เชียงใหม่ศึกศักดิ์ศรี พิสูจน์มนต์ขลังชินวัตร


เพิ่มเพื่อน    

    20 ธ.ค. เป็นวันเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลังจากว่างเว้นมานานกว่า 5 ปี บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย แม้จะเป็นสนามเล็ก ท้องถิ่น แต่หากผู้สมัครในรายนั้นที่ต่างมีแบ็กอัพจากพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติสนับสนุนหนุนหลัง ผลคะแนนที่ออกมาย่อมเป็นตัวสะท้อน บ่งชี้ถึงกระแสนิยมได้เป็นอย่างดี

            แม้จังหวัดนั้นๆ จะมี ส.ส.จากพรรคการเมืองหนึ่งได้ ส.ส.ยกจังหวัด แต่สำหรับสนามท้องถิ่นแล้ว ไม่แน่เสมอไปว่าท้องถิ่น-จังหวัดจะเป็นในทิศทางเดียวกัน

            กระแสพรรคไม่อาจเอามาใช้กับท้องถิ่น ที่ชาวบ้านเลือกจากตัวบุคคลมากกว่าพรรค

            นครราชสีมา สงขลา นครศรีธรรมราช หนองคาย นครพนม เชียงใหม่ ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่แข่งขัน ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด จึงได้เห็นปรากฏการณ์หลายจังหวัด ส.ส.แต่ละคนต่างถือหางผู้สมัครของตัวเอง แม้จะเป็นเพื่อนจากพรรคเดียวกันในสภา แต่สำหรับสนามท้องถิ่นแล้วกลายเป็นศึกสายเลือด ชนิดยอมกันไม่ได้

            เชียงใหม่ ถือเป็นสนามที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เป็นการต่อสู้กันที่ต่างฝ่ายต่างเป็นไผ่กอเดียวกัน ส.ว.ก๊อง-พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้กว้างขวางและอดีตประธานสโมสรเจแอล เชียงใหม่ ยูไนเต็ด กับบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ที่มีดีกรีเป็นถึงอดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ และอีกหนึ่งผู้กว้างขวางเช่นกัน

            บุญเลิศ แม้จะมีสายสัมพันธ์อันดีกับทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แต่ในระยะหลัง บุญเลิศมีความเห็นไม่ลงรอยเจ๊แดง-เยาวภา บ่อยครั้ง มีเสียงเล็ดรอดถึงขนาด พรรคเกือบจะไม่สนับสนุนเจ๊กุ้ง-ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ในฐานะหลานสาวบุญเลิศ ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ในนามพรรคเพื่อไทย แต่มีการเคลียร์ใจกันลงตัวในนาทีสุดท้าย บูรณุปกรณ์เลยยังมีที่ยืน ยังเป็น ส.ส.เขต 1 เชียงใหม่

            แต่จากปรากฏการณ์นั้น ยังไม่อาจลบปมความบาดหมาง เยาวภา กับบูรณุปกรณ์ รวมทั้งในระยะหลัง บุญเลิศไปสนิทสนมกับหนึ่งในบิ๊กผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีการให้ความช่วยเหลือคดีในอดีต ยิ่งทำให้ถูกเชื่อมโยงอย่างหนาหูในสายสัมพันธ์ บุญเลิศ-พลังประชารัฐ

            แม้บุญเลิศจะย้ำมาตลอดในการลงสมัครนายก อบจ.ครั้งนี้ ลงในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม เป็นกลุ่มอิสระ แต่ก็ยังมีความพยายามของบางกลุ่ม ชี้เป้า บุญเลิศไม่ใช่คนเพื่อไทยแล้ว

            ประกอบกับการแค้นฝังหุ่น มีสัญญาณมาจากแดนไกล ประกาศก้อง ‘เชียงใหม่ แพ้ไม่ได้’

            จึงได้เห็นทุกองคาพยพเพื่อไทยทุ่มเทไปในเชียงใหม่อย่างหนักหน่วง ในจังหวัดที่มีอดีตนายกฯ ตระกูลชินวัตรถึง 2 คน ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ขณะเดียวกันเชียงใหม่ถือเป็น ฐานคะแนนเหนียวแน่นเพื่อไทย เป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง ที่เพื่อไทยผูกขาดความนิยมมาโดยตลอด

            สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.เหลิม-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, เสี่ยแดง-พิชัย นริพทะพันธ์, เงาะ-วรชัย เหมะ, โอปอ-อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด, ตุ๊-อดิศร เพียงเกษ ลงพื้นที่ไปยังเชียงใหม่หลายหน โดยเฉพาะสมชายที่ปักหลักเชียงใหม่ ลงพื้นที่ขอคะแนนชาวเชียงใหม่ ขอให้สนับสนุนพิชัยเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ให้ได้

            ขณะที่อีกฝั่งที่มีสายสัมพันธ์กว้างขวาง ผู้นำระดับท้องถิ่นก็ยอมไม่ได้ ระดมทีมงานมืออาชีพมาช่วยเหลือเช่นกัน รวมถึงมีเซอร์ไพรส์ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะประธานใหญ่คนเสื้อแดง เปิดหน้าประกาศก้องสนับสนุนบุญเลิศ ในการปราศรัยยังได้กล่าวพาดพิงมาถึงเพื่อไทย 

            สร้างความไม่พอใจให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นอันมาก ทำให้ วรชัย อีกหนึ่งแกนนำคนเสื้อแดงต้องออกมาตอบโต้ กลายเป็นศึกสายเลือดคนกันเอง

            ยิ่งเพิ่มดีกรีความดุเดือดสนามเชียงใหม่ให้เข้มข้นไปอีก ไม่เพียงเจ้าแม่เชียงใหม่ส่งสัญญาณมาชัด ห้ามแพ้เด็ดขาด ในส่วนของพรรค ว่ากันว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายจะเปิดแคมเปญกระตุ้นคะแนนเสียงระลอกสุดท้ายอีกครั้ง รวมถึง 18 ธ.ค. จะจัดขุนพลนักปราศรัยระดับหัวกะทิไปถล่มผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม อ้อนขอคะแนนชาวเชียงใหม่อีกรอบ

            เลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่หนนี้ นอกจากเป็น ศึกศักดิ์ศรีระหว่างพรรคกับพรรค ผู้สมัครกับผู้สมัครแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการบ่งบอกถึงกระแสนิยม พิสูจน์มนต์ขลัง ‘ชินวัตร’ เช่นกัน.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"