"อีอีซีโมเดล"พัฒนาคนให้ตรงงาน เตรียมพร้อมเยาวชนรองรับอุตฯเป้าหมาย


เพิ่มเพื่อน    

        "รัฐต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพประชาชนในภาพรวมทั้งประเทศ โดยการจัดการระบบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของผู้ผลิตและตรงกับความต้องการของตัวบุคลากร แต่ต้องไม่ลืมกับประชากรที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพ เพราะประเทศที่จะสามารถหลุดกับดักรายได้ปานกลางได้ต้องยกระดับคุณภาพประชากรให้ได้"

 

        พื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ดังนั้นโดยหลักการคือการสร้างเขตภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเพื่อรองรับการลงทนในอุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยที่อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้จะมีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมเดิมของประเทศไทยที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เน้นในเรื่องของการผลิต อุตสาหกรรมที่มาลงทุนคือกลุ่มที่มีเทคโนโลยี และมาใช้ไทยเป็นฐานในการผลิต

        ทำให้ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยจะเน้นในเรื่องของการขายแรงงาน ซึ่งเป็นแรงงานคนในเรื่องของการผลิต แต่โลกมันเปลี่ยนไป ความจำเป็นในเรื่องของการใช้แรงงานคนลดลง เพราะการมีเทคโนโลยีออโตเมติกเข้ามาทดแทน ทำให้ต้นทุนถูกลง และมีการเชื่อมต่อของข้อมูลกันผ่านระบบที่เรียกกันว่าอุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้นในฐานประเทศที่เล่นเรื่องแรงงานก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นโอกาสในอนาคตแบบเดิมๆ ได้อีก  

(ณยศ คุรุกิจโกศล)

        ทั้งนี้ นายณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า ระบบเศรษฐกิจใหม่ เป็นระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม หรือฐานความรู้คือการเปลี่ยนจากการใช้แรงงาน ไม่ว่าจะมีฝีมือหรือไม่มีฝีมือ มาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้เรื่องความรู้เรื่องของนวัตกรรมเป็นตัวนำ  และต้องเป็นประเทศในกลุ่มที่จะเอาความรู้มาบูรณาการเพื่อสร้างความรู้มากกว่าที่จะเน้นเรื่องของแรงงาน

        "กำลังคนต้องเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เน้นเรื่องทักษะฝีมือแรงงาน มาเป็นคนที่มีทักษะในเรื่องของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ หรือบูรณาการเอาเทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าที่จะเป็นอุตสาหกรรมฐานแรงงานปกติ ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของคนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่เราไม่สามารถที่จะสร้างได้ทันที ต้องเริ่มจากการยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค หรือมีเทคโนโลยีสูงก่อน เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่รองรับนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ คนก็จะขยับไปทีละขั้นตอน" นายณยศกล่าว

ปรับหลักสูตรสร้างบุคลากร

      นายณยศกล่าวว่า เรื่องของการพัฒนาคนจะเน้นใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นส่วนที่มีทักษะ มีคอนเทนต์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมที่ตัวเองจะเป็นนักพัฒนาต่อไปในอนาคต และส่วนที่ 2 คือ คนต้องมีทักษะที่เรียกว่าทักษะของศตวรรษที่ 21 คือคนที่มีทักษะที่มีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน สามารถคิดและมองเห็นจุดที่เป็นโอกาส และคนที่มีทักษะในการสื่อสารจูงใจโน้มน้าว ซึ่งเป็นหลักสำคัญของคนมี่เป็นมาร์เก็ตติ้ง

        ดั้งนั้น มหาวิทยาลัยบูรพาได้ตระหนักในเรื่องนี้ ทำให้ช่วงที่ผ่านมานั้นได้ปรับหลักสูตร เพื่อพัฒนาคนในให้ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ขณะนี้อยู่ช่วงของการวางระบบ  เช่นซึ่งได้ทำงานร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา ในส่วนของหาวิทยาลัยบูรพาเอง ก็มีการปรับหลักสูตรให้เป็นไปตามแนวทางของภาคการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งในรูปธรรมในอีอีซีโมเดลนั้นจะมี 2 รูปแบบ คือ อีอีซีโมเดล A และ B

        สำหรับโมเดล A คือหลักสูตรที่เน้นบัณฑิตจบแล้วต้องมีงานทำ เป้าหมายหลักเป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการใช้งานของตลาด ขณะนี้แนวทางเหล่านี้ได้เริ่มดำเนินการในมหาวิยาลัยแล้วตั้งแต่ปี 62 ซึ่งการปรับเปลี่ยนหลักสูตรนั้น ต้องนำผู้ใช้บัณฑิตเข้ามาร่วมในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด และให้ตัวบัณฑิตเองสามารถที่จะไปต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพได้ หลังจากที่จบ ป.ตรี  ได้

        โมเดล B คือการที่จะเอาคนที่อยู่ในระบบแรงงานอยู่แล้ว ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการยกระดับทักษะเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา และกลุ่มที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ เพราะอาชีพเดิมไม่ก่อให้เกิดโอกาสที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในอีอีซีนั้นเน้นในโมเดล B อย่างมาก ซึ่งโควิดยังทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นจึงต้องถือโอกาสนี้ในการยกระดับแรงงาน เพื่อให้คงระดับการจ้างงาน หรือโอกาสให้คนกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งภาครัฐใช้งบในการดำเนินการจุดนี้จำนวนมาก ในปี 2563 นั้น ประมาณ 4-5 พันคน เพื่อเป็นต้นแบบก่อน จากนั้นก็จะขยายออกไปตามความต้องการของตลาดในพื้นที่

        "การที่บอกว่าการศึกษาของเราไม่ตรงกับความต้องการจริงนั้นถูกแค่ครึ่งเดียว ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการและสถานศึกษามากกว่า ซึ่ง 90% นั้นมีการสอนในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ปัญหาคือมหาวิทยาลัยสอนแบบไม่โฟกัสกับการใช้ของอุตสาหกรรม เพราะมหาวิทยาลัยไม่เคยทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม ดังนั้นวิธีแก้คือการส่งเสริมให้อาจารย์ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม เพื่อเอาข้อมูลที่ได้มาสอน เปิดโอกาสให้นิสิตได้ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม โจทย์ทั้งหมดต้องมาจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง ม.บูรพาได้ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมบูเทค ที่ฉะเชิงเทรา ของกลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ที่ผลิตรถอีวี และผลิตแบตเตอรี่ และพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ทักษะพิเศษ" นายณยศกล่าว

อีอีซีโมเดล

      นายณยศกล่าวว่า ระบบการศึกษามีความจำเป็นต้องปรับระบบใหม่หรือไม่นั้น มองว่าการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เป็นการปรับระบบของการศึกษาตามความต้องการและต้องมีความแม่นยำ ซึ่งขณะนี้กำลังถูกปรับ ที่เน้นการทำงานกับผู้ประการและผู้ใช้บัณฑิตมากขึ้น ซึ่งภายใน 4-5 ปีน่าจะเห็นภาพ 

        อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นอีอีซีโมเดลได้ลงไปถึงการศึกษาาขั้นพื้นฐาน โดย 12 ปีแรก เป็นเรื่องของการพัฒนาคน อีก 3 ปี คือ ม.1 ถึง ม.3 เป็นช่วงที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อให้มีส่วนเข้ามาช่วย รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ร่วมใช้กลไกของครูแนะแนว แนะนำ ให้ทางเลือกเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เด็กเลือกเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำงานกับครอบครัว หลังจาก 3 ปีก็ต้องผลักดันและเน้นส่งเสริมไป

        "ระบบนี้เราได้ร่วมทดสอบในอีอีซีก่อน แต่ตอนนี้สิ่งที่อีอีซีทำคือ ทำจากปลายทางลงมาหาต้นทาง แต่สุดท้ายความยั่งยืนต้องขยับลงมาที่ต้นทางให้ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เริ่มทำกับโรงเรียนเอกชน เช่น โรงเรียนภักดีพันธ์ เพื่อเป็นต้นแบบ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี และตั้งแต่ปีงบประมาณ 65 เป็นต้นไป จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จะมี กศน. และ สพฐ.เข้ามาช่วยเรื่องนี้ เนื่องจาก กศน.สามารถมาช่วยในเรื่องการศึกษาตามอัธยาศัยได้ เนื่องจากเป็นองค์กรทางการศึกษาที่เน้นเรื่องการขยายโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้ก็มีสาธิต PIM ที่เข้ามาร่วมด้วย" นายณยศกล่าว

        อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จต้องมีการสร้างการยอมรับจากผู้ปกครองและผู้บริหารระดับประเทศที่เห็นความสำคัญ และต้องเริ่มที่พื้นที่เป้าหมายก่อน ค่อยขยายออกไป และในที่สุดเราจะเป็นแบบสิงคโปร์ได้ ซึ่งสิงคโปร์ได้ทำในเรื่องนี้มานานมาก ที่การศึกษาเริ่มจากการวิเคาะห์ความต้องการคนก่อน และจึงพัฒนาคนตามแผน ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีต้องเห็นผล ถ้าช้ากว่านี้ไม่ทันแน่ และจะกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างมาก

        "โดยสรุปแล้วรัฐต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพประชาชนในภาพรวมทั้งประเทศ โดยการจัดการระบบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของผู้ผลิต และตรงกับความต้องการของตัวบุคลากร แต่ต้องไม่ลืมกับประชากรที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพ เพราะประเทศที่จะสามารถหลุดกับดักรายได้ปานกลางได้ต้องยกระดับคุณภาพประชากรให้ได้" นายณยศกล่าว

บัณฑิตอาสา

      นายณยศกล่าวว่า เพื่อสร้างเสริมทักษะความสามารถและประสบการณ์การทำงาน โดยผ่านการเรียนรู้และได้ปฏิบัติจริงร่วมกันกับหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ทั้งเรื่องการกระจายความรู้และวิทยาการที่ทันสมัยให้ชุมชน พร้อมผสมผสานเข้ากับวิถีดั้งเดิม สร้างเครือข่ายพันธมิตร สำรวจผลกระทบจากอีอีซี และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ดีและยั่งยืน รวมถึงเป็นรากฐานที่มั่นคงในการวางแผนพัฒนาชุมชน ยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดของอีอีซี ควบคู่ไปกับการเติบโตของพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน (พช.)  และมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมมือกันจัดทำโครงการ "บันฑิตอาสา" โดยเปิดโอกาสให้บัณฑิตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง นำความรู้ใหม่ไปผสมผสานกับวิถีดั้งเดิมในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน

        "โครงการนี้มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชนให้การสนับสนุน โดยหัวใจของโครงการบัณฑิตอาสา คือ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาพื้นที่ โดยนำผู้สำเร็จการศึกษาใหม่มาฝึกอบรมและลงพื้นที่เป็นตัวเชื่อมในการพัฒนาร่วมกับชาวบ้าน นำความรู้เชิงวิชาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับวิถีชุมชน"

        สำหรับบัณฑิตอาสาจะลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน เพื่อสำรวจข้อมูลเชิงลึกในทุกมิติ และผลกระทบที่อาจเกิดจากการพัฒนาโครงการอีอีซี เพื่อนำข้อมูลกลับมาวางแผน แก้ไขปัญหา หรือพัฒนาให้ตรงตามความต้องการและบริบทของชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ดีและยั่งยืน สร้างเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี

        สำหรับบัณฑิตอาสารุ่นแรก 27 คน ได้ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น โดยมีพัฒนากรประจำตำบลเป็นพี่เลี้ยงในการจัดเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน การรวบรวมปัญหาพื้นฐานต่างๆ  นำข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผล การจัดเวทีระดับหมู่บ้าน เพื่อนำไปขัดทำข้อเสนองานวิจัยส่งมอบให้ สกพอ.ไปประกอบการทำนโยบายพัฒนาชุมชนอีอีซี และแก้ปัญหาท้องถิ่นอีอีซี

        นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากโครงการจะนำมาจัดทำ Big Data ของภาคตะวันออกแบบครอบคลุม 100% เพราะเป็นข้อมูลที่มาจากตัวชุมชนเอง ซึ่งนำไปใช้วิเคราะห์ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันจะพัฒนาบัณฑิตเหล่านี้ให้ทำงานร่วมกับบัณฑิตอาสารุ่นต่อไปพัฒนาเขาขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยเป้าหมายรุ่นต่อไปอยู่ที่ 93 คน มาจาก 30 อำเภอ อำเภอละ 3 คน ส่วนอีก 3 คนมาจากตัวแทนกลุ่มสายงานระดับจังหวัด (วุฒิปริญญาโท) จังหวัดละ 1 คน

แนววิศวกรอุตฯหุ่นยนต์

      นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นและมีการลงทุนในประเทศไทย ทางอีอีซีจึงจับมือกับทาง    บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และมหาวิทยาลัยบูรพา จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์ “EEC Automation Park” ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ด้วยมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยมีภารกิจหลักๆ คือเป็นศูนย์การเรียนรู้, ฝึกอบรม และหน่วยงานประสานความร่วมมือ ดังนั้นศูนย์ดังกล่าวจะเป็นการพัฒนากำลังคนในพื้นที่อีอีซีให้ตรงจุดมากขึ้น และตั้งใจให้เกิดการบ่มเพาะทักษะเฉพาะทางด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น

        ทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้แบบปฏิบัติงานจริงให้กับนิสิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงยังเป็นการเทรนนิ่งผู้พัฒนาระบบ (SI) ในประเทศ ที่ปัจจุบันมีเพียง 200 ราย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามมา เช่น ธุรกิจศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น โดยตั้งเป้า 5 ปี ต้องการพัฒนาและให้เกิด SI เพิ่มเป็น 1,500 ราย

        นอกจากนี้ จะยังเป็นการสร้างกำลังคนหรือบุคลากรผู้มีทักษะด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากในอนาคตตลาดแรงงานยังมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นมากกว่า 37,000 อัตรา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"