สัมผัสสัญญาณ “ประนีประนอม” โหมดถอย-พัก ในวันที่ยังไม่จบศึก


เพิ่มเพื่อน    

     หลังต่อสู้กันมายาวนานตลอดปี และดุเดือดในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านไป ดูเหมือนสถานการณ์การเมืองเริ่มเข้าสู่ “ช่วงถอย” หรือ “ช่วงพัก” ของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลแล้ว ที่กล่าวเช่นนี้นั้น สังเกตได้จากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลและภาครัฐ ผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรม มีการผ่อนคลายสถานการณ์บางประเด็น เช่น การยอมให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง การแสดงท่าทียินยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมาถึงการปล่อยตัวแกนนำและผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ออกจากเรือนจำ หลังจากฝ่ายผู้ชุมนุมเดินหน้ารุกหนักเรื่อยมา

            ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็คงเป็นเรื่องธรรมดา หลังจากลุยมายาวนานเป็นเดือนเป็นปีย่อมมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สูญเสียกำลังทรัพย์กันไปบ้าง มากน้อยต่างกันไป ใครเหนื่อยก็พักอยู่ ใครหายเหนื่อยก็ออกมา การชุมนุมแบบรายวันยังมีให้เห็น แม้จำนวนผู้ชุมนุมไม่มากเท่ากับช่วงดุเดือดที่ต่างคนต่างมีพลังเต็มเปี่ยมก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเห็นได้ว่าผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลส่วนหนึ่งจำต้องพักเหนื่อยจริงถึงลดลง แต่ไม่อาจพักอย่างเต็มรูปแบบได้ เพราะเป้าหมายหลักในการให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยังไม่ได้รับการตอบสนองชัดแม้แต่ข้อเดียว

            ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในช่วงดุเดือดของสถานการณ์ชุมนุม จนถูกกล่าวโจมตีจากฝ่ายผู้ชุมนุมและสนับสนุนการชุมนุมว่าเป็น “นิติสงคราม” ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็ใช้ “อารยะขัดขืน” ในการต่อต้านรัฐบาล เป็นเหตุให้ได้รับคดีหลากหลายครั้ง หลากหลายข้อหา น่าจะมากกว่าการชุมนุมของกลุ่มใดๆ ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากจะเป็นภาระต่อผู้ชุมนุมแล้ว แน่นอนว่า “ตำรวจ” ก็ต้องปฏิบัติภารกิจเพิ่มมากขึ้นด้วยจากการสนองอำนาจรัฐในการเข้าจับกุมดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจตกต่ำย่ำแย่ในสายตาของผู้ชุมนุม

            ไม่เพียงเท่านั้น ภารกิจนิติสงครามสู้อารยะขัดขืนครั้งนี้ จากตำรวจผู้เริ่มต้นก็ถูกส่งต่อสู่ “ศาลยุติธรรม” ให้มีภาระมากขึ้นตามไปด้วย ในการพิจารณาออกหมายจับ พิจารณาคำร้องฝากขัง คำคัดค้านฝากขัง และการประกันตัวแกนนำและผู้ชุมนุม แรกเริ่มในช่วงสถานการณ์ดุเดือด ดูเหมือนศาลจะเข้มข้นตามสิ่งที่ตำรวจร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับ อนุญาตฝากขัง จนถึงการไม่ให้ประกันตัวกลุ่มผู้ต้องหาแกนนำและผู้ชุมนุมหลายครั้ง ทำให้แกนนำและผู้ชุมนุมถูกส่งตัวไปนอนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางในชั้นฝากขัง จนสายตาของผู้ชุมนุมย่อมมองศาลในแง่ลบตามไปด้วย

            อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาต่อมากระแสการผ่อนปรนก็เริ่มเข้ามามากขึ้นในส่วนของศาล โดยในบางครั้งบางคดี ศาลอุทธรณ์ก็ยินยอมให้ประกันตัวได้ เช่น คดีของ “ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลู” กับพวก หรือคดีของ “อานนท์ นำภา-ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์” ที่เชียงใหม่ รวมถึงคดีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีอัตราโทษไม่หนัก ศาลชั้นต้นให้ประกันตัวทันทีไม่ต้องนอนเรือนจำ เช่น คดีของ “มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” นอกจากเรื่องการให้ประกันตัวมากขึ้นแล้ว ยังมีการยกคำร้องขอหมายจับ เช่น กรณีที่ตำรวจร้องขอหมายจับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า กับพวกอีกด้วย

            จนกระทั่งล่าสุดในกลุ่มที่ไม่ได้รับการประกันตัว อย่างผู้ต้องหากลุ่มคดีชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” และกลุ่มคดีขบวนเสด็จบางราย ศาลได้ใช้วิธีการยกคำร้องฝากขังที่ตำรวจยื่นมา เพราะไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะฝากขังต่อ แล้วส่งหมายปล่อยตัวผู้ต้องหาออกจากเรือนจำในที่สุด ทำให้แกนนำและผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ได้รับอิสรภาพในช่วงสถานการณ์ผ่อนปรนนี้แล้ว ปรากฏการณ์ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องดีต่อศาลยุติธรรมที่สามารถแบ่งรับแบ่งสู้ ลดกระแสความร้อนแรงทางการเมืองได้ส่วนหนึ่ง ไม่ทำให้ถูกสังคมมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐมากจนเกินไป แต่ที่น่าเสียดายคือ ในส่วนของตำรวจ ซึ่งดูเหมือนยังไม่สามารถขจัดภาพลักษณ์ดังที่กล่าวลงไปได้

                สัญญาณของการประนีประนอม ได้เริ่มแสดงออกมากขึ้นแล้ว ณ เวลานี้ ที่ต่างฝ่ายเข้าสู่ช่วงถอยบ้าง พักบ้าง แต่ตราบใดที่ศึกยังไม่จบ การประนีประนอมจะดำรงอยู่หรือเพิ่มขึ้นเพียงใด จะถึงจุดที่นำไปสู่ทางออกประเทศได้จริงหรือไม่ คือสิ่งที่คนไทยไม่น้อยต่างคาดหวังให้วิกฤติครั้งนี้จบลงไม่เหมือนเดิม คือไม่มีการบาดเจ็บสูญเสียเกิดขึ้นอีกดังเช่นวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา.

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"