัน ดังนั้นคน 2 วัยนี้จึงมีพันธะตลอดจนสายใยผูกพันกัน และเมื่อคน 2 วัยต้องมาเกี่ยวข้องกันหรืออยู่ด้วยกัน แน่นอนว่าเมื่อเติบโตกันคนละยุคละสมัย จึงทำให้ผู้สูงอายุกับลูกหลานนั้นไม่สามารถจูนกระทั่งปรับตัวเข้าหากันได้ เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย     
     “เพราะคน 2 เจเนอเรชั่น หรือลูกหลานกับผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ สิ่งที่จะเชื่อมคน 2 วัยให้เข้าใจหรือเรียนรู้กันและกันได้ดีนั้นจะต้องทำกิจกรรมร่วมกัน โดยรูปแบบของกิจกรรมนั้นจะต้องประกอบไปด้วย 3 ระดับ คือ 1.กิจกรรมที่ทำร่วมกันจะต้องทำให้คน 2 วัยนี้เข้าใจในความแตกต่างของปัญหาที่เกิด เช่น เด็กจะต้องเข้าใจว่าเหตุใดเมื่อผู้สูงวัยอายุมากขึ้นจึงเดินได้ช้าลง หรือแม้แต่ปู่ย่าตายายจะต้องเข้าใจว่าเหตุใดเด็กยุคนี้จึงชอบเล่นเกม นั่นเพราะคนทั้ง 2 วัยนั้นเกิดกันคนละยุค 2.เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะต้องยอมรับความแตกต่าง และปรับจูนทัศนคติร่วมกัน 3.มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น เวลาที่ผู้ใหญ่นัดทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนก็ควรที่จะให้มีลูกหลานไปด้วย เพื่อให้เด็กเข้าใจผู้ใหญ่ และที่สำคัญถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความสุขร่วมกัน”

(ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง)


     ด้าน “ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง” รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บอกว่า “สำหรับนวัตกรรมสูงวัยเพื่อคน 2 วัยนั้น เมื่อเด็กกับผู้สูงอายุต้องมาอยู่ด้วยกัน เราจำเป็นต้องพัฒนาตัวกิจกรรมหรือนวัตกรรมเพื่อให้เด็กรู้จักคิด และมีไอเดียอะไรสักอย่างเพื่อนำไปสู่การเป็นนักนวัตกร หรือคนที่คิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมในอนาคต นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ “ชราแลนด์” เปิดตัวขึ้นที่ ม.มหิดล ศาลายา ซึ่งศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวนั้น เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมผ่าน 4 ขั้นตอน เพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุในอนาคตต่อไป ที่สำคัญใน “ชราแลนด์” นั้น เราเชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีนวัตกรรม ซึ่งเราประยุกต์มาจากการใช้ชีวิตจริง เพื่อให้ปู่ย่าตายายใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และทำให้เด็กได้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ใหญ่ ได้อย่างเข้าใจปู่ย่าตายายได้มากขึ้น กระทั่งเมื่อเด็กได้มาเข้าร่วมกิจกรรมและได้ลงมือทำจริง ก็จะทำให้เขาเกิดไอเดียที่อยากจะทำสิ่งประดิษฐ์ หรือุปกรณ์ต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงวัยในอนาคตค่ะ”

(ผศ.ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ)

     ขณะที่ “ผศ.ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ” รองผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและสารสนเทศ บอกว่า “เนื่องจากในอนาคตนั้น เด็ก 1 คนอาจจะต้องดูแลผู้อายุระหว่าง 5-7 คน ดังนั้น NIA ของเราจึงคิดว่าจะต้องร่วมมือกับสถาบันเด็กฯ เพื่อทำอะไรสักอย่างในการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนมีส่วนช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ เราจึงดีไซน์ชั้น 6 ของสถาบันเด็กฯ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับคน 2 วัยอย่าง “ชราแลนด์” ขึ้นมา ทั้งนี้ รูปแบบของการดีไซน์นั้น เรานึกถึงผู้ใช้งานจริงเป็นหลัก โดยเราได้เชิญผู้สูงอายุมาร่วมกับทำกิจกรรมกับเด็กปฐมวัย นั่นจึงทำให้เด็กเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น และสิ่งที่เราคาดหวังจากการเข้าร่วมกิจกรรมภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ไม่เพียงทำให้ลูกหลานเข้าใจปู่ย่าตายายมากขึ้น แต่ยังทำให้เด็กคิดไกลไปกว่านั้น เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาก็จะได้ออกแบบสิ่งประดิษฐ์สักชิ้นเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ผู้สูงอายุได้ใช้งานจริงๆ เป็นต้นค่ะ”

(รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์)

     ปิดท้ายกันที่ “รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว บอกว่า “สำหรับ 4 ฐานของศูนย์การเรียนรู้ “ชราแลนด์” อย่างฐานที่ 1.คือ “Insight “ รู้ลึก รู้จริง รู้ใจคนวัยชรา ซึ่งเป็นฐานปลอมตัวเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า เมื่ออายุมากขึ้นนั้นร่างกายของคุณตาคุณยายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยการให้เด็กใส่แว่นตา ใส่ถุงมือหยิบของ และใส่สายรัดข้อเท้าที่ทำให้เดินไม่สะดวก รวมถึงยังมีแอปพลิเคชันสำหรับถ่ายรูป เพื่อจำลองให้เห็นว่าถ้าอายุมากขึ้น ใบหน้าของเด็กๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ส่วนฐานที่ 2 คือ “Wow Idea” พื้นที่สำหรับปล่อยฝันและสร้างสรรค์กันเต็มที่ เช่น การที่เด็กๆ จะเล่นทั้งเกมสร้างความสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์กับผู้สูงอายุ (มีผู้สูงอายุ 2 ท่านเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์) และช่วยกันต่ออุปกรณ์อย่างทอพีวีซี เพื่อให้วอล์กเกอร์สำหรับหัดเดินให้กับผู้สูงอายุ สำหรับฐานที่ 3 คือ “Business Model” ก่อสร้างสร้างธุรกิจในฝัน เป็นการให้เด็กนำความรู้ที่ได้จากการเล่นผ่านทั้ง 3 ฐานที่ผ่านมา เพื่อคิดและนำไอเดียมาสร้างเป็นนวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัยในอนาคตตามความคิดของตัวเอง โดยดูและคิดวิเคราะห์จากสิ่งของที่ผู้สูงวัยจำเป็นต้องใช้ เช่น การที่เด็กได้ทดลองต่อตัวต่อให้เป็นไม้เท้าสำหรับพยุงเดินให้กับผู้สูงอายุ กระทั่งในอนาคตอยากดีไซน์ไม้เท้าเพื่อผู้สูงวัยในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น ปิดท้ายกันที่ฐานที่ 4 อย่าง “Production & Diffusion” ฐานก่อร่างสร้างธุรกิจในฝัน สำหรับฐานนี้เป็นการนำเอานวัตกรรมที่เด็กๆ ปิ๊งไอเดียจากการเล่น เพื่อเข้าสู่การตลาดและขยายผลต่อไปในอนาคต. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"