ป้องกันวัยเก๋าถูกหลอกขายสินค้า คิดก่อนซื้อ-เชื่อคำวินิจฉัยแพทย์


เพิ่มเพื่อน    

 

      กรณีข่าวโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวออร่าและลดน้ำหนักยี่ห้อดัง โดยการใช้พรีเซนเตอร์มีชื่อเสียงรีวิวสินค้า ที่ล่าสุดได้รับการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าผิดกฎหมาย จากกระแสข่าวดังกล่าว ลูกหลานหลายคนอาจรู้สึกเป็นห่วงผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพัง ซึ่งอาจตกเป็นเหยื่อของการซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพผ่านทางโลกออนไลน์ หรือแม้แต่ระบบเคาะประตูหน้าบ้าน กระทั่งการใช้ดีแล้วบอกต่อในกลุ่มของเพื่อนๆ วัยเดียวกัน เนื่องจากการที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องของการตัดสินใจที่น้อยลง อีกทั้งเรื่องหูตาที่ฝ้าฟาง อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และสั่งสินค้าไปโดยไม่รอบคอบ ทำให้เสียเงินและสุขภาพโดยใช่เหตุ

(งามสิริ อาศิรเลิศสิริ)

 

      น้ำหวาน-งามสิริ อาศิรเลิศสิริ นักจิตวิทยาสาว ให้ความรู้ว่า “แน่นอนว่าคนทั่วไป ตลอดจนผู้สูงอายุนั้น อยากมีร่างกายแข็งแรง ไม่อยากเจ็บป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บ และจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ในฐานะนักจิตวิทยา แนะนำว่าหากผู้สูงอายุได้รับชมการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ว่าสรรพคุณดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ อันดับแรกให้ “ฉุกคิด” ก่อนว่าถ้าเราซื้อมาแล้วจะปลอดภัยหรือไม่?? หรือหากต้องการมีร่างกายที่แข็งแรง การออกกำลังสม่ำเสมอที่เหมาะกับสุขภาพ อาทิ ไท้เก๊ก, โยคะท่าสำหรับผู้สูงวัย, เดิน, ว่ายน้ำ, เล่นเปตอง ฯลฯ ถือเป็นแนวทางป้องกันเบื้องต้นที่สำคัญ เพื่อไม่ให้หลงเชื่อโฆษณาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กรณีที่ผู้สูงอายุป่วยโรคเรื้อรัง และจำเป็นต้องบริโภคอาหารเสริมบางชนิด ลูกหลานควรพาท่านไปพบแพทย์ เพื่อรับยารักษาโรคและวิตามินเสริมสุขภาพที่ได้การวินิจฉัยจากคุณหมอว่าเหมาะสม ปลอดภัย และผู้สูงวัยสามารถรับประทานได้ ก็ถือเป็นป้องกันการถูกหลอกได้เช่นกัน

 

      ส่วนรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “ราคาถูก” เพื่อจูงใจผู้ซื้อ วิธีนี้ก็อยากให้ใช้ “วิจารณญาณอย่างรอบคอบ” พูดง่ายๆ ว่าให้คุณตาคุณยาย “คิดในแง่ลบ” ก่อนว่าผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพราคาถูกเกินจริงนั้นอาจจะเป็นของปลอม แม้ว่าปัจจุบันจะมีของดีราคาถูกอยู่ก็ตาม เพราะถ้าขายถูกกว่าท้องตลาด ผู้ผลิตอาจจะไม่ได้กำไร ดังนั้นส่วนผสมที่ใช้อาจไม่ใช่ของจริง หรือมีการปนเปื้อนสารอันตราย ซึ่งผู้สูงอายุไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง และแยกไม่ออกด้วยสายตา ที่สำคัญอยากให้มองให้ลึกลงไปอีกว่า ราคาถูกอย่างนี้ ผู้ผลิตมีที่มาที่ไปอย่างไร หรือมีฉลากข้างกล่องระบุวัน เดือน ปีที่ผลิต และมีเลขที่ตั้งในการขออนุญาตผลิตหรือไม่ ตรงนี้เป็นจุดสังเกตที่ไม่ควรมองข้าม

      หรือหากผู้สูงอายุได้รับการแนะนำจากเพื่อน หรือลักษณะของการใช้ดีและบอกต่อนั้น เช่น การบริโภคยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค กรณีนี้แนะนำว่าให้ลูกหลานใช้วิธีการพาท่านไปปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน และถ้าหากคุณหมอที่โรงพยาบาลแนะนำว่าสมุนไพรชนิดนั้นๆ ได้ผลจริงก็สามารถซื้อมาใช้ได้ ซึ่งจะช่วยลดการเสียเงินและเสียสุขภาพได้ พูดให้ถูกคือเชื่อสิ่งที่แพทย์แนะนำมากกว่าคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิด ก็จะช่วยเซฟสุขภาพผู้สูงอายุได้

(ข้อจำกัดด้านสายตาและการตัดสินใจ อาจทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อโฆษณาสินค้าเพื่อสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานในโลกออนไลน์ หากมีปัญหาสุขภาพ ลูกหลานควรพาไปพบแพทย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด)

 

      ทว่าการที่ผู้สูงวัยถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าในโลกออนไลน์จากการที่อยู่บ้านลำพังนั้น ซึ่งอาจเกิดได้จากการกดสั่งซื้อโดยไม่ได้อ่านรายละเอียด หรืออ่านไม่เข้าใจ จากปัญหาสุขภาพดวงตาไม่ดี หรือมองเห็นไม่ชัด การป้องกันปัญหานี้เป็นไปได้ ลูกหลานควรดูแลท่านอย่างใกล้ชิด หรือให้คำแนะนำท่านว่า หากไม่เข้าใจเรื่องการเล่นโซเชียลให้รีบถามหรือปรึกษาก่อนที่จะซื้อสินค้าอะไรก็ตาม ไม่ควรตัดสินใจซื้อโดยลำพัง หรือหากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุภาพ ก็ควรเลือกเวลาที่ลูกหลานอยู่ เพื่อให้คำแนะนำคุณตาคุณยาย กรณีที่สินค้าเสี่ยงต่อการไม่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนองค์กรที่ดูแลด้านสุขภาพต่างๆ ควรเข้าควบคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เหมาะสมในโลกโซเชียล หรือตามสื่อช่องทางอื่นๆ ก็นับเป็นวิธีป้องกันผู้สูงวัยถูกหลอก ลวงให้เสียทรัพย์สินจากโฆษณาชวนเชื่อได้อีกทางหนึ่งหากทุกๆ ฝ่ายช่วยกันค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"