รัฐบาลกังวลบ้านพักศาล หวั่นขัดแย้งฝ่ายตุลาการ


เพิ่มเพื่อน    

 

    "บิ๊กตู่" รับไม่สบายใจปมบ้านพักตุลาการ    ตั้ง "สุวพันธุ์" นำทีมจับเข่าแก้ปัญหา แย้มมีสัญญาณดี  อ้อนให้ความสำคัญความรู้สึกคนเชียงใหม่ วอนอย่าเคลื่อนไหว "ประวิตร" เชื่อจบสวยงาม "วิษณุ" แบะท่าอาจใช้ "เจรจา-มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม" เป็นทางออก "เพจไทยคู่ฟ้า" ตั้งกระทู้ถามความเห็น ปชช.  "ศรีสุวรรณ" ชงทำประชามติ
    เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มเครือข่ายประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ยื่นคำขาดให้รัฐบาลมีคำสั่งรื้อถอนบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใน 7 วัน ว่าเรื่องนี้ยอมรับเป็นสิ่งที่ตนเองไม่สบายใจ มีความกังวลใจมาโดยตลอด และขอร้องอย่าใช้คำว่ายื่นคำขาดเลย เพราะรัฐบาลเองก็พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เราได้ตั้งคณะทำงานโดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงไปพูดคุย ก็ทราบว่ามีผลการพูดคุยในทางที่ดี การที่จะออกมาเคลื่อนไหวเดินขบวนต่างๆ ก็เป็นปัญหาต่อส่วนรวม รัฐบาลกำลังทำหลายอย่าง จึงไม่ต้องการให้ความขัดแย้งจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาทำให้อย่างอื่นเสียหายไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องดูหลายๆ อย่าง เพราะมีกฎหมายหลายฉบับ
    "ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของชาวเชียงใหม่ด้วย แต่ก็ต้องใช้เหตุผลในการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา" นายกฯ กล่าว
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ รัฐบาลกำลังดูอยู่ เชื่อจะจบลงอย่างสวยงามสำหรับทุกฝ่าย
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้นำเรื่องบ้านพักตุลาการมาพูดคุยกัน แต่ทราบว่านายกฯ มอบหมายให้นายสุวพันธุ์ไปพูดคุยหาทางออก เพราะนายสุวพันธุ์เคยเป็น รมว.ยุติธรรม 
    ถามว่า เรื่องนี้จะจบลงสวยงามอย่างที่ พล.อ.ประวิตรระบุหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องไปถาม พล.อ.ประวิตรเอง ตนยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหานี้นานเท่าใด แต่คิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยกับฝ่ายตุลาการแล้ว 
    ซักว่ากฎหมายปกติยังมีช่องทางแก้ไขปัญหานี้ได้อยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตอบยาก เพราะสามารถใช้ช่องการกฎหมายและแนวทางที่ไม่ใช่กฎหมายมาแก้ไขปัญหาได้ เช่น การเจรจาหรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วย
    "แนวทางการทำประชาพิจารณ์ก็สามารถทำได้ แต่หากทำแล้วเสียเวลาและเงินก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเรื่องนี้มีคนให้ความเห็นมากแล้ว ส่วนข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมที่ต้องการให้กั้นพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่อุทยานนั้น ส่วนตัวไม่ทราบ ตอบไม่ถูก แต่ผู้ที่รับผิดชอบได้ลงพื้นที่ไปดูรายละเอียดและพูดคุยกับคนในพื้นที่แล้ว โดยได้ทราบถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย ซึ่งยังมีความเห็นไม่ตรงกันนัก" นายวิษณุกล่าว
    ถามถึงกรณีเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าเปิดให้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว รองนายกฯ กล่าวว่า ผู้ดูแลเพจคงทำกันเอง เพราะอยากฟังความเห็นประชาชน ทางรัฐบาลไม่ได้สั่งให้ทำ คงมีการนำความเห็นมาใช้งาน แต่ไม่ใช่ตัวตัดสิน 
    "ไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง อย่าทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายตุลาการที่ไม่รู้เรื่อง และผมได้รับรายงานว่าประเด็นนี้ยังไม่สร้างความขัดแย้งถึงขั้นนั้น โดยเป็นการแสดงความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ ต้องทำความเข้าใจกัน ไม่น่าจะยุ่งยากอะไร" รองนายกฯ กล่าว
    ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊กทางการของรัฐบาลไทย ชื่อ “ไทยคู่ฟ้า” โพตส์ระบุว่า “ขอ 1 ความเห็น ร่วมหาทางออกปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก สำหรับการสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ล่าสุด นายกฯ เปรยว่ากฎหมายไม่ผิด แต่ขัดความรู้สึกของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องของป่าในมุมมองของประชาชน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ขอความกรุณาช่วยกันคิดด้วย ไทยคู่ฟ้าจึงอยากเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชนทุกคน แต่มีเงื่อนไขว่า 1.ไม่ใช้คำหยาบคาย 2.ไม่หมิ่นประมาทผู้อื่น 3.ไม่เชื่อมโยงประเด็นทางการเมือง เชิญแสดงความเห็นกันที่นี่ครับ”
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นของโพสต์ดังกล่าว บางรายเสนอว่า "ให้รื้อทิ้งปลูกป่าใหม่ ค่าเสียหายให้ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ชดใช้ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่ควรอ้างแต่ว่าทำถูกกฎหมาย ไม่ถามประชาชนก่อนเหรอว่าควรสร้างไหม กฎหมายมีเพื่อประชาชนนะ" ส่วนบางรายก็เสนอว่า "รื้อโดยใช้งบศาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ ทยอยตัดงบประมาณในแต่ละปีมาชดใช้ตรงส่วนนี้ด้วย" เป็นต้น
    วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอให้คนเชียงใหม่จัดลงประชามติกำหนดอนาคตบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ” ตอนหนึ่งระบุว่า เรื่องดังกล่าวควรจบด้วยมาตรการทางกฎหมายที่มีรองรับอยู่แล้ว และจะไม่มีใครต้องเสียหน้าด้วย นั่นคือการเปิดโอกาสให้คนเชียงใหม่ทั้งจังหวัดใช้กฎหมาย ประชามติ เพื่อทุบทิ้งหรือคงสภาพ 
    นายศรีสุวรรณระบุว่า นายกรัฐมนตรีควรนำเรื่องดังกล่าวขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 244 (1) (2) (3) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” โดยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดำเนินการออกประกาศและจัดการออกเสียงประชามติดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ภายในระยะเวลา 90-120 วัน โดยใช้กฎหมายเทียบเคียงกับ“ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 
    "ผลของประชามติที่ออกมาจะเป็นการสะท้อนความเห็นหรือความต้องการของคนเชียงใหม่ที่แท้จริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจในการทุบทิ้งหรือคงสภาพของบ้านพักและที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เชียงใหม่ ในพื้นที่เชิงดอยสุเทพได้ต่อไปหรือไม่ และถือว่ามติดังกล่าวจะเป็นข้อยุติทั้งทางกฎหมายและทางปกครองในกรณีขัดแย้งดังกล่าวได้เป็นที่ยุติได้ดีที่สุดในขณะนี้" แถลงการณ์นายศรีสุวรรณระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"