กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เจ้าฟ้าพระองค์แรก ทรงสำเร็จปริญญาเอกศิลปะ


เพิ่มเพื่อน    

 

 

      จากพระดำรัสเกี่ยวกับงานศิลปะตอนหนึ่งว่า “ งานศิลปะทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้าจึงอยากแบ่งปันความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย” ของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทำให้ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกของพระราชวงศ์ไทยที่ทรงสำเร็จการศึกษาเอกด้านศิลปะ เสด็จเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม

 


    ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นตัวอย่างการใช้เวลาที่ดีที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และทรงเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ในเรื่องของการจัดสรรเวลา ทรงจัดสรรเวลาทำในสิ่งที่ทรงรักและมีความสขุได้ลงตัว เช่น การวาดภาพที่โปรด และการสานต่อความฝันของพระองค์ ด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านศิลปะ ทรงทำพระองค์ให้เป็นแบบอย่างแล้วว่า “การศึกษา เรียนรู้สามารถทำได้ตลอดชีวิต” ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์และเจ้าฟ้าผู้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะ ก่อนหน้านี้ ทรงสำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ถึง 4 ปริญญาบัตรแล้ว

 


    ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาในการทรงงานด้านวิจัยวิทยาศาสตร์ แต่ยามเมื่อทรงว่างเว้นจากพระกรณียกิจ ทรงค้นพบว่ายังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ทรงรักและมีความสุขทุกครั้ง คือการทำงานศิลปะ เปรียบเสมือนการบำบัดจิตใจให้มีความสุขและผ่อนคลาย
    จุดเริ่มต้นของความรักและความสุขที่ได้จากการทรงงานศิลปะ เริ่มขึ้นจากการที่ทรงวาดภาพธรรมชาติและดอกไม้นานาพันธุ์ที่อยู่รายรอบ เช่น ภาพดอกบัว ดอกกุหลาบ และผีเสื้อ จากนั้นทรงส่งต่อความสุขโดยนำลวดลายที่ได้จากภาพวาดไปผลิตเป็นผ้าพันคอและเสื้อคอโปโล ฯลฯ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ด้อยโอกาส ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะ ทรงได้รับเชิญจากบริษัท แอสปรี ลอนดอน สหราชอาณาจักร ให้ร่วมออกแบบเครื่องประดับอัญมณีและเครื่องแต่งกาย
    ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ บูรณาการศาสตร์หลายแขนงเข้าไปในชิ้นงาน โดยใช้ลวดลายสูตรเคมีคณิตศาสตร์ สัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งทรงมีจากกิจกรรมวาดภาพที่ทรงโปรด และทรงมีพระสมาธิในการวาดภาพติดต่อกันหลายชั่วโมง    เป็นเหตุให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงสังเกตเห็น และได้กราบทูลว่า “น่าจะได้ทรงเรียนเขียนลายไทยด้วย” เพื่อนำลายไทยและความเป็นไทยแต่งแต้มจัดวางไว้ในภาพวาดฝีพระหัตถ์ และเครื่องประดับที่ทรงออกแบบ
    จากนั้น ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จึงทรงเริ่มเรียนการวาดลายเส้นจิตรกรรมไทย โดยคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ขอพระราชทานพระอนุญาตให้นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เป็นพระอาจารย์ถวายการสอน จากการทรงเรียนวาดลายเส้นจิตรกรรมไทยเป็นแรงบันดาลพระทัยให้ทรงอยากจะศึกษาการวาดภาพอย่างจริงจัง ทรงมีพระประสงค์ที่จะศึกษาตามระบบของมหาวิทยาลัยศิลปากรในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป ทรงสมัครเรียนแบบออนไลน์ และกรอกเอกสารการสมัครเรียน พร้อมกับแนบ Portfolio ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์รูปเสือ เสนอคณะกรรมการหลักสูตรฯ พิจารณาเช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป ทรงมีพระนามปรากฏอยู่ในทะเบียนรายชื่อนักศึกษา ปีการศึกษา 1/2560 เลขที่ 1 รหัสประจำตัว 60007806 ร่วมกับพระสหายร่วมรุ่น 5 คน ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์

 

    ทรงพระวิริยอุตสาหะศึกษาศิลปะในช่วง 3 ปี ทรงมุ่งมั่นต่อการเรียนทรงไม่ย่อท้อ แม้จะมีพระภารกิจมากมาย รวมไปถึงอุปสรรคต่างๆ และพระสุขภาพของพระองค์ แต่ก็ยังทรงเขียนรูปตลอดเวลา ระหว่างการเรียนการสอนทั้งที่คณะจิตรกรรมฯ และพระตำหนัก ทรงนำผลงานจำนวนมากมาให้คณาจารย์ผู้ถวายการสอนได้แนะนำและวิจารณ์ทุกครั้ง
    สำหรับหลักสูตรสาขาวิชาทัศนศิลป์ฯ ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็น “ศิลปินมืออาชีพ” โดยผู้เรียนต้องพัฒนาทักษะจากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งพระองค์จะต้องทรงนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ และด้วยกฎของการทำวิทยานิพนธ์ต้องจัดนิทรรศการเผยแพร่ 2 ครั้ง ซึ่งทรงดำเนินการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ครั้งแรกในชุด “หลากลาย หลายชีวิต” (Various Pattern; Diversity of Life) เมื่อเดือน มี.ค. พ.ศ.2561 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
    ครั้งที่ 2 โปรดให้จัดนิทรรศการวิทยานิพนธ์เพื่อการสอบจบภาคการศึกษา ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน ม.ค. พ.ศ.2563 โดยการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ครั้งสุดท้ายเพื่อจบการศึกษานี้ เป็นการสอบปากเปล่า 1 ชั่วโมง ซึ่งคณะกรรมการสอบได้ลงมติให้การสอบครั้งนี้ “ผ่าน” เป็นเอกฉันท์ ในคะแนนระดับ “ดีมาก” สำหรับนิทรรศการวิทยานิพนธ์ภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุด “หลากลาย หลายชีวิต” (Various Patterns; Diversity of Life) ทรงใช้สัญลักษณ์แสดงออกจากสิ่งที่ทรงมีความประทับใจ นั่นคือ “เจ้าป่า” สื่อความหมายถึง “พระราชบิดา” ในหลวง ร.9 โดยเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ผ่านการสร้างสรรค์ที่ทรงถ่ายทอดผ่านปลายปากกา เป็นรูปลักษณ์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันตามเรื่องราวและเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำสิ่งดีงามต่อผู้อื่น 


    ภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ยังใช้เทคนิคสีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีพิษ ไม่มีกลิ่น และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม คือ สีโคปิก (Copic) นับเป็นพระองค์แรก และครั้งแรกในการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ศิลปินสร้างงานจากสีโคปิก งานชุดนี้ทรงบูรณาการศาสตร์แขนงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแพทย์ และการแพทย์ ฯลฯ โดยทรงนำลวดลายสัญลักษณ์สูตรเคมี รูปทรงโมเลกุล การประกอบของตัวพันธะเคมีในโมเลกุล ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น ตัวเลข รูปหัวใจ ดอกไม้ และธรรมชาติอยู่ในผลงาน รวมถึงนกฮูกและสัตว์ปีกต่างๆ ร่วมถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านรูปทรงความหมาย เรื่องราว ทรงส่งต่อความฝันและความรู้สึกไปยังชาวไทย รวมถึงผู้คนบนโลกนี้ เรียกงานศิลปะลักษณะนี้ว่า “ศิลปะนาอีฟ”  (Naïve Art) หรือศิลปะที่ซื่อตรงและบริสุทธิ์
    จากความสุขพระทัยในการสร้างสรรค์งานศิลปะงานที่ทรงรัก ขณะเดียวกันกับที่อีกห้วงความรู้สึกหนึ่งคือ ความปรารถนาที่จะให้ประชาชนของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงการแพทย์และการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงทรงมีแนวพระดำริที่จะนำงานศิลปะที่ทรงรักมาต่อยอดเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน
    “ วิทยาศาสตร์เป็นส่วนประคับประคองประเทศในระหว่างที่ประเทศเดือดร้อน ศิลปะก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผสมผสานกันสองสาขา เพื่อนำมาสู่การช่วยเหลือราษฎรในยามที่ประชาชนลำบาก” โดยโปรดให้จัดทำภาพพิมพ์จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ออกจำหน่าย พร้อมทั้งนำลวดลายจากภาพมาต่อยอดจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อหารายช่วยเหลือผู้ยากไร้ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้เจ็บป่วยและประสบภัยพิบัติทั่วทุกภูมิภาคของไทยผ่านการดำเนินงานจากมูลนิธิในพระดำริ ได้แก่ มูลนิธิจุฬาภรณ์ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ฯ
    เจ้าฟ้าพระองค์แรกทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาเอกด้านศิลปะ แสดงถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาพระอัจฉริยภาพพระองค์สู่ศิลปินมืออาชีพ พระองค์ทรงเป็นนักสร้างสรรค์ที่จินตนาการ แนวคิดกว้างไกล และเชื่อว่าประชาชนจะปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระองค์.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"