เร่งแก้รธน.-ตั้งกรรมการพูดคุย เงื่อนไขติดล็อก ทำขยับลำบาก


เพิ่มเพื่อน    

        ผลการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ สองวันสองคืนที่ผ่านพ้นไปเมื่อ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำกลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ลาออกจากตำแหน่งตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ขณะเดียวกัน ผลการประชุมดังกล่าวก็กำลังมีการขยับสานต่อทางการเมือง เพื่อทำให้สถานการณ์การเมืองนอกรัฐสภา การชุมนุมของม็อบสามนิ้วคลายความร้อนแรงลง ในสองประเด็นสำคัญคือ

            1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2.การตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อรับฟังข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเพื่อแสวงหาทางออกจากวิกฤติการเมือง ที่บางฝ่ายเรียกกันว่าคณะกรรมการ 7 ฝ่าย

โดยประเด็นแรกเรื่อง “แก้ไข รธน. ก็มีคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรีกลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี ส.ว.ทั้งหมดร่วมประชุมด้วย โดยนายกฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าขอเดินหน้าสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่บอกว่าฝ่ายบริหารคงไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ-รัฐสภาในการโหวต แม้อาจมีข้อโต้แย้งว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน 250 คน คือคนที่พลเอกประยุทธ์และอดีตคณะ คสช.เลือกมากับมือ หากมีการประสานขอให้ ส.ว.ช่วยลงมติรับร่าง โดยเฉพาะหากใช้วิธีการตั้งกรรมาธิการร่วมเต็มสภาในร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา เช่น การตัดอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเห็นชอบนายกฯ ตามมาตรา 272 ก็น่าจะทำให้การแก้ไข รธน.เร็วกว่าปกติ เพราะจะช่วยร่นเวลาให้เร็วขึ้นได้ร่วมเดือน

ซึ่งจนถึงขณะนี้ จากสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน ที่เวลานั้นในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 6 ฉบับของทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่คาดกันว่าหากรัฐสภามีการโหวตลงมติ เสียง ส.ว.จะลงมติเห็นชอบไม่ถึง 84 เสียง จนทำให้ร่าง รธน.น่าจะร่วงหมด ไม่ผ่านความเห็นชอบเลยแม้แต่ร่างเดียว โดยเฉพาะร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ให้ตั้งสภาร่าง รธน. แต่มาถึงตอนนี้ จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจึงน่าจะทำให้เสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบเกิน 84 เสียง เพราะหากสภาสูงตั้งป้อมไม่ยอมท่าเดียว สุดท้ายทุกอย่างจะติดล็อกจนบ้านเมืองถึงทางตัน

ล่าสุด “คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกวิปวุฒิสภาเปิดเผยหลังประชุมวิปวุฒิสภาเมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้มีมติส่งผู้แทน 6 คน เช่น กล้านรงค์ จันทิก-สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เพื่อร่วมประชุมกับประธานรัฐสภา วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดแนวทางในการบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 6 ฉบับ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ โดยวุฒิสภาพร้อมงดประชุมวันอังคารที่ 3 พ.ย. เพื่อเปิดโอกาสให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ถือเป็นเวลาเร็วที่สุดที่สามารถกระทำได้ แต่หากผลการหารือออกมาเป็นว่าจะรอร่างไอลอว์ก่อน ก็ให้ประธานรัฐสภากำหนดวันที่เหมาะสมต่อไป

ถือเป็นท่าที ความพยายามจากสภาสูงที่เป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องการแก้ไข รธน. ที่พยายามเร่งให้มีการประชุมลงมติรับ-ไม่รับร่างแก้ไข รธน.ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งหากมีการโหวตเห็นชอบร่างแก้ไข รธน. โดยเฉพาะร่างแก้ไขมาตรา 256 จนมีการตั้งสภาร่าง รธน. ก็น่าจะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนที่เรียกร้องให้มีการแก้ไข รธน.พอใจได้ระดับหนึ่ง

ส่วนเรื่องการตั้ง "คณะกรรมการพูดคุย” ที่เป็นสูตรสำเร็จของการเมืองไทย เวลามีปัญหาอะไรก็ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการมาเจรจาพูดคุย-วางแนวทางการศึกษา อันเป็นวิธีการที่ทางการเมืองเรียกกันว่าการซื้อเวลา ที่มักใช้กันมาทุกยุคสมัย โดยบางชุดก็ประสบความสำเร็จ หลายชุดก็ล้มเหลว

เรื่องนี้พบว่าฝ่ายวิปรัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคพลังประชารัฐ ต้องการทำให้เกิดขึ้น ด้วยคงเพราะต้องการให้การเมืองนอกรัฐสภาคลายความร้อนแรงลง โดยเฉพาะกระแสไล่นายกฯ แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการให้มีกรรมการขึ้นมาจะทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่มีการตั้งแง่

เบื้องต้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา” แสดงท่าทีต้องการให้สถาบันพระปกเกล้า ที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการของรัฐสภา รับเป็นเจ้าภาพในการศึกษารูปแบบเพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมถึงให้ออกแบบโครงสร้างของคณะทำงานว่าควรจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันที่กรรมการจะตั้งไข่ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย ก็ประกาศไม่พร้อมร่วมสังฆกรรม โดย "ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย” ย้ำว่า การตั้งคณะกรรมการเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล วิธีการแก้ที่เร็วที่สุดคือ พลเอกประยุทธ์ต้องลาออก และเร่งแก้ไข รธน.โดยเร็ว

ดูไปแล้ว ความพยายามหาทางออกเพื่อคลายวิกฤติการเมือง หากแต่ละฝ่ายต่างตั้งการ์ดตั้งแง่ทางการเมืองโดยไม่มีใครยอมใคร ก็อาจทำให้ความพยายามหาทางออกคลี่คลายวิกฤติการเมืองเวลานี้ สุดท้ายอาจถึงทางตันจนสายเกินที่จะแก้ไขก็ได้!!!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"