เดินด้วยกัน นำพาสันติ


เพิ่มเพื่อน    

(คณะเดินเพื่อสันติภาพขณะกำลังข้ามสะพานบึงกุย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ในเขตที่เรียกว่า “สะดืออีสาน”)

    รถด่วนพิเศษ ขบวนที่ 25 “อีสานมรรคา” ออกจากหัวลำโพงเวลา 2 ทุ่มตรง ปลายทางของขบวนอยู่ที่สถานีหนองคาย แต่จุดหมายของผมคือสถานีขอนแก่น รถขบวนนี้ใช้รถไฟรุ่นใหม่ที่สั่งซื้อจากจีน เมื่อธันวาคม 2559 มีความทันสมัยกว่ารถไฟทุกรุ่นที่การรถไฟฯ เคยมีมา ด้านนอกของตัวโบกี้มีจอดิจิตอลบอกข้อมูลจำเพาะของขบวน บันไดขึ้นลงพับเก็บเมื่อประตูรถปิด และสามารถใช้แบบระนาบเดียวกับพื้นชานชาลาของสถานีรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ทั่วประเทศ
    เวลาใกล้ตี 4 เจ้าหน้าที่มาปลุกถึงเตียง ตั๋วระบุเวลาไว้ 04.10 น. ทว่ารถไฟเทียบจอดก่อนตั้ง 3 นาที เจ้าหน้าที่กดเปิดประตู และกดใช้ทางลงแบบระดับเดียวกับพื้นชานชาลา ผมออกจากตัวรถ มองไปรายรอบรางรถไฟและชานชาลา ไม่เห็นตัวสถานี แต่เห็นบันไดเลื่อนทางลง พอลงไปจึงพบภาพที่แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง สถานีดูเอียมอ่องและโอ่โถง ด้วยอาการที่ยังง่วงงุนอยู่ก็เกิดความสงสัยว่ารถไฟนำผมมาไกลถึงญี่ปุ่นหรือเมืองจีนแล้วหรืออย่างไร เดินเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ทราบว่าสถานีแห่งนี้สร้างเสร็จเปิดใช้งานเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ชานชาลาอยู่ด้านบนเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ ผมถามต่อถึงโรงแรมที่เปิดให้เข้าเช็กอินในเวลาตี 4 กว่าๆ เยี่ยงนี้ คุณพี่ก็แนะนำว่าน่าจะมีอยู่เพียงแห่งเดียว ห่างจากสถานีรถไฟราวๆ สามร้อยเมตร
    พนักงานต้อนรับของโรงแรมอนุญาตให้ผมพักได้ถึงบ่าย 2 แต่หลังจากตื่นนอนช่วงสายๆ ผมก็ลงไปจ่ายเงินสำหรับพักต่ออีกคืนเพื่อรอคณะ “เดินด้วยกัน นำพาสันติ” ที่กำลังจะเดินเข้าสู่ตัวเมืองขอนแก่นในวันถัดไป
    โครงการนี้ริเริ่มขึ้นโดย “พระสุธรรม ฐิตธัมโม” หรือ “หลวงพี่หมี นทีทอง” พระสงฆ์ที่เดินรณรงค์สันติภาพมาแล้วเกือบจะรอบโลก ผมรู้จักกับท่านมาได้ประมาณ 15 ปี ตอนที่ท่านยังไม่ได้บวช ก็ท่านนี่แหละที่แนะนำให้ผมได้ร่วมคณะลากเรือดำน้ำยุคสหภาพโซเวียตเมื่อตอนโน้น และได้ลงเรือมาด้วยกันตามที่ได้เคยนำมาเล่าในคอลัมน์หน้า 8 แห่งนี้
    ด้วยศรัทธาในท่านพุทธทาส หลวงพี่หมีอุปสมบทที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ 6 ปีก่อน และดูแนวโน้มแล้วคงจะไม่ลาสิกขาง่ายๆ เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสนั้น ท่านสุขภาพแข็งแรง เล่นฟุตบอล ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และสังเกตได้ชัดว่าท่านเดินเร็วมาก ผมแทบจะต้องวิ่งตามเมื่อคราวไปไหนมาไหนด้วยกัน
    ไม่นานหลังจากเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่านก็เริ่มเดินธุดงค์ไปทั่วประเทศ และเส้นทางไกลครั้งแรกก็คือการเดินธุดงค์จากจุดที่หลวงปู่ทวดละสังขาร (ปัจจุบันเป็นเขตพื้นที่ประเทศมาเลเซีย) ขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดชายแดนทางเหนือของไทย ท่านเคยไปจำพรรษาในอังกฤษ สอนวิธีการทำสมาธิให้กับฝรั่ง และเข้าใจว่าได้เดินในอังกฤษด้วย จากนั้นก็เดินรอบเกาะชิโกกุของญี่ปุ่น ผ่านวัด 88 วัด จนครบเส้นทางจาริกศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โอ เฮนโร” ท่านเดินจากกรุงเทพฯ ไปสู่ใจกลางของประเทศเมียนมา เดินจากกรุงเทพฯ ผ่านลาว เข้าเวียดนามไปทางจังหวัดหล่าวกายของเวียดนามที่ติดชายแดนจีน เดินต่อไปจนสุดเขตตะวันออกของเวียดนามที่ทะเลจีนใต้ ท่านเดินในอินเดีย 2,000 กว่ากิโลเมตร และไฮไลต์คือเดินจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เมืองแซนตามอนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ผ่ากลางประเทศ 5,000 กว่ากิโลเมตร ไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติกที่นครนิวยอร์ก ทางตะวันออกของประเทศ
    หลังออกพรรษาเมื่อปีที่แล้ว ได้มีพระสงฆ์ร่วมอุดมการณ์ด้วยอีกราว 10 รูป เดินรณรงค์สันติภาพโลกกับหลวงพี่หมี เริ่มเส้นทางที่แม่สอด จังหวัดตาก เข้าไปยังพม่า ออกสู่อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และตุรกี และหากว่าไม่มีโรคโควิด-19 อุบัติขึ้น คณะพระธุดงค์รณรงค์สันติภาพก็คงเดินไปถึงชายหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เป็นอันครบรอบโลกเรียบร้อยแล้ว (ตามเส้นรุ้งหรือเส้นละติจูด)
    คณะพระธุดงค์บินกลับเมืองไทย จำวัดที่วัดแดงประชาราษฎร์ จังหวัดนนทบุรี ของท่านเจ้าอาวาส “พระอธิการธงชัย ธัมมกาโม” หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “เทียนเต็กซินแส” และได้เข้าจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ตโปทาวัน อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับคณะพระธุดงค์อีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงภิกษุหนุ่ม “พระม่อน” พระศุภชัย สุภาจาโร อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมือง

(ชมรมจักรยาน และ สภ.เขวาใหญ่ ร่วมแจมในเส้นทางมุ่งหน้ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

    แนวความคิดโครงการพหุวัฒนธรรม “เดินด้วยกัน นำพาสันติ” เป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยผู้ที่เลื่อมใสในหลวงพี่หมีช่วยกันคิดช่วยกันทำหน้าที่ประสานงาน จนสุดท้ายได้รับความสนับสนุนร่วมมือจากบรรดาผู้นำของ 5 ศาสนาหลัก ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกข์ และพราหมณ์-ฮินดู นำไปสู่การวางแผน การจัดการ “เดินเพื่อสันติภาพ”
    โครงการนี้ได้แบ่งการเดินออกเป็น 2 เส้นทาง คือจากด้านตะวันตกที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปสุดทางฝั่งตะวันออกของประเทศที่จังหวัดมุกดาหาร เริ่มออกเดินทางจากด่านชายแดนแม่สอด เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ในวันนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี วิ. หรือ “หลวงพ่อจิ๋ว” ได้เดินทางมาเป็นประธานกล่าวให้พรแก่คณะ การเดินในเส้นทางนี้จะถึงจุดหมายในวันที่ 2 พฤศจิกายน จากนั้นไม่กี่วันก็จะเดินในเส้นทางที่ 2 คือจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนถึงชายแดนที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
    ระหว่างเส้นทางตาก-มุกดาหาร คณะเดินเพื่อสันติภาพได้ผ่านอำเภอต่างๆ ในจังหวัดตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ก่อนเข้าสู่เขตจังหวัดขอนแก่น ได้รับการต้อนรับจากทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน บุคคลทั่วไป โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศูนย์การดำเนินงานของแต่ละศาสนา คณะเดินธุดงค์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่ายที่พบปะ เป็นภาพที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ ที่คนในผ้าเหลืองจะไปนั่งเสวนาอยู่ในศาสนสถานต่างศาสนาตามรายทางที่ยาตราผ่าน
    ในคณะเดินเพื่อสันติภาพ มีพระสงฆ์เป็นหลัก ฆราวาสจำนวนหนึ่ง และศาสนิกอื่นๆ ร่วมเดินเป็นสัญลักษณ์ในบางเส้นทาง ประเภทเปิดหัว-ปิดท้าย และในรูปแบบของการต้อนรับและการทำกิจกรรมพูดคุยเสวนา นอกจากนี้ในขบวนยังมีรถเซอร์วิสสำหรับรับของถวายจำพวกอาหารและน้ำ ติดต่อประสานงานวัดและอาคารของราชการที่สามารถพักแรมได้ ผู้ประสานงานที่มีทั้งคริสต์ พุทธ มุสลิม และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระดูกและตอกเส้น เพราะคณะเดินเพื่อสันติภาพเดินเฉลี่ยถึงวันละ 50 กิโลเมตรเลยทีเดียว
    วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่สองของผมในตัวเมืองขอนแก่น คณะพระธุดงค์เดินจากอำเภอหนองเรือมาตามถนนมะลิวัลย์ ผมคะเนเอาเองว่าคณะจะเข้าเขตตัวเมืองตอนเย็นๆ จึงเรียกแท็กซี่ผ่านแอปมือถือไปดักรอในเส้นทางที่คณะเดินผ่าน ห่างออกไปจากวัดหนองแวง ที่พักของคณะพระธุดงค์ประจำค่ำคืนนี้ประมาณ 10 กิโลเมตร ตั้งใจจะร่วมเดินด้วย
    ระหว่างนั่งดื่มกาแฟรออยู่ในร้านอเมซอน ปั๊ม ปตท. ตอนบ่าย 2 กว่าๆ ก็เปิดเพจเฟซบุ๊ก Walk Together For Peace ปรากฏว่าเห็นโพสต์จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น อิหม่ามจรูญ พันธุ์พฤกษ์ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น อิหม่ามมัสยิดต่างๆ และพี่น้องมุสลิมในจังหวัดขอนแก่นกำลังให้การต้อนรับคณะเดินสันติภาพอยู่ที่อาคารมัสยิดกลาง นี่หมายความว่าคณะธุดงค์เดินเข้าสู่ตัวเมืองก่อนผมออกมาดักรอนอกเมือง

(กิจกรรมศาสนสัมพันธ์ 5 ศาสนา และการต้อนรับอันอบอุ่นที่วัดนักบุญเยราร์ด จังหวัดขอนแก่น)

    ก่อนจะดื่มกาแฟหมดถ้วย ดูในเฟซบุ๊กของหลวงพี่หมี มีคนไลฟ์ให้ท่าน เป็นวิดีโอขณะวัดนักบุญเยราร์ด จังหวัดขอนแก่น กำลังต้อนรับคณะเดินเพื่อสันติภาพ เป็นอันว่าผมพลาดทั้งหมด ตัดสินใจกดแอปเรียกมอเตอร์ไซค์ไปดักรอบริเวณบึงแก่นนคร
    ขณะเดินเล่นอยู่ในสวนมิตรภาพขอนแก่น-หนานหนิง ก็เห็นคณะธุดงค์เดินผ่านมา จึงได้ออกไปกราบนมัสการ นอกจากหลวงพี่หมีแล้วก็มีพระมหาดำรงค์ นริสสโร, พระพรชัย จันทสาโร, พระธนิตย์ อัตถวิโท และพระเรืองสิทธิ จิรสุโภ มีฆราวาสอีก 3 คน ชื่อคุณสันติ, คุณบุญ และคุณโรส (ผู้ชาย) ในช่วงเริ่มเส้นทางมีพระสงฆ์ร่วมเดินธุดงค์อยู่เกือบ 20 รูป แต่ในเวลาต่อมาก็ได้ปลีกตัวไปรับกฐินตามวัดต้นสังกัดเสียจำนวนหนึ่ง
    คณะเดินต่ออีกประมาณ 1 กิโลเมตร เข้าสู่วัดหนองแวง พระธาตุแก่นนคร พระอารามหลวง ขณะผมเดินตามเข้าไปในวัด ได้พบกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น นำโดยท่านอิหม่ามและคุณมุสตาฟา กสิวรรณ์ ผู้ประสานงาน เดินทางตามมาส่งถึงวัด ได้สนทนาและกล่าวลากับคณะพระธุดงค์ เป็นภาพศาสนสัมพันธ์ที่น่ารักและยากจะพบเห็น
    คณะธุดงค์เข้าพักในอาคารหลังหนึ่งของวัดพระธาตุหนองแวง ผมเข้ากราบนมัสการพระอธิการธงชัย ธัมมกาโม เจ้าอาวาสวัดแดงประชาราษฎร์ที่ร่วมทางสายสันติภาพกับหลวงพี่หมีมาตั้งแต่คราวเดินจากไทยไปตุรกี และเส้นทางตาก-มุกดาหารนี้มาตั้งแต่ต้น เพียงแต่พระอธิการธงชัยไม่ได้เดินด้วยตลอดเวลา เนื่องจากท่านอายุมากแล้ว มีรถยนต์ของคณะเป็นตัวช่วย
    หลวงพี่หมีแนะนำให้ผมรู้จักกับพระถนอม ทีปังกโร หรือ “ไต้ซือถนอม” พระในนิกายมหายาน หลวงพี่หมีบอกว่าท่านคือหมอจัดกระดูกมือหนึ่งของเมืองไทย มีตำหนักอยู่ที่เชียงใหม่ชื่อ “ตำหนักจัดกระดูกเพื่อสุขภาพ” และช่วงหลังประจำอยู่ไต้หวัน หลังโควิด-19 ระบาดท่านก็อยู่เมืองไทยยาว เข้าร่วมโครงการเดินเพื่อสันติภาพและนำศิษย์ร่วมสำนักมาช่วยทั้งเดินและดูแลกระดูกของพระธุดงค์ โดยขนอุปกรณ์ซึ่งเป็นเตียงเฉพาะสำหรับการจัดกระดูกขึ้นรถเซอร์วิสมาด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีนักสุขภาพบำบัดระดับดอกเตอร์ ชื่อ “สิริกร รัตนศิริณิชกุล” ซึ่งก็เคยร่ำเรียนมากับท่านไต้ซือเช่นกัน
    ผมได้ลองวิชาของไต้ซือถนอมและศิษย์ของท่านแล้วต้องยอมรับว่าเหลือเชื่อจริงๆ ใช้เวลาสั้นๆ ก็รู้สึกตัวเบาหวิว ที่ปวดตรงบ่าตรงไหล่และคอกลับหายวับ จึงไม่แปลกใจที่การเดินวันละ 50 กิโลเมตรของพระธุดงค์เป็นจริงได้หลายวันติดต่อกันแล้ว
    หลวงพี่หมีชวนให้ผมนอนค้างด้วยกันในวัด แต่ผมได้จ่ายค่าโรงแรมสำหรับคืนนี้ไว้แล้ว เวลาย่ำค่ำก็ลากลับ ไม่ได้เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ 9 ชั้น พระมหาธาตุแก่นนคร เพราะเลยเวลาเปิดให้เข้า โชคดีที่เมื่อเย็นวานได้เข้าไปกราบก่อนแล้ว
    คณะธุดงค์ออกเดินทางตั้งแต่ตี 3 มุ่งหน้าจังหวัดมหาสารคาม ช่วงสายผมติดรถตามไปกับคุณต้น “อธิวัฒน์ ชื่นวุฒิ” ซึ่งเป็นชาวคริสต์ อีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงที่หยุดกิจการมาช่วยงานในโครงการนี้ ได้ทันถวายน้ำปานะตอนสาย และร่วมเดินประมาณ 3 กิโลเมตร คืนนี้เราค้างแรมกันที่ อบต.แก้งแก อำเภอโกสุมพิสัย “พระม่อน” ภิกษุหนุ่มกลับมาสมทบกับคณะในตอนค่ำหลังจากปลีกตัวไปประสานงานการจัดกิจกรรมที่จังหวัดมุกดาหารเมื่อวันสองวันก่อน
    วันต่อมาคณะออกเดินทางเวลาตี 5 เดินเกือบ 30 กิโลเมตร ไม่ทันเที่ยงก็ถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ช่วงบ่ายมีกิจกรรม “พหุวัฒนธรรม : Walk Together for Peace” จัดโดยคณะการบัญชีและการจัดการ มีแขกคนสำคัญ อาทิ คุณนราธร ศรประสิทธิ์ ปลัดจังหวัด และ รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี เข้าร่วมงาน ผู้เข้าฟังหลักๆ เป็นนิสิตคณะการบัญชีและการจัดการ และจากชมรมมุสลิมของมหาวิทยาลัย
    หน้าห้อง SBB1001 อาคารบริหารธุรกิจสิรินธร สถานที่จัดงาน มีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ติดอยู่ ในแผนที่ประดับด้วยกระดาษใบโพธิ์สีทอง ในกระดาษใบโพธิ์สีทองคือคำอธิฐานเพื่อสันติสุขแห่งแผ่นดิน เขียนโดยบรรดานิสิต เห็นแล้วน่าประทับใจมาก
    งานเริ่มด้วยการกล่าวเปิดของ “รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร” ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความฝันที่อยากเห็นสังคมไทยและทุกคนบนโลกนี้คุยกันด้วยสันติ ด้วยไมตรี ตัวเองเติบโตมาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เห็นการอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรม มีโบสถ์คริสต์ มัสยิด และวัด อยู่ร่วมกันโดยไม่มีรั้ว เรียนหนังสือที่มีเพื่อนทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม และซิกข์ อยู่ในห้องเดียวกัน
    และตอนหนึ่งอาจารย์จักษ์พูดว่า “...ถ้าเราเชื่อว่าในจักรวาลนี้โลกของเราเป็นโลกเดียวที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ เราต้องรักกันมากๆ เพราะเหลือแค่เราเท่านั้น แต่ถ้าเราเชื่อว่าในจักรวาลนี้ยังมีโลกอื่นที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ เรายิ่งต้องรักกันมากๆ เข้าไปอีก เพราะพวกนั้นไม่ใช่พวกเรา”
    “...ไม่ว่าท่านคิดอย่างไร สันติจะเป็นเรื่องสำคัญ ความรักกันเป็นเรื่องสำคัญ ผมอยากเห็นผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มองเห็นเรื่องของสันติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และขับเคลื่อนส่งเสริมเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง มันคือวาระของมนุษยชาติ...”
    จากนั้นตัวแทนผู้นำแต่ละศาสนาขึ้นกล่าวสารสันติภาพ พระอธิการธงชัย ธัมมกาโม กล่าวเกี่ยวกับการใช้สติตามหลักสติปัฏฐาน 4 ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของศาสนาพุทธในการสร้างสันติ
    บาทหลวง ดร.รังสิพล เปลี่ยนพันธุ์ สังฆมณฑลนครสวรรค์ กล่าวว่า ความรักเป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องใช้ความรักเป็นฐานในการสร้างสะพานบุญ หากมีแต่ความเคียดแค้น โลกเราจะอยู่ไม่ได้ ตราบใดสังคมยังสร้างกำแพง เราต้องใช้ความรักและความดีงามทลายมันลงมา และหากสังคมคนหนุ่มสาวไม่แสวงหาสันติภาพ ตราบนั้นโลกเราจะวุ่นวาย
    อิหม่ามอักดัด ปาทาน อิหม่ามมัสยิดกลางมหาสารคาม ได้กล่าวถึงเรื่องความสามัคคีไว้อย่างน่าสนใจ โดยเปรียบเทียบกับนิ้วมือทั้ง 5 นิ้วของคนเราที่สั้นยาวไม่เท่ากัน แต่มีความสามัคคีกัน จึงทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากมาย
    ต่อมาในการเสวนาหัวข้อ “ศาสนากับการสร้างสันติภาพ : บริบทชาติและท้องถิ่น” ดำเนินรายการโดยอาจารย์ทม เกตุวงศา ผอ.สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ร่วมเสวนาโดยหลวงพี่หมี, บาทหลวง ดร.เชาวฤทธิ์ สาสาย อุปมุขนายก สังฆมณฑลอุบลราชธานี, คุณอมร ศรีชวาลา ตัวแทนศาสนาซิกข์, อาจารย์อับดุลเลาะห์ เทียนรุ่งเรือง ตัวแทนศาสนาอิสลาม และ ดร.ธีระพงษ์ มีไธสง นักวิชาการ

(นิสิตจากคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รอต้อนรับและร่วมเดินในระยะสุดท้าย)

    หลวงพี่หมีได้เล่าถึงความฝันของตัวเองที่ว่าทุกตารางนิ้วบนโลกนี้มนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพที่จะก้าวเดินไปได้ เพราะมนุษย์ทั้งผองคือพี่น้องกัน และเมื่อได้มานึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก...” จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองออกเดินเพื่อรณรงค์สันติภาพ
    คุณอมรกล่าวถึงท่านคุรุนานัก องค์ศาสดาของศาสนาซิกข์ ที่ใช้การเดินเผยแผ่คำสอนไปทั่วเอเชีย และสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้การเดินถือว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะจะทำให้การพบปะพูดคุย การศึกษา ทำได้อย่างประณีตที่สุด เปรียบเทียบได้กับการขึ้นภูเขาเอเวอเรสต์ การเดินขึ้นย่อมมีความหมายแตกต่างจากการนั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปอย่างเทียบกันไม่ได้
    อาจารย์อับดุลเลาะห์กล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมมัด ผู้เป็นแบบอย่างในการเดินเพื่อเผยแผ่คำสอน ท่านเริ่มต้นด้วยการเดินไปเมืองมักกะฮ์ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นเดินไปเมืองฏออีฟก็ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร กระทั่งในการเดินครั้งที่ 3 ไปยังเมืองเมดินะห์จึงประสบความสำเร็จ สามารถรวบรวมก๊กเหล่าชาวอาหรับที่มีความขัดแย้งรบราฆ่าฟันระหว่างกันให้หันมาสามัคคีกันได้
    ดร.เชาวฤทธิ์ได้เล่าถึงเกร็ดที่มาของคำว่า Quarantine ซึ่งหมายถึง “การกักกัน” คำนี้มีรากศัพท์จากภาษาละติน แปลว่า 40 ในพระคัมภีร์ระบุไว้ถึงเหตุการณ์น้ำท่วมโลก 40 วัน การเดินทางของอับราฮัมไปสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา 40 วัน โมเสสใช้เวลา 40 ปี นำชาวยิวหนีออกจากอียิปต์ เดินขึ้นภูเขาซีนาย 40 วัน พระเยซูเจ้าออกไปสู่ที่เปลี่ยว 40 วัน เท่ากับว่า 40 คือรหัสพระคัมภีร์ที่เชื่อมโยงกับ Big Change หรือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และปีนี้ ค.ศ.2020 เมื่อบวกกันแล้วก็ได้ 40 และปีนี้เป็น Big Change อย่างที่ทราบกัน
    ตัวแทนจากศาสนาคริสต์ท่านนี้ยังได้กล่าวไว้ในช่วงท้ายของการเสวนาว่า No one gives what they do not have ไม่มีใครให้ในสิ่งที่ตัวเองไม่มี
    “เป็นความจริงว่าเราต้องให้อภัยตัวเองก่อนจะให้อภัยผู้อื่น เราต้องรับผิดชอบตัวเองก่อนจะรับผิดชอบสังคม เคารพตัวเองก่อนจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนจะไปเปลี่ยนแปลงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนแปลงประเทศ”
    กิจกรรมปิดฉากด้วยเพลง “สันติธรรม” โดยคุณกิติพันธ์ ปุณกะบุตร หรือ “หมู วงแมคอินทอช” ที่แต่งขึ้นไม่นานก่อนหน้านี้ ร้องโดยคุณกรรณิการ์ ศิริวงค์วรวัฒน์
    โครงการ “เดินด้วยกัน นำพาสันติ” เดินเท้าต่อไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด และสิ้นสุดเส้นทางที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว มุกดาหาร ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ www.facebook.com/walk4peaceTH


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"