'หินเบา' จากของเสียอุตสาหกรรม นวัตกรรมน่าจับตา ลดฝุ่นประหยัดพลังงาน


เพิ่มเพื่อน    

 

ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าทีมวิจัยเซรามิกส์ เอ็มเทค

 

 

 

     ในแต่ละปีมีของเสียจากภาคอุตสาหกรรมที่นําไปกําจัดด้วยวิธีฝังกลบปริมาณมาก ขณะที่พื้นที่ฝังกลบใกล้เต็มไม่สามารถขยายได้ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวและส่งเสริมให้มีการนําของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ และส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้หลัก 3Rs อย่างต่อเนื่อง

     แม้ว่าจะช่วยให้ปริมาณของเสียที่ถูกส่งไปกําจัดด้วยวิธีฝังกลบลดลง แต่ก็ยังมีปริมาณของเสียที่เหลือซึ่งมีศักยภาพในการนํากลับมาใช้ประโยชน์และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้

      Green Rock หรือวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นตัวอย่างล่าสุดที่นำของเสียจากอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ใช้เวลากว่า 3 ปีทำงานร่วมกับบริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่องในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)      พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุพลอยได้หรือสิ่งที่ไม่ใช้แล้ว ที่เกิดจากกระบวนการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมไทยเบฟเวอเรจฯ มาทำใหม่ เป็นวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (Green Rock) ใช้ทดแทนหินบดหรือทรายจากธรรมชาติในส่วนผสมของชิ้นส่วนคอนกรีตประเภทต่างๆ ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กได้

วัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ G-Rock กับหินจากธรรมชาติ

 

      ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สวทช.กำหนดแผนกลยุทธ์ ปี 2564-2568 โดยทำงานร่วมกับภาคเอกชนสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการลดของเสียจากอุตสาหกรรมและนำกลับมาใช้ประโยชน์ ผลงาน Green Rock เป็นหนึ่งในความสำเร็จ แนวคิดนี้ทำได้จริงและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ จุดเด่นคือช่วยลดภาระน้ำหนักโครงสร้างของตัวอาคาร โดยยังคงความแข็งแรงตามมาตรฐานด้านก่อสร้าง รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงานของอาคาร เพราะวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยฟองอากาศภายในจำนวนมาก ช่วยป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ภายในได้ดี จากงานวิจัย มีการทดสอบประสิทธิภาพด้านต่างๆ ปัจจุบันบริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด นำสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และใช้ชื่อทางการ "Green Rock” อย่างสมบูรณ์  

แผ่นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปผสม Green Rock โครงสร้างมีฟองอากาศ ป้องกันถ่ายเทความร้อนสู่ภายในอาคาร

 

      นวัตกรรมใหม่ช่วยลดปริมาณของเสียอุตสาหกรรมนี้ พัฒนาขึ้นโดย ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าทีมวิจัยเซรามิกส์ เอ็มเทค ที่มีความเชี่ยวชาญงานวิจัยด้านวัสดุก่อสร้าง ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยว่า ย้อนไป 10 ปีที่แล้ว ไทยตื่นตัวมาก ใช้เทคโนโลยีพัฒนาวัสดุด้านการประหยัดพลังงาน แต่เป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ต่อ วัสดุที่นำมาใช้ในประเทศไทย หากไม่มีการศึกษาวิจัยและตรวจสอบคุณสมบัติที่ดี ทำให้เกิดปัญหา มีตัวอย่างการใช้อิฐมวลเบาสร้างบ้าน แม้ช่วยประหยัดพลังงานภายในบ้าน แต่ยังขาดความแข็งแรง นำมาสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ทั้งสองด้านนี้ และนำมาสู่การออกแบบและพัฒนาสูตรส่วนผสมในกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยไทยเบฟสนับสนุนผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมหรือของเสีย ซึ่งเดิมไทยเบฟก็มีการจัดการของเสียในโรงงานอย่างถูกต้องอยู่แล้ว แต่มีแนวคิดตรงกันที่จะบริหารจัดการวัสดุพลอยได้ของอุตสาหกรรม นำมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ จนเกิดหินเบา "Green Rock” ขึ้น ปัจจุบันใช้ของเสียจากกลุ่มอุตสาหกรรมไทยเบฟร้อยละ 50 ผลิต Green Rock ในเชิงพาณิชย์ กำลังการผลิต 20 ตันต่อวัน ในช่วงเริ่มต้น เพราะเป็นโครงการต้นแบบ

      “ ปกติในงานก่อสร้างใช้คอนกรีต 70-80% เพราะมีคุณสมบัติแข็งแรง อายุการใช้งานยาวนาน ส่วนผสมคอนกรีตประกอบด้วยหิน ทราย และซีเมนต์ ซึ่งหินและทราย วัสดุธรรมชาติ ขุดจากแม่น้ำบ้าง ใต้ดินบ้าง รวมถึงระเบิดภูเขาก่อมลพิษทางอากาศ เราเอาหินธรรมชาติออก แล้วผสมหินเบา Green Rock ใส่แทน เมื่อเทียบในปริมาตรเท่ากัน ทำให้แผ่นคอนกรีตน้ำหนักเบากว่า 30-40% บวกกับโครงสร้างเม็ดมวลเบาที่มีรูพรุน ช่วยเก็บความร้อนไม่ให้เข้าสู่ภายในอาคาร ลดอุณหภูมิได้ 2-3 องศาเซลเซียส เมื่อบ้านเย็น ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งดูดซับเสียงได้ดี ทีมวิจัย สวทช.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้กับไทยเบฟ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ที่มีคุณภาพ" ดร.พิทักษ์ กล่าว 

จากของเสียอุตสาหกรรมพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

 

      จากหินเบาเม็ดเล็กๆ ที่มาจากของเสียโรงงาน ยังร่วมมือกับบริษัทเอกชน พัฒนาสู่แผ่นซีเมนต์ผสม Green Rock ผสมไฟเบอร์กลาส และขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างเพื่อการตกแต่งในรูปทรงต่างๆ ที่สวยงามและน่าจับตามอง  เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ประหยัดพลังงาน เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม  

      " หากเปรียบเทียบต้นทุนเฉพาะวัสดุ Green Rock กับหินจากธรรมชาติ คงไม่ได้ แต่นี่คือนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน แผ่นคอนกรีตที่ผสม Green Rock มีน้ำหนักเบา ลดค่าขนส่ง ส่วนการติดตั้งในงานก่อสร้างต้นทุนก็ลดลง อุณหภูมิในอาคารที่ลดลง ทำให้ลดการใช้ไฟ  ลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกที ถือว่ามีความคุ้มค่า ซึ่งบริษัทผลิตชิ้นส่วนงานคอนกรีตที่สนใจนวัตกรรมนี้ ทาง สวทช.และไทยเบฟ พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อปรับหรือพัฒนาสูตรผสมในกระบวนการผลิต หากโรงงานต่างๆ มีการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใหม่ๆ ที่มีคุณค่า รวมถึงบริษัทในสายงานการก่อสร้างใช้เม็ดมวลเบาผสมจะช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้" ดร.พิทักษ์กล่าว

ประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดสายบริหารทั่วไป ไทยเบฟ

 

      ด้าน ประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดสายบริหารทั่วไปบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ไทยเบฟมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนและสังคม โดยน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรในห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไทยเบฟสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการพัฒนาและประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่ๆ ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อผู้คน สังคมและเศรษฐกิจ ทำให้สามารถนำไปขยายผลต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นโอกาสดีที่ไทยเบฟให้การสนับสนุนงานวิจัยผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตซึ่งนำมาพัฒนาให้เป็น Green Rock หรือเม็ดวัสดุมวลเบาสังเคราะห์ที่เป็นนวัตกรรมเพื่องานวัสดุก่อสร้างตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทั้งทางด้านคุณภาพการใช้งานสามารถใช้ทดแทนหินบดหรือทรายจากธรรมชาติ ทำให้รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเติบโตอย่างยั่งยืน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"