จับตาแผนสกัดฝ่ายค้าน ร่างประชามติ รอดหรือร่วง


เพิ่มเพื่อน    

     เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 1 ชุดขึ้นมาพิจารณา ซึ่งฝ่ายค้านคัดค้านว่า ร่างกฎหมายนี้เหตุใดจึงเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะตามปกติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จะต้องเริ่มจากการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเข้านำสู่การพิจารณาของวุฒิสภา จากนั้นจึงประกาศบังคับใช้

            ด้านรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ ระบุว่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายในการดำเนินการเพื่อการปฏิรูปประเทศให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (1) ของรัฐธรรมนูญ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองในเรื่องและประเด็ฯการปฏิรูปที่ 1 การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์กำหนดให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด

            ดังนั้น เมื่อเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป ตามกฎหมายกำหนดให้เป็นเรื่องของการพิจารณาของที่ประชุมร่วมสองสภา

            แต่กระนั้น ฝ่ายค้านยังยืนกรานว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป และจ้องที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานต่อไป

            โดย “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ยื่นร่างกฎหมายนี้เช่นกัน แต่ยื่นไปที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าหากจะให้ถอนร่างของฝ่ายค้านก็ไม่ติดใจ แต่การที่ยื่นไปทางสภาผู้แทนราษฎรนั้น เพื่ออยากให้มีหน่วยงานหรืองค์กรมาชี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปฏิรูประเทศหรือไม่ และควรจะเป็นการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา หรือของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากได้ความชัดเจนก็อาจจะถอนก็ได้

            นอกจากนี้ “สุทิน” ยังกล่าวต่อว่า ฝ่ายค้านจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเราต้องการสร้างบรรทัดฐาน เนื่องจากหวั่นว่ารัฐบาลจะเสนอกฎหมายปฏิรูปประเทศเข้ามามั่วๆ อีกหลายฉบับ แต่คงไม่กระทบกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติของรัฐบาล เนื่องจากเรายื่นตีความเฉพาะของร่างฝ่ายค้านว่ามาถูกทางหรือไม่ ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไรก็จะมีคำตอบไปยังร่างของรัฐบาลด้วย

            นี่คือมุมแย้งของฝ่ายค้านที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

            อย่างไรก็ตาม สำหรับสาระสำคัญของร่างฉบับนี้พอสรุปได้ว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใด รวมทั้งวางระเบียบปฏิบัติเท่าที่จำเป็น เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายฉบับดังกล่าว

            การออกเสียงประชามติแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1.การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกฯ ทราบ และให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับ กกต.

            2.การออกเสียงประชามติตามมติ ครม. มาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ กรณีที่ ครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร เมื่อ ครม.มีมติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใด ให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับ กกต.

            และแน่นอน กำหนดให้การออกเสียงประชามติให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ

            สำหรับเกณฑ์การออกเสียงประชามติที่ถือว่ามีข้อยุติในเรื่องการจัดทำประชามตินั้น จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

            ส่วนการให้ข้อมูลและการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ กกต.เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปที่ได้รับจากประธานรัฐสภาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป โดยการจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จะจัดทำประชามตินั้น

            การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติตามที่ ครม.กำหนดต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติส่งให้ กกต.เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

            อีกทั้ง ต้องจัดให้มีการแสดงความเห็นอย่างรอบด้านและเท่าเทียม โดย กกต.ต้องเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงประชามติให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างทั่วถึง และจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดให้มีการออกเสียงผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ จะต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านอย่างเท่าเทียมกัน    

            ทั้งนี้ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูล หรือจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นนั้น ฝ่ายการเมืองหลายฝ่ายมองว่าในร่างกฎหมายนี้ไม่ระบุถึงการจัดเวทีประชาชนเพื่อรณรงค์ ซึ่งอาจทำให้การกระจายข้อมูลในเรื่องที่จะทำประชามติเป็นข้อมูลของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายใดที่คัดค้านก็อาจเป็นฝ่ายผิดกฎหมาย หรืออาจถูกดำเนินคดีเหมือนกับครั้งที่มีการรณรงค์รับร่างรัฐธรรมนูญปี 60

            ฉะนั้น จับตาให้ดีว่าฝ่ายค้านจะถอนร่าง พ.ร.บ.ประชามติออกจากสภาหรือไม่ หรือถ้าจะยื่นศาล จะวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไร รวมทั้งในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จะแก้ไขให้มีเวทีรณรงค์ของประชาชนได้ด้วยหรือไม่.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"