เดินเครื่องอีอีซีไอตั้งเสา5G พัฒนาพื้นที่สู่ศูนย์กลางนวัตกรรม


เพิ่มเพื่อน    

      การพัฒนาอีอีซีไอ เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถการวิจัยและพัฒนาให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ได้กำหนดไว้ในยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580)

 

 

      เมื่อช่วงต้นปี 63 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่สัญญาณโทรคมนาคม 5G (5 จี) ครั้งแรก เพื่อเปิดให้บริการกับผู้ใช้สัญญาณโทรศัพท์รูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและทันสมัยขึ้น โดยในหลายประเทศภูมิภาคเอเชียนั้นมีการเริ่มใช้สัญญาณดังกล่าวแล้ว และถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ด้วย เนื่องจากสัญญาณดังกล่าวจะเข้ามาช่วยในเรื่องการส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ทำให้การสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ นั้นมีความทันท่วงที และเพิ่มประสิทธิภาพจากการใช้งานระบบ 4G แบบเดิม

        โดยในประเทศไทยแม้ว่าการใช้งาน 5G จะยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ก็ตาม แต่ในพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ ปัจจุบันก็มีการเปิดให้ใช้กันแล้วหลายคลื่นความถี่ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ผู้ให้บริการค่ายสัญญาณโทรศัพท์จะเป็นผู้กำหนดพื้นที่และเงื่อนไขการใช้งาน แต่มีหนึ่งพื้นที่ที่ตอนนี้ได้เริ่มเปิดใช้บริการสัญญาณ 5G อย่างครอบคลุมเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้านดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งก็คือพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีไอ

        ที่เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาให้ควบคู่ไปกับพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี แต่เป็นพื้นที่ในวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยี 5G ในพื้นที่นี้ ซึ่งอีอีซีไอตั้งอยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ

        นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีไอ เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถการวิจัยและพัฒนาให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580)

        และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) เสริมสร้างให้ประเทศไทยสามารถสร้างห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ

        ปัจจุบัน วังจันทร์วัลเลย์ ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม จึงนับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ และตอกย้ำความพร้อมของพื้นที่แห่งนี้ตามเจตนารมณ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อไป

        ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ และแผนพัฒนาระบบอัจฉริยะต่างๆ ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย 1.Smart Economy (สมาร์ท อีโคโนมี) มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความเชื่อมโยง และความร่วมมือทางธุรกิจและนวัตกรรม โดยความตั้งใจของ ปตท. ภาครัฐ และภาคเอกชนที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่โครงการให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

        2.Smart People (สมาร์ท พีเพิล) มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยภายในโครงการมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เช่น สถาบันวิทยสิริเมธี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนนานาชาติ และศูนย์ฝึกอบรม Up-skill Re-skill รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ในการพัฒนาศักยภาพบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        3.Smart Living (สมาร์ท ลิฟวิ่ง) มุ่งเน้นความปลอดภัยและบริการที่เพียบพร้อม โดยโครงการมีการออกแบบตามหลักการของ Smart Home และ Universal Design เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัย มีความสุขในการดำรงชีวิต ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และสันทนาการต่างๆ รองรับอย่างครบครัน 4.Smart Environment (สมาร์ท เอ็นไวรอนเมนต์) มุ่งเน้นการบริการจัดการสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ถูกสุขลักษณะ มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

        5.Smart Mobility (สมาร์ท โมบิลิตี้) มุ่งเน้นความสะดวก ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการเดินทางและขนส่ง โดยส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จัดให้มีที่จอดรถยนต์อัจฉริยะ และให้บริการรถประจำทางไฟฟ้าที่มีโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางเดินและทางจักรยาน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6.Smart Energy (สมาร์ท เอนเนอร์ยี่) ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยติดตั้ง Solar Farm และ Solar Roof Top มีการบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่าย Smart Grid ที่เชื่อมต่อกับอาคารประหยัดพลังงานภายในพื้นที่โครงการ เพื่อลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        และ 7.Smart Governance (สมาร์ท โกฟเวอร์แนนซ์) มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ มีการให้บริการแบบวัน สต็อป เซอร์วิส โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส ลดระยะเวลาในการติดต่อหน่วยงานต่างๆ

        ซึ่งล่าสุดพื้นที่ดังกล่าว โดย ปตท.ได้เปิดโครงการความร่วมมือ 5G x UAV SANDBOX ซึ่งนำร่องใช้เทคโนโลยี 5G มาเพิ่มขีดความสามารถการใช้งานโดรนบิน เพื่อทดสอบและวิจัยเป็นแห่งแรกของประเทศ รวมถึงเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือนวัตกรรมที่ใช้ 5G ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูล เพื่อการตอบสนองที่ไวขึ้น เข้ามาทดสอบได้ด้วย

        โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (ดีแทค)  เข้ามาร่วมสนับสนุนในด้านต่างๆ 

        ซึ่งการร่วมมือกับพันธมิตรดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยจะแบ่งหน้าที่การทำงานคือ  CAAT สนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การอนุญาตปฏิบัติแตกต่างจากเงื่อนไขที่กำหนด ด้าน กสทช.บริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการทดสอบ 5G ในพื้นที่ เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์

        ด้าน สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้บริหารจัดการอีอีซีไอ จะให้การสนับสนุนการดำเนินการ UAV Sandbox ได้อย่างสะดวกและประสบความสำเร็จ ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะ ความรู้ด้านการบินโดรนแก่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ ขณะที่ด้านเอไอเอส ร่วมกับ VISTEC ทดสอบและพัฒนาโดรนวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาสินทรัพย์

        และทรู ทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องที่ควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True5G เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของพื้นที่ และดีแทค พัฒนาการทดสอบสู่กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G สำหรับควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง ให้การสั่งการรวดเร็วและภาพที่คมชัด

        ด้าน นายคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า จากพื้นฐานความแข็งแกร่งของไทยในการเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มานาน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย ทำให้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้สูง ประกอบกับนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงได้เดินหน้าวางโครงสร้าง 5G อย่างเป็นรูปธรรมชาติในพื้นที่ขนาดใหญ่ชาติแรกในอาเซียน ทำให้มีบริษัทเทคโนโลยี 5G จำนวนมากมีเป้าหมายเข้ามาลงทุนในไทย เพราะการลงทุนสมัยใหม่ เทคโนโลยี 5G นั้นสำคัญเป็นอย่างมาก

        โดย 5G ที่พูดถึงนั้น อธิบายได้ว่าการใช้งานด้านอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณไร้สาย จะสามารถรับการตอบสนองได้รวดเร็วขึ้น สามารถสั่งงานหรือควบคุมสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือแทบจะเรียกว่าทันทีเลยก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อเทียบการรับส่งข้อมูลกับ 4G นั้น การใช้ 5G จะมีความเร็วมากกว่าถึง 20 เท่าตัวเลย ซึ่งเร็วมากพอที่จะดูวิดีโอที่มีความละเอียดสูงอย่าง 8K แบบออนไลน์ หรือแบบ 3 มิติได้แบบไม่สะดุด หรือจะดาวน์โหลดภาพยนตร์ 3 มิติ ได้ภายใน 6 วินาที

        เชื่อว่าการพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอโดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามานั้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความน่าสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ในสมัยนี้ต้องการความรวดเร็ว แม่นยำ และครอบคลุมเป็นอย่างมาก และเทคโนโลยี 5G ที่ได้นำมาใช้ในพื้นที่นี้ จะส่งผลให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนในด้านของอุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในประเทศไทยได้แน่นอน โดย ปตท. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้น ก็ได้มีการขอสิทธิพิเศษสำหรับเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

        โดยสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจลงทุน ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี ยกเว้นภาษีอากาขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา 17% ซึ่งต่ำสุดเอเชีย รวมถึงสมาร์ท วีซ่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว พื้นที่ผอนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม และศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จที่เดียว ซึ่งมั่นใจว่าแนวทางการดึงดูดการลงทุนนี้จะสร้างความตื่นตัวให้กับภาคเอกชน รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งหลายได้อย่างดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"