ฟุ้งจีดีพีไตรมาส4โตสุดปัง คลังกู้เงินอีก4.5หมื่นล้าน


เพิ่มเพื่อน    

  "อาคม" ฟุ้งจีดีพีไตรมาส 4 โตแบบสุดปัง อานิสงส์คลายล็อกดาวน์-กระตุ้นใช้จ่ายดันทั้งปีโตติดลบน้อยกว่า 7.7% ส่วนปี 2564 พลิกโตบวกที่ 4% ขณะที่สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 3/63 ติดลบ 6.4% พร้อมปรับประมาณการทั้งปีติดลบน้อยลงเหลือ -6% "คลัง" เดินเครื่องกู้เงินโควิด-19 อีก 4.5  หมื่นล้านบาท

    เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 4/2563 จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3/2563 หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศจีดีพีในไตรมาส 3 ติดลบ 6.4% ซึ่งดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2563 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากรัฐบาลเดินหน้าคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินได้
    สำหรับการเติบโตของจีดีพีในปี 2563 นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะมีการประเมินใหม่ โดยยอมรับว่าปีนี้จีดีพีติดลบแน่นอน แต่เบื้องต้นหากมองจากปัจจัยบวกและเครื่องชี้เศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ดีขึ้น เป็นไปได้ว่าปีนี้จีดีพีจะเติบโตติดลบน้อยกว่า 7.7% ส่วนปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวกได้ที่ระดับ 4% โดยยังต้องจับตาภาคการท่องเที่ยว หากสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น
    "สิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ การใช้จ่ายของประชาชนในไตรมาส 3/2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 6.3% แต่ยังติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาครัฐเป็นบวกที่ 18% เป็นเครื่องยืนยันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี และช่วงที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ก็เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการป้องกันไว้ก่อน  เมื่อถึงจุดที่มั่นใจแล้วว่าไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศ รัฐบาลก็ทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์และใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังใช้ความพยายาม ใช้ความสามารถอย่างที่สุดในการดำเนินการ เพราะการใช้เงินกระตุ้นการใช้จ่ายตรงนี้จะทำให้เกิดผลทวีคูณกลับมา" นายอาคม กล่าว
    นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.เปิดเผยถึงรายงานภาวะเศรษฐกิจและรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2563 ว่า ไตรมาสที่ 3/63 จีดีพีของไทยหดตัว -6.4% ถือว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์มาก และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งจีดีพีติดลบ 12.1% ด้านจีดีพีช่วง 9 เดือนเศรษฐกิจไทยติดลบ 6.7%
    สำหรับปัจจัยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 3 เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ส่งผลให้กิจกรรมกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกไตรมาส 3 ฟื้นตัวขึ้นหลังจากติดลบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาส 2/63
    ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2563 ดีขึ้นเป็นติดลบ 6% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วงเดือนสิงหาคมว่าจะติดลบ 7.5% และเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 64 ที่ 3.5-4.5%  จากปัจจัยการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ การเปิดสเปเชียลทัวริสต์วีซ่า และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ขณะที่การเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า  70% ของเงินกู้
    นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงคือ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง สศช.ยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อหามาตรการรองรับ, สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ, การระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในต่างประเทศที่ส่งผลให้มีการปิดเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย รวมทั้งความเสี่ยงในเรื่องประสิทธิภาพและการขนส่งวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนใช้ทั่วโลกในช่วงไตรมาส 3/64 ขณะที่ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/63 พบว่ามีผู้ว่างงาน 740,000  คน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90% ใกล้เคียงกับ 1.95% จากไตรมาส 2
    ทั้งนี้ ในส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/63  มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/63 โดยมีสาเหตุจากการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจ ความเปราะบางทางการเงินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
    อย่างไรก็ตาม สศช.ได้แนะนำแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563-2564 เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริมการลงทุนในประเทศโดยใช้จุดแข็งของประเทศไทย รักษาบรรยากาศการลงทุนในประเทศเพื่อรักษาความเชื่อมั่นให้นักลงทุน การเตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าหากการแพร่ระบาดยาวนานออกไป  รวมถึงเริ่มปรับโครงสร้างผลิตในประเทศ และดูแลเรื่องภัยแล้งที่อาจกระทบกับผลผลิตและกำลังซื้อในภาคเกษตร
    วันเดียวกันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังลงนามสัญญาความร่วมมือทางด้านการเงินระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในโครงการ COVID-19  Active Response and Expenditure Support Program วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 45,000 ล้านบาท ว่าการกู้เงินดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.โควิด-19) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท  
     ทั้งนี้ เอดีบีได้จัดเตรียมมาตรการทางการเงิน วงเงินรวม 20,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้การสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขเงินกู้แบบผ่อนปรน ซึ่งสามารถนำไปสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่รัฐบาลของกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหา
    สำหรับการกู้เงินจากเอดีบีดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.โควิด-19 ใน 3 เรื่อง ได้แก่  1.แผนงานหรือโครงการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 และ 2.เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ 3.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการเบิกจ่ายเงินจะทยอยเบิกจ่ายตามความต้องการใช้เงิน โดยดูเวลาและจังหวะที่เหมาะสมด้วย
    นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ภาพรวมการกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้มีการกู้เงินไปแล้ว 3.38 แสนล้านบาท โดยการใช้เงินจะทยอยเบิกจ่ายตามความต้องการและโครงการต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"