เปิดค่ายกล ชิงเหลี่ยมคุมอำนาจ โมเดลตั้ง ส.ส.ร. ร่าง รบ.-ฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

     มติที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ 18 พ.ย. ซึ่งมีการลงมติ "เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ" ในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นรับหลักการวาระแรกไม่มีอะไรพลิกโผ

            ร่างแก้ไข รธน.ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เสนอให้แก้มาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่าง รธน.ฉบับใหม่ทั้งสองร่างผ่านฉลุย กับเสียงสนับสนุนท่วมท้นจาก ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ขณะที่ "วุฒิสภา" ก็เอาด้วยกับทั้งสองร่าง จนมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เกินจำนวน 84 เสียง โดยร่างของฝ่ายค้านได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 127 เสียง ขณะที่ร่างของรัฐบาลที่เป็นร่างที่สองได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 176 เสียง

                ส่วนร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชนหรือไอลอว์ และร่างแก้ไข รธน.รายมาตราของฝ่ายค้าน ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้ไม่ได้ไปต่อในวาระสองและวาระสาม

      อย่างไรก็ตาม หนังยาวเรื่องแก้ไข รธน.ยังไม่จบง่ายๆ ยังจะมีจุดพลิก-ฉากไคลแมกซ์ออกมาอีกเรื่อยๆ เพราะตอนนี้แค่ผ่านวาระแรกยังต้องลุ้นกันอีกหลายยก ทั้งในการเขียนร่างในชั้นกรรมาธิการวิสามัญรัฐสภา ที่คงสู้กันสนุกระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และ ส.ว. แต่ฝ่ายรัฐบาลจะคุมความได้เปรียบเพราะมีเสียง ส.ว.มาช่วยผนึกเสียงด้วยในชั้นกรรมาธิการฯ เพราะเวลาลงมติใดๆ ต้องใช้เสียงข้างมากของ กมธ.เป็นหลัก และยังต้องไปรอลุ้นอีกในการพิจารณาวาระสองของรัฐสภา ที่จะเป็นการนำร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วมาพิจารณาโหวตในที่ประชุมวาระสองแบบเรียงรายมาตรา ที่จะใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก และไม่ต้องใช้เสียง ส.ว. 84 เสียงเหมือนตอนโหวตวาระแรก โดยที่เสียงส่วนใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับร่างของกรรมาธิการฯ ก็ได้ รวมถึง “ยกสุดท้าย” คือการลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไข รธน.ในวาระสาม ที่จะทำเหมือนตอนโหวตวาระแรก คือต้องได้เสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง

      กระบวนการแก้ไข รธน. การให้มีสมาชิกสภาร่าง รธน. จึงยังต้องลุ้นกันอีกหลายยก บนความได้เปรียบของพรรคร่วมรัฐบาลที่กุมเสียงข้างมากในสภา เหนือฝ่ายค้านค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีเสียงจากสภาสูงคอยแบ็กอัพให้อีก จึงทำให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นต่อฝ่ายค้านหลายขุม ในการคุมกระดานการแก้ไข รธน.ให้เดินไปตามที่ตัวเองต้องการได้

      อย่างเรื่อง "โมเดลการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ" จะพบถึงการวางค่ายกลของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่วางหมากไว้หลายขุมเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการให้มี ส.ส.ร. และการร่าง รธน.ฉบับใหม่

      ที่เห็นชัดเจนคือ “ที่มาของ ส.ส.ร. และกรอบเวลาในการดำเนินการกระบวนการทั้งหมด” ที่จะพบว่าตามร่างของรัฐบาลพยายาม "ใช้เวลาให้นานที่สุด" ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่ยาว

                เช่นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลให้เลือก ส.ส.ร.ภายใน 90 วันหลังร่างแก้ไข รธน.ประกาศใช้ แต่ร่างของฝ่ายค้านให้เลือกภายใน 60 วัน

                ที่สำคัญกระบวนการร่าง รธน. พบว่าร่างของรัฐบาลให้ ส.ส.ร.มีเวลาในการยกร่าง รธน.ยาวนาน 240 วันนับแต่เปิดประชุมสภาร่าง รธน.นัดแรก ขณะที่ของฝ่ายค้านใช้เวลาน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง คือให้เวลาแค่ 120 วันนับแต่เปิดประชุมสภาร่าง รธน.นัดแรก

      เพียงเท่านี้ก็เห็นแล้วว่ากรอบเวลาต่างๆ ตามร่าง รธน.ของพรรคร่วมรัฐบาลพยายามดึงเวลาให้ยาวนานที่สุด และยังมีเรื่องของขั้นตอนการทำประชามติ-การยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ทั้งหมด หากร่าง รธน.ผ่านประชามติ ที่ก็ใช้เวลาอีกอย่างน้อยๆ 6 เดือน เรียกได้ว่าร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลอยู่ยาวเห็นๆ อย่างน้อยก็ 1 ปีครึ่ง

                ส่วนเรื่องที่มา ส.ส.ร.แม้ทั้งร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเหมือนกันคือ ให้มี ส.ส.ร. 200 คนเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกันคือ ร่างของรัฐบาลให้เลือก ส.ส.ร.โดยตรง 150 คน ส่วนอีก 50 คน มีลักษณะให้ฝ่ายกุมอำนาจสามารถมีส่วนร่วมในการเลือก ส.ส.ร.ได้ถึง 40 คน ผ่านช่องทางการเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 20 คน ที่รัฐบาลกุมเสียงข้างมากอยู่ทั้งใน ส.ส.และ ส.ว. ก็สามารถเลือกคนของฝ่ายตัวเองเข้าไปเป็น ส.ส.ร.ได้แล้ว 20 คน ส่วนอีก 30 คน แยกเป็น 10 คน มาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีฯ (ทปอ.) เลือกจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และด้านรัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ และยังให้ ทปอ.เลือกจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ มาเป็น ส.ส.ร.อีก 10 คน เท่ากับ ทปอ.มีส่วนร่วมได้เลือก ส.ส.ร. 20 คน

               โดยแม้ที่ประชุม ทปอ.จะเป็นระดับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่เป็นนักวิชาการ-ผู้บริหารสถานการศึกษา แต่ก็ยังถูกมองว่ามีความยึดโยงกับฝ่ายบริหาร-ฝ่ายการเมือง ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงอาจทำให้มีการทำ "โผ ส.ส.ร." บางส่วนไปให้ ทปอ.เลือกก็ได้

            ส่วนอีก 10 คนสุดท้ายมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการเลือกจากกลุ่มนิสิตนักศึกษา 10 คน ซึ่งสูตรนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะเปิดช่องให้ "คนรุ่นใหม่-พลังคนหนุ่มสาว" ในรั้วสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาเป็น ส.ส.ร. ที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการร่าง รธน.ของประเทศไทยที่ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน

               ขณะที่ร่างของพรรคฝ่ายค้าน ชูจุดแข็งคือ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทั้งหมด ที่ฝ่ายค้านบอกว่าสูตรนี้ทำให้จะได้ รธน.ฉบับใหม่ที่เป็น "ร่าง รธน.ฉบับประชาชน"

      อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล คือเมื่อ ส.ส.ร.ร่าง รธน.ฉบับใหม่ออกมาแล้ว ให้ส่งร่าง รธน.ดังกล่าวให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่าง รธน.ดังกล่าว

            โดยหากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ก็คือ ส.ส.-ส.ว. ที่ฝ่ายรัฐบาล-พลังประชารัฐคุมเสียงอยู่ให้ความเห็นชอบ ก็ให้นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย ไม่ต้องทำประชามติ แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ถึงค่อยส่งไปทำประชามติ

      ซึ่งแตกต่างจากร่างของฝ่ายค้านที่เขียนว่า พอสภาร่าง รธน.ร่าง รธน.เสร็จ ให้นำร่างดังกล่าวส่งไปทำประชามติ ให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงว่าจะรับหรือไม่รับร่าง รธน.ดังกล่าว

                ประเด็นข้อแตกต่างข้างต้น หากดูร่างของพรรคร่วมรัฐบาลมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงหากฝ่ายคุมอำนาจส่งคนไปเป็น ส.ส.ร.ได้จำนวนหนึ่ง และคนกลุ่มดังกล่าวเข้าไปมีบทบาทในการร่าง รธน.ฉบับใหม่ได้ จนร่าง รธน.ได้แบบที่ฝ่ายคุมอำนาจต้องการ แล้วสภาร่างส่งมาให้รัฐสภาโหวต ซึ่งฝ่ายผู้มีอำนาจก็คุมเสียง ส.ส.และ ส.ว.เป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว ก็สามารถโหวตรับร่าง รธน.ดังกล่าว หากเห็นว่าร่างดังกล่าวตรงตามที่ตัวเองพอใจกับการมี รธน.ฉบับใหม่ ที่ทำให้ฝ่ายตนเองคอนโทรลอำนาจการเมืองไว้ได้อยู่ จากนั้นประธานรัฐสภาก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย ไม่ต้องส่งไปทำประชามติ

            ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจึงเท่ากับทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.ดังกล่าวในบางประเด็น ก็หมดโอกาสที่จะไปลงคะแนนเสียงไม่รับร่าง รธน.ฉบับนั้น

            เว้นเสียแต่หากฝ่ายผู้อำนาจไม่เอาด้วยกับร่าง รธน. แล้วโหวตไม่เห็นชอบ ถึงค่อยส่งร่าง รธน.ดังกล่าวไปทำประชามติ

      การชิงเหลี่ยมการเมืองในรัฐสภาระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ผ่านการแก้ไข รธน. จึงมีอีกหลายยกให้ติดตาม.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"