ราชาธิปไตย กับสถาบันกษัตริย์ไทย


เพิ่มเพื่อน    

 พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ใต้ รธน.

            การเคลื่อนไหวนัดชุมนุมของม็อบสามนิ้วยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งถึงตอนนี้ก็ผ่านมาเดือนกว่าแล้วนับแต่เริ่มชุมนุมใหญ่เมื่อ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยล่าสุดคือการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันแกนนำคณะราษฎร 2563 ยืนยันจะเดินหน้าจัดชุมนุมต่อไปเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะมีการเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับแกนนำผู้ชุมนุม

            มุมวิเคราะห์สถานการณ์การชุมนุมต่อจากนี้ รวมถึงความเห็นต่อข้อถามที่ว่า จนถึงขณะนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีการปรับตัวอย่างไรกับบริบททางสังคมการเมืองของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในทัศนะของ ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นนักวิชาการที่เขียนหนังสือและบทความออกมาต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองและสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งของประเทศไทยและหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป อาทิ เรื่อง ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นงานวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี 2562 ซึ่งความเห็นของนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีรายละเอียดดังนี้

            ศ.ดร.ไชยันต์ เริ่มต้นที่การมองความเคลื่อนไหวของการชุมนุมเวลานี้ว่า นับแต่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. จนถึงปัจจุบัน โดยการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. ซึ่งแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ตอนนั้นสื่อก็มาถามว่าเข้าข่ายล้มล้างสถาบันหรือไม่ ผมก็ให้ความเห็นตอนนั้นว่าไม่เข้าข่ายการล้มล้างสถาบัน แต่เป็นข้อเสนอที่ต้องการลดทอนพระราชอำนาจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกข้อจะสามารถทำได้ เพราะบางข้อเรียกร้องจะพบว่าในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้ รธน.ทั่วโลกเขาก็ยังคงมีไว้ เช่น การฟ้องร้องต่างๆ จะทำไม่ได้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าประเด็นที่ฟ้องร้องไม่ได้ ก็คือประเด็นเกี่ยวกับพระปรมาภิไธย เกี่ยวกับเรื่องที่ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการทำเรื่องมาแล้ว

            อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นมาถึงวันนี้ข้อเรียกร้องดังกล่าวดูเหมือนจะกลายเป็นฐานที่จะก้าวไปสู่การขยับเพดานมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนคนบางส่วนมองว่าสิบข้อที่เคยประกาศ น่าจะเป็นเจตนาแอบแฝงที่ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งผมก็ยังยืนยันว่า 10 ข้อที่เคยเรียกร้องไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน แต่ว่าพฤติกรรมและการแสดงออกในการชุมนุมดูเหมือนว่าไม่ได้เห็น คุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกต่อไปแล้ว มีการด้อยค่า ไม่เห็นความสำคัญ และกล่าวหาอะไรที่ในแง่หนึ่งมันคือการหมิ่นประมาท รุนแรง และกลับกลายเป็นว่าดูเหมือนเป้าหมายที่ต้องการจริงๆ คือเจตนาต้องการอยากจะยั่วยุให้เกิดการใช้กำลังจากฝ่ายรัฐบาล หรือยั่วยุให้เกิดการใช้กำลังจากประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง อันนี้น่าจะเป็นเป้าหมายของพวกเขา

            ...เขาต้องการให้เกิดการใช้ความรุนแรง ให้มีการใช้กำลังกับพวกเขา การชุมนุมบางครั้งก็อยู่ในระเบียบ บางครั้งก็ไม่อยู่ในระเบียบ ไม่แจ้งตำรวจก่อนหน้าการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ หรือบางทีก็แจ้ง และแสดงออกอย่างท้าทาย คือข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ก็จะยังเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม แต่ดูเหมือนต้องการจะให้เกิดสถานการณ์ สร้างสถานการณ์ให้มีการกระทำต่อเขา เพราะถ้ามีการใช้กำลัง มีการใช้ความรุนแรงก็จะได้กล่าวหาว่าสถาบันอยู่เบื้องหลังการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรง ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีวาทกรรมในเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา

            ...ก็มีความพยายามทำให้สิ่งที่พวกอดีตแกนนำนักศึกษาตอนช่วง 6 ตุลาคม 2519 พยายามจะอธิบายเหตุการณ์ตอนนั้นว่าสถาบันอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ เช่นที่มีตำรวจบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาต้องการยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันก็เกิดขึ้นอีก ซึ่งมันน่าจะมีสาเหตุและผู้สั่งการชุดเดียวกัน คือเป็นเรื่องของอิทธิพลของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะถ้าเกิด โลกทั้งโลกก็จะเพ่งมองมีการทำอะไรเกิดขึ้นกับคนที่ออกมาแค่เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ให้มีการแก้กฎหมาย แล้วทำไมต้องทำรุนแรง และสร้างภาพว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีการกล่าวหาว่ามีการอุ้มฆ่า มีการกล่าวหาว่าทารุณโหดร้าย ที่มีการไปสร้างภาพกับต่างประเทศ เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดการใช้กำลัง เขาก็พยายามจะบอกตรงนั้น ก็คือเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือว่าถ้ารัฐบาลไม่ได้ลงมือเอง แต่เกิดการตีกัน จนที่สุดรัฐบาลคุมไม่ได้แล้วเกิดรัฐประหาร ก็จะออกมาบอกว่าเห็นไหมที่สุดแล้วก็ลงเอยด้วยการทำรัฐประหาร แล้วก็จะบอกว่าเป็นการรวบอำนาจ การไม่ยอมรับการปฏิรูปสถาบัน แล้วก็มาลงเอยด้วยการทำรัฐประหาร จนกลายเป็นวังวนที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหา สถาบันมีปัญหา

                -สถานการณ์หลังจากนี้ประเมินแล้วเป็นอย่างไร บางฝ่ายเช่นกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมก็บอกว่าอาจเกิดรัฐประหาร?

            อย่าลืมว่าตอนก่อนรัฐประหารปี พ.ศ.2549 และปี 2557 สถานการณ์ก่อนหน้ารัฐประหารคนออกมาร่วมชุมนุมกันมหาศาล อย่างเช่นก่อนชุมนุมใหญ่พันธมิตรฯ วันที่ 20 กันยายน 2549 ก็มีข่าวว่าจะมีมือที่สาม จะมีการขนมวลชนจากทางภาคเหนือและพวกป่าไม้เข้ามาในกรุงเทพมหานคร ส่วนปี 2557 ก็มีกลุ่มมวลชน 2 กลุ่ม (กปปส.-นปช.) ที่พร้อมจะปะทะกัน โดยระหว่างนั้นที่ กปปส.มีการชุมนุม ก็มีเรื่องของการที่มีข่าวการทำร้ายกันและกัน แต่สำหรับปัจจุบันปี 2563 เงื่อนไขที่ว่าจะมีการรัฐประหารมันไม่มี เพราะอาจมีการปะทะกันบ้าง แต่ก็ยังเล็กน้อย ยังไม่ถึงขั้นคนจำนวนมากออกมาตีกันเองกลางเมือง จนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้แล้ว

ขณะเดียวกันเรื่องจะมีรัฐประหารหรือไม่ ต้องดูด้วยว่าคนในสังคมไทยมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ถ้ายังเปราะบางเหมือนเดิม เช่น มีการชุมนุมแล้วมีการพูดจาจาบจ้วงสถาบัน จนคนทนไม่ได้ จนออกไปตีกัน หรือทนไม่ได้แล้ว เลยเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้เกิดความสงบเสียที ถ้าอารมณ์เปราะบางขนาดนี้ มันก็จะไปกดดันให้รัฐบาลต้องทำ ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุม สำหรับเขาแล้ว หากจะเกิดการปะทะหรือเกิดรัฐประหาร ถือว่า win-win ทั้งนั้น เพราะความชอบธรรมจะอยู่ที่ฝ่ายเขามากกว่าจะไปอยู่ที่ฝ่ายที่ไปตีพวกผู้ชุมนุม หรือฝ่ายรัฐบาลที่ควบคุมฝูงชนและฝ่ายที่ออกมาทำรัฐประหาร

            ผมก็คิดว่าสังคมไทย คนจำนวนมากน่าจะพัฒนาการมีวุฒิภาวะทางการเมืองมากขึ้นที่จะไม่เรียกร้องการทำรัฐประหาร และรัฐบาลก็เรียนรู้อะไรเยอะแล้วว่าไม่ควรเปิดช่องให้เกิดรัฐประหาร ผมคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ไม่อยากให้เกิดการทำรัฐประหาร เพราะมันเกิดความยุ่งยากว่าสถาบันจะวางตัวอย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ถึงลงนามพระปรมาภิไธย ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องใน 10 ข้อของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่บอกว่าต่อไปนี้ไม่ให้พระมหากษัตริย์ลงนามพระปรมาภิไธยในการทำรัฐประหาร ซึ่งผมว่าจริงๆ แล้วรัชกาลที่ 9 เองคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คำว่าพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนบ่อย ท่านคงอยู่ในภาวะที่ยุ่งยากพอสมควร และเวลามีคนทำรัฐประหาร ซึ่งหากพระองค์ท่านไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็หมายความว่าท่านไม่เห็นด้วย ก็หมายถึงอีกฝ่ายที่ต้องสูญเสียอำนาจไป ก็หมายถึงท่านเห็นด้วยกับฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหารหรือเปล่า ก็จะถูกมองว่าเทกไซด์ทางการเมืองอยู่ดี เพราะหากในหลวงไม่ทรงลงนามให้ฝ่ายรัฐประหาร ก็แปลว่าฝ่ายนั้นชอบธรรม ก็จะตีกันเกิดสงครามกลางเมืองอยู่ดี

            มันเป็นสถานการณ์ที่ยุ่งยาก การที่มีรัฐประหารในช่วงในหลวงรัชกาลที่ 9 เวลาเกิดรัฐประหาร ก็ต้องให้แน่ใจว่ามันสงบ เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ 10 ผมคิดว่าท่านก็คงเข้าใจถึงสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบ 70 ปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ ท่านถึงไม่ต้องการให้มีม็อบ ไม่อยากให้ใช้มาตรา 112 เพื่อจะได้ทำอย่างไรไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดรัฐประหาร ซึ่งแม้ตอนนี้พลเอกประยุทธ์จะให้มีการใช้มาตรา 112 แต่ผู้คนที่เป็นฝ่ายจงรักภักดีก็ยังรู้สึกว่า รัฐบาลยังทำอ่อนไป และเรียกร้องให้ทำอะไรมากขึ้น ก็ทำให้รัฐบาลอยู่ในจุดยืนที่ยากลำบาก เพราะหากทำแรงไป ก็ทำให้กระแสฝ่ายต่อต้านรัฐบาล-สถาบันยิ่งแรงขึ้น

            ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อไปว่า การเคลื่อนไหวหลังจากนี้ ดูแล้วแน่นอนว่าผู้ชุมนุมคงขยับเพดานการเคลื่อนไหวขึ้นไป เพราะต้องการให้มีการจับกุม ให้มีการใช้กำลัง เพื่อรัฐบาลจะได้หมดความชอบธรรม ส่วนรัฐบาลจะทำอย่างไร ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย เช่น การออกหมายเรียก หมายจับ เหมือนอย่างฝรั่งเศส เขามีกลุ่ม เสื้อกั๊กเหลือง ประท้วงกันมา 2 ปีแล้ว มีการเรียกร้องให้ เอมมานูเอล มาครง ลาออก แต่เขาก็ไม่ลาออก เพราะเห็นว่าเงื่อนไขในรัฐสภาไม่ทำให้ออกจากตำแหน่ง เขาก็ไม่ลาออก จนเสื้อกั๊กเหลืองก็ชุมนุมแรงขึ้นเรื่อยๆ ตำรวจก็จับกุม โดยการควบคุมฝูงชนของฝรั่งเศสรุนแรงเลย

            แนวทางที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ทุกฝ่ายก็ควรยึดครรลองหรือค่านิยมประชาธิปไตย ที่ต้องยอมรับว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมาย ก็ต้องจับแกนนำ หรือมีการจาบจ้วงสถาบัน มีการอาฆาตมาดร้าย มีพยานหลักฐาน ก็ออกหมายเรียกหมายจับ หากจะมีแกนนำรุ่นอื่นๆ ขึ้นมา ก็ว่าไป ก็อยู่ไปแบบนี้ เราต้องยอมรับ ต้องเปลี่ยนทัศนคติ เพราะเราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้

             เราต้องมี new normal ทางการเมือง คืออยากชุมนุมก็ชุมนุมไป เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่หากทำผิดก็ดำเนินคดี ต้องอดทนอดกลั้น ไม่ใช่ว่าอยากให้บ้านเมืองสงบ ต้องรัฐประหารหรือใช้กำลังกัน

ส่วนผู้ชุมนุมก็ต้องยอมรับด้วย เพราะจะขยับเพดานการชุมนุม โดยไม่เคารพกฎหมายแล้วก็จาบจ้วงสถาบัน ไปถึงไหน ในเมื่อยังไงทหารก็ไม่ทำรัฐประหาร หรือจะยั่วยุเพื่อให้อีกฝั่งหนึ่งทำตัวเป็นศาลเตี้ยเข้ามาทำร้าย แล้วก็พยายามจะเคลื่อนไหวเพื่อให้มันสัมฤทธิผลโดยเร็ว วิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ในต่างประเทศ บางทีเขาประท้วงกัน 5 ปี ไปยืนประท้วง พอถึง 4 ทุ่ม หมดเวลาก็กลับบ้าน แล้วต่อไปก็กลับมายืนประท้วงกันใหม่    

            -การที่พลเอกประยุทธ์ให้มีการใช้มาตรา 112 เป็นเพราะการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการแสดงออกบางอย่างต่อพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงหรือไม่?

            ใช่ครับ ขนาดคนธรรมดา ไปบอกให้เสียชีวิต มันก็ไม่ถูกต้องแล้ว แต่นี่เป็นบุคคลสำคัญของประเทศ อย่างในต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาสมัยบารัค โอบามา ที่มีชายชาวสหรัฐฯ เขียนบทกลอน ว่าอุปกรณ์สไนเปอร์ที่ยิงระยะไกลแล้วอยากให้โอบามาเสียชีวิต อยากจะยิงโอบามา โดยไม่ได้ไปยิง แต่แค่เขียนบทกลอน ก็ยังถูกศาลตัดสินจำคุกหลายปี และโดนปรับเงิน เพราะประธานาธิบดีคือประมุขของรัฐ ไปอาฆาตมาดร้าย ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน

            กฎหมายบ้านเรา คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ครอบคลุมพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี ก็ชัดเจน ก็ต้องขึ้นศาล เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ไปอธิบายต่อศาลว่าคนที่ไปพ่นสเปรย์ข้อความ เพราะจริงๆ แล้วหากปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุม ต้องมีผู้จัดการชุมนุม ซึ่งคนที่ไปพ่นข้อความและคนที่เป็นผู้จัดการชุมนุมต้องรับผิดชอบ เหตุผลที่พลเอกประยุทธ์ประกาศจึงถูกต้อง เพราะไปจาบจ้วงอาฆาตมาดร้ายอย่างรุนแรงขนาดนั้น การคิดการให้คนคนหนึ่งเสียชีวิต เป็นเรื่องปกติ แม้จะไม่ได้ไปทำ แต่คุณอาจเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นไปทำได้ อย่างที่คนหนุ่มอเมริกันเขียนบทกวีเรื่องสไนเปอร์ แม้ตัวเองไม่ได้ทำ แต่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นไปทำ 

ศตวรรษที่ 21 กับการมีระบอบพระมหากษัตริย์

-มองว่าตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวประกาศข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อ 10 สิงหาคม ที่ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต จนถึงปัจจุบัน สถาบันมีการปรับตัวหรือยัง เพราะปัจจุบันก็จะพบเห็นการที่ในหลวงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนตามสถานที่ต่างๆ หลังเสร็จสิ้นพระราชภารกิจ?

            ผมไม่ทราบว่านั่นคือการปรับตัวหรือไม่ ตอบไม่ได้ แต่ผมดูว่าเป็นเรื่องที่ดีขึ้น กับการที่ท่านพบปะประชาชน โดยประชาชนก็มีความปีติยินดี ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนที่เทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพบปะประชาชน ก็เป็นเรื่องดีในความรู้สึกของผู้คน ไม่ห่างเหินกัน

            คือในศตวรรษที่ 21 การมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือมีพระมหากษัตริย์ ถือเป็นเรื่องประหลาด  เป็นเรื่องพิเศษ ต้องเป็นประเทศที่พิเศษจริงๆ ถึงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้จนถึงศตวรรษที่ 21 ได้ ความพิเศษนี้คือพิเศษทั้งตัวสถาบันและประชาชน ถ้าขาดความพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งไป เช่นสถาบันไม่เป็นที่ยอมรับ ก็อยู่ไม่ได้ หรือว่าประชาชนไม่เข้าใจความสำคัญของสถาบัน  สถาบันก็อยู่ไม่ได้ ความสัมพันธ์นี้จึงเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ ซึ่งมีประเทศไม่มากในโลกที่สามารถจะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ เช่น อังกฤษ นอร์เวย์ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น

-บนเวทีชุมนุมบางแห่งมีการพูดถึงความต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยยกโมเดลในยุโรป เช่น สวีเดน เดนมาร์ก อังกฤษ?

            การจะให้ของไทยไปเหมือนในยุโรป จะให้เหมือนแบบปัจจุบันหรือจะให้เหมือนตอนที่ประเทศเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว 80 กว่าปี อย่างหากเป็นปัจจุบัน ประเทศอย่างอังกฤษ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของอังกฤษผ่านมา 300 กว่าปีแล้ว ทุกอย่างมันลงตัว ประชาชนมีคุณภาพพอที่จะตรวจสอบนักการเมือง และการเมืองก็รู้หน้าที่ของตัวเอง สถาบันเขาเลยไม่ต้องทำอะไรมาก ก็อยู่ข้างบนไป แต่ของไทยเราจะให้ไปเหมือนอังกฤษ  เดนมาร์ก สวีเดน แบบในปัจจุบัน มันจะไม่ก้าวกระโดดเกินไปหรือ มันจะพัฒนาอะไรไปได้เร็วขนาดนั้น มันเป็นไปไม่ได้  ของต่างประเทศเขาต่างก็ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าทุกอย่างจะลงตัว

            หนอนมาเป็นดักแด้ก่อนแล้วถึงไปเป็นผีเสื้อ ก็มีระยะเวลา แต่เราอาจไม่ต้องใช้เวลานานแบบในอังกฤษ ที่ของเขาใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าทุกอย่างจะลงตัว อาจไม่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น แต่จะไปกระโดดข้ามขั้นตอนเลยก็ไม่ได้ คนที่ไปเรียกร้องแบบนั้นจึงไม่เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ต้องมีเวลาของมัน

                -คำว่า ราชาธิปไตย ความหมายทางรัฐศาสตร์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร?

            ราชาธิปไตย ก็จะมีคำกล่าวที่แบ่งเป็น Absolute  Monarchy สมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับ ปรมิตตาญาสิทธิราชย์  หรือ Limited Monarchy แต่ล่าสุดนักวิชาการตะวันตกเขาบอกว่า Absolute Monarchy ราชาธิปไตยอันมีอำนาจสมบูรณ์ เป็นมายาคติที่ไม่เคยมีจริง เพราะไม่เคยมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีอำนาจจำกัดในโลกนี้

...อย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เป็นต้นแบบของ Absolute Monarchy มันไม่มีจริงเพราะจริงๆ แล้วกษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจอันล้นพ้นเลย ในความเป็นจริงมันมีขุนนาง มีอภิชน ที่คอยทัดทานอำนาจ คือในทางทฤษฎีอาจจะมีอำนาจอันสมบูรณ์ แต่ในทางปฏิบัติจริงมันไม่มี และที่สำคัญ ตอนที่มีการสร้างคำว่า Absolute ขึ้นมาในช่วงสมัยวิลเลียม  เชกสเปียร์ หมายถึง "ไม่มีที่ติ" เช่น Absolute Poet คือกวีที่ไม่มีที่ติ

            การที่มีการสร้างคำว่า Absolute Monarchy  คือกำลังจะบอกว่า กษัตริย์คนนี้หรือระบอบนี้ perfect แต่เราไปแปลว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือไปตีความว่าอำนาจอันไม่จำกัด  พอคำไปติดก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งจริงๆ มันไม่เคยมี  Absolute Monarchy เพราะ Absolute Monarchy เป็นแค่แบรนด์ แต่มันไม่เป็นจริง ไม่เคยมีอำนาจขนาดนั้นได้จริงๆ

            นักวิชาการตะวันตกรุ่นใหม่เขาเลยบอกว่า จริงๆ แล้ว ราชาธิปไตยเป็นราชาธิปไตยที่อำนาจจำกัดมาโดยตลอด  เพียงแต่จะแตกต่างกันว่า ราชาธิปไตย อำนาจจำกัด จำกัดด้วยอะไร จำกัดจากเงื่อนไขที่มีอภิชน มีศักดินา เจ้าแคว้น  หรือจำกัดตรงที่ไม่มีเครื่องมือ กลไกรัฐที่จะไปใช้อำนาจของกษัตริย์ในพื้นที่ซึ่งห่างไกล กับอีกแบบหนึ่ง ราชาธิปไตย อันมีอำนาจจำกัด และจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ มันเหลืออยู่แค่นี้

            Absolute Monarchy หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นแค่แบนด์ การใช้คำว่า Absolute Monarchy ใช้ได้สองอย่าง  ใช้ในแง่การเชียร์เช่นสมัยโบราณ ช่วงสมัยศตวรรษที่ 16-17  ก็เชียร์เจ้าก็บอกว่าต้องสมบูรณ์ อยากให้เป็นเจ้าชีวิต ก็บอกเป็นเจ้าชีวิตไป ต้อง Absolute เลย คนไม่เชียร์เจ้าก็บอก ทรราช แล้วถ้าอำนาจมีขนาดนี้ คำว่า Absolute Monarchy  จึงเป็นคำที่ถูกใช้ในทางการเมืองมากกว่าในทางวิชาการในทางความเป็นจริง เพราะจริงๆ เป็นเรื่องของราชาธิปไตย อำนาจมันมีจำกัดทั้งสิ้น เพียงแต่จะจำกัดมากหรือน้อยและจำกัดด้วยอะไร ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองไป ก็เป็นอำนาจอันจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ แล้วก็ต้องไปดูว่า รธน.มาจากไหน เช่น หากมีการตั้งสภาร่าง รธน.ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเป็นลักษณะของตัวแทนประชาชน สภาธรรมดา ประชุมกันร่างกฎหมายหรือเป็น รธน.ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานมา แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองของเขาเอง แบบที่เกิดขึ้นที่ภูฏาน ที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ที่ร่าง รธน.ขึ้นมาเอง

            นักวิชาการสมัยใหม่จึงไม่ใช้ Absolute Monarchy แต่ใช้  Ruling Monarchy หรือราชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ทั้งทรงครองราชย์ด้วยและมีอำนาจปกครองด้วย หรือไม่ก็  Constitutional Monarchy คือกษัตริย์ครองราชย์ ครองบัลลังก์ แต่ไม่ได้ปกครอง ซึ่งของไทยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ก็มี Ruling Monarchy แล้วก็เป็น Limited Monarchy แต่ไม่ได้ limited โดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังปี  พ.ศ.2475 ไม่มี Ruling Monarchy มีแต่กษัตริย์ที่ครองราชย์และถูกจำกัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ

            โดยก็มีนักวิชาการคิดต่อไปว่า Constitutional  Monarchy มันกว้างมาก สมมุติว่าสภาออกกฎหมายให้อำนาจพระมหากษัตริย์ ก็ต้องยังถือว่ากษัตริย์อยู่ใต้ รธน.  หรือการออกแบบ รธน.ให้กษัตริย์มีอำนาจ ก็ยังเป็นกษัตริย์ภายใต้ รธน. แต่มีอำนาจเยอะ เขาก็เลยคิดตัวแบบอีกอันหนึ่งเพื่อทำให้ชัดเจนขึ้นก็คือ Democratic Parliamentary  Monarchy หรือ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่จะให้พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ลงพระปรมาภิไตยเพียงอย่างเดียว ไม่มีการให้ทำอะไรทั้งสิ้น เป็นตรายางอย่างเดียว ที่เป็นข้อเสนอของนักวิชาการฝรั่งที่บอกว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจจริงๆ เลย

                -สำหรับประเทศไทยสถานะพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันเป็นอย่างไร?

            ตอนนี้ชัดเจนว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475  เป็น Constitutional Monarchy พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจกลับไปเป็นแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว เป็นพระราชอำนาจภายใต้ รธน.มาตลอด เพียงแต่ตั้งแต่ปี 2475  ถึงปัจจุบัน อำนาจเปลี่ยนแปลงไปตาม รธน.ที่ออกมา เช่นมีอำนาจมากหรือน้อย เช่นปี พ.ศ.2492 ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้ ประเด็นคือไม่ต้องถกเถียงกันแล้วว่าเราเป็นอะไร เราเป็น Constitutional Monarchy แต่ข้อถกเถียงคือตามกฎหมายควรมีพระราชอำนาจมากน้อยแค่ไหน เช่นอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายควรมีมากน้อยแค่ไหน

             ผมถึงเคยบอกว่าที่มีการพูดเรื่องข้อเสนอปฏิรูปสถาบันสิบข้อเมื่อ 10 ส.ค.ที่ธรรมศาสตร์ เป็นเรื่องที่เขาอยากลดทอนที่ไม่ได้เสียหาย ก็ต้องผลักดันไปที่รัฐสภา การแก้ต้องทำโดยผ่านรัฐสภา แต่เรื่องไหนแก้ไม่ได้ก็อธิบายให้คนเข้าใจ สภาต้องมีความเข้มแข็งและโปร่งใส อย่างที่มีการเสนอ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ สภาก็ต้องอธิบายว่าเหตุใดถึงให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่ลงคะแนนกันไป เพราะแบบนี้ทำให้สถาบันเสียหาย เพราะจะมาบอกว่าสถาบันทำให้คุณต้องลงคะแนนผ่านหรือยังไง การที่คุณไม่อธิบาย ไม่อภิปราย คุณกำลังทำลายสถาบัน จะบอกให้ ต้องกล้าที่จะพูด เพราะระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้ รธน. อำนาจต้องอยู่ที่รัฐสภาเป็นหลัก  เพียงแต่จะแชร์อำนาจกับสถาบันมากน้อยแค่ไหน จะไม่ให้มีอำนาจเลยก็ประหลาดอยู่

                -มองว่าพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง โดยเฉพาะกับยุครัชกาลที่ 10?

            เป็นครับ เพราะท่านจะมี พ.ร.บ. จะทำอะไรกับทรัพย์สิน การโอนทหาร ก็เป็นฝ่ายสภาออกกฎหมาย เป็นฝ่ายที่จะให้กษัตริย์มีอำนาจหรือไม่ ไม่ได้มีอะไรผิด รธน. เพราะกระบวนการออกกฎหมายเป็นแบบนี้หมด เพียงแต่คนก็อาจตั้งข้อสงสัยว่าการมีกองกำลัง แบบนี้เป็นเรื่องผิดหรือไม่ แต่ว่าก็ผ่านการออกมาเป็นกฎหมายโดยกระบวนการที่ถูกต้อง ขณะนี้สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลนี้ที่นักวิชาการตะวันตกถึงบอกต้องมี Democratic Parliamentary  Monarchy คือมาอยู่ใต้สภาที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ free และ fair  จริงๆ เป็นตัวแทนประชาชนที่กล้าพูดกล้าอภิปราย จำกัดพระราชอำนาจอย่างแท้จริง

            แต่อย่างตอนที่ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 กฎหมายก็ออกมาในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยุค คสช.ที่ไม่เข้าหลัก หรือการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ก็มาจากสภาที่มาจากการสืบทอดอำนาจ ของคณะรัฐประหารที่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่  ความเสียหายมันจึงอยู่ตรงนี้ โดยหากมีการเลือกตั้งที่ free  และ fair จริงๆ และมีรัฐบาลที่มาตามครรลอง ที่ไม่ได้มี ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมายกมือสนับสนุนให้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ จะทำอย่างไรกับการออกกฎหมาย ให้ท่านไปจัดการทรัพย์สินหรือไปจัดกองกำลัง ก็ว่ากันไป ซึ่งผมก็เชื่อว่าก็ต้องมีการอภิปรายในสภากันพอสมควร.

                                                                        โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"