จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งไอลอว์ ทำไมNGOต้องรับเงินต่างชาติ?


เพิ่มเพื่อน    

 

            เคาะออกมาเรียบร้อยแล้วสำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้า 17-18 พ.ย. จะมีการลงมติ "ให้ความเห็นชอบ-ไม่ให้ความเห็นชอบ" ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระรับหลักการ ที่ค้างมาจากการประชุมรัฐสภาสมัยที่ผ่านมา ซึ่งจะมีด้วยกันทั้งสิ้น 7 ร่าง รวมถึงร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อกว่าหนึ่งแสนคนเพื่อเสนอร่างแก้ไข รธน. ที่เรียกกันว่าร่างไอลอว์ ซึ่งจะนำไปประกบกับร่างแก้ไข รธน.ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย

            อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่ม เช่น กลุ่มไทยภักดี ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw อย่างหนัก ทั้งเรื่องร่างแก้ไข รธน.ของไอลอว์และเรื่อง "เงินบริจาค-แหล่งทุน” ของไอลอว์ ว่ารับเงินจากต่างประเทศมาเคลื่อนไหวการเมืองในประเทศไทย

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw-อดีตสมาชิกวุฒิสภาปี 2543 กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไอลอว์อย่างหนักในช่วงนี้ โดยเฉพาะเรื่องการรับเงินจากต่างประเทศว่า เป็นความพยายามต้องการดิสเครดิตไอลอว์ โดยไอลอว์เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ซึ่งเอ็นจีโอไทยเกือบทั้งหมดต้องอาศัยทุนสนับสนุน ส่วนหนึ่งก็มาจากในประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งก็จากต่างประเทศ ไอลอว์ก็เช่นกัน โดยทุนสนับสนุนจากในประเทศ คือเงินบริจาคจากประชาชนที่สนับสนุนการทำกิจกรรมของเรา และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากต่างประเทศ

ผอ.ไอลอว์” บอกว่า ทางไอลอว์รับทุนจากหลายแหล่งมาก เช่น ทุนจากสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา แต่แหล่งทุนเราทั้งหมดไม่มีแหล่งทุนใดมาจากรัฐบาลของต่างประเทศ แต่เป็นแหล่งทุนที่เป็นเอกชนของแต่ละประเทศ และแหล่งทุนเหล่านี้ไม่ได้มาชี้นำหรือบงการการทำงานของไอลอว์ ทุกอย่างที่ทำเราเป็นผู้วางแผน กำหนดและตัดสินเองว่าเราจะทำอะไร จากนั้นก็ไปติดต่อแหล่งทุนที่เราคิดว่าเราสบายใจที่จะไปขอจากเขา โดยเขาจะไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการของเรา แต่เขาจะรู้ว่าเขาสนับสนุนไอลอว์ที่ทำงานด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก-สิทธิพลเมือง-สิทธิทางการเมือง การรับแหล่งทุนของเราก็มีการเปิดเผยหมดในเว็บไซต์ของไอลอว์ว่ารับทุนจากแหล่งทุนใด

..อย่างกรณีของ National Endowment for Democracy หรือ NED ของสหรัฐ ทาง NED เป็นกองทุนของสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาของสหรัฐ แต่เป็นมูลนิธิ ไม่ใช่ของรัฐบาลสหรัฐ แต่ NED เป็นแหล่งทุนน่าจะมาจากงบประมาณของสหรัฐ แต่การตัดสินไม่ได้มาจากรัฐบาลสหรัฐ เรารับแต่ละแห่ง เราต้องไปคุยและทำความรู้จักเขาก่อนว่าเขามีวัตถุประสงค์อย่างไร และเขาต้องเคารพความเป็นอิสระของเราในการทำงาน อย่างที่ไอลอว์ทำเรื่องการรวบรวมรายชื่อประชาชนหนึ่งแสนรายชื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสัปดาห์หน้า เราไม่เคยบอกแหล่งทุนว่าเราจะทำอันนี้ เราตัดสินเองว่าเราจะทำ จนมีประชาชนมาร่วมลงชื่อด้วยหนึ่งกว่าแสนคนในเวลาไม่นาน

ไอลอว์ผมเป็นคนก่อตั้งเอง โดยมีกรรมการที่เป็นคนไทยหมด ที่ก็มีคนในแวดวงต่างๆ เช่น นักวิชาการ-ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็เป็นคนไทยหมด ไอลอว์มีระบบโครงสร้างของเราที่เป็นของตัวเอง เราไม่ยอมอยู่แล้วให้ใครมาแทรกแซง

                -ก็มีคนบางส่วนนำเรื่องกรณีที่เยอรมนีที่มี ส.ส.จากพรรคกรีน ตั้งกระทู้ถาม รมว.ต่างประเทศของเยอรมนี ในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงมาเชื่อมโยงกับไอลอว์ไปด้วย?

            อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรา เรารับทุนจากมูลนิธิของพรรคกรีนจริง แต่เราก็ไม่เคยไปเสนอเขาว่า ส.ส.ของเขาควรจะทำอะไรหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกัน สิ่งที่เราขอทุนจากเขาคือเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยในไทย เราไม่เคยพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เลย

            ถามต่อไปถึงกรณีมี ส.ว.บางคนที่เข้าชื่อยื่นญัตติให้รัฐสภาส่งคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยร่างแก้ไข รธน.ที่มีของไอลอว์ด้วย ก็ออกมาพูดในเชิงตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานและเรื่องการรับทุนจากต่างประเทศ ซึ่งคาดกันว่าตอนประชุมรัฐสภาสัปดาห์หน้าน่าจะมี ส.ว.บางคนนำประเด็นนี้มาซักถามกลางที่ประชุมด้วยระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ของไอลอว์ จอน-ผอ.ไอลอว์ที่จะเป็นผู้ไปชี้แจงเหตุผลการเสนอร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา” ให้ความเห็นว่า เขาไม่รู้จะตีเราตรงไหน ก็มาตีเราตรงนี้ มันก็เป็นเรื่องเกมการเมือง ผมมองอย่างนั้น เรื่องของการแก้ไข รธน.มันเป็นหนึ่งแสนประชาชนคนไทยที่เสนอแก้ไข รธน. โดยกรอกแบบฟอร์มแล้วเซ็นชื่อ การที่ไอลอว์จะรับทุนจากไหน มันไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการตรงนี้ มันเป็นคนละเรื่องกัน ตอนแรกก็พยายามดิสเครดิตกว่าหนึ่งแสนชื่อ โดยอ้างว่ามีการปลอมลายเซ็นกว่าสี่พันชื่อ ซึ่งผมไม่เชื่อเพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปลอมลายเซ็นกัน

ในฐานะที่ผมเป็นเอ็นจีโอ จุดอ่อนที่บางฝ่ายโจมตีได้เสมอซึ่งเป็นมาร่วม 20-30 ปีแล้ว คือตีเอ็นจีโอว่ารับเงินจากต่างประเทศ โดยพยายามสร้างภาพว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยเป็นวิธีที่เวลาเอ็นจีโอออกมารณรงค์เรื่องต่างๆ แล้วคนไม่เห็นด้วย เขาก็จะหยิบอันนี้ออกมา เป็นเรื่องเดียวที่เขาจะเล่นได้หากเขาจะเล่น

            "ต้องบอกว่า ในระยะยาวเราก็หวังว่าเอ็นจีโอไทยส่วนใหญ่จะไม่จำเป็นต้องรับทุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ แต่ขณะนี้เป็นไปไม่ได้” ผอ.ไอลอว์ระบุ

และกล่าวต่อไปว่า “อย่างลองคิดดูหากเราจะไปขอทุนจากรัฐบาลมาทำงาน โดยรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าเราได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย งานของเราก็อาจเป็นไปได้ แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้คิดอยากจะไปรับจากรัฐบาล หากจะเป็นการเข้ามาชี้นำหรือบงการ แต่ถ้ารัฐบาลตั้งองค์กรที่เป็นอิสระหรือในรูปแบบมูลนิธิอย่างคล้ายๆ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มาสนับสนุนแบบนี้ก็ได้"

-เหตุใดต้องรับทุนจากต่างประเทศ ไม่รับได้หรือไม่?

            ไอลอว์มีงบประมาณประมาณปีละ 6 ล้านบาท โดยเงินบริจาคที่เราได้แต่ละปีไม่ถึงหนึ่งล้านบาท อาจจะประมาณปีละ 5-6 แสนบาท ซึ่งไม่เพียงพอ ไอลอว์มีเจ้าหน้าที่ประจำ 13 คน ต้องเช่าสำนักงาน เจ้าหน้าที่ต้องเดินทางทั่วประเทศ ปีหนึ่งๆ เรามีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 6 ล้านบาท เงินบริจาคจากในประเทศจึงไม่เพียงพอ ก็ต้องขอจากแหล่งทุนจากต่างประเทศ ที่ก็จะได้ประมาณปีละ 5,500,000 บาท

แหล่งทุนที่เรารับมา เขาไม่มาก้าวก่ายงานของเรา โดยเราแค่บอกคร่าวๆ ว่าเราจะทำอะไร เช่น เราจะติดตามคดีการเมืองต่างๆ ในประเทศไทยแล้วรายงานให้ประชาชนรู้ผ่านเว็บไซต์ของเรา หรือการเก็บข้อมูลด้านสิทธิเสรีภาพ เช่น การดำเนินคดีกับคนที่แสดงความเห็นทางการเมือง เราก็จะบอกแผนงานของเราคร่าวๆ แบบนี้ โดยการทำงานไอลอว์มีความเป็นอิสระ และแหล่งทุนที่เราจะไปขอ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แหล่งทุนที่เราจะรับก็จะเป็นแหล่งทุนที่เป็นองค์กรที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับโลกเช่นกัน ซึ่งก็เป็นการทำงานของเอ็นจีโอส่วนใหญ่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"