นักวิชาการขวางนำเข้าหมูสหรัฐ หวั่นอาชีพเลี้ยงหมูเหลือเพียงตำนาน!


เพิ่มเพื่อน    

7 พ.ค. 61 - รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์  ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยแพร่ความเห็นเรื่อง “หมูสหรัฐ” บนความเป็นความตายของคนเลี้ยงหมูไทย ระบุว่า "ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯพยายามกดดันให้ไทยเปิดตลาดรับหมูสหรัฐเข้ามาตลอด ประกอบกับนโยบาย “America First” และการให้ความสำคัญกับภาคเกษตรของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำผู้เลี้ยงหมูสหรัฐมีบทบาทต่อรัฐบาลสหรัฐอย่างมาก ล่าสุด สภาผู้ผลิตสุกรของสหรัฐฯได้ยื่นคำร้องขอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของประเทศไทย เนื่องจากไทยไม่ยอมเปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐอย่างเป็นธรรมและสมเหตุผล เช่น กรณีที่ไทยไม่ยอมรับหมูสหรัฐเข้า โดย USTR จะรับพิจารณาคำร้องของสภาผู้ผลิตสุกรของสหรัฐหรือไม่ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ความเคลื่อนไหวของผู้เลี้ยงหมูสหรัฐและสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐในครั้งนี้ อาจสร้างความกังวลใจให้ทั้งรัฐบาลไทยและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยไม่น้อย

ประเด็นหลักที่ไทยต้องปฏิเสธไม่นำเข้าหมูสหรัฐฯ เป็นเพราะประเทศของเขาเลี้ยงหมูโดยใช้สารเร่งเนื้อแดงแร็กโตปามีน (Ractopamine) กันอย่างกว้างขวางและถูกกฎหมาย แม้สหรัฐฯจะอ้างว่าได้ปรับค่าปริมาณสารเร่งเนื้อแดง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Codex ที่อนุญาตใช้เลี้ยงสัตว์แล้ว แต่เรื่องนี้ยังคงขัดต่อ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ของไทยที่ห้ามไม่ให้ใช้สารเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นกรมปศุสัตว์ยังยืนยันการห้ามใช้สารในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ทุกชนิด หากรัฐบาลไทยยอมนำเข้าหมูสหรัฐฯ ก็ต้องแก้กฎหมายอีกหลายฉบับ รวมถึงปัญหาสุขอนามัยของผู้บริโภคชาวไทยและการล่มสลายของคนเลี้ยงหมูและธุรกิจต่อเนื่องของไทยด้วย 

แม้รัฐบาลไทยพยายามไม่นำเข้าหมูสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ชี้แจงให้สหรัฐฯเห็นว่า ต้องศึกษาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับความปลอดภัยของผู้บริโภคเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง (แร็กโตปามีน) ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐจะต้องหารือร่วมกัน ประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นระยะเวลา 1 ปี นับว่าเรากำลังเผชิญกับแรงบีบครั้งสำคัญจากสหรัฐอเมริกาอีกครั้งให้ต้องกินเนื้อหมูปนสารเร่งเนื้อแดง ทั้งๆที่อีก 160 ประเทศทั่วโลกไม่ยอมรับในเรื่องนี้   

จะว่าไป...นโยบายการผลิตหมูของสหรัฐฯนับว่าแตกต่างจากเรามาก เนื่องจากเขาเน้นผลิตให้มากด้วยต้นทุนต่ำที่สุด โดยยอมให้ใช้สารเร่งการเจริญเติบโตแม้สารนั้นจะมีผลต่อสัตว์อย่างชัดเจนเพราะเป็นสารกระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดขยายตัวและมีการสังเคราะห์โปรตีนสูงขึ้น ขณะที่ไทยเราเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัย ไม่ยอมให้มีการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการปรับปรุงวิธีการเลี้ยง การยกระดับมาตรฐานต่างๆ เรียกว่าประเทศไทยยอมที่จะให้ภาระต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นเพื่อความปลอดภัยทางอาหารให้ประชาชนชาวไทยบริโภคเนื้อหมูได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยต่อสุขภาพ 

การพัฒนากระบวนการผลิตหมูอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพเนื้อหมูของไทยเราดีขึ้นมาโดยตลอด รวมถึงปริมาณผลผลิตหมูในประเทศไทยก็มีมากกว่าความต้องการบริโภค ทำให้ราคาหมูขึ้นๆลงๆเป็นวัฏจักร เช่นในปัจจุบันที่หมูมีราคาตกต่ำ จนคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ต้องมีมาตรการลดจำนวนแม่หมู นำลูกหมูไปทำหมูหัน และหมูขุนก็นำไปเชือดแล้วนำเข้าเก็บในห้องเย็นเพื่อลดปริมาณหมูในตลาด หากมีการให้นำเข้าหมูมาจำหน่ายในเมืองไทยอีกจะเป็นการซ้ำเติมตลาดหมูในประเทศ และทำร้ายเกษตรกรไทยให้ล้มหายตายจาก จนอาชีพเลี้ยงหมูนี้อาจต้องกลายเป็นเพียงตำนาน 

ผมเชื่อว่ารัฐบาลไทยรับทราบถึงข้อเสียมากมายหากต้องนำเข้าหมูสหรัฐฯและขอเป็นกำลังใจให้คณะทำงานฝ่ายไทยที่จะต้องเจรจาต่อรองกับสหรัฐ...เพราะความเป็นความตายของคนเลี้ยงหมูอยู่ในมือท่าน โปรดอย่ายอมแพ้ USTR ที่แสดงออกต่อการช่วยเหลือปกป้องเกษตรกรสหรัฐอย่างถึงที่สุด.... เกษตรกรไทยของเราก็ต้องการการปกป้องอย่างถึงที่สุดเช่นกัน"

รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"