ว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบนักเรียนอังกฤษ ญี่ปุ่น และอเมริกา


เพิ่มเพื่อน    


นักเรียนในกรุงลอนดอนรับเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ภาพจาก pri.org – Credit : Arthur Edwards

      อังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการนำเครื่องแบบนักเรียนมาใช้ มีประวัติสืบย้อนไปได้ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 โรงเรียนดังกล่าวคือ Christ’s Hospital School โดยเครื่องแบบมีลักษณะเป็นเสื้อโค้ตยาวสีน้ำเงินและถุงเท้ายาวสีเหลือง ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ รายละเอียดแตกต่างไปจากเดิมไม่มาก

                การแต่งเครื่องแบบนักเรียนในสหราชอาณาจักร ทั้งอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ยังคงดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบังคับในระดับชาติ แต่ในระดับท้องถิ่นและในแต่ละโรงเรียนเองส่วนใหญ่ต่างพร้อมใจกันกำหนดให้มีการแต่งเครื่องแบบ โดยระเบียบต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ความพร้อมและความบกพร่องทางร่างกาย

                ผมได้อ่านบทความที่เขียนโดยเด็กนักเรียนคนหนึ่งในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ส่วนที่เป็นบล็อกของนักเรียน บทความชื่อ What’s the point of school uniform? โดย “โคลอี สเปนเซอร์” นักเรียนหญิงวัย 15 ปี เธอเขียนไว้เมื่อ 7 ปีก่อน ขออนุญาตแปลและนำเสนอบางส่วน

                “เชิ้ต ไท และเบลเซอร์ (คล้ายแจ็กเกตสูท แต่มีลักษณะลำลองมากกว่า) อาจไม่ได้เป็นส่วนประกอบสำหรับชุดโปรดของฉัน แต่ถ้าให้ต้องเลือกใส่หรือไม่ใส่ ฉันขอใส่ดีกว่า เพราะการใส่เครื่องแบบคือเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ สร้างอัตลักษณ์ให้กับโรงเรียน และเป็นส่วนสำคัญของการเป็นนักเรียน

                “เจสัน วิง อาจารย์ใหญ่โรงเรียน Neale-Wade academy ในเคมบริดจ์เชียร์ ให้สัมภาษณ์กับฉันว่า ‘เครื่องแบบบอกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร การสวมมันหมายถึงเราอยู่ในนี้ด้วยกัน และหากเราสวมด้วยความภาคภูมิใจแล้วล่ะก็ อย่างน้อยเราก็อยู่ในเส้นทางแห่งการได้รับการยอมรับนับถือครึ่งหนึ่งแล้ว’


นักเรียนในกรุงลอนดอน ภาพจาก commons.wikimedia.org - Credit : KEN

 

                “แคลร์ ฮาวเล็ตต์ อาจารย์ภาษาอังกฤษ เห็นว่า ‘เครื่องแบบให้ความรู้สึกแก่นักเรียนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน สร้างอัตลักษณ์ให้กับโรงเรียนในแต่ละชุมชน นอกจากนี้เครื่องแบบยังช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมหลังจากพวกเขาเรียนจบ เพราะพวกเขาอาจต้องแต่งตัวให้ดูดีขึ้น หรือไม่ก็อาจต้องไปใส่ชุดยูนิฟอร์มจริงๆ’

                “โรงเรียนของฉันเป็นหนึ่งในโรงเรียนจำนวนมากที่กลับไปใช้เครื่องแบบที่เป็นทางการมากขึ้น เดือนกันยายนนี้ฉันจะสวมเสื้อเชิ้ตและเบลเซอร์ แทนที่จะเป็นเสื้อคอโปโลและเสื้อจัมเปอร์ มีนักเรียนบางคนบ่นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ส่วนใหญ่มองว่าการสวมจัมเปอร์และเสื้อโปโลดูคล้ายเด็กไม่ยอมโต

                “หลายคนเชื่อว่าเครื่องแบบนักเรียนสามารถช่วยให้มีพัฒนาการในการเรียนที่ดีขึ้น เพราะไม่มีอะไรมาหันเหความสนใจ และทำให้ห้องเรียนมีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับการเรียนการสอน ช่วยให้นักเรียนทำคะแนนดีขึ้น

                “บางทีสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เครื่องแบบทำให้นักเรียนไม่ต้องห่วงกังวลเกี่ยวกับการแต่งกายของตัวเองและเพื่อนคนอื่นๆ เพราะทุกคนแต่งเหมือนกัน เราไม่ต้องเสียเวลาในการเลือกชุดในตอนเช้า ไม่ต้องมีการแข่งกันแต่งตัวให้ทันกับแฟชั่น ซึ่งจะทำให้นักเรียนและผู้ปกครองมีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพวกที่ชอบแกล้งคนอื่นก็มีเป้าหมายในการแกล้งน้อยลง นั่นคือจะไม่ถูกล้อว่าแต่งตัวเชยหรือมีประเด็นที่แฝงมากับชุดที่สวมใส่ เพราะทุกคนแต่งเหมือนกัน

                “ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งโรงเรียนส่วนมากไม่กำหนดให้ใส่เครื่องแบบ ในแต่ละวันมีนักเรียนประมาณ 160,000 คนไม่ไปโรงเรียน เพราะกลัวการถูกคุกคามจากนักเรียนคนอื่นๆ อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแต่งหรือไม่แต่งเครื่องแบบ แต่การแต่งเครื่องแบบสามารถเป็นเกราะป้องกันสำหรับเด็กจำนวนมากที่อาจตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง การเคร่งครัดในการแต่งเครื่องแบบทำให้อนุมานต่อไปได้ว่าระเบียบอื่นๆ ในโรงเรียนก็เคร่งครัดเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้โรงเรียนมีระเบียบมากขึ้น…”

******************************

                นอกจากสหราชอาณาจักรที่แต่งเครื่องแบบนักเรียนกันแล้ว ประเทศอื่นๆ ในเครือจักรภพ อาทิ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็มีวัฒนธรรมการแต่งเครื่องแบบนักเรียนอย่างในสหราชอาณาจักร โดยมีรายละเอียดความเข้มงวดแตกต่างกันออกไป

                สำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องแบบนักเรียนมากที่สุดในโลกคงต้องยกให้ญี่ปุ่น ดังปรากฏผ่านสื่อบันเทิงแขนงต่างๆ

                การแต่งเครื่องแบบนักเรียนของญี่ปุ่นนั้นเริ่มที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในปี ค.ศ.1879  เมื่อมีเด็กชายจากครอบครัวชนชั้นสูงชื่อ “คาโซคุ” แต่งชุดคล้ายเครื่องแบบทหารไปโรงเรียน ส่วนเครื่องแบบสำหรับเด็กผู้หญิงนั้นเริ่มแต่งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1900 เป็นชุดที่ผสมกันระหว่างชุดกิโมโนและฮากามะ (ส่วนบนเป็นกิโมโน ท่อนล่างเป็นฮากามะที่ให้ความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะวิชาพลศึกษา)

                ในสมัยที่สังคมญี่ปุ่นยังแบ่งสถานะ การถือกำเนิดของเครื่องแบบนักเรียนช่วยทำให้เด็กๆ ทุกคนไม่ว่ามาจากชนชั้นใดได้เรียนหนังสืออย่างมีความเสมอภาคกัน

                เว็บไซต์ livejapan.com บทความเรื่อง About Japanese School Uniforms : Symbols of Freedom, Rebellion, and Fashion สัมภาษณ์ “โทโมโกะ นัมบะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Ochanomizu ในกรุงโตเกียว และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องแบบนักเรียนมาให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ เผยแพร่ไว้เมื่อ 2 ปีก่อน


วิวัฒนาการของเครื่องแบบนักเรียนหญิงญี่ปุ่น ภาพจาก livejapan.com

                โทโมโกะ นัมบะ ให้ข้อมูลว่า ก่อนที่จะมีการกำหนดให้แต่งเครื่องแบบในญี่ปุ่น เด็กผู้หญิงเป็นผู้มีความคิดริเริ่มในการสวมชุดฮากามะไปโรงเรียน และถึงกับไปขอร้องให้โรงเรียนออกเป็นระเบียบว่านักเรียนต้องแต่งชุดฮากาตะ

                ฝ่ายเด็กผู้ชายเริ่มเปลี่ยนไปแต่งชุดแนวตะวันตกก่อน กว่าเด็กผู้หญิงจะเปลี่ยนตามก็ประมาณคริสต์ทศวรรษที่ 1920 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชุดกลาสีเรือ ในสมัยนั้นคุณแม่ของเด็กๆ ตัดเย็บกันเองที่บ้าน และชุดสไตล์กลาสีเรือนี้ตัดเย็บได้ไม่ยาก

                การเปลี่ยนแปลงของเครื่องแบบนักเรียนญี่ปุ่นเกิดขึ้นเรื่อยมา มียุคหนึ่งที่เด็กๆ หาทางดัดแปลงให้ดูเก๋า ดูเก๋ และดูไม่เป็นระเบียบที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งหญิงและชายดัดแปลงกันจนออกไปในทางแก๊งสเตอร์ เกิดปัญหาโกลาหลกันพอสมควร ทำให้สุดท้ายแต่ละโรงเรียนต้องออกกฎระเบียบให้แต่งตามแบบมาตรฐานและเข้มงวดกับเรื่องนี้ แต่เด็กๆ ก็ต่อต้านและถึงขั้นเคลื่อนไหวให้ยกเลิกการแต่งเครื่องแบบ

                ทว่าในช่วงเวลาเดียวกัน เครื่องแบบนักเรียนได้ถูกปรับให้ดูดีมีสไตล์และเริ่มมีการใช้เสื้อเบลเซอร์ขึ้นในราวๆ ปี ค.ศ.1984 ทำให้โรงเรียนไหนมีเครื่องแบบแฟชั่นเท่ๆ ก็สามารถดึงดูดเด็กนักเรียนให้สมัครเข้าเรียนได้มาก

                แฟชั่นเดินไปถึงยุคที่เด็กหญิงใส่มินิสเกิร์ตสั้นจู๋จนเป็นภาพจำไปทั่วโลก เด็กชายใส่สไตล์นักสเกตบอร์ดและจำพวกเสื้อผ้าหลวมโพรก กระทั่งประมาณปี ค.ศ.2000 พวกเขาก็เริ่มตระหนักว่าช่างเป็นการแต่งกายที่น่าเกลียดอะไรเช่นนั้น ทำให้แฟชั่นแนวดังกล่าวสิ้นสุดลง เกิดแนวใหม่ที่เน้นภาพลักษณ์สมาร์ท แต่งแล้วดูฉลาดขึ้น ปัจจุบันกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบนักเรียนในญี่ปุ่นยืดหยุ่นลงไปมาก บางแห่งให้นักเรียนเลือกที่จะแต่งหรือไม่แต่งก็ได้ ซึ่งฝ่ายที่นิยมแต่งเครื่องแบบมีมากกว่า

                “เมื่อเราถามพวกเขาก็ได้คำตอบว่า มี 2 เหตุผล ข้อแรกคือ เป็นช่วงเวลาเดียวที่พวกเขาสามารถสวมใส่มัน และข้อที่ 2 คือไม่ต้องเลือกหาชุดในแต่ละวันให้ยุ่งยาก

                “ผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นมีความรู้สึกเกี่ยวกับชุดนักเรียนว่าเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกช่วงเวลาวัยรุ่นของลูกๆ เป็นเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สำหรับเด็กนักเรียนเองก็มองว่าเป็นเครื่องหมายในการบอกสถานะช่วงวัยเรียน หรือพูดได้ว่าเครื่องแบบนักเรียนเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยบทหนึ่งของชีวิตที่เปิดให้ขีดเขียนได้ในช่วงเวลาจำกัด บรรดานักเรียนก็ตระหนักต่อเรื่องนี้เช่นกัน และเห็นในคุณค่าที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับเครื่องแบบนักเรียน

                “ประเด็นเรื่องชุดนักเรียนของญี่ปุ่นนี้มีความคล้ายคลึงกับเทศกาลซากุระบาน-สัญลักษณ์ของชาติเราอย่างน่าประหลาด ดอกซากุระบานในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะถูกสายลมพัดร่วงหล่น เป็นเหตุให้ผู้คนต่างรีบพากันสัมผัสชื่นชมความงามอันน่าฉงนนี้เมื่อยังมีเวลา

                “ฉันสามารถสวมใส่ได้เฉพาะตอนนี้, ฉันเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายแค่ 3 ปีเองนะ นี่คือความคิดของเด็กๆ เกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบ”


เครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ภาพจาก
blog.al.com – Credit : Challen Stephens

                “ภาพลักษณ์ของเครื่องแบบนักเรียนญี่ปุ่นนั้นไปไกลในระดับนานาชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มศิลปินนักร้อง หรือที่เรียกว่า “เกิร์ลกรุ๊ป” สวมชุดนักเรียนเป็นคอสตูมในการแสดงมิวสิกวิดีโอและเล่นคอนเสิร์ต

                “นี่ไม่ใช่มุมมองทางวิชาการ แต่มันก็คงเหมือนกับที่ผู้ชายใส่สูทแล้วดูดี ซึ่งสาวน้อยในชุดนักเรียนชั้นมัธยมปลายดูมีสไตล์และน่ารักกว่าใส่ชุดทั่วไปเสียอีก

                “เสื้อผ้าสามารถแสดงออกได้ถึงบุคลิกของผู้สวมใส่ที่จะออกมาทั้งในแง่ดีและไม่ดี ส่งผลต่อระดับความนิยมชมชื่นในหมู่เพื่อนฝูง แต่ถ้าใส่ยูนิฟอร์ม ฉันว่าจะต้องทำให้ผู้อื่นประทับใจและมองในแง่บวกอย่างแน่นอน”

                บทความเดียวกันนี้ยังสัมภาษณ์ “มาโกโตะ ยาสุฮาระ” ผู้ผลิตเครื่องแบบนักเรียนยี่ห้อ  Tombow

                เขาบอกว่าในขณะที่ชุดนักเรียนปรากฏในภาพยนตร์ หนังแอนิเมชั่น หนังสือการ์ตูน และสื่อต่างๆ มากขึ้นๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเด็กหนุ่มเด็กสาวที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

                “แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผมประทับใจมากก็คือ การได้เห็นนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายในเครื่องแบบนักเรียนฤดูร้อนในวิดีโอโปรโมตโอลิมปิกโตเกียว 2020 ซึ่งฉายในพิธีปิดโอลิมปิก 2016 ที่กรุงรีโอเดอจาเนโร นักเรียนคนนั้นทำให้ผู้คนจินตนาการได้ว่าโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะมีสีสันอย่างไร

                “ในช่วงต้นของวิดีโอ เธอวางกระเป๋านักเรียนลงแล้วเริ่มวิ่ง เธอเป็นตัวแทนของความเยาว์ เปี่ยมพลังและจิตวิญญาณ ภาพสวยงามที่รายรอบ ทั้งหมดปรากฏเมื่อเธอวิ่งไปในชุดนักเรียน”

******************************

                เว็บไซต์วิกิพีเดีย เรื่องเครื่องแบบนักเรียนแยกเป็นประเทศ หัวข้อย่อยสหรัฐอเมริกา ระบุว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ในการแต่งกาย แต่ก็ต้องแต่งอย่างเหมาะสม โดยเป็นสิทธิ์ของโรงเรียนและเขตการศึกษาในการออกระเบียบ

                ผลการสำรวจชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ.2000 จำนวนโรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 23 มีการกำหนดนโยบายการแต่งเครื่องแบบ จากนั้นในทศวรรษต่อมาพบว่า โรงเรียนของรัฐโดยเฉพาะในเขตเมืองมีการกำหนดให้แต่งกายแบบกำหนดชนิดของชุดและสี หรือที่เรียกว่า “เดรสโค้ด” มากขึ้น ตัวอย่างเช่น โรงเรียน Palmer Elementary School ในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส กำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตโปโลสีขาว สีแดง หรือน้ำเงิน ติดโลโก้ของโรงเรียน กางเกงสีกรมท่าหรือกากี และต้องรัดเข็มขัดที่มีความเหมาะสม บางโรงเรียนก็กำหนดให้สวมเสื้อเชิ้ตโปโลและกางเกงขายาว จนถึงปี ค.ศ.2011 คะเนได้ว่ามีโรงเรียนรัฐประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดกำหนดการแต่งกายแบบ “เดรสโค้ด” ดังกล่าว

                ก่อนนั้นในปี ค.ศ.1996 อดีตประธานาธิบดี “บิล คลินตัน” เคยกล่าวสนับสนุนแนวความคิดการแต่งเครื่องแบบนักเรียนในโรงเรียนรัฐ ทำให้มีโรงเรียนรัฐกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปี 1996 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2010

                นอกจากนี้กรณีศึกษาของ Long Beach Unified School District ถือเป็นการสำรวจที่ทำให้โรงเรียนทั่วสหรัฐหันมาพิจารณานโยบายการแต่งเครื่องแบบของนักเรียน โดยในปี 1994 เขตการศึกษาลองบีชบังคับให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบในเด็กชั้นประถมและชั้นมัธยมต้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมของเด็ก

                ผลการศึกษาพบว่า เด็กขาดเรียนและหนีเรียนน้อยลง ปัญหาทางพฤติกรรมน้อยลง การภาคทัณฑ์และไล่ออกน้อยลง โดยชั้นประถมลดลงร้อยละ 28 ในชั้นมัธยมต้นลดลงร้อยละ 36 ปัญหาอาชญากรรมและการทำลายทรัพย์สินลดลง แยกเป็นชั้นประถมลดลงร้อยละ 74 ชั้นมัธยมต้นลดลงร้อยละ 18

                แน่นอนว่าย่อมมีนักวิชาการออกมาแย้งว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับการแต่งหรือไม่แต่งเครื่องแบบ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เจอข้อมูลการแต่งเครื่องแบบไปเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการกดขี่และระบอบอำนาจนิยมอะไรทั้งสิ้น จะมีกล่าวถึงบ้างก็แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพเท่านั้น.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"