ล้อเลื่อนเพื่อผู้สูงวัย ช่วยผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง


เพิ่มเพื่อน    


เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน และใช้ชีวิตในการเคลื่อนไหวยากลำบาก กับผลงานชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงวัย ผ่านการนำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโออุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขากายภาพบำบัด ม.วลัยลักษณ์ ที่ใช้ชื่อทีมว่า “ล้อเลื่อนเคลื่อนชีวิต” ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นโดย สสส.ร่วมกับมูลนิธิ มส.ผส. และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ความโดดเด่นของสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนสูงวัยดังกล่าวเน้นการใช้งานได้จริงและมีระบบที่ไม่ซับซ้อน ใช้งบประมาณในการดีไซน์ผลงานอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ อีกทั้งช่วยเติมเต็มคุณภาพคุณย่าคุณยายได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง 

(อัสมาอ์ พิทักษ์คุมพล (ซ้าย), กันทรากรณ์ แก้วดานา (กลาง), อัจฉรา เอียดหวัง (ขวา))

    กันทรากรณ์ แก้วดานา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สาขากายบำบัด ม.วลัยลักษณ์ ให้ข้อมูลว่า “เหตุผลของการสร้าง “ล้อเลื่อน” สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในสาขาวิชาเรียนของเราที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกายบำบัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรง จึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มจำนวน 9 คน ลงพื้นที่ไปยังชุมชน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กระทั่งได้พบกับคุณยายท่านหนึ่งที่ป่วยและมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีกร่วมกับมีอาการข้อสะโพกหัก ทำให้ใช้ชีวิตค่อนข้างยากลำบาก และปัญหาที่สำคัญของคุณยายอีกอย่างหนึ่ง ผู้ดูแลไม่ค่อยอยู่บ้าน จึงทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมดังกล่าว เนื่องจากเราพยายามหาสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะเข้ามาช่วยคุณยายให้ได้มากที่สุด ซึ่งล้อเลื่อนมีนานแล้ว แต่มีข้อจำกัดคือต้องใช้มือดัน ที่สำคัญผู้สูงอายุมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ผมและเพื่อนจึงคิดว่านวัตกรรมดังกล่าว เมื่อทำออกมาแล้วนั้นจะต้องทำให้คุณยายมีความสุขมากที่สุด และนึกถึงพวกเราครับ

(“ล้อเลื่อนเคลื่อนชีวิต” นวัตกรรมช่วยผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีกและสะโพกหัก ที่ช่วยทำให้เคลื่อนไหวได้สะดวกมากยิ่งขึ้น)

    “การใช้งานของนวัตกรรมดังกล่าวจะขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ที่สำคัญเราดีไซน์ให้มีแฮนด์จับสำหรับมืออีกข้างของคุณยายที่มีแรงเพื่อใช้ขับเคลื่อน ซึ่งก็คล้ายกับการนั่งบิดรถมอเตอร์ไซค์ โดยดีไซน์ให้บิดข้างเดียว และใช้มือเป็นตัวบังคับ ถ้าจะเลี้ยวก็ให้ดันไปข้างหน้า หรือกดที่ปุ่มสีแดง เพื่อปรับสวิตช์ให้รถถอยหลัง ซึ่งทีมของเรามองว่าช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ซึ่งก่อนหน้านี้คุณยายมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเวลาที่ไปอาบน้ำ ทำให้รู้สึกปวด แต่ล้อเลื่อนที่เราประดิษฐ์ขึ้นมานี้ค่อนข้างสะดวก ไม่ปวด สามารถนั่งพิงหรือเคลื่อนไหวได้ทั้งวัน เพราะตัวอุปกรณ์เดินหน้า-ถอยหลังได้ นอกจากนี้ ผู้อายุที่ไม่ได้เจ็บป่วยรุนแรงก็สามารถใช้งานและขับออกไปนอกบ้านได้”
สำหรับล้อเลื่อนเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ กันทรากรณ์ บอกให้ฟังว่า ได้ร่วมกันผลิตขึ้นมา 1 อัน และมอบให้คุณยายไว้ใช้งาน โดยใช้ระยะเวลาในการคิดและสร้างสรรค์ผลงานเป็นเวลา 2 เดือน ในส่วนของแบตเตอรี่ที่เป็นตัวขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าก็สามารถชาร์จแบตได้ และการชาร์จ 1 ครั้ง อยู่ได้ประมาณ 9 ชั่วโมง ในรอบ 1 สัปดาห์โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้สูงอายุจะชาร์จแบตเตอรี่อยู่ที่ 1 ครั้ง ทั้งนี้ การใช้งานของล้อเลื่อนอยู่ที่ 2-3 ปีต่อการซ่อมบำรุงทั้งตัวมอเตอร์และแบตเตอรี่ โดยในชุมชนจะมีทีมช่างคอยให้การช่วยเหลือหากตัวอุปกรณ์มีปัญหาหรือชำรุด
    ด้าน อัจฉรา เอียดหวัง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สาขากายบำบัด สมาชิกหนึ่งในทีม กล่าวเสริมว่า “เราทราบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต โดยสาขาวิชาของเราได้กระจายข่าว เราจึงได้เห็นโครงการ “สังคมสูงวัย ก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งจัดเป็นปีที่ 2 ประกอบกับเป็นกิจกรรม ที่สาขาวิชาของเราต้องเรียน หรือคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว ก็เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนรวมทั้งหมด 9 คน ในสาขากายภาพบำบัด โดยสร้างผลงานขึ้นมา และส่งเข้าประกวดผ่านคลิปวิดีโอ การใช้งานจริงของผู้สูงอายุ โดยมีอาจารย์ที่ ม.วลัยลักษณ์เป็นที่ปรึกษาให้ นอกจากนี้ พวกเราก็ได้ทำงานกับทีมช่างที่ให้คำแนะนำในการดีไซน์ รวมถึงการที่เราลงพื้นที่ และให้ผู้ดูแลหรือญาติของคุณยายมีส่วนร่วม โดยการที่ผู้ดูแลเสนอว่านวัตกรรมของเราค่อนข้างสูงไป โดยขอปรับขนาดให้ต่ำลงเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถนั่งได้สะดวก นอกจากนี้ ทีมของเราก็ได้ขอให้ผู้ดูแลปรับสภาพพื้นที่บ้านซึ่งแคบให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้ล้อเลื่อนเคลื่อนย้ายได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นการทำงานร่วมกันกับญาติผู้ป่วยค่ะ สุดท้ายก็ต้องขอบคุณโครงการนี้ เป็นอะไรที่ดีมากสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น คุณยายก็อาจต้องการนวัตกรรมเพื่อมาช่วยเหลือในการใช้ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ หรือให้เขาได้ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ และลดภาระการดูแลจากลูกหลานลงได้ค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"