จาก 7 ต.ค.51 สู่ 17 พ.ย.63 บทเรียนจากสองม็อบล้อมสภา


เพิ่มเพื่อน    

       วันที่ 17 พ.ย.2563 เหตุการณ์ผู้ชุมนุม “ราษฎร” นัดชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันที่มีการประชุมรัฐสภานัดสำคัญ พิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ วันที่ 17-18 พ.ย.2563 ผ่านพ้นไปอย่างร้อนแรง ดุเดือด รวมถึงสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน โดยภายในรัฐสภามีการอภิปรายของทั้ง ส.ส.-ส.ว.อย่างเข้มข้นในจุดยืนของฝ่ายตนเอง ส่วนนอกรัฐสภา ราษฎรเรียกร้องให้รัฐสภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ เผชิญหน้ากับแนวกั้นของตำรวจ ถูกฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา และยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ จนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดการเผชิญหน้าปะทะกับผู้ชุมนุม “ไทยภักดี” หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ทั้งตอนเย็นก็มีการขว้างสิ่งของเข้าใส่กัน กับตอนค่ำที่เกิดเหตุถึงขั้นปาระเบิดและยิงปืนใส่ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง

            เหตุการณ์ชุมนุมหน้ารัฐสภาหรือปิดล้อมรัฐสภา และมีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในวันที่มีเลขเจ็ดเหมือนกัน เดือนใกล้กัน ย้อนไปกว่า 10 ปี นั่นคือ วันที่ 7 ต.ค.2551 เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ชุมนุมที่หน้ารัฐสภานัดสำคัญ ในวันที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จุดยืนของผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ต้องการคัดค้านรัฐบาลหุ่นเชิดระบอบทักษิณ จึงไปชุมนุมที่รัฐสภาเพื่อไม่ให้สมชายเข้าแถลงนโยบาย

            ครั้งนั้น ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาระดมยิงผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุมตามนัดแถลงนโยบาย การยิงแก๊สน้ำตาในวันดังกล่าว ไม่เพียงทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความแสบร้อนจนต้องถอยร่นเท่านั้น กลับทำให้ผู้ชุมนุมบางรายสูญเสียเลือดเนื้อถึงขั้นแขนขาด ขาขาด ต้องพิการตลอดชีวิตอย่างน่าสลดใจ และยังเกิดการยิงทั้งในช่วงบ่ายและช่วงเย็นตลอดวัน จนมีผู้เสียชีวิต 2 รายด้วย รายแรกจากเหตุการณ์รถระเบิด และรายหลังระหว่างการยิงแก๊สน้ำตา

            ถึงแม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะไม่มีมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเข้าร่วมก่อเหตุปะทะซ้ำเติม แต่ก็เกิดการต่อสู้ด้วยข้อมูลกันบนโลกออนไลน์ในเวลาต่อมา เพราะมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลไม่เชื่อว่าแก๊สน้ำตาทำให้บาดเจ็บถึงเสียชีวิตได้ จึงกล่าวหาโจมตีผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ พกระเบิดมาเอง ขณะที่อีกด้าน มีการระบุผลการตรวจพิสูจน์แก๊สน้ำตาที่ใช้ ปรากฏว่าไม่ได้คุณภาพ มีส่วนผสมของสารก่อระเบิด จึงเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บเสียชีวิตของผู้ชุมนุมได้

            กลับมาปัจจุบัน 17 พ.ย.2563 ดูเหมือนว่าตำรวจจะถอดบทเรียน 7 ต.ค.2551 ได้ส่วนหนึ่ง ในเรื่องของการใช้แก๊สน้ำตาที่มีคุณภาพขึ้น ไม่ก่ออันตรายถึงขั้นระเบิด ไม่ยิงวิถีตรงเหมือนครั้งนั้น แต่ฤทธิ์ของแก๊สน้ำตาก็รุนแรงตามปกติของมัน จนทำให้บางคนที่ได้รับเกิดอาการป่วยกะทันหัน ส่วนสถานการณ์ยังมีความแตกต่างจากครั้งนั้นที่ตำรวจเดินรุกเข้าใส่ผู้ชุมนุม เปลี่ยนเป็นการตั้งแนวกั้นยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ต้องการผ่านทางเข้ามาแทน และที่แตกต่างอย่างสำคัญคือ การมีมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอย่างกลุ่มไทยภักดีเข้ามาในพื้นที่ด้วย กลายเป็นฟืนสำคัญที่ทำให้กลุ่มราษฎรรู้สึกโกรธยิ่งขึ้น เมื่อถูกยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ เทียบกับอีกกลุ่มที่เดินผ่านทางเข้าไปใกล้รัฐสภาได้อย่างปลอดภัย

            ส่วนบทเรียนที่ไม่ได้ถอดของตำรวจ คือ การสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมโดยสงบเช่นนี้เอง ที่อาจคิดว่าเป็นการสกัดกั้นให้ผู้ชุมนุมเหนื่อยล้าล่าถอยไป แต่ไม่คิดว่าผู้ชุมนุมจะโกรธยิ่งขึ้น จนมีแต่ความชุลมุนวุ่นวายตลอดเหตุการณ์ เสี่ยงต่อสถานการณ์แทรกซ้อนที่สูญเสียเลือดเนื้อได้ไม่ต่างกัน แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงเป็นบทเรียนใหม่ จากการปล่อยให้เกิดเหตุปะทะกับมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่เข้ามาในพื้นที่เช่นกันถึง 2 ช่วงเวลา สิ่งกีดขวางอย่างรั้วและลวดหนามที่กั้นระหว่างผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ไม่เพียงพอในการป้องกัน การที่ตำรวจไม่จัดกำลังรักษาพื้นที่กีดขวางผู้ชุมนุม 2 กลุ่มด้วย นำมาสู่การบาดเจ็บจากการปะทะด้วยอาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุมในที่สุด

            อย่างไรก็ตาม หลังจากเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ในวันที่ 18 พ.ย.2563 อาจช่วยบรรเทาสถานการณ์ดุเดือดในสภาให้ยังพูดคุยต่อกันได้บ้าง ส่วนความดุเดือดนอกสภา ถึงเวลาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถอดบทเรียนคลี่คลายสถานการณ์ก่อนการสูญเสียเพิ่มขึ้นอีก โดยในส่วนของตำรวจต้องสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเหตุปะทะที่เกิดขึ้น และจับกุมดำเนินคดีผู้ก่อเหตุให้ได้อย่างจริงจัง ลดภาพลักษณ์การเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มราษฎรลง

            ขณะที่ ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายต้องลดเงื่อนไขในการก่อเหตุปะทะลง โดยเฉพาะในส่วนแกนนำ เพราะหากตั้งใจนำมวลชนมาเผชิญหน้า ย่อมเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการบาดเจ็บสูญเสียได้ทุกครั้ง รวมถึงการปราศรัยและข้อความต่างๆ ในการชุมนุม หากมีการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีชเกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกถูกยั่วยุ ลบหลู่ดูหมิ่น ก็ย่อมเป็นข้ออ้างที่ถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุได้เช่นเดียวกัน โดยคนที่บาดเจ็บสูญเสียเลือดเนื้อส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชุมนุมมากกว่าแกนนำ ดังที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ทุกครั้ง

            ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงบทเรียนกรณี 2 ม็อบล้อมสภาถูกยิงแก๊สน้ำตาเท่านั้น ยังมีบทเรียนความสูญเสียอีกมากมาย หากไม่ช่วยกันผ่อนคลายลงไป จะให้มีวีรชนต้องนับกันอีกหรือ?.

นายชาติสังคม

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"