ศาลชี้ขาดกฎหมายส.ว.23พ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

     ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับขัด รธน.หรือไม่ 23 พ.ค.นี้ พร้อมขยายเวลาให้หัวหน้า คสช.แจงปมคำสั่ง 53/60 ถึง 11 พ.ค. ขณะที่ก๊วนกทม.เพื่อไทยโวยพลังดูดลงไปถึง ส.ก.-คณะทำงานฟุ้งไม่มีออกมีแต่เพิ่ม ซัด "บิ๊กตู่" หวังกลับมามีอำนาจแลกบ้านเมืองถอยหลัง "สมชัย" ไลฟ์สดฟันธงเลือกตั้งสู้กันดุเดือด เชื่อพรรคใหญ่ได้เปรียบ โฆษก กอ.รมน.เตือนแกนนำคนอยากเลือกตั้งต้องรับผิดชอบหากเกิดเหตุวุ่นวาย 
     เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวถึงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 30 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ.... บทเฉพาะกาล มาตรา 91, 92, 93, 94, 95 และมาตรา 96 ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ซึ่งมีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือกในบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้กำหนดไว้แตกต่างไปจากการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามบททั่วไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่
    ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวแล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ต่อจากนั้นศาลได้กำหนดประเด็นและอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 23 พ.ค.นี้
    ส่วนกรณีที่ประธาน สนช.ส่งความเห็นของสมาชิกสนช.จำนวน 27 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสาม และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ของร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่ 
    ศาลได้พิจารณาความเห็นแล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ต่อจากนั้นศาลได้กำหนดประเด็นและอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันพุธที่ 23 พ.ค.นี้ 
    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26, 27 และมาตรา 45 หรือไม่
    ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 45 
ไฟเขียว คสช.แจง 11 พ.ค.
    อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางสังคม และความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25,  มาตรา 26, มาตรา 27 และมาตรา 45 
    ศาลพิจารณาความเห็นแล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน สำหรับกรณีที่หัวหน้า คสช.มีหนังสือขอขยายระยะเวลาในการส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นวันศุกร์ที่ 11 พ.ค.2561 นั้น ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำขอ และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในวันพุธที่ 23 พ.ค. 2561
    ด้าน ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกพรรคเพื่อไทย และหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม กทม. กล่าวถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรค ระบุอดีตส.ส.กทม.บางคนได้รับการติดต่อทาบทามจากบางกลุ่มการเมืองให้ไปร่วมงานด้วยว่า ตนไม่ได้ถามคุณหญิงสุดารัตน์ว่าใครที่จะถูกดึงหรือถูกทาบทาม แต่สำหรับการดูด เป็นเรื่องที่ได้ยินได้เห็นความเคลื่อนไหวมานาน เท่าที่ทราบไม่เพียงอดีต ส.ส.กทม.หรือนักการเมืองระดับชาติเท่านั้นที่ถูกทาบทาม ยังทาบทามไปถึงสมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) หรือแม้แต่ทีมงาน สตาฟฟ์ ยังโดนไปด้วย หากเป็นแวดวงธุรกิจ คงเป็นเหมือนการซื้อตัว แต่เรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องการทำธุรกิจ ไม่เพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่โดนดูด เมื่อเจอคนต่างพรรคกัน บางคนยังบ่น แม้แต่เลขาฯ ที่ทำงานและทีมงานยังเจอการดูดไปด้วยเลย  
    "การจะทิ้งพวกของคุณ พรรคการเมืองของคุณ เพียงคิดว่าพรรคของคุณเริ่มเลวร้ายลงแล้ว ไม่ต่างอะไรกับการทรยศอุดมการณ์ต่อทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพราะการเมืองมีประชาชนที่สนับสนุน แม้การตัดสินใจออกไปเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขณะเดียวกันต้องยอมรับผลการตัดสินใจของตัวเองที่จะตามมาด้วยทั้งด้านดีหรือด้านร้าย" ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว
    ร.ท.หญิงสุณิสากล่าวว่า ยิ่งมีกระแสดูด ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยเหนียวแน่นมากขึ้น การที่ใครจะก้าวออกไป มีบทเรียนมาแล้วในอดีต ที่คนออกไปส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวทางการเมือง อย่างไรก็ดี คนที่มาติดต่อมักอวดอ้างสรรพคุณพรรคใหม่ หากไปอยู่แล้วจะได้งบประมาณมาทำพื้นที่ สะท้อนให้เห็นถึงการเอาเปรียบทางการเมือง เป็นวิธีการที่สกปรก จ้องแต่จะเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น สิ่งที่น่ากลัวและกังวลไม่ต่างกัน คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยังใช้สถานะไปหาเสียง พยายามทำให้การเมืองเป็นการเมืองน้ำเน่า เพียงแค่เพราะอยากให้มีคนมาสนับสนุนตัวเองเป็นนายกฯ อีกครั้ง สิ่งนี้มันคุ้มแล้วหรือกับการทำให้การเมืองถอยหลังเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง
ฟุ้งไม่ออกมีแต่เพิ่ม
     น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และคนใกล้ชิดคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ระบุมีการทาบทามอดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่า ไม่ทราบว่ามีใครบ้าง เพราะบุคคลเหล่านั้นคงพูดกับคุณหญิงสุดารัตน์โดยตรง เท่าที่ทราบจากการพูดคุยกับอดีต ส.ส.กทม.ของพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครคิดตีจากพรรคเพื่อไทยเพื่อไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในทางกลับกัน มีแต่บุคคลหลากหลายอาชีพที่สนใจทางการเมืองแสดงความประสงค์ที่จะร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย และเสนอตัวของเป็นผู้สมัครในนามของพรรคเพิ่มเติม
    ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพลังดูดอดีตนักการเมืองในขณะนี้ว่า ทุกฝ่าย ทั้ง กกต.และ คสช. ต้องมีหน้าที่ช่วยกัน ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ สุจริต ยุติธรรม อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความไม่ยุติธรรม หรือเกิดได้เปรียบเสียเปรียบ ใครก็ไม่ควรที่จะทำ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่ออกมา จะกลายเป็นผลการเลือกตั้งจากความไม่สุจริต เที่ยงธรรม เกิดข้อกังขา จนไม่เป็นที่ยอมรับในอนาคตได้
    “สังคมมองออกอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ผมพูดว่าพฤติกรรมฝ่ายใดจะนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบของใคร หลังรัฐประหารทุกครั้ง ถ้ามีการตั้งพรรค ปรากฏการณ์ดึงนักการเมืองส่วนต่างๆ เข้าไปรวมตัวกันอยู่ในพรรคใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นเคยปรากฏอยู่เสมอ ตั้งแต่พรรคสามัคคีธรรมเป็นต้นมา สำหรับผมไม่เคยย้ายพรรค แต่สำหรับการย้ายพรรคของนักการเมือง เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าย้ายด้วยเหตุผลอะไร เพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกัน หรืออย่างอื่น ส่วนถ้ามีข้อครหาว่า ย้ายเพราะแลกตำแหน่ง บุคคลคนนั้นก็ต้องเป็นผู้อธิบายต่อสังคมเอง เพื่อให้ประชาชนได้รับความกระจ่าง” นายจุรินทร์กล่าว    
    ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครทั้ง 33 คนว่าใครมีคุณสมบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีลักษณะต้องห้ามบ้าง ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องใช้เวลาในการหารือและกำหนดกรอบ โดยเฉพาะต้องไม่เป็นเจ้าของกิจการสื่อ หรือต้องไม่ถือหุ้นในกิจการมีการจดทะเบียนสื่อไว้ ไม่เช่นนั้นจะเข้าลักษณะต้องห้ามและขาดคุณสมบัติ คณะกรรมการสรรหาฯ จึงต้องตรวจสอบด้วยความระมัดระวัง  
    ต่อมา นายนัฑ ผาสุข ในฐานะเลขานุการกรรมการสรรหาฯ เปิดเผยว่า วันนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เนื่องจากยังพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครทั้ง 33 คนไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ว่าจะมีผู้สมัครรายใดผ่านเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. วิเคราะห์ถึงร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านทางรายการ “สมชัย ไลฟ์สด” ว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่าน สนช. มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น บัตรเลือกตั้งที่จากเดิมมี 2 ใบมาเหลือเพียงใบเดียว เลือกทั้งคนและพรรค หมายเลขผู้สมัครต่างเขต ต่างเบอร์ ซึ่งเป็นการลดความสำคัญของพรรคและให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากขึ้น ทำให้พรรคหาเสียงยากขึ้น   
เลือกตั้งสู้กันดุเดือด
    "เชื่อว่าจากการเปลี่ยนแปลงบัตรเลือกตั้งและการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส. เขต จะทำให้การต่อสู้กันในทุกเขตดุเดือดมากขึ้น  เพราะแต่ละพรรคก็ต้องพยายามเอาชนะและเปลี่ยนแปลงวิธีการ เขาก็ไม่ได้กินหญ้า ไม่ได้ทำตามรูปแบบเดิม ก็ต้องคิดหาวิธีการใหม่เพื่อให้ได้คะแนนบัญชีรายชื่อและทุกเขตให้ได้มากที่สุด"
    นายสมชัยกล่าวว่า เมื่อใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคก็จะต้องส่งผู้สมัครลงทุกเขต และต้องสู้กันยิบตา ไม่มีใครยอมใคร สูตรการเลือกตั้งของแต่ละพรรคก็จะเปลี่ยนไป พรรคเล็กหรือพรรคท้องถิ่นจะยึดเฉพาะพื้นที่ของตัวเองไม่ได้ หากอยากได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต้องส่งคนลงรับเลือกตั้งทั้ง 350 เขต เนื่องจากทุกคะแนนเสียงจะมีความหมาย โดยพรรคใหญ่จะได้เปรียบจากการเลือกตั้งในรูปแบบนี้ เพราะมีฐานมวลชนในทุกเขต ซึ่งเมื่อใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ต้องส่งให้ครบทุกเขต เพื่อให้ได้คะแนนเสียง 
    นายสมชัยกล่าวอีกว่า วันที่ 3 พ.ค. ตนจะพูดถึงโรดแมปการเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นในเดือนใด สิ่งที่รัฐบาล นายกฯ และหลายฝ่ายระบุว่าโรดแมปไม่เคลื่อน จะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2562 นั้น ตนจะลองคำนวณปฏิทินว่าการเลือกตั้งจะเคลื่อนหรือไม่ รวมถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป
    พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” ในวันเสาร์ที่ 5 พ.ค.นี้ว่า เป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ที่เป็นผู้ดูแลหลัก โดยทาง กอ.รมน.ทำหน้าที่เพียงติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งขอฝากว่าการชุมนุมต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย คนที่มาชุมนุมก็ต้องเคารพกฎหมายว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ อีกทั้งขอให้พี่น้องประชาชนทั่วไปมีความระมัดระวังในการติดตามข้อมูลข่าวสารที่อาจจะมีการบิดเบือน หากสงสัยข่าวสารใด ก็ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ เรายังบอกไม่ได้ว่าจะมีผู้ชุมนุมจำนวนเท่าใด และคิดว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่น่าที่จะยืดเยื้อ
    เมื่อถามว่า จากกรณีที่นายพริษฐ์ ชีวรักษ์ หรือ เพนกวิน เข้าถึงตัวนายกฯ ในวันแรงงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จะสะท้อนถึงจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.ต.พีรวัชฌ์กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตนอยากให้ผู้ที่จัดการชุมนุมช่วยกันดูแลให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ให้มีมือที่สามเข้ามาก่อความวุ่นวายจนก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อสังคม อีกทั้งต้องให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อย หากเกิดความไม่สงบเกิดขึ้นในการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อการชุมนุมด้วย 
    เมื่อถามว่า ทาง กอ.รมน.ติดตามข้อมูลข่าวสารหรือไม่ว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านสร้างบ้านพักตุลาการในจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาร่วมชุมนุมในวันที่ 5 พ.ค.นี้ พล.ต.พีรวัชฌ์กล่าวว่า เรามีการติดตามข้อมูลข่าวสารทุกระยะ ส่วนการแอบแฝง โดยการต่อยอดประเด็นต่างๆ เรายังไม่กล้าอนุมานว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะจะเกิดการผิดพลาดได้ ซึ่งทุกเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐมีแผนเผชิญเหตุอยู่แล้ว
    มีรายงานว่า หน่วยข่าวความมั่นคงได้ประเมินการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ค.นี้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200-300 คน โดยมีเพียงแกนนำเสื้อแดงบางคนที่เข้าร่วม แต่ไม่มีกลุ่มพรรคการเมือง ทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทย เนื่องจากกำลังเตรียมการประชุมพรรคในระยะเวลาอันใกล้ และยังไม่พบการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หน่วยความมั่นคงยังได้จับตากลุ่มหนี้สินเกษตกรและกลุ่มพีมูฟที่จะมีการเคลื่อนไหวในเดือนนี้ด้วย
    โฆษก กอ.รมน.ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนว่า ในส่วนของ กอ.รมน. ขณะนี้ได้ดำเนินการในระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.- 15 พ.ค. เป็นการติดตามขับเคลื่อนการพัฒนาแก้ไขปัญหา และสร้างการรับรู้ปรับความคิดเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา “วิถีไทย วิถีพอเพียง” ในขณะนี้ชุดขับเคลื่อนฯ ได้ลงพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากเกือบ 4 ล้านคน ซึ่งจากนโยบายของ พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะรอง ผอ.รมน. ที่ได้ให้แนวทางการปฏิบัติงานแก่ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส ในการทำงานให้ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาด้วยการลงพื้นที่พบปะกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง 
    "จากการดำเนินการที่ผ่านมา กอ.รมน.ได้นำปัญหามาบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งสามารถแก้ไขและขจัดปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รอง ผอ.รมน.ยังได้ให้กำลังใจและกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะต้องไม่กระทำตนเป็นผู้มีอิทธิพล และเน้นย้ำให้ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน เสริมสร้างพัฒนาสังคมคุณภาพ และความมั่นคงเข้มแข็งของชุมชน" โฆษก กอ.รมน.กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"