มองไทยและอาณาจักรริวกิวผ่านพระราชพิธี


เพิ่มเพื่อน    


พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ที่มา : ไทยโพสต์)

  โดย กมลอร คินิมาน

                ศิลปวัฒนธรรมเป็นต้นทุนทางสังคมอย่างหนึ่ง

                หากจะกล่าวว่า “ทุนทางสังคม” คืออะไร?

                ในเชิงวิชาการได้มีการอธิบายและถกเถียงกันมากมาย ทว่าในข้อเขียนนี้ขอกล่าวถึงจากแนวคิดง่ายๆ ที่เห็นภาพได้จากในชีวิตประจำวันตามประสาคนธรรมดาสามัญอย่างผู้เขียน

                “ศิลปวัฒนธรรมไทยในฐานะทุนทางสังคม” ที่เรามองเห็นได้ในชีวิตประจำวันก็คือ การนำแนวคิดด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ และสวยงามของไทยไปใช้สร้างรายได้เข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า บริการ หรือแม้กระทั่งสื่อบันเทิงที่เรียกกันอย่างคุ้นชินในวงการการตลาดปัจจุบันว่า “Content”

                ถ้าให้ยกตัวอย่างทุนทางวัฒนธรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยแบบเห็นภาพชัดเจน ก็คือสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ และสถานที่ต่างๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ หรือแม้กระทั่งเมืองเก่าในอยุธยาหรือสุโขทัย เป็นต้น ซึ่งนอกจากความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทยในสถานที่ดังกล่าวแล้ว สินค้าเช่น ของที่ระลึกต่างๆ อาหาร หรือบริการ อย่างนวดแผนไทย การขี่ช้าง การแต่งกายชุดไทย ก็ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้คนไทยจากการนำ “ศิลปวัฒนธรรมไทย” มาเป็น “ต้นทุนส่วนหนึ่งในการผลิตสินค้าและบริการ” ทั้งสิ้น


การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ที่มา : ไทยโพสต์)

               แล้วศิลปวัฒนธรรมไทยที่เราใช้เป็นต้นทุนในการสร้างรายได้เหล่านี้เกิดมาจากไหนกัน?

               ประเด็นนี้คิดว่าท่านผู้อ่านอาจจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วไม่มากก็น้อย

                แน่นอนว่าศิลปวัฒนธรรมไทยที่เราใช้เป็นทุนทางสังคม เป็นทุนที่คนไทยทั้งประเทศมีสิทธิ์นำไปใช้ต่อยอดสร้างรายได้กันได้ทุกคนโดยไม่ต้องขอลิขสิทธิ์นี้ ถูกสร้าง สั่งสมและสืบทอดส่งต่อมาจากบรรพบุรุษของเรา จากชุมชนคนไทยที่ใช้ชีวิต สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันมายาวนานในพื้นที่และสังคมที่เราอาศัยอยู่ ดังนั้นศิลปวัฒนธรรมในฐานะทุนทางสังคมนี้ ไม่ได้ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้น ในมุมมองของผู้เขียนจึงคิดว่านี่เป็นสมบัติล้ำค่าที่ถูกส่งต่อมาจากคนไทยรุ่นก่อน และคนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้มีโอกาสนำมาใช้ทำมาหากินสร้างรายได้ให้ตัวเองและประเทศต่อไปได้

                เหตุที่ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่อง “วัฒนธรรมเป็นทุนทางสังคม” ข้างต้นนั้น เพราะตั้งใจที่จะเชื่อมโยงไปสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า ศิลปวัฒนธรรมหลายอย่างที่ถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยนั้นล้วนเกี่ยวพันอยู่กับ “งานพระราชพิธี”

                ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของไทยหลายอย่างที่สูญหายตายจากไป สาเหตุเพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ในวาระที่จะมีคนรุ่นใหม่มาสืบสานส่งต่อ

                แต่งานพระราชพิธีจะเวียนมาให้ต้องทำเป็นวาระอย่างน้อยๆ ก็เมื่อกษัตริย์สวรรคตและกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์


ภาพวาดกษัตริย์โชโค กษัตริย์องค์ที่ 17 แห่งราชอาณาจักรริวกิว (ที่มา : เว็บไซต์ Shurijo Castle Park)

                เฉพาะแค่งานพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับ 2 โอกาสนี้ก็มีศิลปวัฒนธรรมหลายแขนงถูกนำขึ้นมาสร้างใหม่ และแน่นอนด้วยขนาดของงานระดับ “พระราชพิธี” ก็ต้องมีแรงงานของคนรุ่นใหม่มากมายมาช่วยในการผลิต เทคนิคการผลิต เทคโนโลยีในการสร้าง การบันทึก การประยุกต์ การต่อยอดก็จะเกิดขึ้นตรงนี้

                ศิลปวัฒนธรรมไทยหลายอย่างที่ยังมีชีวิตและถูกสืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ก็เพราะผ่านการฟื้นคืนชีพเป็นวาระแบบนี้มาทั้งนั้น

                ในมุมมองเชิงสังคมวิทยาผู้เขียนคิดว่า หากไม่มีสถาบันกษัตริย์ที่ยังมีสถานะ “Active” อยู่ (ดำเนินอยู่จริง, มีชีวิต) ศิลปวัฒนธรรมไทยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีจะถูกแช่แข็ง และอาจค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาในไม่ช้า

                ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นทุนสะสมมายาวนานก็จะมีแต่เท่าเดิมหรือลดลง


ภาพวาดราชอาณาจักรริวกิวในอดีต (ที่มา : เว็บไซต์ NAHA CITY MUSEUM OF HISTORY)

                ถ้าเทียบให้สุดโต่งก็อาจเหมือนวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ หรือถ้าให้ยกกรณีตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนคือ การเลือนหายไปของศิลปวัฒนธรรมแห่ง “อาณาจักรริวกิว” หรือหมู่เกาะโอกินาวา ที่ตอนนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

                แต่เดิมกษัตริย์ของริวกิว ไม่ใช่ราชวงศ์เดียวกับญี่ปุ่น ริวกิวเป็นราชอาณาจักรที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ.1429 (ราว 590 ปีที่แล้ว) และมีระยะเวลาที่ปกครองตนเองภายใต้ระบบกษัตริย์ยาวนานราว 450 ปี มีกษัตริย์รวม 19 พระองค์ ระหว่างที่ปกครองตนเองนั้นได้ทำการค้าและเจริญสัมพันธไมตรีกับทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี และนานาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกรุงศรีอยุธยาของไทยด้วย ก่อนที่ต่อมาจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นโดยเบ็ดเสร็จในปี ค.ศ.1879 (ปีเมจิที่ 12 หรือราว 140 ปีที่แล้ว)

                ถึงแม้จะมีช่วงการปกครองด้วยกษัตริย์เพียง 450 ปี แต่ศิลปวัฒนธรรมของริวกิวนั้น สั่งสมมายาวนานกว่านั้นมาก โดยมีหลักฐานปรากฏว่าหมู่เกาะริวกิวนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ราว 23,000 ปีก่อนแล้ว และพบว่าในช่วงศตวรรษที่ 12 หรือราวสมัยคามาคุระของญี่ปุ่น เริ่มมีการปกครองพื้นที่ส่วนต่างๆ ในเกาะ โดยผู้นำที่เรียกว่า “อะจิ” และผู้นำเหล่านี้แบ่งปันและสู้รบแย่งชิงอำนาจกัน จนสามารถรวบรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวได้ในปี ค.ศ.1429 ตามที่กล่าวข้างต้น จากนั้นเองศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวริวกิวที่มีทั้งภาษา ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดนตรี การแต่งกาย รวมถึงพิธีการต่างๆ จึงรุ่งเรืองในแบบ “ราชสำนัก” มากขึ้นเป็นลำดับ


ภาพปราสาทชูริที่ผู้เขียนบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ.2009 ขณะนั้นกำลังทำการซ่อมบำรุงสีทาอาคารด้วยวิธีการดั้งเดิม

                ทว่าหลังจากที่ราชวงศ์ของริวกิวไม่มีสถานะ Active มาหลายชั่วคนแล้ว ถึงแม้ปัจจุบันศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่นจะได้รับการสืบทอดอยู่บ้าง แต่ก็มีสถานการณ์ที่คล้ายกับวัฒนธรรมอียิปต์มากขึ้นทุกที

                เรื่องเศร้าใจล่าสุดก็คือ “ปราสาทชูริ” ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรริวกิวในอดีต เพิ่งถูกไฟไหม้ไปทั้งหลังเมื่อไม่นานมานี้ และทางจังหวัดโอกินาวาได้ออกมาแถลงว่าไม่สามารถสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องด้วยช่างฝีมือคนสุดท้ายที่สามารถทำกระเบื้องดินเผาแบบเฉพาะที่ใช้กับหลังคาของปราสาทได้เสียชีวิตลงไปแล้ว (อ้างอิง https://www.okinawatimes.co.jp/articles/-/494157 )


ภาพผู้แสดงเป็นกษัตริย์แห่งริวกิวและพระชายาในขบวนเสด็จจำลองที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปชมในปี ค.ศ.2009

                นี่เป็นกรณีใกล้ตัวที่ผู้เขียนเจ็บปวดใจมากจริงๆ

                ที่กล่าวว่าใกล้ตัวนั้น เพราะผู้เขียนเคยได้ทุนจากจังหวัดโอกินาวาไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนเป็นเวลา 1 ปี และยังกลับไปโอกินาวาอีกครั้ง เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทอีกหลายปี ผู้เขียนจึงได้เห็นและประสบกับสถานการณ์ที่วัฒนธรรมริวกิวที่ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะขาดผู้สืบทอดมาโดยตลอด

                แม้ไม่ใช่คนโอกินาวา ผู้เขียนก็ยังรู้สึกกินใจที่อัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่เคยสั่งสมมายาวนานไม่แพ้ชาติไทยกำลังสูญหายไป เพราะปัจจุบันศิลปวัฒนธรรม “แบบราชสำนักริวกิว” ที่ถูกใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ก็มีสภาพคล้ายกับวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ คือยังมีให้เห็นได้จากการ “จำลอง”

                การแต่งกายด้วยชุดราชสำนักแบบริวกิวมีให้เห็นในการแสดงขบวนเสด็จของกษัตริย์ริวกิวที่จัดขึ้นทุกปีในเทศกาลของปราสาทชูริ แต่มันก็เป็นได้แค่ “คอสเพลย์” เพราะขบวนเสด็จนั้นไม่ใช่พระราชพิธีจริง คนและสิ่งของที่ร่วมในขบวนไม่ใช่ของราชสำนักที่ดำรงอยู่จริง ถึงแม้คนที่จะได้มาแต่งกายเป็นกษัตริย์จะถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีทุกปีก็ตาม


บรรยากาศขบวนเสด็จจำลองที่มีทั้งผู้แต่งกายด้วยชุดขุนนาง นางใน และนักดนตรี รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในหน้าที่อื่นๆ ร่วมขบวน ภาพจากปี 2009 เช่นกัน

                แต่นั่นก็คือ “ของจำลอง” ที่ทำขึ้นมาเพื่อระลึกถึงภาพสวยงามของพระราชพิธีในอดีตเท่านั้น

                สรุปแล้วสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวที่สุดก็คือ ผู้เขียนไม่อยากให้สถาบันกษัตริย์ไทยหายไป เพราะในมุมของการสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรม “สถาบันกษัตริย์ที่มีสถานะ Active” จะสามารถช่วยต่อลมหายใจให้ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่มากมายได้ต่อไป

                ศิลปวัฒนธรรมที่เรานำมาใช้เป็นทุนทางสังคม ใช้เป็น Identity หรืออัตลักษณ์ของเราที่ทำให้เราภาคภูมิใจในความเป็นตัวเราที่มีตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง (Sense of belonging) เวลาที่ระลึกว่าเราเป็นคนชาติไทย ทำให้เราสามารถรู้สึกภูมิใจในตนเองได้ว่าเป็นคนที่มีอารยะ และมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองด้วยคำพูดง่ายๆ ที่เราพูดกันอยู่ทุกวันว่า “ฉันเป็นคนไทย”

                ส่วนหัวข้อที่สังคมกำลังกล่าวถึงกันเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันนั้น ผู้เขียนขออนุญาตย้ำอีกครั้งว่าเป็นคนละหัวข้อกับสิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจกล่าวถึงมาทั้งหมด สุดท้ายหากจะกล่าวในมุมมองเชิงสังคมวิทยาว่า “กษัตริย์มีไว้ทำไม” ขอใช้ข้อเขียนนี้อ้างอิงเพื่อตอบว่า “สถาบันกษัตริย์มีไว้สานต่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทย”.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"