ปลูกฝังเคารพสิทธิผู้อื่น ลดปัญหากระทำทารุณ


เพิ่มเพื่อน    


     ปัญหาแรงงานหญิงข้ามชาติถูกกระทำรุนแรงทั้งทางกายและใจ รวมถึงไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ อย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทยในบ้านเรา อาทิ เรื่องวันหยุด กระทั่งการเข้ารับบริการด้านสุขภาพกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะไม่มีเอกสารรับรองด้านสุขภาพหากใบอนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทยหมดอายุลง ฯลฯ เป็นปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในสังคมไทย โดยเฉพาะช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาด ทำให้แรงงานหญิงกลุ่มนี้ (กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา) ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องอดทน ปัญหาการถูกกดขี่ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

(บุรัชย์ จันทรักษ์)

     โครงการดีๆ อย่าง “Spotlight on Generation Equality: ส่องประกายคนรุ่นใหม่หัวใจเท่าเทียม” รุ่นที่ 1 จึงเกิดขึ้นเพื่อหวังกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เป็นแนวร่วมในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และร่วมขจัดอคติและการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาติ โดยความร่วมมือระหว่าง “อียู-ไอแอลโอ-ยูเอ็น วูแมน” นำโดย “นายแกรม บักเลย์” ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทยกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และ “ซาราห์ นิบส์” รักษาการผู้อำนวยการยูเอ็น วูแมน สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทย พร้อมด้วยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่าง “ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล” รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ในงานมีกิจกรรมเสวนาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาการโยกย้ายที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในสถานการณ์โควิด-19” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาร่วมกันหาทางออกปัญหาดังกล่าว

(เสถียร ทันพรม)

    สำหรับประเทศไทย สถิติล่าสุดระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวน 3.9 ล้านคน และส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งช่วยเติมเต็มการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย นอกจากนี้ สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มาจากแรงงานข้ามชาติยังมีมากถึงร้อยละ 4.3-6.6
    ถึงแม้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างเศรษฐกิจและสังคม ทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง แต่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานหญิง ยังคงเผชิญกับปัญหาจากทัศนคติคนในสังคม จนเป็นเหตุให้ถูกกีดกันไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการต่างๆ ถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงเกิดความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำต่อแรงงานหญิง

(ดร.รัชดา ไชยคุปต์)

     ดร.รัชดา ไชยคุปต์ อดีตผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรี ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กฯ บอกว่า “สิ่งสำคัญในการขจัดความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาตินั้น ทั้งตัวของแรงงานหญิงกลุ่มดังกล่าวและตัวนายจ้างนั้นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงานตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงภาคประชาชนและคนทั่วไปก็ต้องคอยร่วมกันสอดส่องดูแล หากพบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบ หรือพบเห็นกลุ่มแรงงานหญิงข้ามชาติถูกกระทำรุนแรงและถูกกดขี่ ก็ต้องช่วยกันแจ้งเบาะแสกับผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้ตัวผู้ถูกระทำอย่างแรงงานต่างชาตินั้นต้องเปล่งเสียงออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ และต้องไม่คิดว่าการที่ส่งเสียงออกมานั้น เราเป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้เป็นคนผิด หรือเป็นความผิดของเราที่ออกมาเรียกร้อง
     “ที่สำคัญไม่แพ้กันคือช่องทางในการบอกให้กลุ่มแรงงานต่างชาติรู้ว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่สามารถให้ความช่วยเหลือเขาได้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อเกิดปัญหาอะไรก็ตามแต่ จากการสำรวจพบว่าแรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่าง เมียนมา ลาว จีน เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเสพสื่อออนไลน์ และมักจะชอบเล่นเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชัน TikTok มากกว่าแอปพลิเคชันไลน์ ดังนั้นการให้ข้อมูลข่าวกับแรงงานหญิงกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องเลือกช่องทางให้ถูกต้อง โดยการใช้เสียงเพลงในแอปพลิเคชันดังกล่าว เพื่อดึงให้กลุ่มแรงงานดังกล่าวเข้ามาดูช่องทางในการร้องเรียน หากได้รับการกระทำรุนแรงจากนายจ้าง หรือแม้แต่คำเตือนเกี่ยวกับโรคระบาดต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ”

(ดร.สนองวิชญ์ ภูวันทมาตย์)

     ไม่ต่างจาก “ดร.สนองวิชญ์ ภูวันทมาตย์” ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บอกว่า “จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติหญิง ภาครัฐได้เข้ามาช่วยอะไรเขาบ้าง คือการที่ทางกระทรวงได้จัดทำ 30 คู่สาย เพื่อรับข้อร้องเรียน และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้เดือนร้อน อีกทั้งมีการเลือกนักสังคมสงเคราะห์เพื่อให้เข้ากับปัญหาของแรงงานแต่ละคนในการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ กระทั่งตอนหลังได้เพิ่มเป็น 60 คู่สาย เพื่อรับปัญหาต่างๆ ของแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติตลอด 24 ชั่วโมง นั่นทำให้เรารู้ว่าในแต่ละวันนั้นมีผู้เดือดร้อนจากการตกงาน ขาดรายได้ ไม่มีเงิน ไม่มีที่พึ่ง หรือต้องการช่วยเหลือด้านต่างๆ มากถึง 2 หมื่นราย ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงก็ได้ให้การช่วยเหลือในส่วนที่ทำได้

(พลูทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์)

     ปิดท้ายกันที่ “พลูทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์” ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (FLEP) บอกว่า “อันที่จริงแล้วกลุ่มของลูกจ้างหญิงต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นแม่บ้าน กลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะปกติแล้วด้วยความที่เป็นผู้หญิงนั้น ย่อมได้รับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการถูกกระทำรุนแรงทั้งกายและจิตใจอยู่แล้ว ประกอบกับเมื่อถูกกระทำรุนแรงแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าจะบอกให้ใครทราบ หรือไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับผู้อื่นอย่างไร หรือไม่กล้าที่จะบอกคนอื่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่โควิด-19 จะระบาด และรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ประกอบเมื่อมีการล็อกดาวน์ก็ยิ่งทำให้แรงงานหญิงกลุ่มนี้ต้องทำงานล่วงเวลาและทำงานหนักขึ้น 
     ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการที่เราควรจะมีช่องทาง ทั้งให้ข้อมูลและรับฟังปัญหาความเครียดต่างๆ ของลูกจ้าง ผ่านเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้น หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่คนกลุ่มนี้ใช้และเข้าถึงได้ อีกทั้งต้องมีกฎหมายแรงงานที่มุ่งส่งเสริมให้แรงงานกลุ่มนี้ ทำงานได้อย่างปลอดภัย เพราะแรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานที่สำคัญของบ้านเรา ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาสามารถเข้ารับบริการเหมือนกับที่แรงงานไทยได้รับ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"