‘ม็อบจิตเภท’หลอน! นัดชุมนุม‘ราบ1รอ.’จะไปปลดอาวุธศักดินาไทยอ้างยังได้กลิ่นรัฐประหาร


เพิ่มเพื่อน    

 

"ชวน" หวั่นคนถูกทาบนั่ง กก.สมานฉันท์จะกลายเป็นเหยื่อถูกวิจารณ์จนไม่อยากร่วมงาน ยันจะไม่ให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ด้านเพื่อไทยเคาะเอง "บิ๊กตู่" อยู่ยาว ต้นปี 65 มีรัฐธรรมนูญใหม่ ได้เลือกตั้งกลางปีแน่ ขณะที่ม็อบจิตเภท 63 นัดชุมนุมกรมทหารราบที่ 1 คิดมุกไม่ออก แผ่นเสียงตกร่อง อ้างกลิ่นกระแสรัฐประหารมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ดังนั้นนิ่งนอนใจไม่ได้
    เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  กล่าวถึงความคืบหน้าในการเดินหน้าพูดคุยเพื่อตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์รูปแบบที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด ว่าคงต้องรอหารือกับสถาบันพระปกเกล้าอีกครั้งว่าจะคัดคนประเภทใดเข้ามาร่วม เพราะในกรณีนี้มองระยะอนาคต โดยนำอดีตมาเป็นตัวอย่างในบางเรื่อง ว่าเรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นในอดีตจะทำอย่างไร ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยอีก
     เมื่อถามว่า มีการระบุว่าจะใช้วันหยุดในการเดินสายพบปะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนั้น ประธานรัฐสภาตอบว่า วันที่ 28-29 พ.ย. ตนมีงานทั้งวัน จะนัดใครคงไม่ได้ แต่อาจจะอาศัยช่วงเย็นที่จะต้องหาเวลาว่าง โดยอาจใช้วิธีการโทรศัพท์เพื่อพูดคุย แต่ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่อยากให้ผู้ที่ไปติดต่อทาบทามกลายเป็นเหยื่อถูกนำไปวิจารณ์จนทำให้หลายคนผวาไม่อยากมีชื่อปรากฏในคณะกรรมการฯ
    ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านจะเร่งรัดประชุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อยู่ในกรอบ 45 วัน จะไม่มีการขยายระยะเวลาพิจารณา ก่อนที่จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระที่ 2 ในช่วงเดือนมกราคม 2564 จากนั้นจะนำเข้าสู่วาระที่ 3 ในอีก 15 วันตามวาระของสภา
    ส่วนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภา เชื่อว่าทุกคนจะเร่งรัดในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชน ไม่ควรที่จะสร้างเงื่อนไขอะไรขึ้นมาเพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเนิ่นนานออกไป
    "สำหรับกรอบระยะเวลาในการพิจารณา ที่ฝ่ายรัฐบาลจะใช้เวลา 240 วัน แต่ฝ่ายค้านมองว่า 120 วันก็น่าจะพอ ดังนั้นคงจะมีการหารือกันเพื่อหาเวลาที่เหมาะสม ประมาณ 150 วันน่าจะเหมาะสม ส่วนระยะเวลาในการเขียนรัฐธรรมนูญคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 หรือช้าสุดก็ไม่น่าจะเกินต้นปี 2565 หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นก่อนกลางปี 2565 อย่างแน่นอน" นายสมคิดกล่าว
    พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารนำเสนอเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ของหน่วยทหาร และอ้างว่ามีการจ้างบริษัทเอกชนเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่งผ่านแอปพลิเคชันทวิตเตอร์ว่า  กองทัพบกได้ตรวจสอบกับส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอเรียนในประเด็นข้อเท็จจริงว่า กองทัพบกไม่ได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนไปดำเนินการปฏิบัติการข่าวสารตามที่มีความพยายามกล่าวหาโดยใช้การตีความจากเอกสารที่ถูกนำมาเผยแพร่ดังกล่าว เพราะวัตถุประสงค์ในการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียของกองทัพบกนั้นมุ่งเน้นการสื่อสารสร้างการรับรู้อย่างสร้างสรรค์ เท่าทันสถานการณ์
    "ขอเรียนยืนยันอีกครั้งว่า กองทัพบกใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะแพลตฟอร์มทวิตเตอร์เพื่อสนับสนุนงานการประชาสัมพันธ์ของหน่วยระดับต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือประชาชนการสื่อสารกับกำลังพลในพื้นที่ประสบภัย และเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณชนเท่านั้น นอกจากนี้ กองทัพบกได้มีการปรับระบบการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยล่าสุด คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในระดับกองทัพบกได้มีการจัดตั้งเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ของหน่วยทหารจนถึงระดับกองพันจำนวน 578 หน่วย ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างการรับรู้ในข่าวสารด้านความมั่นคง งานช่วยเหลือประชาชน งานบรรเทาภัยได้รวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น" รองโฆษกกองทัพบกกล่าว
    ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ว่า ได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์คุณ Jonathan Head จาก BBC ในหลายๆ มุมมองกรณีผู้ชุมนุม พอสรุปประเด็นคร่าวๆ คิดว่าได้มีโอกาสอธิบายให้เขาเข้าใจในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับสังคมไทย วิถีไทย การเมืองไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์
       สิ่งที่ผมยืนยันคือ เราเข้าใจน้องๆ ที่มาชุมนุม เพราะบางอย่างเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่พวกเราต้องอธิบาย ประกอบกับธรรมชาติของวัย วันหนึ่งเมื่อเขามีประสบการณ์มากขึ้น เขาจะเข้าใจเองว่า ทำไมประเทศไทยต้องมีสถาบันฯ
       "สิ่งที่ผมยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ข้อเรียกร้องที่อ้างต้องการแค่ปฏิรูปสถาบันฯ นั้น ไม่ใช่ เพราะเป็นแค่วาทกรรม ทั้งท่าที พฤติกรรม ความหยาบคาย การแสดงออก การสาดสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงสถาบันฯ การถือธงในที่ชุมนุมมีแต่สีแดง ขาว และสามนิ้วกลางธง แต่ไม่มีสีน้ำเงิน การถือธงที่มีคำว่า Republic of Thailand รวมทั้งการปราศรัยที่ถนนอักษะ ที่บอกว่าจะรัฐประหารโดยประชาชน และมีคำพูดว่าจะราชประหารว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การปฏิรูป แต่คือการล้มล้าง"
       นพ.วรงค์ยังย้ำว่า ถ้าต้องการปฏิรูป มันต้องมีท่าทีที่เป็นมิตร เพราะการปฏิรูปต้องการทำให้ดี เอาแค่ 10 ข้อที่เรียกร้องก็ไม่ใช่การปฏิรูป เพราะสถานะของสถาบันฯ ในแง่สิทธิและเสรีภาพยังต่ำกว่าประชาชน และผมย้ำอีกว่า การใช้คำหยาบของม็อบ สังคมไทยรับไม่ได้ แม้คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นที่อังกฤษ ก็ต้องถูกดำเนินคดี เพียงแต่กฎหมายประเทศไทยยังอ่อนในการบังคับใช้
         "ผมยังเชื่อด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้มีการแทรกแซงจากต่างชาติ ไม่ใช่แค่เงินบริจาคผ่าน NGO ของต่างประเทศ แต่รวมถึงหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การที่นักการทูตต้องมาสังเกตการณ์หลายๆ ครั้ง"
         การที่นักศึกษาต้องถือธงชาติอุยกูร์ ทิเบต ไต้หวัน และฮ่องกง รวมถึงการที่นักศึกษาไปประท้วงหน้าสถานทูตจีนเรื่องต่อต้านจีนเดียว รวมถึงการประชุมทูต 5 ประเทศที่สถานทูตอเมริกา ภาพโดยรวมเหล่านี้บ่งบอกว่ามีการแทรกแซงเกิดขึ้น
เขามองว่าผมก็ถูกล้างสมอง
         เขาบอกว่า น้องได้รับข้อมูลด้านเดียว จนเหมือนถูกล้างสมอง ในมุมกลับ เขามองว่าผมก็ถูกล้างสมอง ผมก็เลยถามกลับไปว่า อย่างผมเหรอที่จะถูกล้างสมอง เพราะทุกอย่างผมยืนหลักความจริง ทั้งเหตุและผล และทุกอย่างมาจากจิตวิญญาณ ตลอดจนข้อมูลที่มีเอกสารอ้างอิง
         "ที่สำคัญ ผมได้ย้ำว่า ถ้าต้องการแก้ปัญหาประเทศ เพื่อความอยู่ดีกินดี ต้องแก้ที่นักการเมือง ไม่ใช่สถาบัน เพราะอำนาจงบประมาณ ทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาลและนักการเมือง ผมยืนยันว่า ประชาชนชาวไทยไม่รู้สึกว่าสถาบันท่านเป็นปัญหาต่อประชาชน เหมือนนักการเมือง" นพ.วรงค์ระบุ
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง กวาดให้เรียบ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,214 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
    เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดการเด็ดขาดต่อการทำผิดกฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.9 ระบุจังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ใช้กฎหมายทุกมาตราจัดระเบียบสังคมกวาดล้างคนทำผิดกฎหมายทุกประเภทให้เรียบ, ร้อยละ 98.1 ระบุถ้ากฎหมายไม่เป็นกฎหมาย กฎหมู่จะเข้ามาแทน อยู่ๆ ก็มีกลุ่มคนออกมาปิดถนน คุกคามประชาชน คนในชาติ อยู่ไม่ปกติสุข,  ร้อยละ 98.1 ระบุต้องจัดการกับสื่อมวลชนที่ยุยง ปลุกปั่น ทำคนในชาติแตกแยก, ร้อยละ 96.9 ระบุต้องใช้กฎหมายทุกมาตรา จัดการ เก็บกวาดให้เรียบ คนที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด ค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ เป็นต้น,  ร้อยละ 93.1 ระบุต้องจัดการเด็ดขาด ใครผิดว่าไปตามผิด ตามกฎหมาย มาตรา 112 กับคนที่คุกคาม เบียดเบียน ใส่ร้าย ในหลวงและพระราชินี
    ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 99.2 ระบุสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้เป็นโอกาส บ้านเมืองและประชาชนตื่นตัว มีส่วนร่วมแก้ปัญหาชาติ เช่น ความเสมอภาค การศึกษา การปฏิรูปการศึกษา การใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ เป็นต้น รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 99.1 ระบุ เป็นโอกาส เอาความจริง ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น และการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ช่วยลดทอนกำลังความห้าวหาญ คุกคามผู้อื่น ฮึกเหิมเกินความพอดี ความไม่รู้ มิจฉาทิฏฐิลงไปได้, ร้อยละ 98.6 ระบุเป็นโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชน สำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปกป้องรักษาองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันหลักของชาติ ไม่มองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู และร้อยละ 97.6 ระบุเป็นโอกาส เปิดบ้านความจริง เสริมสร้างทัศนคติที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี ใครไม่ดีกวาดให้เรียบ
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า จริงๆ แล้วการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว คิดว่าการปลดชนวนง่ายที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสียสละ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าบรรยากาศการเมืองจะดี การพูดคุยจะเกิดขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญก็ดำเนินต่อไป แล้วเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ และนายกฯ คนใหม่ต้องเป็นนายกฯ จากการเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ คือเปลี่ยนผ่านให้กลายเป็นระบบปกติ เชื่อว่าประเทศไทยมีคนเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ อีกมากมาย ขอให้คุณประยุทธ์เสียสละ
นัดชุมนุมกรมทหารราบที่ 1
    สำหรับการชุมนุมของม็อบต่อต้านรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ที่ศูนย์ราชการนนทบุรี เมื่อเวลา 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมในนามเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี รวมตัวจัดกิจกรรม "แรลลี่ก๊าบๆ ปราบเผด็จการ" นำโดยนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และนนทบุรีปลดแอก  อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.นนทบุรี, สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.ไทรน้อย มาคอยดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อย
    ต่อมาเวลา 16.00 น. นายชินวัตรและกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนรถกระจายเสียงมาที่บริเวณทางเข้าหน้าศูนย์?ราชการ?จังหวัดนนทบุรี พร้อมนำห่วงยางเป็ดและห่วงยางเอเลียนจำนวนมากมาวางและแขวนไว้ที่หน้าประตูทางเข้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม  
    อีกกลุ่ม อาทิ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และคนเสื้อแดง ชุมนุมที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล สำโรง มีทั้งการเต้นไดโนแดนซ์ และปราศรัยโจมตีรัฐบาล ก่อนเคลื่อนขบวนยึดสี่แยกบางนาในเวลา 19.00 น.
    ขณะที่เพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นเพจชี้นำการชุมนุม ได้โพสต์ข้อความสั่งการม็อบเคลื่อนไหวไปกรมทหารราบที่ 1 ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ ว่าคงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลิ่นกระแสรัฐประหารมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ในการที่เราจะต่อต้านไม่ให้พวกเขาใช้กำลังเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยได้อีกครั้ง
    ทั้งนี้ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในปัจจุบันได้ถูกโอนย้ายกำลังพลกลายเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ กองกำลังเหล่านี้จะกลายเป็นกองกำลังเพื่อกระทำการรัฐประหารดังเช่นในอดีตหรือไม่?
     จึงขอเรียกพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน เตรียมตัวกันให้พร้อมกันที่ กรมทหารราบที่ 1 หากเราจะต้านพลังชั่วร้ายนี้ได้ เราต้องเริ่มต้นจากการที่ไม่ให้พวกเขานำอาวุธออกมารัฐประหาร ยิ่งอาวุธดังกล่าวนี้เราล้วนรู้กันดีว่ามีความเชื่อมโยงกับอำนาจศักดินาที่อยู่เบื้องหลัง
    29 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป พบกันที่กรมทหารราบที่ 1 มาร่วมกันปลดอาวุธศักดินาไทย!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"