ความต่างในความเหมือน ร่างแก้ รธน.ซีกรัฐบาล-ค้าน


เพิ่มเพื่อน    

         เชื่อว่าหลายคนคงกำลังสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่าอะไร อย่างไร สรุปกันแบบง่ายๆ ว่า ปัจจุบันรัฐสภากำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ในชั้นคณะกรรมาธิการ

            โดยเป็นการยกเลิกมาตรา 256 เป็นมาตราที่เกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ไขมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญปี 60 แล้วนำเนื้อหาใหม่ใส่เข้าไปแทน นอกจากนี้ก็ยังจะมีการเพิ่มหมวดขึ้นใหม่อีก 1 หมวด คือ หมวดจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

            เมื่อคณะกรรมาธิการทำสองเรื่องดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย ก็จะต้องนำการแก้ไขเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อลงมติในวาระสองเป็นรายมาตรา และลงมติทั้งฉบับในวาระสอง จากนั้นจึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ไปทำประชามติ หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยก็สามารถตั้ง ส.ส.ร.เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย

            นี่คือลำดับขั้นตอน

            อย่างไรก็ตาม ในชั้นคณะกรรมาธิการนี้เอง มีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน  2 ฉบับให้พิจารณา

            กล่าวคือ มาจากฝ่ายรัฐบาลหนึ่งฉบับ และมาจากฝ่ายค้านอีกหนึ่งฉบับ โดยส่วนของการเพิ่มหมวดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ทั้งสองฝ่ายมีแนวคิดเหมือนกันเป๊ะ ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และห้าม ส.ส.ร.แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ

            แต่ที่แตกต่างกันคือรายละเอียด เมื่อสแกนร่างแก้ไขของทั้งสองฝ่าย พบว่า แม้จะเสนอให้ตั้งจำนวน ส.ส.ร.เท่ากัน ที่ 200 คน แต่ที่มาของ ส.ส.ร. แตกต่าง ในส่วนฝ่ายค้านกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด สำหรับของฝ่ายรัฐบาลจะมีทั้งมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และมาจากการสรรหา 50 คน ซึ่งส่วนของการสรรหาจะมาจากรัฐสภา 20 คน มาจากนักเรียน นิสิตนักศึกษา 10 คน

            นอกจากนี้ก็ยังมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 20 คน โดยส่วนนี้แบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วน คือ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายมหาชน หรือรัฐศาสตร์ 10 คน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองหรือการร่างรัฐธรรมนูญอีก 10 คน

            ทว่า ส.ส.ร.ในแบบฉบับฝ่ายค้าน กำหนดแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 45 คน ประกอบด้วย สมาชิกสภา 30 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายมหาชน 5 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง บริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน

            ประเด็นต่อมาที่มีความแตกต่างกันคือ ระยะเวลากรอบการทำงานของ ส.ส.ร. โดยฝ่ายรัฐบาลเสนอ 240 วัน ด้านฝ่ายค้านเสนอ 150 วัน

            นอกจากนี้ รายละเอียดในการทำประชามติภายหลังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายค้านเสนอให้นำส่งประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใน 7 วันนับแต่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ไปทำประชามติ จากนั้นให้ กกต.ประกาศวันทำประชามติ ไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วันนับแต่ได้รับร่าง

            ขณะที่ ร่างรัฐธรรมนูญของซีกรัฐบาลไม่ได้ให้ทำประชามติแต่แรก ปรากฏว่าสำหรับเวอร์ชั่นของฝ่ายรัฐบาลนั้นให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้ลงมติว่าจะเห็นชอบ หรือไม่ชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ โดยอาศัยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่ จึงจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จากนั้นก็ส่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไป

            แต่ถ้าสภาไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ส่งทำประชามติ โดยประธานรัฐสภาต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กกต.ภายใน 7 วัน และ กกต.ก็จัดทำประชามติภายใน 60 วัน โดยให้ กกต.ประกาศผลภายใน 15 วัน ทั้งนี้ถ้าผู้มีสิทธิ์มาออกเสียงไม่ถึง 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญตกไป

            ทว่า ทั้งหมดทั้งมวลเรื่องที่สำคัญเบื้องต้นที่ต้องจับตา คือ ญัตติของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่ขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติให้ส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 60 หรือไม่ ถ้ามีมติเห็นด้วยให้ส่งศาล แล้วศาลวินิจฉัยออกมาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็เป็นอันว่าจบ พับร่างรัฐธรรมนูญเก็บใส่หีบ กระบวนการในชั้นคณะกรรมาธิการก็มีอันล้มเลิก

            แต่ถ้าผลวินิจฉัยยังให้ไปต่อ มีอีกขยักหนึ่งที่ต้องลุ้น เมื่อที่ประชุมรัฐสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามแล้ว “ไพบูลย์” ก็จะยื่นผ่านประธานรัฐสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก

            ทั้งนี้ทั้งนั้น ในชั้นคณะกรรมาธิการคงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างวุ่นวาย เพราะในความเหมือนก็ยังมีความต่างในรายละเอียด.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"