เปิดภาพอนาคต’กะดีจีน-คลองสาน’ ฟื้นฟูเมืองเก่า สร้างโอกาสเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

 

              กะดีจีน-คลองสาน เป็นหนึ่งในย่านประวัติศาสตร์สำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นย่านเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมรดกวัฒนธรรมทรงคุณค่าของคนหลากหลายศาสนา แต่ปัจจุบันย่านกะดีจีน-คลองสานกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี –คลองสาน ระยะทาง 1.8 กม. ) พร้อมเปิดให้บริการวันที่ 16 ธันวาคม 2563 นี้ โดยมี สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรีเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีเจริญนครอยู่ด้านหน้าศูนย์การค้าไอคอนสยาม และสถานีคลองสานอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลตากสิน  นับว่าเป็นเส้นทางการคมนาคมสำคัญที่จะทำให้ย่านเก่าแก่กะดีจีน -คลองสาน ในพื้นที่เขตคลองสาน มีความเปลี่ยนแปลง ไม่รวมการบูมอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนบนพื้นที่ริมแม่น้ำ เต็มไปด้วยอาคารสูง  วัฒนธรรมเก่าปะทะวัฒนธรรมใหม่ เป็นโจทย์ใหญ่ของการพัฒนาเมืองเก่าริมแม่น้ำแห่งนี้

                ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายชุมชน และกรุงเทพมหานคร ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ 250 ( โครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมืองในวาระครบรอบ 250 ปีของกรุงเทพฯ ในปี 2575  มีหมุดหมายเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมกายภาพของพื้นที่เขตเมืองชั้นในให้มีความน่าอยู่ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมแก่คนหลากหลายกลุ่มของเมือง  ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม หารือกับคนในพื้นที่ พร้อมกับภาคีพัฒนาจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และประชาสังคม 

                การฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานมีแนวทางหลายด้าน ย่านชุมชนพักอาศัยริมน้ำประชากรกรหนาแน่น คุณภาพดี ทั้งชุมชนกุฎีจีน ชุมชนวัดกัลยาณมิตร  เรือนไม้ริมคลองวัดอนงคาราม จะรักษาเอกลักษณ์ชุมขนดั้งเดิมไว้ และพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่   ฟื้นฟูท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำ นำมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างเศรษฐกิจ เช่น อาหารการกินขึ้นชื่อของย่าน ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะร่วมของหลากวัฒนธรรม ทำทางเดินริมน้ำคลองสาน ทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน แนวคิดนี้มาสู่ผังแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน จะเชื่อมโยงพื้นที่สัญจรสำคัญเข้ากับพื้นที่ริมน้ำ และเชื่อมพื้นที่ริมน้ำเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์คนในพื้นที่และคนที่เข้ามาเยือน  

             ล่าสุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  สนับสนุนการเรียนการสอนรายวิชาสตูดิโอวางผังชุมชนเมืองของนิสิตปีที่ 4 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ปีการศึกษา 2563 โดยเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยวิธีแบบใหม่ คือ การใช้เทคนิคการมองภาพอนาคต (foresight technique ) และเทคนิคการวางแผนกลยุทธ์ (stretegic planing) บนฐานข้อมูลเมืองและกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน 1 ยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย (Livability) 2.ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ (Economy)3.ยุทธศาสตร์ด้านการเรียนรู้ (Learing)4.ยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมต่อ(Mobility) และ 5.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ (Urban Form) ผลงานของนักศึกษาจะส่งต่อให้ กทม. นำไปพิจารณาในผังแม่บทด้วย

 

             น..ชนปรียา บุญมานะวงศ์ นิสิตร่วมออกแบบผังยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ บอกว่า จากการสำรวจย่านกะดีจีน พบปัญหาเป็นซอยตันและพื้นที่สีเขียวน้อย ย่านนี้คนอาศัยหนาแน่น ทำให้เศรษฐกิจกระจุกตัวในชุมชน ไม่กระจายสู่ถนนสายหลักของย่าน ไม่มีร้านค้าที่จำหน่ายอาหารบริการทั่วถึง  ไม่มีจุดนั่งพักผ่อน เป็นความท้าทายการทำผังเมือง พื้นที่โซนนี้มีศํกยภาพด้านวัฒนธรรมประเพณี  เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน ต้องกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ แต่ปัจจุบันมีขนส่งระบบรางเข้ามา ต้องเชื่อมโยงให้คนเข้ามาในพื้นที่ รองรับนักท่องเที่ยว  โอกาสทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น

        จากการลงพื้นที่ศึกษา  นายชยางกูร กิตติธีระธำรง นศ.สถาปัตย์ฯ เสนอยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมต่อว่า ความสะดวกสบายในการเดินทาง จะนำมาสู่การพัฒนาเมืองเก่า อุปสรรคสำคัญของย่านนี้คือ ไม่มีทางเท้าที่ปลอดภัย แต่ละซอยไม่เชื่อมต่อกัน     ฉะนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญทำให้คนเคลื่อนที่ เชื่อมต่อการสัญจรไปมา มุ่งสู่เมืองเดินได้ เดินดี    เนื่องจากเป็นชุมชนริมแม่น้ำต้องเชื่อมต่อการเดินทางทางน้ำสู่จุดสำคัญๆ ปรับปรุงทางเดินเท้าให้สะอาด ปลอดภัย มีแสงไฟส่องสว่างเพียงพอยามค่ำคืน เพื่อให้เดินได้จริง รวมถึงจัดพื้นที่จอดรถให้เพียงพอ หนุนให้คนเดินจับจ่ายใช้สอยของกินย่านดัง ทั้งท่าดินแดง คลองสาน ชุมชนกุฎีจีน  เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ รวมถึงนำวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นจุดแข็งมาสร้างธุกิจ เช่น ขนมฝรั่งกุฎีจีน หมูกระดาษ ห่านท่าดินแดง  กะลอจี๊ ฯลฯ  

 

            ขณะที่ น.ส.วัสสพร ยี่สุนเทศ  นศ.สถาปัตย์ฯ บอกเล่ายุทธศาสตร์ด้านการเรียนรู้ว่า เขตคลองสานถือเป็นย่านการเรียนรู้ เพราะมีโรงเรียนและสถานศึกษามีชื่อเสียงกว่า 16 แห่ง ยังไม่รวมพื้นที่การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อย่างชุมชน วัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า แต่สิ่งที่โซนนี้ขาด คือ การผนวกมรดกวัฒนธรรมเข้ากับการเรียนรู้ของสถานศึกษา  ซึ่งการออกแบบผังเมืองริมน้ำคลองสาน  เพิ่มพื้นที่สาธารณะรอบโรงเรียนให้เด็กได้ใช้สอย ใช้เวลาในพื้นที่นานขึ้น จะเกิดประโยชน์ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะร่วมของหลากวัฒนธรรม เช่น ทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน พัฒนาพื้นที่ใต้สะพานพุทธ พัฒนาโกดังเก่าสมัยรัชกาลที่ ให้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ กระตุ้นการเรียนรู้ได้ดี  

               ยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย มีการนำเสนอน่าสนใจ น.ส.ปริชญา  ยรรยงยุทธ สรุปผลศึกษาและให้ภาพอนาคตว่า พื้นที่สีเขียวมีความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตภายใต้ระบบนิเวศที่ดี เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น และเป็นพื้นที่นันทนาการเชื่อมคนชุมชนและผู้มาเยือนได้อย่างลงตัว  เราเสนอให้นำพื้นที่ราชการ วัด และสถานที่รกร้าง มาปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียว  รวมถึงพัฒนาคลองทั้ง สายในย่าน ควบคู่ปรับปรุงพื้นที่ริมคลองให้เป็นแหล่งพบปะกันในรูปแบบใหม่ๆ เช่น แหล่งออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพ

            มาตรการควบคุมและส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นอีกยุทธศาสตร์ ซึ่ง น.ส.ชลลดา ศรีขาวรส  นศ.จากรั้วจุฬาฯ นำเสนอว่า ปัจจุบันมีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งทำลายมรดกทางวัฒนธรรม ย่านนี้มีความเป็นพหุวัฒนธรรม  มีชุมชนตามตรอกซอยซอยและพื้นที่ริมคลอง รวมถึงศาสนสถาน โบราณสถาน กระจายทั่ว จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมความสูงอาคาร  การใช้สีครีมทาอาคารและสีเทาทาหลังคาบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ต้องให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ กทม. เคร่งครัด เพราะเป็นย่านประวัติศาสตร์ เพื่อความสวยงามและกลมกลืนของอาคารบ้านเรือนทำให้บรรยากาศของย่านจะน่าเที่ยว น่าเดิน ภูมิทัศน์สวยงาม  

 

       ความพยายามฟื้นฟูเมืองเก่า คงไม่สำเร็จถ้าไม่ร่วมไม้ร่วมมือกัน ในมุมมอง สุนทรี เจริญสุขสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร บอกว่า ผลงานออกแบบย่านกะดีจีน-คลองสานในอนาคต  สะท้อนให้เห็นถึงคนรุ่นใหม่ทุ่มเทลงพื้นที่ สำรวจข้อมูล คุยกับชาวบ้าน และชวนกันมองภาพเมืองในฝัน ภายใต้ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ โครงการต่างๆที่นำเสนอมีคุณค่า ซึ่งเรามีผลสำเร็จการโครงการปรับปรุง พัฒนา สะพานด้วน สะพานพระปกเกล้าสู่สวนสาธารณะลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา  นี่เป็นโมเดลตัวอย่างของการสร้างการเดินภายใต้โครงการกรุงเทพฯ 250 เชื่อมต่อระบบราง  การขนส่งทางน้ำ    เดินเข้าสู่พื้นที่ชุมชน ปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของมหานคร

    “ นอกจากนี้ ชุมชนกะดีจีน-คลองสาน มีปราชญ์ชุมชนที่เต็มไปด้วยความรู้และภูมิปัญญาเก่าแก่ ต้องเชื่อมวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในชุมชน เช่นเดียวกับการพัฒนาทางเดินเท้า ข้อดีของการใช้สองเท้าเก้าเดินออกมา จะทำให้เศรษฐกิจในเมืองเติบโตได้ ” สุนทรี บอก

 

       ขณะที่ วุฒิชัย เชื้อมั่นคง  ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองสาน บอกว่า การพัฒนาในพื้นที่ บางจุดต้องมีการเวนคืน แต่สามารถทำได้ สิ่งที่อยากเห็นเร็วๆ นี้ เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใต้สะพานพุทธ และใต้สะพานพระปกเกล้าริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีท่าเรือของกรมเจ้าเท่าอยู่หากนำสินค้าชุมชนไปขายจะดีมาก หรือแม้พื้นที่ฝั่งคลองสานก็ผลักดันเรื่องนี้อยู่

      “ ในอนาคตเขตคลองสานจะมีรถไฟฟ้าสายสีทองเข้าถึง เปิดใช้บริการช่วงเดือนธันวาคม จะทำให้การเดินทางสะดวกสบายมาก คนไหลเข้าพื้นที่มากขึ้น ต้องเตรียมพร้อมรองรับในทุกมิติ “ ผช.ผอ.เขตคลองสานย้ำ

       มุมมองสถาปนิกอย่าง ปรีดา หุตะจูฑะ กรรมการผู้จัดการ สถาปนิก และผังเมือง บริษัท แพลนเนอร์ 26 จำกัด บอกว่า การวางแผนเรื่องการสัญจรพื้นที่ริมน้ำ นอกจากอำนวยความสะดวกคนแล้ว ต้องไม่ลืมเรื่องรถจักรยานและรถจักรยานยนต์ รวมถึงซาเล้ง หาบแร่แผงลอยด้วย เพื่อสร้างทางที่มีขนาดเหมาะสม รวมถึงมีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวทางจักรยาน เชื่อมต่อทางน้ำ   หรือแม้กระทั่งจุดจอดมอเตอร์ไซด์ที่ให้บริการฟู๊ด เดลิเวอร์รี อนาคตจะเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคไม่ได้นิยมเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์โควิด

       ภาพย่านกะดีจีน-คลองสานในอนาคต เต็มไปด้วยความท้าทาย การตั้งเป้าหมายทำแผนแม่บทฯ  โดยผสานความรู้ด้านวิชาการ นวัตกรรม และต้นทุนทางวัฒนธรรม หากโครงการนำร่องทำสำเร็จ จะเป็นโมเดลขยายผลสู่การฟื้นฟูเมืองชั้นในตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ  ไม่เฉพาะย่านเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้เท่านั้น  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"