สนามบินภาคอีสานกับการเป็นสนามบินนานาชาติ


เพิ่มเพื่อน    

 

เมื่อไม่กี่วันก่อนมีข่าวเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อ้างแหล่งข่าว ที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อหรือตำแหน่ง เรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ ของการสร้างสนามบินมุกดาหาร เพื่อจะเป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท ทำให้ผู้เขียน ที่สนใจติดตามการพัฒนาภาคอีสานและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมายาวนาน อยากมาทบทวนพัฒนาการของการบินในภาคอิสาน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นว่า เราจำเป็นต้องสร้างสนามบินใหม่หรือไม่ ทำไม่สนามบินใหญ่ๆ ในอิสานปัจจุบันจึงไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ

                เสียงเรียกร้องให้มีการสร้างสนามบิน จะดังขึ้นทุกครั้งที่เรามีผู้แทนราษฎร และบางครั้งก็มีเสียงเรียกร้องเป็นระยะๆ จากภาคธุรกิจ ปัจจุบันสนามบินขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ที่มีเที่ยวบินภายในประเทศมากกว่า 10 เที่ยวบินต่อวันมี 3 แห่งคือ ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี สนามบินอุบลราชธานีได้รับการยกฐานะเป็นสนามบินนานาชาติเมื่อนักการเมืองคนดังในอดีต รับตำแหน่งรัฐมนตรี เที่ยวบินระหว่างประเทศที่การบินไทยเคยเปิด และบินได้ไม่นานคือ อุบล-ดานัง ซึ่งต่อมาถึงกรุงเทพฯด้วย สนามบินอุดรธานีเป็นสนามบินนานาชาติลำดับต่อมา ส่วนใหญ่รับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ รับ-ส่งคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ประมาณสิบปีที่แล้ว สายการบินลาว เปิดเที่ยวบิน อุดร-หลวงพระบาง ซึ่งในเวลานั้น ผมคาดว่าเส้นทางนี้ จะประสบความสำเร็จแน่นอน แต่ประมาณ 6 เดือนต่อมา สายการบินลาว ก็หยุดเส้นทางนี้ ผมได้มีโอกาสพบกับประธานบริษัทการบินลาวในเวลานั้น จึงเรียนถามว่าทำไม ไม่ไปต่อ คำตอบที่ได้คือ เส้นทางนี้ขาดทุน เพราะมีผู้โดยสารขาเดียวเฉพาะ อุดร-หลวงพระบาง ส่วนเที่ยวกลับ หลวงพระบาง-อุดร มีผู้โดยสารน้อยมาก ขอนแก่นคือสนามบินที่แม้จะยังไม่มีสถานะเป็นสนามบินนานาชาติ แต่ภาคธุรกิจ เอกชนในพื้นที่ก็ผลักดันให้มีด่านตรวจคนเข้าเมือง และมีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินเอกชนของลาว เปิดเที่ยวบิน ขอนแก่นหลวง-พระบาง และเที่ยวบินนั้น ก็เป็นการบินเที่ยวแรก และเที่ยวสุดท้าย

                การมีด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินใหญ่ๆ ประโยชน์ส่วนหนึ่งที่ได้ คือการบินต่อไปต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านพิธีการเข้า-ออกเมือง ที่กรุงเทพฯ เช่นหลายท่านคุ้นเคยเวลาเดินทางผ่าน ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ เป็นต้น ที่น่าแปลกใจคือสายการบิน ไม่ประชาสัมพันธ์ความสะดวกส่วนนี้ เช่นที่ขอนแก่น ผู้เขียนเคยได้รับเชิญไปประเทศเพื่อนบ้าน เขาซื้อตั๋ว Fly Thru ของสายการบินต้นทุนต่ำที่มีสโลแกนว่า ใครๆ ก็บินได้ จำได้ว่าขาออกจากขอนแก่นผมเป็นผู้โดยสารคนเดียว ในห้องพักรอ หลังผ่านการตรวจคนเข้าเมือง บางท่านอาจมีคำถามว่า ทำไมคนอื่นๆ ไม่ใช้บริการนี้ คำตอบที่มี คือการบิน Fly Thru จะมีค่าโดยสารรวมสูงกว่า การบินเป็นช่วงๆ 

                ความล้มเหลว จากสามตัวอย่างข้างต้นผู้เขียนวิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักมาจากความต้องการเดินทางระหว่างสองเมืองที่กล่าว ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เที่ยวบินเหล่านั้นเลี้ยงตัวได้ ภาคอีสานยังไม่ใช่จุดหมาย ที่นักท่องเที่ยวในภูมิภาคและนักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเดินทางมา หากจะมุ่งเป็นฮับขนส่งสินค้าออกต่างประเทศ ฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในภาคอีสานก็ยังมีไม่มาก

                ประเด็นสุดท้าย ที่อยากนำเสนอคือ อีสานมีสนามบินเพียงพอหรือยัง คำตอบของผมคือเกินพอ เพราะปัจจุบันเรามีสนามบินที่มีเที่ยวบินไม่กี่เที่ยวต่อวัน อยู่หลายแห่ง เคยคุยกับผู้บริหารการบินไทย เล่าความหลังว่าถูกรัฐมนตรีตระกูลดังในอีสานบีบให้การบินไทยบินไปจังหวัดของท่าน บางเที่ยวบินได้ผู้โดยสาร 5 คนนามสกุลเดียวกับนักการเมืองคนดังเท่านั้น อีกทั้งปัจจุบันเรามีสนามบินอยู่ห่างกันไม่ถึง 100 กม. หลายแห่งเช่นกัน ถึงแม้ว่าสนามบินหลายแห่งในอีสานจะมีพัฒนาการมาจากสนามบินทหาร แต่ผมและท่านผู้อ่านหลายๆ คนคงไม่อยากเห็นการลงทุนสูงๆ ที่ไม่คุ้มค่า แถมต่อๆ มาลูกหลานอาจขุดมาด่าว่าเป็นผลงานใคร

 

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน

ดร สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"