อ่านเพลิน! ประวัติ 'ที่ดินสวนดุสิต' ร.5 ซื้อจากราษฎร เป็นที่มาการออกโฉนดครั้งแรกในสยาม


เพิ่มเพื่อน    

13 ธ.ค.63 - เพจเฟซบุ๊ก "รัชดา มีหมาสิบเอ็ดตัว" ของ น.ส.รัชดา โชติพานิช หน่วยวิจัยแผนที่ ภาพถ่ายและเอกสารประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ที่ดินพระราชทาน" มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโฉนดที่ดินให้แก่สถานศึกษา และหน่วยงานราชการ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เฉพาะพื้นที่ในเขตดุสิต ประกอบด้วย สถานศึกษาสามแห่ง ได้แก่โรงเรียนราชวินิต จำนวน 6 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จำนวน 60 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวน 37 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา และหน่วยงานกระทรวงมหาดไทยสองแห่ง ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 14 ไร่ 1 งาน 72.70 ตารางวา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 9 ไร่ 3 งาน 92.30 ตารางวา รวมแล้วกว่าร้อยไร่

ที่ดินพระราชทานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสวนดุสิตในอดีต หรือพระราชวังดุสิตในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นจากพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการขยายพื้นที่พระนครทางทิศเหนือนอกแนวเขตเมืองเดิม คือคลองผดุงกรุงเกษม เป็นการชี้นำให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่และประชาชนขยับขยายย้ายที่อยู่อาศัย จากภายในพระนครที่แออัดไปอยู่พื้นที่นอกพระนคร โดยเริ่มด้วยการสร้างที่ประทับ นอกพระบรมมหาราชวัง สำหรับผ่อนคลาย พระราชอิริยาบถ

...ฉันคิดจะทำบ้านเปนที่ไปเที่ยวเล่น ได้กะตกลงใจว่าจะซื้อที่ ตั้งแต่บ้านประวิตรไปจนถึงคลองสามเสน ตั้งแต่ถนนสามเสน ยืนขึ้นไปจนถึงทางรถไฟ ได้มอบให้กรมหมื่นมหิศรแลกรมหมื่นสรรพสาตรเปนผู้จัดซื้อแลวางแปลน มีความประสงค์อยากจะใคร่ ให้ได้เร็วๆ ด้วยไม่มีที่เดินเหิรเที่ยวเล่น สังเกตได้ว่าเมื่ออยู่บางปอินสบาย เพราะได้เดินทุกวัน ครั้นกลับลงมานี่ ก็ไม่ใคร่สบายขึ้นทุกวัน...

ด้วยแนวคิดจะสร้างบ้านสำหรับไปเที่ยวเล่น ทำให้ตัดสินพระทัยซื้อที่ดิน แทนการเวรคืนหรือเรียกคืนตามกฎหมายที่ดินในสมัยนั้น ได้นำมาซึ่งความวุ่นวาย ทั้งเรื่องการครอบครองที่ดิน ขอบเขตที่ดิน ราคาซื้อขายที่ดิน และอื่นๆ ได้นำมาซึ่งการโต้แย้ง ทะเลาะวิวาท ไปจนถึงการฟ้องร้อง และปัญหาคนในบังคับชาติอื่นร้องทุกข์

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า ตั้งแต่สมัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น นอกจากทรงมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแล้ว “... ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลาย ผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้” จึงมีการออกหนังสือสำคัญ ใบเหยียบย่ำหรือใบจอง และโฉนดตราจอง ในเวลาต่อมา ให้แก่ผู้ครอบครองที่ดิน เพื่อใช้จัดเก็บภาษีอากรอันเป็นรายได้เข้ารัฐ

เมื่อที่ดินทั่วทั้งราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีการซื้อขายกัน เพียงแต่เมื่อผู้ใดทิ้งที่ดิน ปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามาทำกินแทน ก็จะขาดสิทธิ์ทันที

การซื้อขายที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องใหม่แล้ว ยังมีความไม่ชัดเจนของโฉนดตราจอง ที่ทำกันมาช้านาน เกิดกรณีพิพาท ในการแสดงการถือครองสิทธิ์ที่ดิน ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นที่ดินของตน จึงนำมาซึ่งพระราชดําริ ที่ว่า “...ที่ดินมีราคามากขึ้น เป็นเหตุให้ราษฎร มีคดีพิพาทเรื่องที่ดินสูงขึ้นสมควรจัดระเบียบสำคัญ อันเป็นหลักฐานสำหรับที่ดิน จัดให้มีสิ่งหมายเขตสำหรับที่ดินให้มั่นคงขึ้น...”  และมีการออกโฉนดที่ดินขึ้นเป็นครั้งแรก ในสยามประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2444 ที่มาจากการสำรวจรังวัดที่ดินอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการด้านแผนที่ มีรูปแบบเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยข้อมูลผู้ถือครอง ผังบริเวณ และรายละเอียด การเปลี่ยนแปลงผู้ถือครอง

สำหรับการจัดซื้อที่ดินนั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ จึงใช้เงินพระคลังข้างที่ อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ในการจัดซื้อที่ดินจากราษฎร โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงนครบาล ประสานงานติดต่อกับเจ้าของที่ดิน ร่วมกับเจ้าหน้าที่อำเภอ เป็นผู้รังวัดสอบพื้นที่ สอบถามราคา ที่เจ้าของที่ดินยินยอมขาย หากเป็นราคาที่เหมาะสมก็จะทำสัญญาซื้อขายเป็นรายๆไป

ดังหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง อธิบดีกระทรวงนครบาล มีความตอนหนึ่งว่า วันที่ 30 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 117 ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ขอพระทานกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอเสนาบดีกระทรวงนครบาลทรงทราบ ฝ่าพระบาท 

ด้วยโปรดเกล้าฯ สั่งให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดอำเภอไปทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งจะทรงสร้างวังสวนดุสิต พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย แลให้คอยฟังรับสั่งกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยในการที่จะทำหนังสือสัญญาแลจัดซื้อที่

ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปเฝ้ากรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ทรงหาฤๅในการที่จะจัดซื้อที่ในเปนการสมควรแก่ราคา จึ่งได้ตรวจราคาที่ราคาซื้อฃายกันในบริเวรนั้น ทำเปนอัตรามีราคาสูงต่ำแจ้งในอัตรานั้นแล้ว จึ่งมีรับสั่งให้ข้าพระพุทธเจ้าหาตัวบรรดาเจ้าของที่มาพร้อมกัน ณ ที่วัง ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้อำเภอท้องที่ตามตัวเจ้าของที่มาพร้อมกัน จึ่งได้ชี้แจงถึงราคาตามอัตรา ฝ่ายเจ้าของที่ซึ่งเห็นว่าเปนราคาอันสมควรได้ยอมตกลงขายที่ให้ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้แต่งให้จมื่นราชพันทารักษเปนผู้แทนพระองค์ท่าน เมื่อเจ้าของที่รายใดก็ ตกลงยอมขายที่ให้ตามอัตราแล้ว ก็ให้จัดการซื้อแลทำหนังสือไป...
เนื่องจากพื้นที่สวนดุสิต มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ จึงใช้เวลาจัดซื้อถึง 2 ปีในการรวมที่ดินที่จัดซื้อจากราษฎร จำนวนกว่าสามร้อยราย โดยมีขอบเขตที่ดิน ดังนี้

ทิศเหนือ จรด ถนนราชวัตรในและถนนราชวัตรนอกในสมัยนั้น หรือถนนราชวัตรในสมัยนี้ แนวถนนห่างจากคลองสามเสน ประมาณ 100 –150 เมตร เพื่อให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ริมคลองมาแต่เดิม ยังคงอยู่อาศัยได้ต่อไป

ทิศใต้ จรด ถนนคอเสื้อในสมัยนั้น หรือถนนพิษณุโลกในสมัยนี้  แนวถนนห่างจากแนวคลองผดุงกรุงเกษมประมาณ 150 – 200 เมตร เพื่อให้ห่างจากวังสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ ที่ได้สร้างขึ้นก่อนหน้านี้ รวมทั้งบ้านเรือนราษฎรในย่านนั้น

ทิศตะวันตก จรด ถนนสามเสน เลียบมาตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะเป็นถนนที่เชื่อมโยงพื้นที่ในพระนคร

ทิศตะวันออก จรด ถนนซิ่วในสมัยนั้น หรือถนนสวรรคโลก ในสมัยนี้ และคลองขื่อน่าที่ขนานไปกับแนวทางรถไฟสายแรกของประเทศระหว่างกรุงเทพฯ – นครราชสีมา

สำหรับงานก่อสร้างสวนดุสิต ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2441 นั้น เมื่อทรงใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มิใช่เงินแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมิได้มีพระราชประสงค์ ให้เรียกที่ประทับแห่งใหม่ว่าพระราชวัง หากให้เรียกเพียง วังสวนดุสิต เท่านั้น ดังความในราชกิจจานุเบกษาว่า

“...เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจะได้ทำเป็นที่ประทับแลถนน หนทางที่ประพาสต่อไปด้วยเงินพระคลังข้างที่ทั้งสิ้น พระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า สวนดุสิต ผู้ใดจะเรียกชื่อที่นี่ ให้เรียกตามชื่อที่พระราชทานไว้ ฤาถ้าจะออกชื่อที่ประทับก็ห้าม อย่าให้เรียกว่า พระราชวัง เพราะเหตุที่มิได้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายการแผ่นดินซึ่งจะเป็นพระราชวังสำหรับสืบไป ที่วังนี้บางทีจะพระราชทานเป็นวังพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดต่อไป  เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเรียกว่า พระราชวัง ให้เรียกว่า วังสวนดุสิต เท่านั้นก็เป็นการสมควรแล้ว...”

ต่อมา โปรดเกล้าให้สร้างหมู่พระที่นั่งต่างๆได้แก่ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นที่ประทับชั่วคราว ระหว่างการก่อสร้าง พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ซึ่งเป็นท้องพระโรงชั่วคราวระหว่างการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม (ที่มาแล้วเสร็จในรัชกาลต่อมา) หมู่พระตำหนักของฝ่ายในต่างๆ ในสวนสุนันทา รวมทั้งสวนนอก ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวินิตมัธยม และราชตฤณมัยสมาคมหรือสนามม้านางเลิ้ง เดิมเป็นสถานที่ทดลองการเกษตรแผนใหม่ เช่นครั้งหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว มาทดลองปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อพัฒนาคุณภาพไหม และผ้าไหมพื้นถิ่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีหลายหน่วยงานเข้าใช้พื้นที่และอาคารในเขตพระราชฐาน อาทิ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา และวิทยาครูสวนดุสิต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

การพระราชทานโฉนดที่ดินให้แก่สถานศึกษา และหน่วยงานราชการ เมื่อเร็วๆนี้ จึงเป็นการโอนที่ดินให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ายึดครองพื้นที่พระราชวังมานานเกือบร้อยปี ที่สำคัญเป็นการโอนทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้กับทางราชการ

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่ ภาพถ่ายและเอกสารประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"