ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้มาตรการหนุนกู้เพื่อใช้จ่ายทำปชช.หนี้ท่วม


เพิ่มเพื่อน    

 

18 พ.ย. 2563 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ESG : Empowering Sustainable Thailand’s Growth” ในงานสัมมนา ESGอนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG โดยเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะสั้นเป็นหลัก เช่น ในภาคการท่องเที่ยวที่เน้นเชิงตัวเลข เน้นจำนวนคน เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียง หรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม หรือการเน้นกระตุ้นการบริโภค เน้นให้เกิดการกู้ยืมเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงในเรื่องการก่อหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และยังเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ มองว่าหากประเทศไทยต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแนวทางในการขับเคลื่อนโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG มากขึ้น โดยต้องให้ ESG เป็นหนึ่งในเคลื่อนยนต์ในกานรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมที่มองหาโอกาสในการเติบโตในอนาคตต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยการปรับตัวเพื่อตอบรับกับเรื่อง ESG เพราะในอนาคตหากอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเรื่องดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้ อาทิ อุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องสุขภาพ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ อุตสาหกรรมอาหารที่เน้นเรื่องออแกนิกส์เป็นหลัก

“ประเทศไทยเคยถูกจัดให้เป็นประเทศที่เสี่ยงจะถูกน้ำท่วมเป็นอันดับ 7ของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเคยเจอปัญหาภัยแล้ว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหายไปกว่า 1.5หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาครัฐเองยังมีปัญหาเรื่องการคอรัปชันจนถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่มีการคอรัปชันอันดับ 100ของโลก ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 4ของโลก ตรงนี้ผมรับไม่ได้ ดังนั้นหากประเทศไทยจะเดินไปยังอนาคตโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG คงไม่ได้ เพราะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกกระทบรออยู่ เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ IUU ที่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ เสร็จสิ้น ทั้งหมดถือเป็นความเสี่ยงที่จะถูกหยิบมาเป็นประเด็นในอนาคตทั้งสิ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเรื่อง ESG ได้เลย โดยไม่ต้องรอภาครัฐเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เนื่องจากเอกชนเองมีศักยภาพเพียงพอ ขณะที่ภาครัฐเองบางส่วนยังขาดข้อมูลที่จะสะท้อนสภาพตลาดอย่างครบถ้วน ดังนั้นการให้ภาครัฐเป็นตัวนำเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา ESG เพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในหัวข้อ "ถอดรหัสผู้นำ : บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน"ว่า ธนาคารออมสินกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งการไปสู่จุดนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากนัก เนื่องจากธนาคารมีเป้าหมายหลักในการดูแลประชาชนรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากอยู่แล้ว แนวทางการดำเนินงานของธนาคารจึงไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรเป็นหลัก แต่ต้องสามารถช่วยดูแลประชาชนรายย่อย และช่วยเหลือสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

"การเป็นธนาคารเพื่อสังคม ต้องไม่มุ่งหวังที่จะมีกำไรมากเสมอไป กำไรอาจจะน้อยลงหน่อย แต่จะต้องทำอะไรที่มีผลต่อสังคม ต้องช่วยเหลือคนได้ สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน" นายวิทัย กล่าว

ทั้งนี้ การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากภายในที่เข้มแข็ง มีการบริหารงานที่ดี มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ มีพนักงานที่เข้มแข็ง รวมถึงการมีพันธมิตรที่เข้มแข็งด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน ผู้ค้ารายย่อย เป็นต้น โดยภารกิจสำคัญของธนาคารออมสินจะเน้นใน 2 เรื่อง คือ การลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาความยากจน โดยออมสินได้ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในเรื่องของการเติบโตที่ยั่งยืน (Empowering Sustainable Growth : ESG) ในการทำหน้าที่ให้สินเชื่อ และสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และเป็นธรรม ควบคู่กับการเป็น Funding Provider ให้แก่ภาครัฐด้วย

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยการจัดทำโครงการต่าง ๆ รวมทั้งหมด 16 โครงการ เพื่อช่วยให้ประชาชนในกลุ่มฐานราก และผู้ค้ารายย่อยกว่า 5 ล้านราย ในการเพิ่มสภาพคล่องและให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้นผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 1.7 แสนล้านบาท


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"