ผลโหวตแก้ รธน. จุดไฟหรือถอดสลักวิกฤติการเมือง?


เพิ่มเพื่อน    

            เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ (17 พ.ย.) ถึงพุธที่ 18 พ.ย. กับไฮไลต์สำคัญทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายเฝ้าติดตาม นั่นก็คือ การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติ ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 ญัตติ ของทั้งพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และร่างฉบับประชาชนร่วมกันลงชื่อหรือร่างไอลอว์

                ทั้งนี้ ร่างแก้ไข รธน.ฉบับใดจะได้ไปต่อในวาระ 2 และ 3 ร่างดังกล่าวจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ อีกทั้งในจำนวนเสียงเห็นชอบดังกล่าวจะต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. คือไม่น้อยกว่า 84 เสียง

                โดยผลการลงมติออกเสียงถูกล็อกไว้ให้ออกมาได้แค่ 3 แนวทางเท่านั้น คือ

                1.เห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไข รธน.ทั้งหมด จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างดังกล่าว จากนั้นพอ กมธ.พิจารณาเสร็จก็นำกลับเข้ามาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติโหวตในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไป

                2.ไม่เห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไข รธน.ทั้งหมด ทำให้ญัตติขอ

แก้ไข รธน.ทั้งของรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงของไอลอว์จอดสนิท ติดไฟแดง ร่วงตั้งแต่ยกแรกวาระรับหลักการ เพราะเสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตาม รธน.

                3.เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไข รธน.บางญัตติเท่านั้น โดยมีบางญัตติใน 7 ร่าง ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา 

                โดย 7 ร่างดังกล่าว จะพบว่า “แกนนำม็อบสามนิ้ว” ประกาศสนับสนุนร่างแก้ไข รธน.ฉบับไอลอว์ เพราะตอบโจทย์ข้อเรียกร้องทางการเมืองของม็อบมากที่สุด เช่น การที่ไม่เขียนล็อกไว้แบบตายตัวว่า ห้ามแก้ไข รธน.หมวด 1 และหมวด 2 ของ รธน.ฉบับปัจจุบันที่เป็นหมวดทั่วไปและหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ในร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีการเขียนล็อกส่วนนี้เอาไว้ เป็นต้น

                ซึ่งท่าทีจากฝ่ายต่างๆ ของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.พรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน เป็นไปตามยุทธวิธีการสู้รบทางการเมือง เช่น ฝ่ายพรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐแสดงท่าทีเอาแค่สนับสนุนร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.เท่านั้น ไม่เอาร่างแก้ไข รธน.รายมาตราของฝ่ายค้าน

                ขณะที่ฝ่าย สภาสูง ที่แม้จะมีลักษณะเป็นปัจเจก ไม่มีระบบวิปมาควบคุมการลงมติแบบเข้มงวดเหมือนพรรคการเมือง แต่พบว่าท่าทีของ ส.ว.ระยะหลัง จากเดิมเมื่อการประชุมรัฐสภาสมัยที่แล้วปลายเดือนกันยายน ที่เสียงส่วนใหญ่คัดค้านการตั้งสภาร่าง รธน. แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยเริ่มเปลี่ยนท่าทีพร้อมจะเทเสียงหนุนการแก้ 256 เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร. อย่างน้อยก็จะได้ลดดีกรีร้อนแรงม็อบการเมืองนอกรัฐสภาลงได้บ้าง แต่การเปลี่ยนท่าทีดังกล่าว พบว่า ส.ว.กลุ่มนี้ก็ยังตั้งป้อมแข็งขัน ไม่เอาร่างแก้ไข รธน.ของไอลอว์ เพราะมองว่าเนื้อหาตามร่างของไอลอว์สุดโต่งเกินไป เช่น การให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 3 ปีกว่า หากมีการแก้ไขสำเร็จ ทำให้ ส.ว.ยากจะยอมรับได้

                ทำให้จนถึงช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 16 พ.ย. ท่าทีจาก 3 ปีกเสียงโหวต คือรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ส.ว. พบว่าเสียงโหวตในบางร่างแก้ไข รธน.เริ่มจะนิ่งในระดับหนึ่งแล้ว

                ข่าวบางกระแสอ้างว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน น่าจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรกได้ หลัง ส.ว.หลายคนเริ่มส่งสัญญาณพร้อมโหวตเห็นชอบ แต่ก็จะยังมี ส.ว.อีกบางส่วนที่ยืนยันหลักการเดิมไม่เอาด้วย โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาล รธน.ปี 2555 ที่ชี้ว่า หากจะร่าง รธน.ฉบับใหม่มาแทน รธน.ที่ผ่านประชามติ ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนก่อน

                ขณะที่ร่างแก้ไข รธน.รายมาตราของฝ่ายค้านอีก 4 ร่าง เช่น ร่างที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ที่เป็นเรื่องอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ-ยกเลิกมาตรา 279 ที่เรียกกันว่า นิรโทษกรรม คสช. เป็นต้น พบว่าท่าทีของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐ รวมถึง ส.ว.อีกจำนวนหนึ่งไม่ค่อยเห็นด้วย เลยมีการประเมินกันว่า จำนวนเสียงโหวตเห็นชอบ อาจจะไม่เกินกึ่งหนึ่ง จนทำให้ทั้ง 4 ร่างอาจร่วงตั้งแต่วาระแรกก็ได้ 

                ส่วนร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน หรือไอลอว์ ที่ม็อบสามนิ้วสนับสนุน พบว่า แม้ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ต่างสงวนท่าที ต้องการฟังคำชี้แจงจากตัวแทนไอลอว์ กลางที่ประชุม 17 พ.ย. ในหลายประเด็นที่ยังมี ส.ส.และ ส.ว.หลายคนติดใจสงสัย เช่น เรื่องการดำเนินงานของไอลอว์ที่รับทุนจากต่างประเทศ-ข้อกังวลเรื่องการเปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรมคดีทุจริต หากมีการเซตซีโรองค์กรอิสระและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สุ้มเสียง ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.จำนวนไม่น้อย ไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่กับร่างไอลอว์มากนัก แม้จะรู้ดีว่าหากร่างดังกล่าวถูกตีตก จะทำให้ม็อบไม่พอใจก็ตาม

            ผลลงมติร่างแก้ไข รธน.สุดท้าย จะช่วยถอดสลักระเบิดการเมืองหรือจะยิ่งเติมฟืนเข้ากองไฟ ทำให้กระแสม็อบกลับมาพีกอีกรอบ ช่างน่าติดตามยิ่งนัก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"